วันที่ 1 กันยายน 1983 เครื่องบิน Korean Air Lines เที่ยวบิน 007 บินข้ามน่านฟ้าโซเวียต พลันเครื่องบินทหารโซเวียตลำหนึ่งบินตามมาและยิงมันตก เสียชีวิตยกลำ 269 คน
ชาวโลกก่นด่าโซเวียตยับเยินที่แยกไม่ออกระหว่างเครื่องบินรบกับเครื่องบินพาณิชย์
เพียงสามอาทิตย์ต่อมา โลกก็เข้าสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง
คราวนี้เกิดขึ้นเงียบ ๆ
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
คืนวันที่ 26 กันยายน 1983 นาวาอากาศโท สตานิสลาฟ เยฟกราโฟวิช เปตรอฟ (Stanislav Yevgrafovich Petrov) อยู่เวรที่ศูนย์ดาวเทียมควบคุมเตือนภัย เรียกเป็นรหัสว่า Oko ตั้งอยู่ที่เขตทหาร Serpukhov-15 ใกล้กรุงมอสโก
เปตรอฟวัย 44 มีหน้าที่เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของขีปนาวุธของอเมริกา
เวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตอยู่ในขั้นเลวร้ายมาก ต่างงัดเอาอาวุธมาข่มอีกฝ่าย
เมื่อโซเวียตติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง SS-20/RSD-10 สิบสี่ลูก นาโตก็งัดหัวรบ Pershing II 108 ลูกออกมาใช้ในยุโรป พร้อมถล่มภาคตะวันออกของโซเวียตได้ในเวลาแค่ 10 นาที นอกจากนี้ยังเพิ่มหัวรบพิสัยไกล BGM-109G เข้าไปอีก
โลกเข้าใกล้จุดเดือด ทั้งสองฝ่ายหันหัวขีปนาวุธเข้าหากัน
ในวันที่ 23 มีนาคม 1983 ประธานาธิบดี รอนัลด์ เรแกน ประกาศทางโทรทัศน์ เสนอความคิดโครงการ The Strategic Defense Initiative หรือที่สื่อเรียกว่า ‘สตาร์ วอร์ส’ สร้างอาวุธที่สามารถสอยขีปนาวุธของศัตรูลงมา ก่อนที่มันจะถึงเป้าหมาย
เรแกนประกาศว่า“ผมกำลังเรียกร้องให้วงการวิทยาศาสตร์ที่เคยสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ใช้ความสามารถเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติและสันติภาพแห่งโลก สร้างเครื่องมือให้เราทำให้อาวุธนิวเคลียร์ใช้การไม่ได้และล้าสมัย”
แม้ ‘สตาร์ วอร์ส’ ไม่ประสบความสำเร็จ แต่โซเวียตก็เชื่อว่าสหรัฐฯ มีศักยภาพที่จะทำได้ เช่นที่เคยระดมนักวิทยาศาสตร์ทำระเบิดปรมาณูสำเร็จมาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อนักฟิสิกส์ เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ บิดาแห่งระเบิดไฮโดรเจน เป็นคนแรก ๆ ที่เสนอความคิดสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธนิวเคลียร์
โซเวียตเชื่อว่าสหรัฐฯ ทำโครงการ ‘สตาร์ วอร์ส’ เพื่อใช้จัดการฝ่ายตน และสหรัฐฯ จะยิงขีปนาวุธก่อนแน่
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
สตานิสลาฟ เปตรอฟ เกิดในครอบครัวทหารอากาศ พ่อเป็นนักบินในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเรียนสายวิศวกรรมศาสตร์ที่สถาบันวิศวกรรมเทคนิควิทยุชั้นสูงของกองทัพอากาศ แล้วรับราชการที่กองทัพอากาศในปี 1972 ทำงานด้านระบบเตือนภัยขีปนาวุธข้ามทวีปที่มาจากประเทศกลุ่มนาโต
หลังเที่ยงคืนเล็กน้อย คอมพิวเตอร์บอกว่าบางสิ่งผิดปกติ เครื่องรายงานว่ามีขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปลูกหนึ่ง พุ่งตรงมาที่โซเวียต ต้นทางคือสหรัฐฯ
ใจเขาเต้นแรงขึ้น
สหรัฐฯ จะก่อสงครามเช่นนั้นหรือ ? ในเวลานี้ ? ด้วยหัวรบเพียงลูกเดียว ?
