โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ Who are you?” - หมอเอิ้น พิยะดา

THINK TODAY

เผยแพร่ 12 ก.พ. 2562 เวลา 05.10 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

คุณเป็นใครคะ? คุณเป็น…มาตั้งแต่เมื่อไร? คุณค้นพบได้ยังไงว่าคุณชอบอะไรและอยากเป็นอะไร?

คุณทำยังไงให้ได้เป็นในสิ่งที่อยากจะเป็น? 

คำถามเหล่านี้ไม่ได้ถามเพราะต้องการหาเรื่องหรือกวนใคร แต่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นในหัวของเอิ้นเมื่อต้องนั่งเสวนากับพี่จุ้ย ศุบุญเลี้ยง ,พี่ต้อม ยุทธเลิศ, และอาจารย์สังคม ทองมี ในงานคอนเสิร์ต

Love at Loei 5 งานการกุศลที่เอิ้นจัดขึ้นเพื่อมอบรายได้ให้กับกองทุนผู้ป่วยจิตเวชยากไร้โรงพยาบาลจิตเวชเลย

ตอนแรกเอิ้นตั้งชื่อตรีมของกิจกรรมในช่วงนี้ว่า “ศิลปะกับแรงบันดาลใจ” แต่เมื่อทำการบ้านเรื่องข้อมูลของแขกรับเชิญทั้งสาม เอิ้นกลับพบจุดร่วมของทั้งสามท่านที่น่าสนใจคือ

         - ทั้งสามท่านไม่ได้มีต้นทุนชีวิตมากมายเหนือใครทางด้านศิลปะ อาจจะติดลบด้วยซ้ำถ้ามองในมุมของโอกาส กำลังทรัพย์ หรือการสนับสนุนของครอบครัว

         - ทั้งสามท่านเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ (ทั้งที่ทุกคนเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในต่างจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญ)

         - ทั้งสามท่านมีแนวทางในการทำงานและการดำเนินชีวิตของตัวเองที่ชัดเจน

         - ทั้งสามท่านยังคงผลิตผลงานต่อเนื่อง ยาวนาน และเป็นที่รู้จักของผู้คน

ดังนั้นการที่ผลงานของศิลปินเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่เอิ้นคิดว่าน่าสนใจมากกว่าคือ ทั้งสามมีกระบวนการการค้นหาตัวเองอย่างไร? รู้ตัวเมื่อไหร่ว่าชอบงานศิลปะ? 

จนผลงานได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน เอิ้นจึงขอเปลี่ยนมาตั้งวงเสวนาในเรื่อง “ศิลปะของการค้นหาตัวตน” บรรยากาศวันนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนานและข้อสรุปที่สำคัญในการค้นหาตัวตนคือ

1. เราควรตอบตัวเองให้ได้ว่า “ฉันเป็นคนประเภทไหนกัน?”

ประเภทที่หนึ่ง : ไม่รู้ว่าอยากทำอะไรแต่มีกิจกรรมที่ชอบ ( พี่ต้อม ยุทธเลิศไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรืออยากทำอะไรแต่ชอบดูภาพยนตร์มาก เลยคิดว่าถ้างั้นก็ทดลองทำหนังเหมือนที่ตัวเองนั้นอยากดูโดยกำกับและเขียนบทเอง เรื่องแรกที่ทำคือมือปีนโลกพระจันทร์และเรื่องที่สองคือกุมภาพันธ์ โอเน็กทีฟ รักสามเศร้า บุปฝาราตรี เป็นต้น )

