โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

การมี “มอไซค์วิน” “ลดปัญหา” หรือ “เพิ่มปัญหา” การจราจรกันแน่ ?

Another View

เผยแพร่ 05 มี.ค. 2562 เวลา 05.00 น.

การมี “มอไซค์วิน” “ลดปัญหา” หรือ “เพิ่มปัญหา” การจราจรกันแน่ ?

ปัญหาการจราจรติดขัด กับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ดูเหมือนจะเป็นภาพจำที่ผู้คนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ อยู่เสมอ เมื่อมีการกล่าวโทษหาว่าใครคือคนที่ควรรับผิดชอบกับปัญหาการจราจรติดขัดที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร 

นอกเหนือจากจะเป็นบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาคร่าว ๆ ว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อรถจักรยานยนต์สาธารณะนั้นเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน เราขอชวนทุกคน มองให้ลึกลงไปอีกหนึ่งขั้น ว่านอกจากตัวผู้ให้บริการแล้ว ตัว ‘ผู้ใช้บริการ’ เอง ก็นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างปัญหานี้จนสะสมมาเป็นเวลานานด้วยเช่นกัน 

เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ‘วินมอเตอร์ไซค์’ คือส่วนสำคัญที่่ช่วยลดปัญหาการจราจรได้จริง! หากแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะบุคคลที่ใช้บริการ แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้ว ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ล้วนมีส่วนเพิ่มปัญหาการจราจรด้วยกันทุกคน

1. เปิดสถิติ รถมอเตอร์ไซค์สาธารณะในกรุงเทพฯ ที่มีเกือบ 100,000 คัน 

เริ่มกันที่จำนวนของรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ ที่ในอดีตช่วงประมาณก่อนปีพ.ศ. 2554 มีการประเมินว่าอาจจะมีมากถึง 200,000 คัน (ทั้งจดทะเบียนรถสาธารณะอย่างถูกกฎหมายและแอบวิ่ง) กระทั่งมีการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในช่วงปีพ.ศ. 2559 ที่ออกกฎเข้มงวดให้วินมอเตอร์ไซค์ลงทะเบียนผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะถูกต้องตามกฎหมาย 

พบว่าสถิติรถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนทั้งสิ้น 98,826 คัน มีวินที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจำนวน 5,638 วิน ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูว่า จำนวนรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวนเกือบ 1 แสนคัน (เฉพาะที่ถูกกฎหมาย) นั้นพอจะสร้าง ‘ปรากฏการณ์’ บนท้องถนนอะไรขึ้นมาได้บ้าง

2. จอดรอริมฟุตปาธ เปิดเลนใหม่วิ่งบนทางเท้า

ปัญหาคลาสสิกที่มองได้เห็นชัดที่สุดโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ตามซอยใหญ่และบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบการเดินทางสาธารณะ ที่เราจะมองเห็นรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวนมากจอดรอรับ-ส่งผู้โดยสารที่ริมฟุตปาธเรียงแถวกันเต็มไปหมด ปัญหาชั้นแรกก็คือการกีดขวางจราจรที่ทำให้รถที่วิ่งมาในเลนซ้ายสุด ต้องเบี่ยงตัวออกทางขวาที่จะไปกีดขวางการจราจรที่เลนอื่น ๆ ต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ยังไม่นับปัญหาจากการเบี่ยงตัวกะทันหันเพื่อ ‘ทำรอบ’ ต่อไป ที่นอกจากกีดขวางการจราจรตามปกติ ยังมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่ คือการหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดบนท้องถนน แล้วเปิดเลนใหม่บนทางเท้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมด หากแต่มีจุดน่าสนใจอย่างหนึ่ง จากที่แอดมินเพจ ‘เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์’ เคยให้สัมภาษณ์กับ GM Live ด้วยการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า“ผู้นำที่จะขึ้นทางเท้าก่อนคือวิน อาศัยเรื่องความชิน ถ้ามีคนขึ้นก็จะมีคนตาม คนเลยมองว่าทำผิดเป็นเรื่องเคยชิน”

3. ตั้งวินฯบนทางเท้า เสมือนเป็นพื้นที่ของตัวเอง 

นับว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ทำเลทอง’ ในการตั้งวินฯ ส่วนมาก จะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมาเป็นจำนวนมาก และพื้นที่เหล่านั้นก็มักจะพื้นที่สาธารณะที่ควรจะเป็นเส้นทางของคนเดินเท้าทั่วไป 

หากแต่มักจะมีการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของวินฯ และหน่วยงานราชการ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้รับการอนุโลมสามารถตั้งวินฯ ในพื้นที่เหล่านั้นได้ตามปกติ ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำให้คนเดินทางเท้าบางส่วนต้องหลบเลี่ยงพื้นที่ตรงนั้น และไปเดินบนถนนรถวิ่ง จนเกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องตามมาต่อทอดหนึ่ง 

ซึ่งเมื่อเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะไม่ใช่แค่สร้างความลำบากให้กับผู้ขับขี่ประจำวินนั้น ๆ หากแต่ผู้ใช้บริการตามปกติ ก็จะเกิดความลำบาก เพราะไม่คุ้นชินกับการต้องเดินทางเพิ่มขึ้นเพื่อไปขึ้นรถในบริเวณที่ไกลออกไป 

