คำว่า “เมืองอนาคต” มักถูกตีความเป็นภาพตึกระฟ้าแข่งกันทะยานสูง การบดบี้เบียดเสียด แก่งแย่งพื้นที่ของอาคารหน้าตาพิสดารกับเส้นทางจราจรวกวนในพื้นที่แออัด ทับซ้อน และซับซ้อน ให้ความรู้สึกวุ่นวายสับสน (หรือชวนตื่นตาตื่นใจ สำหรับคนมองโลกในแง่ดี) นัยว่าภาพเช่นนี้สะท้อนถึงความสุดโต่งของสังคมทั้งในเชิงปริมาณและความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี นั่นหมายความว่า ทัศนคติยอดนิยมที่ผู้คนมีต่อชีวิตเมืองในภายหน้า คืออย่างน้อยที่สุดต้องมีความ “เยอะ” ในทุกด้านของชีวิต เยอะจนยากต่อการทำความเข้าใจ
อาจเป็นจริงที่สังคมมนุษย์มีแนวโน้มจะ “เยอะ” ขึ้นเรื่อยๆ แต่หากวัดความเยอะผ่านวิถีชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่ๆของโลกปัจจุบัน (ซึ่งก็คือ “เมืองอนาคต” ที่แท้จริงสำหรับคนในอดีต) สิ่งที่ควรต้องยอมรับว่าซับซ้อนจนยากต่อการทำความเข้าใจไม่ใช่ปริมาณอาคารบ้านเรือนหรือเส้นทางจราจร แต่เป็นความซับซ้อนที่ส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นจากภายนอก ความซับซ้อนในโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลาดหุ้น กระแสนิยมทางวัฒนธรรม ภัยธรรมชาติ หายนะที่ไม่คาดฝัน สถานการณ์ด้านสุขภาพของคน อิทธิพลมืด และอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงปัจจัยที่มนุษย์อาจยังหยั่งไม่ถึง
แม้แต่ในด้านเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงโดยตรงกับคำว่า “อนาคต” ความซับซ้อนก็ไม่ได้หมายถึงจำนวนอุปกรณ์ไฮเทคหรือสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ แต่เป็นความซับซ้อนด้านวิทยาศาสตร์และด้านการเมืองของเทคโนโลยี ที่นับวันจะยิ่งล้ำเลยความรู้ความเข้าใจของสามัญชนอย่างรวดเร็ว จนทำให้คำดูแคลนทำนองว่า “อุปกรณ์ฉลาดกว่าคนใช้งาน” ไม่ผิดไปจากความจริงเท่าไรนัก เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันจำนวนมากเคยเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถดูแล ปรับประยุกต์ และซ่อมแซมด้วยตัวเอง ทุกวันนี้เทคโนโลยีที่ถูกเรียกด้วยคำว่า “สมาร์ท” นอกจากจะแปลว่าเราโง่เกินกว่าจะเข้าใจการทำงานของมัน ยังแปลว่าเมื่อมันบกพร่องชำรุด เราก็ไร้ซึ่งสมรรถภาพในการแก้ไขมันโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้ ดูเหมือนว่าสถานะความเป็นเจ้าของอุปกรณ์ “สมาร์ท” จึงต่างจากความเป็นเจ้าของอุปกรณ์ “สามารถ” ต่างๆในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ เทคโนโลยี “สมาร์ท” มอบความเป็นเจ้าของให้ผู้ใช้เพียงเฉพาะในช่วงเวลาที่มันทำงานเป็นปกติ แต่เพราะต้องพึ่งพาความรู้ความเข้าใจและกลไกที่เกินศักยภาพคนธรรมดาจะมีในครอบครอง สถานะแท้จริงของผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทคือผู้เช่าระยะสั้น ที่ทำได้เพียงรอคอยการเปลี่ยนรุ่นจากผู้ผลิต หรือมิเช่นนั้นก็ต้องตัดใจเลิกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะหมายถึงการตัดขาดจากการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตร่วมสมัยไปโดยปริยาย ทุกวันนี้ใครเลิกใช้สมาร์ทโฟนและลบบัญชีทั้งหลายจากโลกออนไลน์ คนคนนั้นต้องเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสภาวะพลัดมิติกับคนจำนวนมากทันที และหากอยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะสำหรับชนชั้นกลาง การทำตัว “แปลกแยก” หรือ “นอกกรอบ” เช่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบได้บรรจุและบัญญัติการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในเชิงบังคับไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
