“เด็กไม่ได้เป็นแค่ผู้ใหญ่ตัวเล็กที่คิดได้มีประสิทธิภาพน้อยกว่า พวกเค้ามีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่”
จากคำกล่าวของ ณอง เปียเจท์ (ผู้บุกเบิกความรู้จิตวิทยาพัฒนาการ)
เปียร์เจท์ใช้เวลา 10 ปี ในการติดตามพฤติกรรมและการใช้ภาษาของเด็กแล้วทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด
เค้าพบว่า การที่เด็กกับผู้ใหญ่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ไม่ได้เกิดจากการที่เด็กยังไม่เติบโตหรือมีพัฒนาการทางด้านจิตใจที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ แต่สาเหตุมาจากการที่เด็กและผู้ใหญ่มีพื้นฐานของความคิดที่แตกต่างกันตั้งแต่แรก เหมือนรถที่วิ่งคนละเลน
ถ้ามองในยุคปัจจุบันที่ความรู้ทางด้านสมองเจริญก้าวหน้า
ข้อมูลในสมองของเด็กอาจมีไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่ข้อมูลที่มีมักอัพเดทกว่า
ส่วนผู้ใหญ่มีข้อมูลมากกว่าเด็กแต่อาจไม่อัพเดทเท่า
ความแตกต่างนี้จึงเกิดช่องว่างของการสื่อสาร จนกระทั่งก่อเป็นปัญหาบดบังความรักที่มีให้กันและกันได้
เห็นได้ชัดจากการได้รับเคสเด็กหรือวัยรุ่นที่เข้ามาปรึกษา
ซึ่งส่วนมากไม่ได้มาเพราะเป็นโรค แต่มาเพราะความไม่เข้าใจกันระหว่าง พ่อ แม่ และลูก
ปัญหาที่ชัดเจนในตัวคุณพ่อคุณแม่คือความคาดหวัง
ปัญหาที่ชัดเจนในตัวลูกคือการอยากเป็นตัวของตัวเอง (โดยเฉพาะวัยรุ่น)
คุณพ่อ คุณแม่ คาดหวังเพราะอะไร? เชื่อว่าทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวว่า เพราะความรัก เพราะความห่วง
คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ เพราะอะไรลูกถึงสัมผัสไม่ได้ถึงความรักและความห่วงใยนั้น?
ขอยกตัวอย่างคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้พาลูกชายมาพบเอิ้นด้วยเหตุว่า ลูกเก็บตัวในห้อง เล่นเกมมากและถามไม่ตอบ
เอิ้นจึงแยกสัมภาษณ์ ลูกชายให้ความร่วมมือกับเอิ้นเป็นอย่างดี ตอบคำถามได้ชัดเจนว่า ที่อยู่ในห้องและไม่สนใจใครเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้มีความหมายอะไรกับคนในบ้าน แต่เค้ายังมีความสุขกับการเล่นเกมและฝันว่าวันนึงตัวเองจะเป็นโปรมแกมเมอร์ ที่สำคัญคือลูกชายคิดว่าแม่ไม่รัก เพราะแม่เอาแต่บ่นจนตัวเองรู้สึกทำอะไรก็ผิดไปหมด
เอิ้นเลยถามว่า แม่ต้องทำยังไงเราถึงจะแน่ในว่าแม่รัก?
ลูกชายตอบว่า อยากได้ยินคำว่ารักจากแม่บ้าง ( ภาษารักของลูกชายคือคำพูด)
ในขณะที่สัมภาษณ์แม่ แม่ทุกข์ใจเพราะอยากจะเข้าใจความรู้สึกของลูกชาย
คุณแม่เคยแสดงความรักกับลูกมั้ยคะ? เคยคะ คุณแม่แสดงออกอย่างไรคะ? คำตอบของเเม่คือ เรียกทานข้าว สั่งสอนเพื่อให้เค้าเป็นคนดี และดูแลทำทุกอย่างให้ (ภาษารักของแม่คือการทำบางสิ่งบางอย่างให้)
แม่ได้วิธีแสดงออกความรักนี้มาจากไหน? แม่ตอบด้วยเสียงสั่นเครือว่า แม่เป็นเด็กกำพร้าไม่มีใครดูแลและช่วยเหลือตัวเองมาตลอดไม่มีใครคอยสอน จึงคิดว่าการดูแลสั่งสอนอย่างใกล้ชิดคือการแสดงความรัก
คำถามของเราทุกคนคือใครผิด?
