สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งวานเลนไทน์ วันแห่งความรักนะครับ ในบ้านเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับวันนี้มาก (รึเปล่า ?) แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น วันวาเลนไทน์เรียกว่าเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่สุดของปีเลย ก็อย่างว่าคนญี่ปุ่นเขาพร้อมฉลองไปทุกเทศกาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในห้าง หรือตามถนนก็จะมีการจัดเตรียมอีเวนต์สำหรับวันวาเลนไทน์ไว้ล่วงหน้านานมากกก เรียกว่าพอหมดอีเวนต์ปีใหม่ปุ๊บ อีเวนต์วาเลนไทน์ก็เริ่มต้นขึ้นปั๊บ
ในวันวาเลนไทน์ก็จะเป็นวันที่คู่รักเขาออกมานัดกัน กินข้าว เดินดูแสงสีที่ประดับไว้อย่างโรแมนติกทั่วเมือง อากาศก็หนาว ในบางที่หิมะตกเลยด้วยซ้ำ เหมาะกับการกอดกันเป็นอย่างมาก และเป็นฉากที่เราเคยเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ในการ์ตูน หนัง หรือละครญี่ปุ่น ที่จะเห็นว่าสาว ๆ จะเตรียมช็อคโกแลตที่ทำเอง เอามาให้รุ่นพี่สุดหล่อ หนุ่มที่แอบปลื้ม เพื่อสารภาพรักในวันวาเลนไทน์ นั่นก็เป็นภาพที่เรามองถึงความโรแมนติกของวันวาเลนไทน์ในญี่ปุ่น
แต่ทว่า…ในความเป็นจริงแล้ว ความโรแมนติกนั้นมันก็ยังมีความระทมซ่อนอยู่ครับ อย่างแรกเลยคือคนที่จะมีความสุขในวันวาเลนไทน์นั้นถือเป็นส่วนน้อย เพราะถึงจะมีการฉลองกันทั่วญี่ปุ่น แต่ยังไงวันวาเลนไทน์ก็ยังเป็นวันทำงานตามปกติ
และคนที่ต้องทำงานหนักจริง ๆ ในวันนี้ ก็คือบรรดาพนักงานร้านต่าง ๆ นั่นแหละ โดยเฉพาะพนักงานที่ยังโสด ที่จะต้องรับมือกับคู่จิ๊คู่จ๊ะทั่วญี่ปุ่น ที่จะรุมกรูกันเข้าต่อคิวร้านอาหารกันจนร้านแทบจะระเบิด และพนักงานก็จะต้องเหนื่อยเป็นหลายเท่ากับวันวาเลนไทน์นี้ จนมีบางร้านที่เลือกจะแหวกกระแส แบนลูกค้าที่มาเป็นคู่ในวันวาเลนไทน์ เพราะจะทำให้พนักงานอิจฉา กลายเป็นเรื่องฮา ๆ ในอินเทอร์เน็ตกันไป
ส่วนคนที่ยังโสดพอทำงานเสร็จก็จะไม่สามารถแวะร้านอาหารใด ๆ ได้ เพราะนอกจากร้านอาหารจะถูกจองจนเต็มแล้ว การมานั่งทานอาหารคนเดียวในคืนวาเลนไทน์มันยิ่งเป็นสิ่งที่จะถูกคนอื่นมองว่าน่าสงสาร ทำให้คนที่ยังโสดก็ต้องตรงดิ่งกลับไปบ้าน นอนเหงา ๆ กันไป
ไม่จบแค่นั้น ในบ้านเราวาเลนไทน์อาจจะให้ดอกกุหลาบกันเป็นหลัก จนดอกกุหลาบถูกโก่งราคาแพงขึ้นมา แต่ที่ญี่ปุ่น สิ่งที่เหมือนเป็นตัวแทนของวันวาเลนไทน์ก็คือช็อคโกแลตครับ ในช่วงเดือนนี้ที่ญี่ปุ่นจะมีช็อคโกแลตวางขายอยู่ทุกหัวมุมถนนเลยก็ว่าได้ และคนที่ต้องลำบากมากที่สุดในวันวาเลนไทน์ก็คือพนักงานสาว ๆ ในบริษัทนั่นเองครับ