การนำเสนอภาพ “เมืองอนาคต” มักไม่เจาะลึกถึงปัจจัยเบื้องหลังที่บงการความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสังคม และในจินตภาพแบบมองโลกในแง่ดี (หรืออาจเรียกว่า “ยูโทเปีย”) การคาดว่าเมืองอนาคตจะเต็มไปด้วยตึกระฟ้าและเส้นทางจราจรซับซ้อนก็มักเป็นการนำเสนอมิติความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งที่ต้นเหตุแท้จริงอาจมาจากความจำเป็นต้องรับมือกับปัญหาปริมาณประชากร การปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความขาดแคลนทรัพยากร หรือแม้แต่เป็นแผนการกอบโกยทางธุรกิจของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง ภาพที่สมจริงของ “เมืองอนาคต” จะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่มองไม่เห็นหรือปัจจัยอันเป็นผลข้างเคียงจากปัญหาและการแก้ปัญหา ทั้งที่สั่งสมแต่อดีต และที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แม้คำว่า “สมาร์ทซิตี้” จะกลายเป็นกิมมิคทางการประชาสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเก่าและเกร่อไปแล้ว (ตามสัจธรรมที่ว่าทุกอย่างเก่าและเกร่ออย่างรวดเร็วในยุคโซเชียล) แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนแนวโน้มที่เมืองอนาคตจะมีสภาพเป็นเมืองสมาร์ทจริงๆมีอยู่มากทีเดียว และน่าจะเป็นความหมายของคำว่า “สมาร์ท” แบบเดียวกับอุปกรณ์สมาร์ททั้งหลาย นั่นคือในสมาร์ทซิตี้ชาวเมืองจะโง่กว่าเมือง ปัจจัยบงการวิถีชีวิตจะถูกบังคับขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเกินความเข้าใจของประชาชนทั่วไปในระดับที่ไม่อาจย้อนกลับ และไม่ว่าความสมาร์ทนั้นจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายหรือความตึงเครียด ความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมถอยทางสังคม สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือผู้คนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นจะมีสถานะใกล้เคียงกับความเป็นเจ้าของอุปกรณ์สมาร์ท นั่นคือสถานะลวงตาว่าตนมีสิทธิครอบครองพื้นที่และการดำรงชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่สามารถอธิบายการทำงานของระบบต่างๆรอบตัวได้แม้แต่อย่างเดียวด้วยซ้ำ
ว่ากันว่าคนฉลาดจะไม่พยากรณ์อนาคต เพราะรู้ดีว่าอนาคตเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่อาจพยากรณ์ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีนักพยากรณ์อนาคตปรากฏตัวให้เห็นตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง และจำนวนมากฝากความหวังไว้กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันมักหมายถึงระบบ “สมาร์ท” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่น่าสนใจคือนักพยากรณ์เหล่านี้มักมองว่าเทคโนโลยีสมาร์ทจะนำสังคมไปสู่ความเท่าเทียมและวิถีแห่งประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลหลักคือหลายสิ่งหลายอย่างจะมีราคาถูกลง มีตัวเลือกมากขึ้น และอำนาจในการตัดสินแนวทางดำเนินชีวิตในมิติต่างๆจะตกอยู่ “ในมือ” ของผู้คนทั่วไป ยากที่ภาครัฐหรือองค์กรใดๆจะควบคุมเบ็ดเสร็จ
แต่การเลือกและการตัดสินใจจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ความเข้าใจด้วยเช่นกัน เราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าทุกวันนี้เราเลือกและตัดสินใจใช้อุปกรณ์สมาร์ทหรือเทคโนโลยีร่วมสมัยใดๆด้วยความเข้าใจหรือเพราะผ่านการตัดสินใจแล้ว ตรงกันข้าม เราทำทุกอย่างเพราะถูกกระแสสังคมบังคับ (ทั้งด้วยความยินดีและจำยอม) และเลือกโดยปราศจากความรู้เพียงพอในแทบทุกย่างก้าว
หากไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งขับเคลื่อนสังคมเบื้องหลังอาคารบ้านเรือนและเส้นทางจราจร ก็เป็นไปได้ยากที่จะวาดภาพ “เมืองอนาคต” ได้ใกล้เคียงความจริง และยิ่งยากขึ้นไปอีกที่คนธรรมดาๆจะมีอำนาจต่อรองอยู่ในมือ ไม่ว่าในมือนั้นจะถืออุปกรณ์ล้ำยุครุ่นใหม่เพียงไรก็ตาม อีกไม่นานการกล่าวว่าคนฉลาดไม่พยากรณ์อนาคตก็อาจหมดความหมายในโลกที่ไม่มีคนฉลาดหลงเหลือ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ความเห็น 8
.S.H
ลงมือทำ
28 ก.ค. 2561 เวลา 11.23 น.
ผมชอบนะ
โดน
เมืองสมาร์ทชื่อนี้ได้มาเพราะคนโง่กว่าเมือง
อิอิ
31 ก.ค. 2561 เวลา 13.39 น.
Toey ᵔ ᵕ ᵔ
พลัดมิติ คำนี้โดนมาก เราเคยงดเล่นเฟซ 10 วัน หัวหน้าถามบางอย่างที่เราตอบไม่ได้ เราเลยต้องกลับมาเล่นใหม่ - -'
01 ส.ค. 2561 เวลา 05.42 น.
@...
บางอย่างในสิ่งที่ได้คาดหวังเอาไว้ในอนาคต ก็อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน.
28 ก.ค. 2561 เวลา 13.05 น.
Kanchit S.
ออกแนวปรัชญา เข้าใจยาก
28 ก.ค. 2561 เวลา 12.31 น.
ดูทั้งหมด