เขารู้สึกว่าบางอย่างผิดปกติ เหตุผลเพราะหากสหรัฐฯ จะโจมตีโซเวียตก่อน ไม่น่าจะใช้หัวรบเพียงลูกเดียว มันควรจะเป็นหลายร้อยลูก เพราะลูกเดียวไม่สามารถชนะโซเวียตได้ หากจะจู่โจมหวังผล ก็ต้องทำลายโซเวียตให้ราบเป็นหน้ากลอง สหรัฐฯ ย่อมรู้ดีว่า หากไม่พิชิตอีกฝ่ายให้ราบคาบก่อน พวกโซเวียตจะยิงขีปนาวุธสวนกลับไปแน่นอน
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เขาเชื่อว่าคอมพิวเตอร์อ่านค่าผิดคือ ดาวเทียมดวงนี้เคยรวนมาก่อน อีกทั้งไม่ปรากฏการตรวจจับขีปนาวุธทางอื่น
นาทีนั้นเขาสรุปว่ามันเป็นการเตือนภัยที่ผิดพลาด จึงไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทันที แต่ในใจเขาก็ระทึก หากมันไม่ผิดเล่า ? ถ้ามันเป็นขีปนาวุธจริงล่ะ ?
เขาเฝ้ารอต่อไป
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
ผ่านไปหลายนาที จนเมื่อถึงกำหนดที่ขีปนาวุธควรเดินทางมาถึงแล้ว เขาก็รู้ว่าไม่มีการจู่โจมจากสหรัฐฯ คอมพิวเตอร์เตือนภัยรวน
ผ่านไปอีกไม่นาน คอมพิวเตอร์เตือนอีกว่ามีขีปนาวุธสี่ลูกมาจากสหรัฐฯ มุ่งหน้ามาที่โซเวียต เขาเชื่อว่าคอมพิวเตอร์รวนอีกรอบ
เขาเห็นว่าการเตือนครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วเกินไป มันผ่านการตรวจสอบ 30 ขั้นตอนเร็วผิดปกติ จึงเชื่อว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านค่าผิด
เขาเชื่อว่ามันเป็นการเตือนผิดพลาด จึงตัดสินใจไม่รายงานเบื้องบนทันทีที่เกิดเหตุ
ต่อมามีการยืนยันว่าคอมพิวเตอร์รวนจริง มันเกิดจากการอ่านภาพการวางตัวของแสงอาทิตย์บนเมฆชั้นสูงเหนือรัฐนอร์ธ ดาโกตา กับวงโคจรของดาวเทียมโซเวียต ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่มันก็เกิดขึ้น
เปตรอฟทำให้โลกพ้นจากสงครามอย่างหวุดหวิด โดยใช้ไหวพริบ สติ และปัญญา
ถ้าเขารายงานการพบหัวรบครั้งนี้ขึ้นเบื้องบนมีโอกาสสูงที่จะเกิดการยิงตอบโต้ เพราะสถานการณ์การเผชิญหน้าสูงยิ่ง
นี่คือสามัญสำนึก สัญชาตญาณ ปฏิภาณ การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และอ่านเกมไปพร้อมกัน
เขาบอกเบื้องบนภายหลังว่า การที่สหรัฐฯ โจมตีด้วยหัวรบเพียงห้าลูกนั้นไม่สมเหตุสมผล
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
หลังเกิดเหตุ นายพล ยูรี โวตินท์เซฟ (Yury Votintsev) ผู้บัญชาการหน่วยป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศ ได้รับรายงาน และกล่าวชมเชยเขาที่ตัดสินใจได้ถูกต้อง สมควรได้รับรางวัล
แต่ต่อมา นอกจากจะไม่ได้รับรางวัล เปตรอฟกลับถูกเบื้องบนตำหนิ และถูกเบื้องบนสอบสวนอย่างหนัก ถูกย้ายไปทำงานตำแหน่งที่ต่ำลง
เขาเชื่อว่า เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าระบบเตือนภัยของโซเวียตมีปัญหา ทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงและนักวิทยาศาสตร์เสียหน้า ทางการจึงชมเชยเขาไม่ได้ เพราะหากเขาได้รับคำชม คนเหล่านั้นก็ต้องถูกลงโทษ
ในปี 1984 เขาย้ายไปทำงานในสถาบันค้นคว้าด้านการเตือนภัย และลาออกก่อนเกษียณ บอกว่าจะไปดูแลภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็ง
มีรายงานว่าเขาบอกว่า “ผมเป็นแพะรับบาป” และเกิดอาการประสาทกิน
แล้วเรื่องก็จบลงเพียงนั้น
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
เรื่องนี้ไม่เป็นข่าว จนหลายปีต่อมามีการตีพิมพ์บันทึกของ นายพล ยูรี โวตินท์เซฟ ในปี 1988 สื่อต่าง ๆ ทั่วโลกจึงเพิ่งรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ทั้งซีไอเอและเคจีบีที่เผยภายหลังชี้ว่า โซเวียตยังไม่สามาถรับมือกับขีปนาวุธ Pershing II จึงเชื่อว่าสหรัฐฯ เอาแน่
