มีนักร้องกี่คนในโลกเชื่อเพลงที่ตนเองร้องจริง ๆ ?
เอลวิส เพรสลีย์ ก็ตอบไม่ได้ จนกระทั่งถึงวันหนึ่งในเดือนเมษายน ปี 1968 วันนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ อายุสามสิบเก้า ถูกยิงตายขณะยืนบนระเบียงโรงแรม Lorraine Motel เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี
คิงเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวของสิทธิมนุษยชนอเมริกัน ทำงานเพื่อคนด้อยโอกาสมาตลอดชีวิต เขาทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกมีความหวังเป็นครั้งแรกว่าวันหนึ่งจะมีที่ยืนในสังคมเหมือนพลเมืองชั้นหนึ่ง
ประวัติศาสตร์คนผิวดำในอเมริกาเริ่มต้นในปี 1619 เมื่อคนผิวดำชุดแรกเหยียบแผ่นดินใหม่แห่งความหวัง คนเหล่านี้เป็นคนรับใช้ แต่ไม่กี่สิบปีต่อมา เรือเดินสมุทรก็พาทาสผิวดำมาสู่อเมริกาเป็นระลอก ทาสส่วนใหญ่ถูกจับตัวมาจากแอฟริกา
เป็นเวลาหลายร้อยปีที่คนผิวดำถูกกดขี่ ถูกฆ่าโดยที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ คิงเชื่อว่าต้องแก้ไข และแก้ได้ เขาหวังว่า “วันหนึ่งลูกสี่คนของผมจะสามารถอยู่ในชาติที่พวกเขาไม่ถูกตัดสินด้วยสีผิว แต่ด้วยคุณสมบัติ”
มันยาก แต่มันต้องเปลี่ยน
พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น ต้องฝันโลกที่ดีกว่า
วันที่ 28 สิงหาคม 1963 คิงนำขบวนคนสองแสนห้าหมื่นคนไปชุมนุมที่หน้า Lincoln Memorial ที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ต่อต้านเรื่องการแบ่งแยกสีผิว
วันนั้นเขาปราศรัยประโยค “I Have a Dream.”
มันกลายเป็นประโยคประวัติศาสตร์ ดังก้องไปทั่วโลก
ขบวนการต้านการเหยียดผิวแผ่ขยายกว้าง คนหนุ่มสาว คนยากไร้ คนที่อยากเห็นสังคมดีขึ้นโดยไม่รุนแรง คนนับล้าน ๆ เดินตามเขา
เอลวิส เพรสลีย์ เป็นคนใต้เช่นเดียวกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เอลวิสอยู่ที่มิสซิสซิปปี มาร์ตินอยู่ที่จอร์เจีย ทั้งสองเกิดในบรรยากาศของการเหยียดสีผิวเหมือนกัน คนหนึ่งผิวดำ คนหนึ่งผิวขาว แต่มีความฝันเดียวกันคือความเสมอภาค
แต่ความฝันนั้นถูกดับลงด้วยเสียงปืน
จุดที่คิงถูกยิงห่างจากบ้านเอลวิสแค่เก้าไมล์ เอลวิสไม่ได้ไปร่วมงานศพคิง เพราะติดภารกิจ แต่ดูการถ่ายทอด และร้องไห้ตลอดรายการ
คิงมีความหมายต่อชีวิตของเขา
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
สองเดือนหลังจากคิงถูกลอบสังหาร สถานีโทรทัศน์ NBC เตรียมอัดรายการชื่อ Elvis (บางทีเรียก ’68 Comeback Special) ถ่ายทำในเดือนมิถุนายน เพื่อใช้ออกอากาศในเดือนธันวาคม ช่วงคริสต์มาส
ผู้จัดงานรู้ว่าเอลวิสชื่นชมคิงมาก และในเมื่อคิงถูกฆ่าในเวลานั้นพอดี จึงเสนอให้เปลี่ยนเพลงคริสต์มาสเพลงหนึ่งคือ I’ll Be Home for Christmas เป็นเพลงเพื่อแสดงความสมานฉันท์ และบอกโลกว่า ยังมีคนผิวขาวที่ไม่เหยียดผิวเช่นเอลวิส
นักแต่งเพลง วอลเตอร์ เอิร์ล บราวน์ ได้รับโจทย์กะทันหันให้แต่งเพลงแทนในเวลาอันสั้น เขาก็แต่งเพลงโดยเขียนเนื้อเพลงเกี่ยวข้องกับคำพูดของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ โดยตรง คำปราศรัยของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กลายเป็นเสียงเพลง “I Have a Dream.” กลายเป็น If I Can Dream
บางท่อนของเพลง เช่น
“มันต้องมีแสงสุกสว่างกว่านี้ที่ไหนสักแห่ง
มันต้องมีฝูงนกที่บินเหนือฟ้าสุกสกาวกว่านี้
ถ้าฉันสามารถฝันถึงดินแดนที่ดีกว่าเดิม
ที่ซึ่งฉันจับมือพี่น้องเดินไปร่วมกัน
บอกฉันหน่อยว่าทำไมฉันไม่สามารถทำให้ฝันนั้นเป็นจริง
ทำไม”
เอลวิสได้ยินเทปตัวอย่างและชอบใจมาก บอกว่านี่เป็นเพลงที่เขาเชื่อจริง ๆ
แต่ผู้จัดการส่วนตัวของเขาไม่รู้สึกชอบด้วย บอกว่า “มันไม่ใช่เพลงสไตล์เอลวิส”
