โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แก้ได้ ไม่ผิด? รู้จัก 'วิกิพีเดีย' สารานุกรมเสรีที่ทุกคน 'ร่วมเขียน' ได้

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 14 ก.ค. 2564 เวลา 18.30 น. • AJ.

นอกจาก 'กูเกิ้ล' (Google) ทุกคนน่าจะรู้จัก 'ที่พึ่งทางการเสิร์ช' ที่ชื่อ 'วิกิพีเดีย' (Wikipedia) สารานุกรมออนไลน์เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นอีกหนึ่งคลังข้อมูลสำคัญสำหรับการค้นคว้าแทบจะทุกเรื่องราวในโลกใบนี้

แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ 'ความน่าเชื่อถือ' ของวิกิพีเดียยังเป็นที่ถกเถียงมาถึงปัจจุบัน ด้วยรูปแบบของเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ทุกคนร่วมเขียน และแก้ไขข้อมูลได้อย่างอิสระ วิกิพีเดียได้รับการให้คะแนนความแม่นยำของข้อมูลเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ นักวิชาการหลายคนก็ลงความเห็นว่า 'ไม่ควรใช้เว็บไซต์นี้เป็นแหล่งข้อมูลหลักในการทำงานที่ต้องอ้างอิงเอกสารทางวิชาการ' (รวมถึงรายงานต่างๆ ด้วยนะนักเรียนทั้งหลาย!)

รู้จักวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีของชาวโลก

วิกิพีเดียเพิ่งมีอายุครบ 20 ปีไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ก่อตั้งโดยจิมมี เวลส์ และ แลร์รี แซงเกอร์ คำว่าวิกิพีเดียมาจากการผสมคำว่า 'วิกิ' (Wiki) ซึ่งเป็นลักษณะของเว็บไซต์ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการสร้างเนื้อหา และคำว่า 'เอนไซโคลพีเดีย' (Encyclopedia) ที่แปลว่า 'สารานุกรม' เข้าด้วยกัน

เดิมทีวิกิพีเดียใช้ภาษาหลักเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นภาษาอื่นๆ อีกกว่า 321 ภาษา มีบทความภาษาอังกฤษกว่า 6.3 ล้านบทความ โดยมีบทความภาษาไทยรวมอยู่กว่า 100,000 บทความ

ซึ่งการสร้างบทความในวิกิพีเดียของทุกประเทศใช้วิธีเดียวกันคือ มี 'อาสาสมัคร' ในการเขียน ซึ่งแต่ละคนก็จะสร้างบทความหรือหัวข้อที่ตนถนัด โดยเปิดโอกาสให้อาสาสมัครคนอื่นเข้ามาแก้ไขหรือเขียนเพิ่มได้ ดังนั้นเนื้อหาทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ จึงพึ่งพาระบบอาสาสมัครในการเขียนอย่างเดียวเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม วิกิพีเดียก็มีกฎเกณฑ์ในการเขียนและแก้ไขข้อมูลอยู่มาก เพื่อป้องกันการสร้างข้อมูลเท็จหรือการกลั่นแกล้ง และมีผู้ดูแลหรือ 'แอดมิน' คอยดูแลระบบอีกที โดยตำแหน่งนี้ก็เป็นอาสาสมัครที่ต้องผ่านการคัดเลือกจากชุมชนวิกิพีเดียมาแล้ว ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้เขียนอยู่ 400,000 กว่าบัญชี แต่ใช้งานจริงเพียง 339 บัญชีเท่านั้น

ถ้า 'ประพฤติผิด' วิกิพีเดียทำอะไรเราบ้าง?