4. เปิดวินฯ เฉพาะกิจ ตามอีเวนต์สำคัญต่าง ๆ 

ลองคิดภาพสิ่งที่ตามมาทุกเครื่องตามงานคอนเสิร์ตใหญ่ หรืออีเวนต์สำคัญที่มีคนไปร่วมเป็นจำนวนมาก คือการเห็นแถวรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ (รวมทั้งแท็กซี่) มาจอดรอรับส่งผู้โดยสารจนแน่นขนัด ซึ่งคงไม่มีปัญหาหากเป็นแค่การ รับ-ส่ง แล้วเคลื่อนตัวไปตามปกติ

แต่สิ่งเกิดขึ้นมากกว่านั้น คือการจอดแช่เพื่อรอ ไปจนถึงการโบกเรียกให้ผู้โดยสารมาใช้บริการของตน เมื่อจำนวนมีมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลกับการจราจรโดยรวม การจราจรเป็นอัมพาต ผู้ใช้รถ ใช้ถนนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมารับผลนี้ตามไปด้วย 

5. ไหลไฟแดง ย้อนศร กลับรถในจุดห้ามกลับ และสารพัดเทคนิคที่เกิดจากความชำนาญ

แน่นอนว่าสำหรับผู้ขับขี่รถสาธารณะเป็นประจำในพื้นที่นั้น ๆ จะมีความชำนาญ และรู้จัก ‘ช่องทาง’ ในการลัดเลาะและอำนวยความสะดวกมากกว่าคนทั่วไป เช่น รู้ระยะเวลาที่สามารถไหลตัวฝ่าไฟแดงตามสี่แยกต่าง ๆ ก่อนที่รถจากฝั่งอื่นจะวิ่งมาสมทบ หรือรู้ว่าเส้นทางไหนสามารถวิ่งย้อนศร หรือกลับรถในจุดห้ามกลับ ได้จนเป็นเรื่องปกติ (ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปกติอย่างมาก) 

แน่นอนว่าสำหรับผู้ขับขี่ที่มีความชำนาญ ย่อมคิดว่า ‘ทักษะ’ การเอาตัวรอดของตัวเองนั้นสูงพอที่จะพาตัวเองและผู้โดยสารไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย หากแต่กับผู้ใช้รถ ใช้ถนนตามปกติ ที่ไม่คุ้นเคยกับพฤติกรรมดังกล่าว (ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องที่เราไม่ควรคุ้นเคยกับเรื่องดังกล่าว)  ย่อมไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน จนเกิดอุบัติเหตุและกีดขวางการจราจรได้ไม่รู้จบ 

6. เจ้าแห่งการแทรกตัวและโฉบ ‘หูช้าง’ 

อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน คือบนถนนที่รถติดมาก ๆ แล้วเราจะเห็นการแทรกตัวของรถมอเตอร์ไซค์ ลัดเลาะไปตามช่องว่าง ๆ เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด ซึ่งหากเคลื่อนตัวไปเฉย ๆ คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เสียหลัก คำนวนผิด จนไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่จอดนิ่งอย่างไม่รู้อีโหน่ อีเหน่ โดยเฉพาะ ‘หูช้าง’ หรือกระจกข้างทั้งซ้ายขวา ที่มักตกเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งอยู่เสมอ 

ซึ่งจุดนี้คงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ทุกประเภทอยู่แล้ว หากแต่อาจจะเพราะประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ที่มักจะเห็นผู้ขับขี่ใน ‘เสื้อกั๊ก’ สีส้ม เป็นผู้ก่อเหตุ หรือคู่กรณีอยู่เสมอ (ย้ำว่าเป็นประสบการณ์ของผู้เขียนล้วน ๆ ในสายตาคนอื่น อาจเห็นคู่กรณีเป็นรถประเภทอื่นมากกว่าก็ได้) อย่างช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนถูกเฉี่ยวกระจกข้าง 2 ครั้ง และคู่กรณีเป็นมอเตอร์ไซค์สาธารณะทั้งหมด 

7. ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ ควรรับผิดชอบร่วมกัน 

ถึงแม้ภาพรวมของปัญหาหลาย ๆ อย่าง จะดูเหมือนว่ามี ‘ผู้ขับขี่’ รถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นต้นเหตุสำคัญ หากแต่คงเป็นการไม่ยุติธรรมเกินไปนัก หากจะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของพวกเขาแต่เพียงอย่างเดียว 

เพราะตัวผู้ใช้บริการในทุก ๆ วัน ที่โดยสารไปกับรถเหล่านั้น ก็มีส่วนในการเพิกเฉย อะลุ่มอล่วย ให้กับพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างได้เสมอ เมื่อเราเป็นคนนั่งอยู่บนรถคนนั้นด้วยตัวเอง คือถ้าเห็นคนอื่นทำเมื่อไร จะโกรธทันที แต่พอเป็นรถที่ตัวเองโดยสาร และกำลังรีบไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด ก็พร้อมที่จะลืมเหตุผลและคำต่อว่าทั้งหมดไปได้ทันที 

ซึ่งในจุดนี้เอง เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมความ ‘เคยชิน’ ให้เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี และดูเหมือนว่าแทบจะมองไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้แต่อย่างใด 

อ้างอิง

https://www.posttoday.com/politic/report/301832

https://www.tcijthai.com/news/2018/06/current/8115

https://thaipublica.org/2016/06/bangkokpublica-3/

https://gmlive.com/motorcycle-taxi-vs-grab-bike-and-voice-of-customer

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0