โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไขความลับ 'ไม้ด่าง สัตว์เผือก' เมื่อสิ่ง 'แปลกปลอม' มีราคามากกว่าใคร

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2564 เวลา 18.17 น. • AJ.

กระแส 'ไม้ด่าง' ยังไม่ซาไปจากกลุ่มคนรักต้นไม้ง่ายๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ หลายคนคงกำลังมองหาวิธี 'รวยทางลัด' ด้วยการแอบไปชะเง้อสวนหลังบ้านว่า เอ บ้านเรามีต้นที่เขาขายกันหลักแสนสักต้นไหมนะ?

LINE TODAY ชวนทุกคนพักใจจากข่าว 'โควิด-19' และมาไขความลับแสนจะล้ำค่าที่กำลังฮอตฮิตติดกระแสชมรมคนรักต้นไม้ รวมถึงสำรวจไปถึงวงการ 'สัตว์เผือก' อีกสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ทำให้เรารู้ว่า 'ความด่างพร้อย' และ 'แตกต่าง' นั้นล้ำค่าแค่ไหน

รู้จัก 'ไม้ด่าง' สิ่งล้ำค่าที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบ

ตามปกติต้นไม้จะมี 'ใบไม้' สีเขียว เกิดจากสารคลอโรฟิลล์ที่สังเคราะห์แสงกลายเป็นใบเขียวชอุ่ม ต้นไหนที่มีใบด่างแปลว่าต้นนั้นมีเม็ดสีตรงใบเป็นสีอื่น เช่น ขาว ครีม ชมพู แดง เหลือง แต่การที่ต้นไม้จะแตกใบออกมาเป็นสีสันอื่นๆ นั้นเกิดขึ้นยากมาก โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จะนำไปตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นสีอื่นนอกจากเขียวก็แสนยาก ทั้งยังโตช้า แถมนำไปขยายพันธุ์ต่อไม่ค่อยได้ผล

โอ้พระเจ้า 😲 เเตกอีกหนึ่งล้านนน กล้วยด่างเป็นเหตุ🍌 💚เข้าป่าหากล้วยกันดีกว่า รู้สึกชอบการผจญภัยขึ้นมาทันที เครดิต : กลุ่มกล้วยด่าง

Posted by ต้นกล้วยด่าง ไม้มงคล on Friday, July 2, 2021

แล้วเกิดมายังไง ทำไมถึงด่างกว่าเพื่อน?

ร่วมส่องสาเหตุที่ทำให้ไม้ด่าง ด่างอย่างที่เป็นอยู่ แล้วจะรู้ว่าทำไม ความด่างช่างมีราคา และแตกต่างจากไม้ใบเขียวอย่างชัดเจน

  • โตโดยขาดแสงสว่าง - แสงอาทิตย์เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตคลอโรฟิลล์ เมื่อขาดแสง ใบไม้จึงไม่เขียวอย่างต้นที่โดนแดดเต็มที่ ใครเคยเผลอวางต้นไม้ในที่อับแสง น่าจะเคยสังเกตว่าใบไม้กลายเป็นสีซีดลงอย่างเห็นได้ชัด
  • โตโดยขาดสารอาหาร - นอกจากคลอโรฟิลล์ การขาดสารอาหารบางอย่างยังทำให้ใบไม้เปลี่ยนสีได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะสารบางตัวมีผลต่อการสร้างเม็ดสี หากขาดแมกนีเซียม ใบจะเหลืองแต่เส้นใยยังเขียว แต่หากขาดกำมะถัน หรือฟอสฟอรัส ใบจะด่างเหลืองทั้งใบ 
  • โตโดยมีความผิดปกติทางพันธุกรรม - ปัจจัยภายนอกอย่างสารเคมีหรือสารกัมมันตภาพรังสีก็มีส่วน ยังมีข้อสังเกตว่าพบไม้ด่างเป็นจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนสันนิษฐานว่ามาจากผลของระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง!

ต้นไม้ที่ 'ด่าง' เองตามธรรมชาติมีหลายสายพันธุ์ อย่าง พลูด่าง ชบาด่าง บาหยาด่าง และเงินไหลมา แต่ไม่เป็นที่นิยมของนักล่าต้นไม้ด่าง โดยที่ฮิตๆ ในวงการก็ได้แก่ ยางอินเดียด่าง มอนสเตอร่าด่าง กวักมรกตด่าง และกล้วยด่าง เพราะโอกาสในการเกิดความด่างนั้นน้อย กลายเป็นต้นไม้หายากและมีค่าในหมู่นักสะสม

Posted by ต้นกล้วยด่าง ไม้มงคล on Thursday, July 1, 2021

เพาะเองได้ไหม?

