หลอกว่าเท่า…สุดท้ายก็เทียม! “พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ” เพื่อคนเพศทางเลือก? หรือแค่เครื่องมือการตลาดท่องเที่ยวไทย!
เป็นอีกครั้งที่กฎหมายคู่ชีวิตเพื่อชาวหลากหลายทางเพศถูกยกขึ้นมาพูดถึงในสังคมไทย หลังจากร่างที่ 3 ของ "ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตพุทธศักราช…” คลอดออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย หลังจากเริ่มร่างกันมาครั้งแรกตั้งแต่ประมาณ 5 ปีที่แล้ว การต่อสู้ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อสิทธิทางกฎหมายที่จะได้มีฐานะเท่าเทียมกับคู่สามีภรรยาชายหญิง ดูเหมือนจะเริ่มเห็นปลายทางของเส้นชัยที่ทุกฝ่ายอยากไปให้ถึง
เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกเพศ, เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และอีกหลายเหตุผลที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่า การมาถึงของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ ฉบับนี้ จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น
แต่ถ้าลองดูกันให้ชัดถึงกฎหมายเป็นรายข้อ เราจะรู้ว่า ที่บอกว่าเพื่อความเท่าเทียม ที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงคำหลอกลวงเท่านั้นเอง!
ในหลายประเทศทั่วโลก สิทธิของคนเพศหลากหลายที่จะใช้ชีวิตกับคนที่รัก ถูกยกฐานะให้เป็น “คู่สมรส” ที่มีฐานะเท่ากับคู่รักชายหญิง ผ่านการจดทะเบียนสมรส (ซึ่งไม่เท่ากับการแต่งงานที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน) และการจดทะเบียนสมรสนี้เองที่จะนำมาซึ่งสิทธิต่างๆ ที่รัฐจะรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพย์สิน มรดก การเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ
พัฒนาการของประเทศเหล่านี้ บางที่ก็ยกฐานะของคนเพศหลากหลายให้ได้เป็นคู่สมรสกันเลย เพราะถือว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากันไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร หรือบางที่อาจจะนำร่องด้วยการออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นการนำร่อง เช่นที่ประเทศอังกฤษที่เปิดให้คนเพศหลากหลายจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตตั้งแต่ปี 2005 ก่อนจะจดทะเบียนสมรสได้ในปี 2014
กุญแจล็อกใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ขัดขวางไม่ให้การสมรสเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ของกลุ่มคนเพศหลากหลาย คือข้อความที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เป็นเพศชายและเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสได้
การมาถึงของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ ในร่างที่ 3 ถ้าลองมาเทียบกับไอเดียเริ่มต้นเมื่อห้าปีก่อนหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่ามีหลายประเด็นที่ถูกถอดออกไปโดยไม่ได้มีคำอธิบายอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลของคู่ชีวิตอีกฝ่าย(คู่รักเพศหลากหลายไม่มีสิทธิตัดสินใจแทนอีกฝ่ายหากต้องยินยอมรักษาพยาบาลโดยด่วน) สิทธิในผลประโยชน์และสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่าย(หากคนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกฝ่ายไม่สามารถรับสิทธิ์เหมือนคู่สมรสชายหญิง) สิทธิในการใช้ชื่อสกุลเดียวกันฯลฯ
ที่น่าสังเกตไปมากกว่านั้นคือ ในร่างแรกสุดของพระราชบัญญัตินี้ มีการพูดถึงการ “อนุโลม” ให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถได้รับผลประโยชน์ต่างๆ เหมือนคู่สมรสชายหญิงที่มีอยู่ก่อนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คล้ายกับกฎหมายคู่ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1999) ในขณะที่ร่างปัจจุบันที่กำลังพิจารณาความเห็นกันอยู่ กลับไม่มีพูดถึงการอนุโลมนี้เลย
นั่นหมายความว่า ช่องทางที่จะพัฒนาความเป็น “คู่ชีวิต” ไปสู่ “คู่สมรส” อาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ หากรัฐไม่แก้ไขนิยามของการสมรสในภาพใหญ่ให้ครอบคลุมทุกเพศ มากกว่าจะจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ไว้ให้ชายหญิงเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
ถ้าอย่างนั้น ที่รัฐบอกว่าอยากจะให้ทุกเพศมีความเสมอภาค มีสิทธิเท่าเทียมกัน แท้จริงแล้วอาจเป็นการโกหกครั้งใหญ่หรือเปล่า?