ประเภทที่สอง : ไม่รู้ว่าอยากทำอะไรและไม่มีอะไรที่ชอบ ( พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยงอยู่ในกรณีนี้ พี่จุ้ยใช้วิธีตัดสิ่งที่ไม่ชอบจนเจอสิ่งที่ชอบ จึงพาตัวเองไปลองเจอสถานการณ์ที่หลากหลาย วันหนึ่งพบว่าตัวเองเล่นไพ่ที่หอกับเพื่อนได้เก่งมากเพราะเป็นคนอ่านคนเก่งแต่ไม่ชอบสิ่งแวดล้อมในวงไพ่ จะเริ่มขยายจุดแข็งเรื่องการเข้าใจคนโดยการเอาตัวเองออกจากสิ่งที่ไม่ชอบอย่างวงไพ่ เพื่อไปหาข้อมูลเรื่องของคนที่ห้องสมุด แล้วพบว่าตัวเองชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหนังสือ และผันตัวเองมาเป็นนักเขียน นักแต่งเพลง ร้องเพลงและบรรยายเรื่องธรรมชาติของคนให้คนฟัง เช่น เพลงอิ่มอุ่น ที่เราฟังกันตั้งแต่เล็กจนโตในวันแม่)

ประเภทที่สาม : รู้ว่าชอบอะไรตั้งแต่แรกแต่ครอบครัวไม่สนับสนุนและไม่เปิดโอกาส ( ในยุคสมัยของอาจารย์สังคม ทองมี การทำงานเป็นศิลปินวาดภาพเป็นเรื่องไม่ได้รับการยอมรับเท่าไรนักโดยเฉพาะในครอบครัวข้าราชการ อาจารย์เป็นเด็กที่เรียนเก่งในทุกวิชาแต่รู้ตัวเองมาโดยตลอดว่าชอบการวาดภาพและอยากเป็นศิลปิน แต่ถ้าทำตามที่ตัวเองตั้งใจทั้งหมดพ่อแม่จะเสียใจมาก อาจารย์จึงเลือกเรียนเป็นครูศิลปะ พร้อมๆกับสอนพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์จนเรียนจบ เพื่อให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่รักและไม่ทำลายความคาดหวังของพ่อแม่ ปัจจุบัน อาจารย์ไม่ได้เป็นเพียงศิลปินวาดภาพที่มีชื่อเสียงแต่ยังสร้างลูกศิษย์มากมายที่ได้สร้างชื่อทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ)

2. ถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร ลองฟังเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างว่าเค้ามองว่าเราทำอะไรได้ดี

3. อย่าไปยึดติดว่าความชอบกับอาชีพนั้นเป็นสิ่งเดียวกันเสมอ ( เราอาจชอบร้องเพลงแต่ไม่ควรเป็นนักร้องเพราะร้องไม่เคยถูกตรงจังหวะ แต่เราคิดคำนวณได้แม่นยำกว่าใคร)

4. พยายามพาตัวเองไปพบเจอกับประสบการณ์ใหม่และหลากหลาย ( เราจะไม่มีวันเจอสิ่งที่ชอบและใช่จากการนั่งคิดจนกว่าจะได้เจอประสบการณ์ตรง )

5. ไม่ต้องรีบหาคำตอบ (เวลาและช่วงวัยมีผลมากต่อความชอบและสิ่งที่เราอยากทำ คำตอบของปีนี้อาจไม่ใช่ของปีหน้า )

6. เมื่อได้คำตอบว่าเราชอบที่จะทำหรือเป็นอะไรแล้ว ให้ตั้งเป้าหมายตามช่วงชีวิตให้ชัดเจน

7. ไม่ว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ก็ตาม ให้ตระหนักถึงคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันเสมอ

8. การต่อต้านสิ่งที่สังคมขีดไว้ให้เราเรียนรู้เช่นบทเรียนในห้องเรียน ไม่ได้มีประโยชน์เท่าการพยายามประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

สุดท้ายทั้งสามเห็นพ้องต้องกันว่า พ่อ แม่ และครูนั้นมีบทบาทมากมายต่อการค้นหาความชอบและตัวตนของเด็ก พ่อแม่ควรระวังความคาดหวังแล้วยอมรับศักยภาพของลูกตามความเป็นจริง ครูควรเป็นโค้ชที่ประคับคองและสอนให้เข้าใจคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของรายวิชาที่สอน

การค้นหาตัวตนจึงเป็นเหมือนงานศิลปะของชีวิตเรา เป็นชิ้นงานล้ำค่า

เพราะเรามีคนเดียวเท่านั้นในจักรวาลนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0