โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สำรวจอีกมุมของ 'คำชะโนด' ไขความลับ 'เกาะลอย' ในบรรยากาศสุดขลัง

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2564 เวลา 17.10 น. • AJ.
ขอบคุณภาพจาก khamchanod.in.th
ขอบคุณภาพจาก khamchanod.in.th

'คำชะโนด' ชื่อนี้แม้แต่นักเสี่ยงโชคขาจรยังต้องเคยได้ยิน เพราะเป็นสถานที่สุดขลังที่มักถูกมัดรวมกับคำศัพท์จำพวก คอหวย เลขเด็ด แก้บน และ พญานาค รวมทั้งยังมีชื่อเสียงโด่งดังด้านความศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้มีผู้มีศรัทธานิยมไปกราบไว้ในโอกาสต่างๆ อย่างล้นหลาม

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ 'คำชะโนด' 'วังนาคินทร์คำชะโนด' หรือ 'วัดศิริสุทโธ' แห่งอุดรธานี ต้องปิดการให้เข้าชมอย่างไม่มีกำหนด นักเดินทางหรือชาวบ้านที่ต้องการกราบไหว้ 'จ้าวปู่และจ้าวย่า' จึงทำได้เพียงกราบไหว้อยู่ริมถนนบริเวณทางเข้าออกเท่านั้น LINE TODAY จึงอยากชวนทุกคนไป 'เที่ยวคำชะโนดทิพย์' พร้อมสำรวจอีกมุมของ 'คำชะโนด' ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องลี้ลับอย่างเดียว!

พญานาค เกาะลอย และผีจ้างหนัง!

หากอยากรู้จักคำชะโนด ต้องเริ่มจากตำนานความศักดิ์สิทธิ์ ที่สร้างชื่อเสียงให้ที่แห่งนี้กลายเป็นจุดหมายสำคัญที่นักเสี่ยงโชคและผู้ต้องการที่พึ่งทางใจต้องมาเยือนสักครั้ง โดยมีความเชื่อกันว่า 'ป่าคำชะโนด' เป็นพื้นที่ที่ปกครองโดย 'พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ' และ 'องค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวร' หรือ จ้าวปู่และจ้าวย่า ซึ่งจ้าวปู่จะมีวรกายสีเขียว สีเศียรสีทอง แผลงเศียรได้ 9 เศียร ส่วนจ้าวย่าผู้เป็นพระชายา แผลงเศียรได้ 5 เศียร ภายในป่าคำชะโนดจึงมีศาลจ้าวปู่และจ้าวย่าตั้งอยู่ ชาวบ้านและผู้ศรัทธายังเชื่อว่า'พญานาค' คือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ สามารถเข้าถึงได้ทั้งทรัพย์ในดินและสินในน้ำ จึงกลายเป็นแลนด์มาร์กสำหรับสักการะเพื่อโชคลาภ เงินทอง และความสำเร็จ ที่คำชะโนดยังมี 'บ่อน้ำคำชะโนด' ที่มีน้ำซึมออกมาตามธรรมชาติตลอดเวลา ว่ากันว่าบ่อน้ำนี้เป็นประตูเชื่อมไปสู่เมืองบาดาล ซึ่งเป็นที่พำนักของพญานาคได้

ขอบคุณภาพจาก khamchanod.in.th
ขอบคุณภาพจาก khamchanod.in.th

คำชะโนดยังเป็นต้นกำเนิด 'ตำนานผีจ้างหนัง' สุดโด่งดังที่เคยมีการนำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว โดยเรื่องราวมีอยู่ว่าราว 30-40 ปีก่อน มีการว่าจ้างหนังกลางแปลงไปฉายบริเวณป่าคำชะโนด เจ้าของหนังเล่าว่าสิ่งที่ผิดสังเกตคือวันที่ไปฉายหนัง ไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านรอสักเจ้าเดียว จนกระทั่งช่วงเวลาพลบค่ำถึงค่อยมีชาวบ้านทยอยมาดูหนัง โดยนั่งแบ่งกันเป็นสองฝั่งแยกชายหญิง หลังจากหนังจบคนดูก็หายไปอย่างรวดเร็ว ทีมงานฉายหนังเผลอหลับไป พอตื่นมาก็พบว่าจอหนังค้างเติ่งอยู่บนต้นไม้ รถหนังยังตั้งอยู่กลางป่า แถมขากลับออกมายังต้องถางป่า ทั้งๆ ที่ขาเข้าไปนั้นการเดินทางไม่ได้ยากลำบาก นอกจากนี้ยังพบว่าเงินค่าจ้างดันกลายเป็นใบไม้ไปเสียด้วย เรื่องเล่านี้สร้างความลี้ลับให้คำชะโนด ทำให้มีผู้เคารพและเกรงขามมากขึ้นไปอีก!

