กล้ามาก! "เด็กจบใหม่" เรียกเงินเดือนสูงลิ่ว! "นายจ้าง" จะมั่นใจได้ไงว่าความสามารถถึง?
ใกล้ถึงฤดูจบการศึกษาของเด็กมหาวิทยาลัย ที่กำลังจะก้าวมาเป็นมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่กันแล้ว ในจำนวนนักศึกษาจบใหม่ในระดับปริญญาตรีกว่า 450,000 คนต่อปี จากหลากหลายมหาวิทยาลัย บ้างก็ชื่อดัง บ้างอาจจะไม่ดังมาก แต่ละคนล้วนคาดหวังว่าจากการตรากตรำร่ำเรียนวิชาการมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ๆ เพื่อจบออกไปเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะทำให้ตัวเองได้รับเงินเดือนก้อนแรกที่คุ้มค่า เต็มเม็ดเต็มหน่วยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวน ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทุกวัน และอัตราเงินเฟ้อที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปทุกปี
เราคงเคยได้ยินกันมาว่าในรุ่นพ่อแม่ เงินเดือนเดือนละ 8,000 - 9,000 บาทก็ถือว่าเยอะแล้ว เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในยุคนั้น และในปัจจุบัน เรทเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นตัวเลขมาตรฐานอย่าง 15,000 บาท (ยังไม่รวมที่จะโดนหักไปเข้าประกันสังคมอีกเกือบพัน จนเหลือจริง ๆ อยู่ที่ 14,000 ต้น ๆ เท่านั้นเอง)
แต่จากวิดีโอสำรวจความเห็นชิ้นหนึ่ง ที่ไปสัมภาษณ์เด็กมหาวิทยาลัยถึงความคาดหวังในตัวเงินเดือนก้อนแรกเมื่อเรียนจบ และสิ่งที่ตัวเองสามารถมอบให้กับบริษัท บางคนก็ให้ความเห็นที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคน ถ้าฝ่ายบุคคลบางบริษัทมาเห็นก็อาจจะหงายหลังได้เหมือนกัน
จากคลิปวิดีโอ ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนที่เด็กมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าจะได้จะอยู่ในช่วง 20,000 - 30,000 บาทต่อเดือน ในสายอาชีพทั่วไป ในขณะที่บางคนก็บอกว่าคาดหวังที่ 60,000 บาท เพราะพูดได้ถึงสามภาษา หรือมากที่สุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อเดือน ด้วยเหตุผลที่ว่า ก็คิดว่าตัวเองทำงานได้ดี!
แม้ความคาดหวังจากเหล่าเด็กจบใหม่จะทะยานขึ้นไปแตะที่เลขสองแล้ว แต่โลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องดึงตัวเองลงมาก่อน ก็ยังยืนยันว่าภาพรวมอัตราเงินเดือนของเด็กจบใหม่ในปี 2562 ยังคงยืนพื้นอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เว้นแต่ร่ำเรียนมาเฉพาะทางในสายงานไอทีและดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรข้อมูล โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ ซึ่งความต้องการที่สูงก็ทำให้เงินเดือนเริ่มต้นพุ่งไปสูงถึง 35,000 บาทได้เช่นเดียวกัน
ยังไม่รวมปัจจัยเสริมด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ ที่สามารถดันฐานเงินเดือนพุ่งสูงขึ้นไปได้อีก และถ้าเป็นบริษัทต่างชาติ ก็มีแนวโน้มที่จะกล้าให้เงินเดือนที่สูงกว่าบริษัทในประเทศทั่วไป
จะเห็นได้ว่าการจะกล้า เรียกเงินเดือนสูงกว่าฐานเงินเดือนในตลาดแรงงานปัจจุบัน ประกอบไปด้วยปัจจัยสองส่วน หนึ่งคือต้อง รู้จักอุตสาหกรรมที่กำลังจะเข้าไปสมัครและสอง ประเมินความสามารถของตัวเองที่คนอื่นไม่มีส่วนเหล่าเด็กจบใหม่ที่ยังประเมินไม่ได้ว่าเรามีข้อดีอะไร หรือตอบโจทย์ทั้งสองข้อนี้อย่างไร ขอแนะนำให้พักคิดสักนิด ก่อนยื่นส่งใบสมัครและเรซูเม่