ในวงการต้นไม้ มีคนพยายามจะทำให้เกิดไม้ด่างโดยทางลัด อย่างการเอาถุงดำมาครอบไม่ให้ต้นไม้สังเคราะห์แสง เมื่อนานเข้า ใบจะซีดเหลือง แต่เมื่อต้นไม้กลับมาแข็งแรง ใบก็จะกลับมาเขียวชอุ่มดังเดิม ดังนั้นวิธีนี้อย่าได้หาทำ!

อีกวิธีที่อาจได้ผล แต่ต้องใช้ความอดทนมหาศาลคือการเพาะเมล็ดและเนื้อเยื่อ แต่ต้องใช้เวลา ทำในจำนวนมาก และต้องยอมรับว่าผลลัพธ์อาจไม่คุ้มทุน เพราะเฉลี่ยแล้วจะเกิดไม้ด่างเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

วิธีที่เซียนต้นไม้แนะนำคือปักชำยอดจากต้นแม่ที่มีความด่างอยู่แล้ว แต่อาจใช้เวลาในการเติบโตค่อนข้างนานตามธรรมชาติของไม้ด่าง ซึ่งในบางกรณีที่กว่าต้นไม้จะโต 'เทรนด์กล้วยด่างหลักล้าน' ก็อาจจะเลิกฮิตไปแล้วก็ได้

ไม่ใช่แค่ต้นไม้ด่าง แต่สัตว์เผือก ก็เป็น 'สิ่งล้ำค่า' ไม่ต่างกัน

'สัตว์เผือก' เป็นหนึ่งในสิ่งหายากที่สุดในโลก เกิดจากการผิดปกติทางพันธุกรรม คือร่างกายไม่ผลิตเม็ดสี ส่งผลให้ผิวหนัง ขน ไปจนถึงตา กลายเป็นสีขาวล้วนทั้งตัว โชคร้ายที่สัตว์เผือกมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานในธรรมชาติ เพราะตกเป็นเป้าของผู้ล่า มีปัญหาด้านสายตา ทั้งยังไม่มีความสามารถทางด้านพรางตัวเหมือนเพื่อนร่วมสายพันธุ์

Photo by PoChun Yang on Unsplash
Photo by PoChun Yang on Unsplash

สัตว์เผือกที่เป็นที่นิยมของนักล่า (รวมมนุษย์ด้วย) ได้แก่ 'กวาง' เนื่องจากบางประเทศตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกามีวัฒนธรรมที่เรียกว่า 'ฤดูล่าสัตว์' ให้คนได้ออกล่าสัตว์ในป่าโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่! ไม่อนุญาตให้ล่า กวางเผือก เพราะโอกาสเกิดกวางเผือกนั้นน้อยถึง 1 ใน 100,000 เท่านั้น แม้กวางเผือกจะมี 'ค่าหัว' ในการล่ามากแค่ไหนก็ห้ามแตะต้อง

ไม่ใช่แค่กวาง แต่สัตว์เผือกในโลกนี้ล้วนได้รับความสนใจ อย่างจระเข้เผือก งูเผือก เต่าเผือก หรือลิงอุรังอุตังเผือก ที่นับเป็นสปีชีส์สัตว์เผือกที่หายากที่สุดในโลก ส่วนมากได้รับการดูแลจากองค์กรสัตว์ใกล้ชิด เพราะน้องๆ เหล่านี้ตกเป็นเป้าของนักล่าตามธรรมชาติ และนักล่ามีปืนอย่าง 'มนุษย์' ได้ง่าย

ย้อนมาคิดในมุมของ 'มนุษย์' ก็น่าแปลกที่ในกรณีของ 'คนคิดต่าง' กลับยากที่จะทำความเข้าใจ ทั้งๆ ที่ความต่างในสปีชีส์เดียวกัน น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วที่เราจะยอมรับกันได้อย่างเปิดใจ จริงไหม?

ขอบคุณข้อมูลจาก :

เพจ : กล้วยด่าง ไม้มงคล

บ้านและสวน.com

chicagotribune.com

pptvhd36.com

treehugger.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0