หากเป็นตอนที่อยู่ในโรงเรียน สาว ๆ อาจจะแค่ให้ช็อคโกแลตกับคนที่อยากให้ หรือไม่ต้องให้ใครเลยก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่พออยู่ในที่ทำงาน ต่อให้มีคนที่ชอบอยู่ในบริษัทก็ไม่สามารถที่จะให้ช็อคโกแลตกันหนุ่มที่แอบปลื้มแค่คนเดียวได้ เพราะมันจะทำให้หนุ่ม ๆ คนอื่นอิจฉา
อันนี้ไม่ได้เล่นมุกนะ มันคือเรื่องจริงในบริษัท สาวญี่ปุ่นที่ทำแบบนั้นจะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีมารยาททันที มองข้ามเพื่อน ๆ ในแผนก มองข้ามหัวหน้าแผนก ยิ่งกับผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ถึงแม้จะเป็นคุณลุงหัวบาร์โค้ดหน้าดุที่จริง ๆ แล้วรู้สึกเกลียดมาก ๆ แต่ถ้าไม่ให้ช็อคโกแลตในวันวาเลนไทน์ก็จะถูกมองเป็นคนที่ไร้มารยาทไปทันที
ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เรียกว่าการให้ “กิริช็อคโก” (義理チョコ) ขึ้นมาครับ กิริช็อคโกมันคืออะไร ? พูดอย่างง่าย ๆ มันก็คือช็อคโกแลตที่ให้ตามมารยาท นั่นแหละ เป็นช็อคโกแลตที่ผู้ให้ไม่ต้องมีความรู้สึกโรแมนติกอะไรใด ๆ กับผู้รับ เรียกว่าให้เพื่อเป็นมารยาท ให้เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกคนในบริษัทต่อว่าหรือนินทา หรือจะเอาให้เพื่อน ๆ ก็ได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงวันวาเลนไทน์ ช็อคโกแลตที่ถูกซื้อไปมากที่สุด ก็คือช็อคโกแลตที่ถูกใช้เป็นกิริช็อคโกนี่แหละ
ในขณะที่ช็อคโกแลตที่หนุ่ม ๆ ญี่ปุ่นเฝ้าฝันถึงมันมากที่สุดก็คือช็อคโกแลตทำมือ ที่สาว ๆ บรรจงทำด้วยความรัก หากหนุ่มคนไหนได้ไปก็จะสามารถรู้สึก (มโน) ไปได้ว่าสาวคนนั้นมีใจอย่างแน่นอน แต่ทว่า นั่นก็เป็นแค่ความรู้สึกมโนไปเองของผู้ชายครับ
จากผลสำรวจแล้ว มีสาว ๆ เพียงแค่ 0.5% เท่านั้น ที่ตั้งใจให้ช็อคโกแลตทำมือเพื่อสารภาพรักกับหนุ่มที่ชอบ ซึ่งส่วนใหญ่สาวจะทำช็อคโกแลตทำมือเพราะคิดว่ามันสนุกดี หรืออยากโชว์ฝีมือของตัวเองมากกว่า นอกจากนั้นบางคนยังบอกว่า ที่เลือกจะให้ช็อคโกแลตทำเอง ไม่ใช่เพราะอะไรหรอก ก็เพราะว่าทำเองแล้วมันถูกกว่าไงล่ะ !! ไหน ๆ ก็ต้องเอามาแจกเป็นช็อคโกแลตตามมารยาทให้ทั้งบริษัทอยู่แล้ว การทำช็อคโกแลตเองมันประหยัดกว่าไปซื้อตามร้านตั้งเยอะ