เพราะถ้าตั้งใจอยาก “ทดลองใช้” พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพื่อนำร่องก่อนให้จดทะเบียนสมรสเหมือนอย่างในอังกฤษ ก็ควรจะเปิดช่องให้มีการพิจารณาสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับคู่ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสในระหว่างทดลองใช้ มากกว่าจะตัดทิ้งไปเลย โดยที่ไม่เอ่ยถึงแม้แต่คำเดียว
หรือจะไปแก้ไขที่ร่มใหญ่ของปัญหาก็ย่อมได้ นั่นคือการตัดคำว่า “ชายและหญิง” ออกจากข้อบังคับของการจดทะเบียนสมรส และใช้คำว่า “บุคคล” เข้าไปแทนที่ก็เท่านั้นเอง
หลายฝ่ายมองว่า การผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตนี้ หากมองแบบสั้นๆ ก็ดูดีในสายตาประชาชนและนานาประเทศ แต่ในระยะยาว การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางกฎหมายในอนาคต อาจกลายเป็นเหมือนแพ้ตั้งแต่หน้าประตู เพราะรัฐ (และประชาชนบางกลุ่ม) อาจบอกได้ว่า “ก็ได้ไปแล้วจะมาเรียกร้องอะไรอีก!”
โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นการตอบรับจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มารับลูกจากข่าวการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยยกประโยชน์ที่ว่า จะได้โปรโมทประเทศไทยในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นสวรรค์ของกลุ่มเพศหลากหลาย เปิดกว้างและยอมรับทุกเพศ พ่วงด้วยสาเหตุที่มองว่า กลุ่มคนเพศหลากหลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เพราะไม่ต้องมีห่วงเรื่องครอบครัวและบุตร ใช้ชีวิตได้ตามใจ
ยิ่งตอกย้ำความคิดที่ว่า การผลักดันกฎหมายนี้ อาจเป็นแค่การใช้ความหวังของกลุ่มเพศหลากหลาย ที่ต้องการมีสิทธิทางกฎหมายทัดเทียมกับชายหญิง เอามาฉาบหน้าความอยากได้เงินท่องเที่ยว หวังโปรโมทแต่ภาพลักษณ์ของประเทศเพียงอย่างเดียว
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่าบอกเลยว่าทำไปเพราะอยากเห็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ทั้งที่มันเป็นแค่ละครฉากหนึ่งเท่านั้นเอง!
ข้อมูลอ้างอิง
- - https://www.bbc.com/thai/thailand-46151187
- - https://thestandard.co/civil-partnership-bill-draft-3/
- - https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSe6_GcLUlMMj5QNnPiRUNktu4TAvv6sGS7V2i_n47MPFSeYfw/viewform
- - https://www.khaosod.co.th/economics/news_1758556
- - https://www.posttoday.com/politic/report/548289
ภาพประกอบจาก
http://www.thaihealth.or.th/tag/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3/
ความเห็น 13
union
ไทยทุกเรื่องเป็นไอ้กลิ้งขี้โกงทุกอย่างแต่ชอบสร้างภาพออกข่าวเป็นประเทศแรกในเอเซียบ้างละ/ที่จริงๆไต้หวันโว้ยประเทศแรก
16 พ.ย. 2561 เวลา 01.21 น.
•Ä• メ3
ประเทศด้อยพัฒนาก้อแบบนี้แหละ
14 พ.ย. 2561 เวลา 14.06 น.
Pongg
รอไปอีกร้อยปีสำหรับประเทศไทย
14 พ.ย. 2561 เวลา 08.44 น.
Parsit
https://today.line.me/TH/article/6jR3yv?utm_source=copyshare
14 พ.ย. 2561 เวลา 08.10 น.
🐜 (มด)
มันมีพรรคที่มองเรื่องนี้แบบเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถ้ารัฐชุดนี้ไม่ทำ เสียงเราที่อยู่ในสังคมมีเท่าไหร่ อย่าเลือกพวกนี้กลับมา มันต้องมีพรรคการเมืองที่มีความจริงใจในสิทธิของมนูษย์ที่เท่าเทียม
14 พ.ย. 2561 เวลา 07.46 น.
ดูทั้งหมด