ในกรณีนี้หรือกรณีไหนก็คงไม่มีใครผิด เพราะถ้าพ่อแม่รู้ว่าต้องพูด ต้องปฏิบัติต่อลูกอย่างไร ลูกถึงจะโตมาเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุขและประสบความสำเร็จก็คงทำ เพราะถ้ารู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรแล้วยังเลี้ยงดูแบบผิดๆก็เหมือนเลี้ยงโจรมาไว้ปล้นบ้านตัวเอง
ในขณะที่ลูกเอง ถ้าค้นพบตัวเองว่าอยากมีชีวิตอย่างไร มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง มีความพยายามที่จะทำตามความฝัน
ปฏิบัติตัวเองให้น่าไว้วางใจและรู้จักสื่อสาร การควบคุมและความคาดหวังของพ่อแม่ก็จะเบาบางลง
ความคาดหวังของพ่อแม่กับความฝันของลูก ในบางครอบครัวก็เหมือนรถที่วิ่งกันคนละเลน ไม่มีวันที่จะวิ่งซ้อนทับกันได้
แต่สามารถวิ่งคู่ขนานกันไปได้จนถึงปลายทาง ด้วยความรักและความเข้าใจที่ผ่านการสื่อสารที่ดี
หมอเอิ้น พิยะดา
Unlocking Happiness
จิตแพทย์/นักแต่งเพลง/วิทยาการ/นักออกแบบการเรียนรู้
Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549
----------------------------------------------------------------------------
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew
----------------------------------------------------------------------------
IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/
----------------------------------------------------------------------------
Website : http://www.earnpiyada.com/
ความเห็น 9
อี๊ดพราวด์
เห็นด้วยกับหมอครับ การที่เราจะสอนลูกให้ดีได้นั้นเราต้องทำตัวเราให้เป็นเด็กเสียก่อน ว่าเราเคยต้องการอะไรจากพ่อแม่ ถ้าเราเข้าใจเราก็จะสอนลูกได้ ให้ความรักและเข้าใจลูกได้
16 ม.ค. 2562 เวลา 05.03 น.
สายน้ำ
สำหรับบางครอบครัวก็วางกรอบลูกหลานของตัวเองมากเกินไป เช่น กำหนดความฝันของลูก ไม่ให้อิสระกับการตัดสินใจของเด็ก จนลูกหลานรู้สึกว่ามันเป็นความกดดันให้กับตัวเองแทนที่จะเป็นความหวังดี เพราะไม่เคยได้เป็นตัวของตัวเอง เด็กจึงต้้องหาสิ่งจูงใจจากสิ่งอื่น เช่น ติดเพื่อน/เล่นเกม เพื่อไม่ให้ตัวเองนึงถึงเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ ดังนั้นหากครอบครัวไหนโชคดีที่เด็กเข้าใจ เขาจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบตลอดเวลาแลกกับความกดดันที่ทุกคนมอบให้ หากเด็กไม่เข้าใจเขาจะเลือกทำในสิ่งที่เขาสบายใจแต่ก็จะถูกคนโตติเตียน
15 ม.ค. 2562 เวลา 15.42 น.
@...
ผมคิดว่าในบางครั้งในความหวังของผู้ปกครองที่มีต่อบุตรตนเองจนมากเกินไปก็สามารถจะกลายเป็นความกดดันขึ้นให้กับลูกของตนเองได้เสมอ ดั่่งนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดนั้นก็คือการรับฟังเพื่อจะได้เป็นแนวทางในการชี้แนะและแนะนำและรวมทั้งอธิบายให้รู้ถึงผลต่างๆที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าก็จะดีที่สุดครับ.
16 ม.ค. 2562 เวลา 05.27 น.
Tee ティー
เห็นด้วยอย่างยิ่งฮะ
การสื่อสารที่ดีนั้น เป็นพื้นฐาน มุ่งให้เกิดการฟังและพูดด้วยความเข้าอกเข้าใจ
ช่วยให้สามารถสานสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างดี
15 ม.ค. 2562 เวลา 15.28 น.
Wichai 0846459691🫶🏽
คาดหวังให้ลูกมีความสุข...ฟังลูกให้มากๆ...ลูกเอาไงพ่อแม่เอาด้วย...ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ก็โอเคล่ะ...เรียนรู้ไปด้วยกันนั่นแหละดีที่สุด
16 ม.ค. 2562 เวลา 01.05 น.
ดูทั้งหมด