โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อไอน์สไตน์ปลอบใจคนถูกเกลียดชัง - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 01 พ.ย. 2563 เวลา 18.33 น. • วินทร์ เลียววาริณ

วงการวิทยาศาสตร์ตะวันตกในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 19-20 นักวิทยาศาสตร์หญิงไม่ได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเก่งเพียงไร แม้แต่กับ มารี คูรี ผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้ง สองสาขา นอกจากนี้ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยปารีส

มารี คูรี เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีชาวฝรั่งเศส เชื้อสายโปแลนด์ เป็นนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลก เธอเก่งทั้งด้านฟิสิกส์และเคมี เป็นผู้บุกเบิกงานด้านกัมมันตภาพรังสี (Radioactivity เธอเป็นคนให้กำเนิดคำนี้)

มารี คูรี เกิดที่กรุงวอร์ซอ ราชอาณาจักรโปแลนด์ ซึ่งเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย เธอเรียนที่บ้านเกิดจนอายุยี่สิบสี่ ก็ไปเรียนต่อที่ปารีส และทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างยาวนาน

ปี 1903 มารีได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับสามี ปิแอร์ คูรี และ อังรี เบ็คเคอเรล จากการบุกเบิกงานด้านกัมมันตภาพรังสี

มารี คูรี บุกเบิกรังสีวิทยาเพื่อการแพทย์ เป็นผู้พัฒนาเครื่องเอ็กซเรย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับใช้ในโรงพยาบาลภาคสนาม

วงการวิทยาศาสตร์สำหรับผู้หญิงสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อ มารี คูรี ได้รับรางวัลโนเบลรอบที่สองสาขาเคมี จากการค้นพบสองธาตุใหม่คือ โปโลเนียม (Polonium) และ เรเดียม (Radium)

แม้เป็นคนฝรั่งเศส เธอดำรงรากเหง้าของโปแลนด์อย่างเหนียวแน่น และตั้งชื่อธาตุแรกที่เธอค้นพบว่า Polonium มาจากชื่อโปแลนด์

แต่ผลงานชั้นยอดทั้งหลายเหล่านี้มิได้ทำให้คนฝรั่งเศสรักเธอหรือภูมิใจแต่อย่างใด พวกเขาเห็นว่าเธอเป็น ‘คนนอก’ เป็นยิว และเป็น Atheist (คนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า) อคตินี้ทำให้เธอไม่ได้รับตำแหน่งในสถาบัน French Academy of Sciences อันทรงเกียรติ 

สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เมื่อเธอมีสัมพันธ์กับชายที่แต่งงานแล้ว

ในปี 1906 สามีเธอตายเพราะอุบัติเหตุ มารีเศร้าโศกอยู่หลายปี สี่ปีต่อมาเธอพบรักใหม่กับผู้ร่วมงาน ศาสตราจารย์หนุ่ม Paul Langevin เขาแต่งงานแล้ว แต่แยกทางกับภรรยา

ภรรยาของเขาว่าจ้างคนไปขโมยจดหมายรักของทั้งสอง แล้วส่งให้สื่อไปตีพิมพ์

ทันใดนั้นเรื่องรักของเธอก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในฝรั่งเศส ข่าวนี้ดังกว่าข่าวการได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองของเธอ 

ปรากฏฝูงชนมาออที่หน้าบ้านเธอในปารีส ด่าทอนักวิทยาศาสตร์หญิงอย่างรุนแรง พายุ ‘Hate speech’ ทำให้เธอต้องหลบไปอาศัยบ้านเพื่อน

สื่อตราหน้าเธอว่าเป็น ‘ยิวต่างชาติที่ทำลายครอบครัวคนอื่น’

Le Journal ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 1911 เขียนว่า “ไฟแห่งธาตุเรเดียมที่ส่องอย่างลึกลับเพิ่งจุดไฟในหัวใจของนักวิทยาศาสตร์สองคนซึ่งศึกษากิริยาของมันอย่างทุ่มเท และภรรยาและลูก ๆ ของนักวิทยาศาสตร์มีน้ำตานองหน้า”

มารี คูรี ได้รับจดหมายจากสมาชิกคณะกรรมการโนเบลคนหนึ่ง ชื่อ Svante Arrhenius ‘ขอร้อง’ เธออย่าไปร่วมพิธีรับรางวัล

ท่ามกลางความเลวร้ายของพายุความเกลียดชัง จดหมายฉบับหนึ่งเดินทางเงียบ ๆ ไปถึงมือคูรี 

เป็นจดหมายจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

จดหมายฉบับนั้นเขียนว่า

กรุงปราก 23 พฤศจิกายน 1911

คุณคูรีที่นับถืออย่างยิ่ง

อย่าหัวเราะผมที่เขียนจดหมายมาหาคุณโดยไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์มากนัก แต่ตอนนี้ผมรู้สึกโกรธมากเรื่องมารยาทพื้นฐานที่สาธารณะเข้าไปยุ่มย่ามกับคุณ จนผมต้องระบายความรู้สึกนี้ออกมา 