กระแสเรื่องการให้ช็อคโกแลตตามมารยาทถูกต่อต้านมาตลอดทุกปีนะครับ เนื่องด้วยมันเป็นความลำบากใจของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายให้ก็ต้องเสียเงินซื้อ ส่วนฝ่ายรับ พอรับมาแล้วก็ต้องรู้สึกลำบากที่จะต้องซื้อช็อคโกแลตคืนให้ในวัน White day (ซึ่งเป็นวันที่ผู้ชายจะให้ช็อคโกแลตกับผู้หญิง) ทั้ง ๆ ที่บางคนก็ไม่ได้อยากได้หรือชอบช็อคโกแลตอะไร แต่ก็กลายเป็นต้องถูกบังคับฝืนใจไปด้วย
กระแสการต่อต้านช็อคโกแลตตามมารยาทนี่เขาพยายามจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นการ “ซื้อช็อคโกแลตให้ตัวเอง” แทนครับ หือ ? อาจจะฟังดูแปลก ๆ เหงา ๆ เศร้า ๆ แต่ก็ตรงตามตัวนั่นแหละครับ เขาได้มีการพยายามออกมาทำโฆษณาให้สาว ๆ ซื้อช็อคโกแลตไปทานเอง โดยไม่ต้องรู้สึกเหงาหรือรู้สึกผิด มากกว่าการซื้อช็อคโกแลตไปแจกคนที่เขาไม่อยากได้เพียงเพื่อมารยาท
แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร วัฒนธรรมการให้ช็อคโกแลตกันไป แล้วก็ซื้อช็อคโกแลตคืนกลับมา ก็กลายเป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติในทุก ๆ ปีของญี่ปุ่น งานนี้ฝ่ายที่ยิ้มออกก็คงจะมีอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ใช่ทั้งคนให้ และคนรับ *แต่ก็คือบริษัทช็อคโกแลตนั่นแหละ*
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยูจัง เพื่อนชาวญี่ปุ่นที่บริษัทของผม เขาเคยเล่าให้ฟังว่า จริง ๆ การให้ช็อคโกแลตตามมารยาทมันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะตอนที่ยูจังเข้ามาในบริษัทใหม่ ๆ ก็รู้สึกแอบปลื้มรุ่นพี่ในบริษัทอยู่คนหนึ่งที่อยู่คนละแผนก แต่ก็ไม่มีโอกาสได้คุยซักที จนมาวันวาเลนไทน์ ยูจังก็เลยแอบเนียน เอาช็อคโกแลตตามมารยาทไปไล่แจกทุกคน แล้วก็ได้โอกาสเอาไปให้รุ่นพี่ที่เขาแอบปลื้มด้วย จนมีโอกาสได้คุยกันเป็นครั้งแรก
ถ้าถามว่าแล้วเรื่องนั้นมันเป็นยังไงต่อ บอกเลยว่า เรื่องมันก็จบลงตรงนั้นแหละครับ…เพราะรุ่นพี่ที่ยูจังแอบปลื้มก็รับช็อคโกแลตไปยิ้มดีใจแล้วบอกว่าจะเอาช็อคโกแลตไปให้ลูกชาย ลูกชายเขาชอบช็อคโกแลตยี่ห้อนี้มาก เป็นการปิดตำนานช็อคโกแลตตามมารยาทสุดระทมตั้งแต่ปีแรกในบริษัท
อืมมมม….ช็อคโกแลตชิ้นนั้นมันช่างขมเหลือเกิน
ข่าวอ้างอิง
otekomachi.yomiuri.co.jp , headlines.yahoo.co.jp
ติดตามบทความใหม่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้และเรื่องแปลก ๆ ของประเทศญี่ปุ่นทาง LINE TODAY: TOP PICK TODAY จากผมได้ทุกวันเสาร์นะครับ
ช่องทางการติดตามเพิ่มเติม
Facebook :Eak SummerSnow
Youtube : Eak SummerSnow