ระบบเตือนภัยรวนที่เกิดขึ้นมาในจังหวะที่เลวร้ายที่สุด เข้มข้นที่สุด ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศตกต่ำที่สุด โซเวียตเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะโจมตี
“ในเมื่อสหรัฐฯ จะโจมตี เราก็ควรเล่นพวกนั้นก่อน”
ดังนั้นสถานการณ์ในคืนนั้นจึงอันตรายอย่างยิ่ง
ผู้เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ หลายคนเชื่อว่า เหตุการณ์นี้เฉียดสงครามนิวเคลียร์มากที่สุดแล้ว เพราะพวกโซเวียตเชื่อว่าสหรัฐฯ จะจู่โจมก่อน โดยเฉพาะจากประธานาธิบดี รอนัลด์ เรแกน ที่แข็งกร้าว
หลังจากโลกรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สตานิสลาฟ เปตรอฟ ได้รับการชมและยกย่องจากองค์กรและสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะจากโลกตะวันตกและสหประชาชาติ
ในปี ค.ศ. 2006 องค์การสหประชาชาติมอบรางวัล World Citizen Award ให้เขา
ปี 2013 เยอรมนีมอบรางวัล The Dresden Peace Prize ให้เขา
เดรสเดนเป็นเมืองในเยอรนีที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมในปี 1945 ด้วยเครื่องบิน 1,249 ลำ ระเบิดกว่า 3,900 ตันในคืนเดียว ทั้งเมืองถูกเผาราบ ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องเตือนความเลวร้ายของสงครามล้างโลก
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
สองปีหลังจากเหตุการณ์นี้ มิคกาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นเป็นผู้นำโซเวียต ได้พบกับประธานาธิบดี รอนัลด์ เรแกน ที่ไอซ์แลนด์ และเจรจาหาทางแก้ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ และตกลงค่อย ๆ ลดการผลิตอาวุธ
สตานิสลาฟ เปตรอฟ ถึงแก่กรรมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2017 และได้รับรางวัล Future of Life Award ที่นิวยอร์ก โดยบุตรสาวเป็นผู้รับรางวัลแทนพ่อ
ในพิธีมอบรางวัล บันคีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า สงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตเกือบได้เกิด หากมิใช่เพราะการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของ สตานิสลาฟ เยฟกราโฟวิช เปตรอฟ ด้วยเหตุผลนี้ เขาสมควรได้รับคำขอบคุณอย่างสูงจากชาวโลก และสมควรที่ชาวโลกจะทำงานด้วยกันเพื่อได้โลกที่ปราศจากความกลัวอาวุธนิวเคลียร์ จดจำวิจารณญาณที่กล้าหาญของ สตานิสลาฟ เปตรอฟ
เปตรอฟบอกเสมอว่าเขาไม่ใช่วีรบุรุษ
“เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงหน้าที่การงานของผม ผมแค่ทำงานของผม ผมเพียงอยู่ถูกที่ถูกเวลา ก็แค่นั้น”
เขาบอกว่าเขาไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ภรรยา
เธอเคยถามเขาว่า “คุณทำอะไรหรือเปล่า ?”
เขาตอบว่า “เปล่า ผมไม่ได้ทำอะไร”
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY
ความเห็น 10
Piyasuda🌷
คนดี คนเก่ง ไม่พูดเยอะ
15 ธ.ค. 2563 เวลา 14.17 น.
Srisan 1973
สงครามเกิดจาก.........,....,..,.........นะจ๊ะ
14 ธ.ค. 2563 เวลา 11.34 น.
ปะป๊าของเจอเก้น
ผลงาน อยู่ที่ทัศนะคติคนจะมองจริงๆ มองให้ดีก็ได้ มองให้ร้ายก็ได้
14 ธ.ค. 2563 เวลา 11.29 น.
ยุทธ ยุทธ 1
เมืองไทยอาวุธที่ทำลายประเทศชาติเราได้คือปากของนกม.สาวกที่สำคัญคือสื่อที่รู้ว่าข้อมูลไหนเท็จข้อมูลไหนจริงแต่จะเลือกเอาข้อมูลที่สร้างความแตกแยกมานำเสนอเพื่อเปิดขายแผลออกไปสร้างเรตติ้งค่าโฆษณาหรือทำตามเจ้าของสื่อที่หวังผลประโยชน์
14 ธ.ค. 2563 เวลา 11.10 น.
Nong
ดีเยี่ยม
14 ธ.ค. 2563 เวลา 10.56 น.
ดูทั้งหมด