จบ “ป.ตรี” แต่ไม่มีงานทำ“ไม่มีใครจ้าง” หรือ“เลือกงาน” มากไป
จากข่าวการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เผยแพร่บทสรุปภาวะการทำงานของประชากร ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.73 แสนคน ถึงแม้จะมีข่าวดีว่าถ้าเทียบกับเดือนสิงหาคม จะมีผู้ว่างงานลดลงถึง 30,000 คน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ตัวเลขว่างงานของผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีมากถึง 1.45 แสนคน!
ซึ่งคิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งของผู้ว่างงานทั้งหมด พร้อมกับจำนวนกระทู้ในเว็บบอร์ดออนไลน์ต่างๆ ที่จะมีคนวนเวียนมาขอความคิดเห็นจากคนอื่น ทำนองว่า ‘จบป.ตรี แต่ไม่มีงานทำ ควรทำอย่างไร’ ให้เห็นกันแทบทุกวัน
บ้างก็บอกว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจแย่ลงทุกที ทำให้มีการจ้างงานน้อยลง แต่คำตอบเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า เราลองลิสต์ปัญหา (ไม่นับปัจจัยทางสังคม) ที่พบจากการรวบรวมข้อมูลจากนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่ง ที่อาจจะทำให้เราค้นพบว่า จริงๆ แล้วคำตอบนี้ อาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
1. ความต้องการจ้างงานระดับอาชีวะศึกษาเพิ่มมากขึ้น
จากการจัดอันดับของ HR Center ภายใต้การอำนวยการของ "ดร.รุ่งโรจน์ อรรถานิทธิ์" พบว่า วุฒิการศึกษาที่ตลาดแรงงานต้องการเป็นอันดับคือ ป.ตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ 68% ส่วนที่น่าสนใจคือ อันดับที่สอง ตกเป็นของผู้จบการศึกษาวุฒิปวช. ปวส. สาขาช่าง ที่มีตัวเลขมากถึง 59% ซึ่งนับว่ามากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 เป็นต้นมา
ตรงนี้ช่วยชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่า จากเดิมที่หลายคนเคยมองข้ามแรงงานสาขาช่าง ว่าเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาหัวรุนแรง แต่ตอนนี้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองจนสามารถทัดเทียบกับคนที่จบปริญญาตรีสาขาต่างๆ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ โดยจุดแข็งของคนในสาขานี้อยู่ที่ ความตั้งใจและไม่เลือกงานที่จะทำ สำหรับพวกเขา ขอแค่มีงานให้ทำ พวกเขายินดีรับโอกาสเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
2. ‘ฟรีแลนซ์’ ภาพลวงตาของความฝันที่มีคำว่า‘อิสระ’ เป็นเหยื่อล่อ
หากลองเข้าไปในกูเกิลแล้วพิมพ์คำว่า ‘รับสมัครงาน’ 2561 สิ่งท่ีคุณจะพบเป็นอันดับแรกที่มีคนค้นหามากที่สุดคือ ‘งานพาร์ตไทม์’ สาขาต่างๆ ที่เชื้อเชิญให้บรรดาบัณฑิตนักฝัน ที่ไม่ชอบชีวิตพนักงานออฟฟิศ ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ช่วงตรงนี้ทำงานไปก่อน ระหว่างที่รอหาความมั่นคงของชีวิตด้านอื่นๆ ในภายหลัง