เพราะหากลองถอดตัวเองจากมุมของผู้สมัคร (ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานจริงเลย นอกจากการฝึกงาน) มาสวมวิญญาณนายจ้างดูบ้าง จะรู้ว่าการลงทุนจ้างพนักงานเพิ่มหนึ่งคน ไม่ใช่แค่การตัดรายได้จากผลประกอบการมาเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องเสียไปในทุก ๆ เดือน แต่ยังหมายถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนเสริมทักษะการทำงาน สอนงานใหม่ หรือบางครั้งอาจให้เด็กใหม่ได้ลองทำงานที่อาจผิดพลาดและส่งผลกับรายได้ของบริษัทได้ หากเด็กคนนั้นไม่เจ๋งพอ
การเรียกเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานของตลาด จึงต้องทำให้นายจ้างมั่นใจว่าเขาจะไม่ต้องเพิ่มเงินลงทุนด้านอื่น ๆ กับพนักงานจบใหม่ ด้วยความสามารถของเราที่เหนือกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ เมื่อรู้ว่าเรามีของอะไร และจะเข้าไปทำงานในวงการไหน สมควรเรียกเงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่ที่เหมาะกับคุณค่าแรงงานของเราเอง ถึงแม้ว่าเรทที่ได้อาจจะฟังดูน้อยจนลำบากชีวิตเหลือเกิน แต่นั่นล่ะคือข้อดีอย่างหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ นั่นคือการฝึกตัวเราเอง ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่อาจสะดวกสบายน้อยลง ไปเที่ยวได้น้อยกว่าเดิม ถ้าใช้ไม่พออาจจะลองหางานเสริมหรือฟรีแลนซ์เพิ่มเติม หรือเริ่มนิสัยออมเงินและลงทุน เพื่อเป็นฟูกนิ่ม ๆ รองรับชีวิตให้กับตัวเองยามฉุกเฉิน
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเรา (บางคน) ยังติดนิสัยในสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งความเครียดที่สุดของชีวิต คือการสอบปลายภาค โดยไม่ต้องมากังวลกับเรื่องของการเงินเลยแม้แต่นิดเดียว
ถ้าความสามารถเรายังสู้คนอื่นไม่ได้ หรือบังเอิญเลือกเรียนในสายงานที่เงินเดือนเริ่มต้นไม่สูง ลองเปลี่ยนมุมมอง ให้เงินเดือนก้อนแรกที่มองดูน้อย เป็นบันไดให้เราใช้พิสูจน์ตัว ทำงานให้ดีจนองค์กรเห็นคุณค่า เพิ่มเงินเดือนให้ตามความสามารถที่สูงขึ้น ฝึกวินัยการใช้และออมเงินให้พอดีตัว เพราะวิชาเหล่านี้ ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนสอนให้เรียน นอกจากตัวเราเอง
ชมคลิปวิดีโอ http://bit.ly/2tSt81I
ที่มาข้อมูล:
https://thestandard.co/podcast/ihatemyjob06/
https://today.line.me
ความเห็น 345
ก้องเกียรติ
ถ้าคุณกล้าขอคุณต้องมีประสบการณ์ที่ได้ทำไม่งั้นคุณแตะฝ่นอย่างเดียวประสบการณ์ยังไม่มีกล้าเรียกก็ต้องกล้าตกงานไป
09 มี.ค. 2562 เวลา 16.28 น.
กีต้าร์
สุดท้ายคนก็เลือกในสิ่งที่ทำตนพอใจ
08 มี.ค. 2562 เวลา 14.27 น.
จักรินทร์
โจทย์ง่ายๆครับ จ้าง45000/คน สู้จ้าง15000แต่ได้3คนดีกว่า ได้งานกว่าเยอะ ที่สำคัญ15000 มีคนเอาด้วย
08 มี.ค. 2562 เวลา 03.44 น.
kmalakul
ไมมีประสบการณ์ไม่มีความรู้พอ เพียงเเค่จบ ป.ตรีมันเป็นความรู้เบื่องต้น ชอบทำเย่อหยิ่ง บางคนจบปตรีล้างจานที่ตัวเองกินข้าวไม่ได้ต้องให้เเม่ล้าง
07 มี.ค. 2562 เวลา 23.39 น.
เพ้อเจ้อ15,000ก้อขอให้หาได้ก่อนเถอะจบเป็นแสนต่อปีมีตำแหน่งหลักพันหรือหมื่นต้นๆแย่งกันหางานยังกะแมงวันตอมขี้
07 มี.ค. 2562 เวลา 13.36 น.
ดูทั้งหมด