เกาะลอยน้ำ สิ่งแวดล้อมสุดอุดม และภูมิประเทศสุดหายาก

ความแปลกอีกอย่างของป่าคำชะโนด คือลักษณะเฉพาะที่เป็น 'เกาะลอยน้ำ' สุดอัศจรรย์ ซึ่งปัจจุบันสามารถไขความลับนี้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ว่าเกิดจาก'กอวัชพืชน้ำ' จำนวนมากที่เจริญเติบโตในหนองน้ำ เมื่อถูกกระแสลมผิวน้ำพัดรวมไปกองกันเรื่อยๆ รากวัชพืชเหล่านี้ก็เริ่มเกาะเกี่ยวกันเป็นกอ เกิดเป็นเกาะวัชพืชขนาดใหญ่ เมื่อเหยียบตรงบริเวณพื้นหญ้าอาจรู้สึกยวบๆ ตรงผิวสัมผัส และเมื่อทับถมกันเป็นเวลานานๆ อาจเกิดเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งคนที่เคยไปเยี่ยมชมป่าคำชะโนดน่าจะเคยได้กลิ่น สรุปง่ายๆ ได้ว่าป่าคำชะโนดแห่งนี้ตั้งอยู่บนกอหญ้าขนาดใหญ่กลางบึงหรือหนองน้ำขนาดมหึมา เมื่อน้ำท่วมจึงไม่จม หากแต่ลอยน้ำได้เรื่อยไป แม้ราวปี 2560 จะเกิดน้ำท่วมครั้งหนึ่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสิ่งก่อสร้างภายในเริ่มมีมากขึ้น จึงเป็นครั้งแรกที่มีน้ำท่วมภายในป่าคำชะโนด

เกาะลอยแบบนี้พบได้ในต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งแต่ละที่ก็มีความสวยงามแตกต่างกันไป อย่างที่ทะเลสาบ Loktak Lake ประเทศอินเดีย ที่มีเกาะลอยน้ำลักษณะเป็นวงแหวนกระจายไปทั่วทะเลสาบ ดูแปลกตาแต่ก็งดงามอย่างน่าพิศวง

ทะเลสาบ Loktak Lake ประเทศอินเดีย (ภาพโดย Sayan Nath / Unsplash
ทะเลสาบ Loktak Lake ประเทศอินเดีย (ภาพโดย Sayan Nath / Unsplash)

นอกจากความเป็นเกาะลอยที่แสนพิเศษแล้ว ที่ป่าคำชะโนดยังมี 'ต้นคำชะโนด' ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญขึ้นอยู่หนาแน่น แต่ละต้นโตได้ถึง 40 เมตร ภายในป่าคำชะโนดจึงมีภูมิประเทศเหมือนป่าทึบ มีอากาศเย็นราวติดแอร์ ความน่าทึ่งอีกอย่างของต้นชะโนดในป่าแห่งนี้คือหลายต้นมีอายุมากกว่า 100 ปี คนท้องถิ่นมีความเชื่อว่าต้นชะโนดในป่านี้ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ควรเก็บลูก หรือใบติดมือออกมาด้วย เพราะอาจมีอาถรรพ์ และทำให้เกิดโชคร้ายได้

ปัจจุบันทางจังหวัดอุดรธานี มีการเริ่มให้เพาะพันธุ์กล้าคำชะโนดเพื่อนำไปปลูกทดแทนต้นที่ทยอยล้มตาย ซึ่งแม้จะใช้เวลาเนิ่นนาน แต่คนในพื้นที่ต่างก็เห็นด้วย ทั้งยังเริ่มจำกัดพื้นที่ไม่ให้ผู้มาสักการะกราบไหว้เดินเข้าไปในเขตป่า และเริ่มมีการสร้างความรู้เชิงอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ มากกว่าส่งเสริมการเยี่ยมชมด้านความเชื่อเพียงอย่างเดียว

ขอบคุณภาพจาก khamchanod.in.th
ขอบคุณภาพจาก khamchanod.in.th

เบื้องหลังทุกสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมใจคนหมู่มาก ย่อมมีความพิเศษที่ต้องร่วมกันรักษาให้ยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่แห่งนั้นได้ชื่อว่าเป็น 'ป่าชะโนดผืนสุดท้ายแห่งทวีปเอเชีย' เราจึงต้องใช้มากกว่า 'ความศรัทธา' ในการอนุรักษ์ 'คำชะโนด' ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความขลังอันน่าค้นหานี้ด้วย

อ้างอิง

mitrearth.org

khamchanod.in.th

we-rworldtour.com

t-udoncarrent.com

sanook.com

tqm.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0