โดยเฉพาะภาพความประสบความสำเร็จของคนในหลายๆ วงการ ที่มักจะโฆษณาชวนเชื่อด้วยภาพการนั่งทำงานในร้านกาแฟเก๋ๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจ ไม่ต้องมีการบังคับสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา โดยนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากไม่รู้เลยว่า กว่าที่จะได้ความสำเร็จมานั้นต้องแลกมาด้วยความยากลำบากขนาดไหน
ทั้งระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา และโอกาสการรับงานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณปฏิเสธไปเพียงหนึ่งงาน โอกาสรับงานครั้งต่อไปอาจหลุดลอยไปในทันที ทำให้คุณต้องเลือกที่จะรับงานอย่างต่อเนื่อง และหากไม่มี ‘วินัย’ มากเพียงพอ ผลคือ งานทั้งหมดจะมาสะสมของรวมกันในช่วงท้ายๆ ของกำหนดส่งงาน เมื่อเคลียร์งานไม่ทัน คุณภาพก็ตก งานจ้างก็หาย สุดท้ายก็ต้องซมซานกลับมาหางาน ‘ประจำ’ ที่อาจจะอิสระน้อยกว่าในภายหลังอยู่ดี
3. สตาร์ตอัพ, ธุรกิจออนไลน์ และอาชีพอีกมากมายที่วัยรุ่นใฝ่ฝัน
ในวันที่วัยรุ่นขวนขวายหาความสำเร็จแบบ ‘สำเร็จรูป’ ที่ไม่ต้องยึดติดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การทำธุรกิจของตัวเอง คือเส้นทางอันหอมหวานที่หลายคนเลือกใช้ โดยลืมมองไปว่า ถ้าเทียบสัดส่วนของคนที่ประสบความสำเร็จ นั้นมีเพียงแค่เศษเสี้ยวของคนที่ต้องล้มเหลวเป็นจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้วิธี ‘คัดลอก’ โมเดลคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าบุกตลาดมาก่อน พื้นที่ของผู้มาหลังก็น้อยตามลงไป
รวมทั้งธุรกิจ ‘ขายของออนไลน์’ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะแค่เลื่อนหน้าจอเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ เราก็เจอคลิปโปรโมตของคนที่สำเร็จด้านนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการเปิด ‘คอร์ส’ สอนทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นธุรกิจแนว ‘ขายตรง’ ที่มีเพียงระดับ ‘ท็อปไลน์’ จำนวนไม่กี่คนที่ทำสำเร็จ ที่เหลือก็เป็นได้แค่ดาวน์ไลน์ ที่สต็อกของเอาไว้ โดยที่ไม่รู้จะเอาไปปล่อยที่ไหนต่อดี
4. การหา ‘ตัวตน’ คำพูดสุดหรู ที่ไม่รู้ต้องใช้เวลาหานานเท่าไหร่
บรรดาคำคมกรอกหูของไลฟ์โค้ชทั่วราชอาณาจักร ที่พูดย้ำๆ คำเดิมว่า ‘ตัวตน’ คือสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะนำมาซึ่ง ‘ความสุข’ ในการทำงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริง หากแต่จะมีสักกี่คน ที่รู้จักตัวตนของตัวเองแน่ชัด พอที่จะมุ่งไปในเส้นทางนั้นได้
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนยังใช้คำว่า ‘การหาตัวตน’ เป็นข้ออ้างของความขี้เกียจในการทำงาน เพราะเมื่อมีคนสนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้น ทำให้หลายคนยังภูมิใจได้อยู่เวลามีคนถามว่า ทำไมไม่ไปทำงาน? แล้วได้ประกาศออกไปว่า กำลังหาตัวตนอยู่ ครับ/ค่ะ อย่างเต็มเสียง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีแค่เส้นบางๆ คั่นระหว่าง การหาตัวตนที่แท้จริง กับ ‘คนตกงาน’ ธรรมดาเท่านั้น
