โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประชาชน “คนดี” จะจ่ายภาษีเพื่อชาติ! ทำไมขั้นตอนยุ่งยากขนาดนี้!

Another View

เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

ประชาชน“คนดี จะจ่ายภาษีเพื่อชาติ! ทำไมขั้นตอนยุ่งยากขนาดนี้!

ลดหย่อนด้วยประกันสุขภาพทำไมต้องยุ่งยาก

ปี 2560 หลายคนอาจได้เฮ เพราะเป็นปีแรกที่กรมสรรพากรอนุญาตให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษี จากเดิมที่ได้ลดหย่อนภาษีเฉพาะเบี้ยประกันชีวิต โดยใช้หลักฐานยืนยันที่บริษัทประกันออกให้ แต่สำหรับการยื่นภาษีในปีนื้ สรรพากรกลับขอให้ประชาชนต้องกรอกเอกสารยินยอมให้บริษัทประกันเปิดเผยข้อมูลต่อกรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับ แต่ก็เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ในกรณีที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์นี้ ทำไมต้องกลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้น ทั้งๆ ที่ทางกรมสรรพากรเองสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ที่เอื้อความสะดวกสบายแก่ประชาชนได้ ผ่านการกำหนดกฎหมายที่ให้บริษัทประกันเปิดเผยข้อมูลแก่กรมได้โดยไม่ต้องผ่านการยินยอม ซึ่งการแจ้งความยินยอมนี้ ต้องดำเนินการภายใน 7 มกราคม 2562 ซึ่งนั่นหมายความว่า คนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ก็ต้องเสียประโยชน์ตรงนี้

ระบบที่คิดมาไม่จบ

การยื่นภาษีในแต่ละปี แม้จะสะดวกสบายขึ้นด้วยระบบการยื่นออนไลน์ ทั้งผ่านหน้าเว็บและแอพพลิเคชัน แต่สิ่งที่มักก่อปัญหากวนใจคือ เมื่อมีการขอคืนภาษี ทางกรมสรรพากรมักเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการลดหย่อน จนหลายคนถอดใจกับการขอคืนภาษีไปเสียดื้อๆ เพราะ  'ระบบที่คิดมาไม่จบ’  ของกรมสรรพากร ทั้งๆ ที่กรมสรรพากรเอง สามารถทำงานแบบบูรณาการกับธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ ในกรณีการลดหย่อนด้วยกองทุน บริษัทประกัน ในกรณีการลดหย่อนด้วยเบี้ยประกัน หรือแม้แต่ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบสถานภาพการสมรส การมีบุตร หรือแม้แต่อายุของบิดามารดาที่ต้องเลี้ยงดู ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ลดหย่อนหรือไม่ หรือแม้แต่ตรวจสอบการจ่ายภาษีจากบริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

รู้แล้วทำไมต้องถาม?

สำหรับผู้ที่มีรายได้จากหลายทาง ก็มักต้องประสบปัญหาการขอเอกสารรับรองการหักภาษีเพิ่มเติม จุดนี้ทำให้ทราบว่ากรมสรรพากรเองก็มีข้อมูลภาษีเงินได้ของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว จากการรายงานภาษีของบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดสรรพากร จึงไม่อาจนำดาต้าเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ โดยแจกแจงให้ผู้มีเงินได้รับทราบและทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ตรวจสอบว่า เหล่าบริษัทห้างร้านต่างๆ ยื่นภาษีได้ครบถ้วนหรือมีการแอบอ้างชื่อหรือไม่ กลับกลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องดิ้นรนหาเอกสารมายื่นเพิ่มเติม

เปลี่ยนโฟกัสจะดีกว่าไหม?

ฐานผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากรายงานล่าสุดปี 2557 คนไทยทั้งประเทศยื่นภาษีราว 10 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ นี่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่สะท้อนความยุ่งยากของระบบการจ่ายภาษีก็เป็นได้ ขณะที่จากฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากร ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 (ปีภาษี 2558) ที่นำมาแสดง พบว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเข้ามายื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษีทั้งสิ้น 2,096,297 ราย ผู้อ่านลองคิดดูเล่นๆ ว่าการจัดการข้อมูล 10 ล้านหน่วย กับการจัดการข้อมูล 2 ล้านหน่วย อะไรจะง่ายและมีความเที่ยงตรงกว่ากัน?

การเป็นประเทศไทย4.0 ไม่ได้สำคัญที่เทคโนโลยี  แต่อาจต้องเริ่มที่วิธีคิดของข้าราชการไทย.

อ้างอิง

http://www.rd.go.th/publish/310.0.html

https://thaipublica.org/2016/01/personal-income-tax-structure-29/

https://thaipublica.org/2012/04/personal-income-tax-structure-demolished3/

https://thaipublica.org/2018/02/income-tax-overall/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0