ในกรณีที่วิกิพีเดียตรวจพบว่าอาสาสมัคร 'ประพฤติผิด' คือจงใจเขียนข้อมูลเท็จในเชิงกลั่นแกล้ง (Trolling) แอดมินของวิกิพีเดียจะสามารถตรวจหา IP Address ของนักเขียนคนดังกล่าว และระงับบัญชีนักเขียนคนนั้น โดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวบุคคลใดๆ เลย

การระงับบัญชีหรือ 'แบน' เป็นการลงโทษนักเขียนที่ร้ายแรงที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังมีจุดบอด เพราะว่ากันตามตรง การสร้างแอคเคาท์ใหม่โดยใช้ IP Address ที่ต่างออกไป กล่าวคือใช้คอมพิวเคอร์ (หรือมือถือ) เครื่องใหม่ รวมถึงเปลี่ยนโลเคชั่นของผู้ใช้งานก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรในยุคสมัยนี้ หากผู้เขียนมีความตั้งใจจะก่อกวนจริงๆ ก็ย่อมทำได้สบายๆ

ใครเคยโดน 'แบน' บ้าง?

วิกิพีเดียเคยแบนอาสาสมัครนักเขียนที่มีโลเคชันอยู่ใน 'รัฐสภาสหรัฐอเมริกา' มาแล้ว เหตุเกิดจากการตรวจพบว่ามีผู้เขียนกระทำการ 'เกรียน' โดยเพิ่มเนื้อหา เช่น แก้ไขให้ เลขากองกำลังป้องกันสหรัฐ เป็น 'กิ้งก่าต่างดาว' (Alien Lizard) มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลประเทศคิวบาเป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างทฤษฎีสมคบคิดของการไปดวงจันทร์ เป็นต้น ซึ่งสถานที่ใหญ่ๆ อย่างรัฐสภาสหรัฐฯ ก็อาจตกเป็นเป้าของ 'ชาวเน็ตเกรียน' ได้ง่าย เพราะมีโลเคชันเด่นชัด ทำให้เหล่าชาวเน็ตสุดเกรียนแอบสวมรอยเข้าไปแก้ไขบทความกันอย่างสนุกสนาน

อ่านข่าว : ไม่ใช่เซลส์ขาย 'ซิโนแวค' ตำรวจไซเบอร์แกะรอยรวบมือแก้ประวัติ 'หมอยง' ในวิกิพีเดีย

อย่างไรก็ตาม บทความน่าสนใจที่ห้ามพลาดในวิกิพีเดียก็ยังมีอยู่มาก เช่น บทความ COVID-19_pandemic ที่เริ่มจากการที่ผู้เขียนตั้งบทความขึ้นมาใหม่ชื่อ '2019-2020 China pheumonia outbreak' ซึ่งสุดท้ายถูกเปลี่ยนเป็น 'Covid-19' ในที่สุด มีคนนับร้อยเข้าไปร่วมแก้ไขข้อมูลในหน้านี้ จนปัจจุบันบทความนี้แทบจะกลายเป็นหนังสือที่รวบรวมการระบาดครั้งใหญ่เอาไว้แทบจะทุกแง่มุม 

และด้วยความที่บทความโควิดนี้เป็นหลักฐานทางวิชาการที่ค่อนข้างสำคัญชิ้นหนึ่ง จึงมีการกำหนดกฎขึ้นมาว่านักเขียนที่จะเข้าไปแก้ไขได้ จะต้องเป็นนักเขียนอาสาสมัครมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 วัน และเคยไปแก้ไขบทความอื่นๆ มามากกว่า 10 ครั้ง ก่อนจะได้รับอนุญาตให้แก้บทความนี้ ไม่บ่อยนักที่จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์สำคัญเช่นนี้ แต่เนื่องจากการระบาดครั้งนี้เป็นหัวข้อจริงจังที่ทุกคนควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด จึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ

'ความน่าเชื่อถือ' ของวิกิพีเดียมักถูกนำมาตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่าสารานุกรมออนไลน์ที่อนุญาตให้ 'ใครก็ได้' เข้ามาร่วมแก้ไขข้อมูลนั้น คงไม่เหมาะกับการนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงหลักในงานเอกสารสำคัญ แต่ควรใช้ข้อมูลจากที่มาและแหล่งอ้างอิงอื่นๆ เพื่อความแม่นยำและครอบคลุมในทุกแง่มุมด้วย

อ้างอิง

bbc.com 1 / 2

thairath.co.th

theguardian.com

songsue.co

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0