5. งานในฝัน ที่ถ้าไม่ลงมือทำก็ไม่มีทางรู้ว่ามีอยู่จริง
งานไม่หนัก เงินเดือนที่เหมาะสม ออฟฟิศสวยหรู สวัสดิการที่เพียบพร้อม เจ้านายที่ดี เพื่อนร่วมงานชั้นยอด และอีกสารพัดภาพของงาน ‘ในฝัน’ ที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่หลายคน คิดแล้ว คิดอีก ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครงาน หรือตกลงเข้าทำงานกับที่ใดที่หนึ่ง
แน่นอนว่างานแบบนั้นมีอยู่จริง แต่ในเมื่อเป็นงานที่ทุกคนต้องการขนาดนั้น จะมีสักกี่คนที่ได้รับเลือกให้ไปทำงานนั้นจริงๆ และส่วนใหญ่คนที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ เขาก็ไม่เคยรู้มาก่อนเหมือนกันว่างานที่ทำจะอยู่จะใช่งานในฝันจริงๆ หรือเปล่า เพียงแต่คนเหล่านั้นกล้าที่จะ ‘ลอง’ และเปิดโอกาสให้ตัวเองเข้าพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ หากได้เจองานในฝันทันทีก็ถือว่าโชคดีไป (อย่าลืมว่าถ้าเขาค้นพบงานนั้นเจอ โอกาสที่เขาจะทิ้งงานนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนใหม่เข้าไปแทนก็ยิ่งน้อยไปอีก)
แต่หากพบว่านั่นก็เป็นแค่หนึ่งในงานที่ทำให้เราได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ครั้งต่อไป เหมือน "ทอมัส แอลวา เอดิสัน" นักวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการทดลองเป็นพันครั้ง ก่อนที่เขาจะประดิษฐ์หลอดไฟและสร้างแสงสว่างให้กับโลกนี้ได้สำเร็จ
เช่นเดียวกัน ถ้าไปถามคนที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้หลายๆ คน (ไม่นับคนที่มีฐานะและครอบครัวคอยสนับสนุนด้วยเงินจำนวนมาก) เชื่อว่ามากกว่า 90% พวกเขาล้วนเคยลองผิดลองถูกในฐานะ ‘คนทำงาน’ มาก่อนด้วยกันทั้งนั้น
อ้างอิง
ความเห็น 92
POP
BEST
มาใหม่ อยากได้เงินเดือน สูง
อยากบริหาร ไม่อยากปติบัติ
มาสาย เล่นแต่โทรศัพท์
ต่อต้าน นโยบาย ไม่ให้ความร่วมมือ
ทำงานเพื่อรองานที่อื่น
รับมั้ยพวกนี้
16 ต.ค. 2561 เวลา 04.14 น.
pilot guide
BEST
หล่อ สวย โง่ สงครามใต้สะดือ คือคุณสมบัติบัณฑิตจบใหม่ ขยันอดทนสู้งานคือคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ จบนะ
16 ต.ค. 2561 เวลา 03.47 น.
S.
BEST
ต้องถามว่าจบปริญญาตรีจากสถาบันไหน
ปริญญาตรีของ ม.รัฐ ชื่อดัง
ปริญญาตรีของราชภัฏชื่อดัง
คุณภาพมันเท่ากันไหม
เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่เอนท์ไม่ติด
ก็พร้อมจะดึงลงมาให้เท่ากันด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
แต่อย่าลืมว่าการเอนท์ทรานซ์
คือด่านแรกของบททดสอบ
ในการคัดคุณภาพของวัยเด็ก
16 ต.ค. 2561 เวลา 05.04 น.
screencrub
เด็กจบให่อยากทำงานจริงจังมีเยอะแยะ
แต่แพ้แค่เด็กเส้น ทุกยุคทุกสมัย ก็ใช้เส้น
ส่วนงานที่ไม่ต้องเส้นก็ ชนชั้นแรงงาน ค่าแรงก็โดนกด
บางทีเด็กมันก็ไม่ได้เลือกงาน แต่งานมันเลือกคน (คนมีเส้น)
16 ต.ค. 2561 เวลา 05.00 น.
JADE
ตอบเลยว่า “ใช่” มันไม่ง่าย ที่จะประสบความสำเร็จได้ หาก ไม่เคย (ลอง) ลงมือทำ ง้อออ..
16 ต.ค. 2561 เวลา 03.54 น.
ดูทั้งหมด