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อแน่ว่าคุณรังเกียจม็อบพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ามันจะเป็นคำยกย่องเกินจริง หรือเป็นความพยายามตอบสนองความอยากอ่านเรื่องตอแหล เกิดแรงกระตุ้นให้ผมต้องบอกคุณว่าผมชื่นชมความฉลาดปราดเปรื่องของคุณแค่ไหน ความมุ่งมั่นของคุณ และความซื่อตรงของคุณ และผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีได้รู้จักคุณเป็นการส่วนตัวที่กรุงบรัสเซลส์ ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ย่อมมีความสุขแน่นอน 

ตอนนี้ก็เช่นแต่ก่อน ที่พวกเรามีคนเช่นคุณ และ Langevin ด้วย มนุษย์จริง ๆ ที่คนอื่นรู้สึกเป็นโอกาสพิเศษที่ได้คบหา ถ้าคนพวกนั้นยังเล่นไม่เลิกกับคุณ ก็อย่าไปอ่านเรื่องไร้สาระพวกนั้น ปล่อยมันไว้กับพวกสัตว์เลื้อยคลานที่เชื่อเรื่องซึ่งถูกสร้างขึ้นมาหลอกลวง

ด้วยมิตรภาพและความปราถนาดีต่อคุณ Langevin และ Perrin

(ลงชื่อ)

A. Einstein

(Perrin คือ Jean Baptiste Perrin ศาสตราจารย์นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส)

คูรีได้สติ ลุกขึ้นมายืนอีกครั้ง เธอเขียนจดหมายตอบกลับสมาชิกกรรมการรางวัลโนเบลว่า “รางวัลนี้มอบแก่การค้นพบเรเดียมและโปโลเนียม ดิฉันเชื่อว่ามันไม่มีความเกี่ยวโยงกันระหว่างงานด้านวิทยาศาสตร์กับชีวิตส่วนตัวของดิฉัน ดิฉันไม่สามารถยอมรับว่า การยกย่องคุณค่าของงานวิทยาศาสตร์สมควรได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนเท็จและการสร้างความเสียหายที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว”

เรื่องจบลงในที่สุด

เมื่อหมดเชื้อไฟให้เล่น สื่อก็หันไปเล่นข่าวอื่นต่อไป

และ มารี คูรี ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทของไอน์สไตน์

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ผ่านมาหนึ่งศตวรรษครึ่งจากยุคของ มารี คูรี โลกของเราเดินทางมาถึงจุดที่เทคโนโลยี โซเชียล มีเดีย เปิดพื้นที่ให้เกิดข่าวปลอมและวาจาเกลียดชัง (Hate speech) ได้ง่ายดายจนมันท่วมโลก

นักเขียน นักปรัชญาชาวอิตาเลียน อุมแบร์โต เอโก (Umberto Eco) เขียนว่า “โซเชียล มีเดีย ให้สิทธิกลุ่มงี่เง่าพูดเรื่องที่แต่ก่อนพวกเขาพูดกันเฉพาะในบาร์หลังดื่มไวน์สักแก้ว โดยไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม แล้วพวกเขาก็ถูกเอ็ดให้เงียบ แต่เดี๋ยวนี้พวกเขามีสิทธิในการพูดเหมือนกับผู้รับรางวัลโนเบล มันคือการรุกรานของพวกงี่เง่า”

โซเชียล มีเดีย กลายเป็น 'Weapon of mass destruction' แห่งศตวรรษที่ 21

บางคนอาจโทษเทคโนโลยี แต่มองให้ดี เราจะพบว่าปัญหาอยู่ที่คนเสมอ ดังคำของโกวเล้งที่ว่า “ที่ฆ่าคนมิใช่อาวุธ ที่ฆ่าคนคือคน” 

การรับมือการรุกราน โดยรุกรานกลับ ยิ่งทำให้สังคมวุ่นวาย แต่การทำตามคำแนะนำของไอน์สไตน์ที่ว่า “ก็อย่าไปอ่านเรื่องไร้สาระพวกนั้น” ไม่ได้กระทำได้ง่าย เพราะในวันนี้เราแทบแยกแยะไม่ออกแล้วว่า อะไรคือข่าวจริงข่าวไม่จริง และในวันนี้ วิถีชีวิตของเราอาจถูก ‘เชิด’ (Manipulate) ด้วยเครื่องมือใหม่นี้อย่างไม่น่าเชื่อ

วาเอล โกนีม (Wael Ghonim) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอียิปต์ ผู้มีบทบาทใช้อินเทอร์เน็ตขับไล่รัฐบาลอียิปต์ในปี 2011 กล่าวว่า แต่ก่อนเขาเชื่อว่า ถ้าเราจะปลดปล่อยสังคมให้เป็นอิสระ เราต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่วันนี้เขาเชื่อว่า ก่อนจะปลดปล่อยสังคมให้เป็นอิสระ เราต้องปลดปล่อยอินเทอร์เน็ตให้เป็นอิสระก่อน

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0