เอลวิสบอกว่า “ให้ผมลองเถอะ”
ในวันร้องอัดเทป เอลวิสปลดปล่อยความรู้สึก อารมณ์ออกมาเต็มที่
น้ำเสียงของเขาทรงพลังกังวาน ระบายความเศร้า ความขมขื่น ความรันทดแทนใจคนผิวดำ เป็นความรู้สึกจริงของเขา เพลงนี้พูดแทนคนผิวสี และปลดปล่อยความรู้สึกที่คุคั่งภายในมาหลายศตวรรษ
วอลเตอร์ เอิร์ล บราวน์ เล่าว่า ขณะที่เอลวิสร้องเพลง นักร้องประกอบหลายคนน้ำตาไหล เพราะสัมผัสความจริงใจจากเอลวิส เขาร้องด้วยพลังความรู้สึกที่ไม่เคยแสดงในระดับนี้มาก่อน และเขาเชื่อสิ่งที่เขาร้อง
เอลวิสบอกว่า “ต่อไปนี้ผมจะไม่มีวันร้องเพลงที่ผมไม่เชื่อ จะไม่มีวันเล่นหนังที่ผมไม่เชื่ออีกต่อไป”
และเขาก็ทำอย่างที่พูด
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
If I Can Dream กลายเป็นเพลงฮิต ทำให้เอลวิสเกิดใหม่ ว่าเขาสามารถเป็นนักร้องแนวจริงจังได้ และสามารถใช้เพลงเปลี่ยนสังคม
เพลงนี้ถามง่าย ๆ ตร งๆ ว่า ในเมื่อเราฝันว่าเราจะสร้างโลกที่ดีกว่าเก่า และคนเป็นล้าน ๆ คน เชื่อความฝันนี้ ทำไมเราไม่สามารถทำให้มันเป็นความจริง ?
เนื้อเพลงสะท้อนคำพูดของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง
“ถ้าฉันฝันถึงอาทิตย์ที่อุ่นกว่า ที่ซึ่งความหวังฉายส่องทุกคน
บอกฉันหน่อยว่าทำไมอาทิตย์ดวงนั้นจึงจะไม่ปรากฏ
เราหลงทางในเมฆมืด
ฝนหนาเกินไป
เราติดกับในโลกโลกหนึ่ง ที่ซึ่งเจ็บปวด
แต่ถ้าคนยังมีกำลังที่จะฝัน ก็สามารถไถ่ถอนวิญญาณของเขาและโผผินบินไป”
“ข้างนอกโน้นในความมืด มีแสงเทียนที่กวักเรียก”
วลี ‘solid rock of brotherhood’ เชื่อมโยงกับ ‘brothers’ walking ‘hand in hand’ ในเพลง
‘sunlit path of racial justice’ เป็น ‘a warmer sun’ และ ‘where hope keeps shining on everyone’
‘a great beacon light’ กลายเป็น ‘a beckoning candle’
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
สามปีต่อมา จอห์น เลนนอน แต่งเพลงชื่อ Imagine เนื้อเพลงพูดถึงสังคมในอุดมคติ สังคมที่ไร้พรมแดน และสันติภาพสากล คล้ายกับเพลง If I Can Dream
โดยความหมายและนัย มันก็คือ If I Can Dream ฉบับ จอห์น เลนนอน หรือ Imagine ฉบับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
“Imagine all the people
Living life in peace
You, you may say I’m a dreamer
But I’m not the only one
I hope someday you will join us
And the world will be as one”
ทั้งสองเพลงพูดถึงเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและความฝัน
มนุษย์เราต้องฝัน และมนุษย์เราก็ฝันเสมอตลอดประวัติศาสตร์
และเป็นความฝันนี้เองที่หล่อเลี้ยงคนให้ข้ามพ้นห้วงทุกข์ยากลำบาก คนที่ถูกจับข้ามน้ำข้ามทะเลไปเป็นทาสตลอดชีวิต และลูกหลานต้องทนทุกข์กับสังคมของการเหยียดสีผิว
หลายความฝันเป็นเรื่องที่ดูเหลือเชื่อ และดูเหมือนเป็นไปไม่ได้
เพลงทั้งสองนี้ตั้งคำถามว่า ถ้าเราเชื่อความฝันหนึ่งจริง ๆ และมันเป็นไปได้ ทำไมเราไม่ทำให้มันกลายเป็นความจริง?
Oh why can’t my dream come true ?
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY
ความเห็น 6
086 3842991 เอกชัย
สุดยอดครับ บ้านเราควรหันกลับมามองเรื่องนี้กันแยอะๆ
02 ธ.ค. 2563 เวลา 00.27 น.
Time 💮 🗻
🌟
30 พ.ย. 2563 เวลา 10.44 น.
ปกฉัตร
ฟังเพลงนี่ตั้งแต่เด็กๆ ชอบความหมายและเมโลดี้ของเพลงมากครับ
30 พ.ย. 2563 เวลา 02.04 น.
ทำไมพวกขนมหวานไม่มารุมเม้นบทความนี้มั่ง
30 พ.ย. 2563 เวลา 01.57 น.
Jaruwat Varodom
#(ชีวิต10เท่า โต10เท่า หรือมากกว่าใครๆก็ทำได้.ด้วยการวางแผนการเงิน) : ที่ปรึกษาการเงิน 089-7894708, 061-8730819
29 พ.ย. 2563 เวลา 18.52 น.
ดูทั้งหมด