โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตั้งรับกับ 'ความผิดหวัง' 4 สเต็ปจัดการกับอารมณ์เมื่อสิ่งที่คาดคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 29 ม.ค. 2566 เวลา 17.00 น. • Nisara Sittatikarnvech

ความเป็นมนุษย์มาพร้อมกับอารมณ์ที่หลากหลายที่วนเวียนในตัวเรา และสลับสับเปลี่ยนกันไปตามสถานการณ์ เราดีใจเมื่อทำอะไรสำเร็จตามเป้าหมาย เราโศกเศร้าเมื่อสูญเสียบางอย่างไป และผิดหวังเสียใจเมื่ออะไรที่เคยคาดหวังไม่ได้ออกมาตามที่คิด อารมณ์เหล่านี้คือเรื่องธรรมชาติ แต่ในบางอารมณ์ก็ต้องจัดการให้ส่งผลกระทบกับด้านอื่น ๆ ของชีวิตให้น้อยที่สุด ในบทความนี้ LINE TODAY ขอพาทุกคนมารู้จักกับอารมณ์ของ 'ความผิดหวัง' ให้มากยิ่งขึ้นและแชร์ 4 ขั้นตอนที่จะทำให้เราตั้งรับกับความรู้สึกนี้ได้ดีที่สุด

ความผิดหวังเกิดขึ้นจากอะไร

เมื่อเราคาดหวังเกี่ยวกับอะไรสักอย่างว่ามันจะต้องออกมาเป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อสิ่ง ๆ นั้นเกิดขึ้นแล้วให้ผลออกมาอีกแบบหนึ่งไปเลยหรือไม่ทัดเทียมสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้ ความรู้สึกเซ็ง เสียใจ โมโห เบื่อหน่ายมักจะเกิดขึ้น สมการของความผิดหวังคือ

ความผิดหวัง = สิ่งที่คาดหวัง ÷ สิ่งที่เป็นจริง

หากเรายิ่งตั้งความหวังเอาไว้มาก ความรู้สึกผิดหวังที่ซัดโถมเข้ามาในตอนสุดท้ายจะยิ่งเข้มข้น และยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความพยายาม หตรือการกระทำที่ต้องต่อสู้ฟันฝ่าก่อนจะไปถึงผลลัพธ์อยู่ระหว่างทางด้วยแล้วนั้น ความผิดหวังยิ่งสามารถฉุดรั้งให้คน ๆ นั้นจมดิ่งในห้วงความรู้สึกได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันกีฬาที่ต้องมีการฝึกซ้อม เก็บตัวเป็นเวลาหลายเดือน นักกีฬาทุกคนย่อมมีเป้าหมายว่าพวกเขาจะต้องชนะเหรียญจากการแข่งครั้งนั้น ๆ ให้ได้ แต่หากผลที่ออกมาไม่ได้เป็นตามที่ใจหวัง ความรู้สึกผิดหวังจะจู่โจมในทันที และหากกำลังใจไม่แข็งแรงพอ ก็อาจทำให้บางคนล้มเลิกความตั้งใจไปเลยก็ได้

หมายถึงว่าความผิดหวังคือความรู้สึกที่ไม่ดีหรือเปล่า

ใช่และไม่ใช่ หากจัดการไม่ได้และทำให้เกิดผลกระทบในส่วนอื่น ๆ ของชีวิตและคนอื่น ๆ ความผิดหวังก็อาจจะเป็นความรู้สึกที่เราควรรีบจัดการ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราผิดหวังบ้างในบางครั้งคือสัญญาณที่ดีที่บอกว่าเราจริงจังกับการทำอะไรสักอย่าง และเมื่อเกิดความผิดหวัง สิ่งที่จะเกิดตามมาในหลาย ๆ ครั้งคือความรู้สึกที่ว่า 'ไม่เป็นไร เอาใหม่ ฉันจะทำครั้งต่อไปให้ดีกว่าเดิม' จากความผิดหวังกลายเป็นแรงผลักดัน และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยทำให้มนุษย์ทุกคนเติบโตและพัฒนาตัวเอง

4 เทคนิคจัดการกับความรู้สึก ในวันที่ 'ความผิดหวัง' คลุมใจเรา

เมื่อความผิดหวังครอบงำอารมณ์และการกระทำของเราจนมากเกินไป เราจะจัดการกับความรู้สึกนี้ได้อย่างไร มี 4 สเต็ปที่นักจิตวิทยาแนะนำ

1 | อย่าเก็บไว้ ระบายมันออกมา

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเสียใจ โกรธ หรือเซ็งที่เกิดขึ้น การจัดการขั้นต้นที่ดีที่สุดคืออย่ากดมันเอาไว้ สิ่งที่คุณทำได้คือการระบายมวลความรู้สีกทั้งหมดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเล่าให้แฟน เพื่อน ครอบครัว คนสนิทฟัง อีกวิธีที่ดีมาก ๆ คือการเขียนเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคุณออกมา เพราะการเขียนจะทำให้คุณได้คิดและทบทวนตัวเองไปในตัวด้วย นอกจากจะช่วยให้คุณสบายใจ โล่งใจได้มากขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณเขียนลงไปจะเป็นการบันทึกที่ดีที่คุณสามารถย้อนกลับมาอ่านเพื่อเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้นด้วย

2| ฟังมุมมองจากคนนอก

การที่เราจมกับความรู้สึกอาจจะเป็นเพราะเรามัวแต่โฟกัสและมองเรื่อง ๆ หนึ่งจากเลนส์ที่แคบ การได้ระบาย ได้ถ่ายทอดมันออกไปให้กับบุคคลที่ 2 ที่ 3 ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น อาจทำให้คุณได้ฟังมุมมองที่คุณเองก็อาจจะนึกไม่ถึง ช่วยให้คุณมองปัญหาจากมุมที่กว้างขึ้น และอาจนำไปสู่การแก้ไขที่ดีก็ได้นะ

3 | วิเคราะห์สถานการณ์ คิดทบทวนกับตัวเอง

ความรู้สึกสดใหม่ที่เกิดขึ้นอาจทำให้คุณยังไม่ได้คิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อคุณได้ระบายส่วนที่เป็นอารมณ์ และแยกเรื่องของอารมณ์ออกจากข้อเท็จจริงได้แล้ว คุณอาจจะต้องมานั่งเวิร์กกับมันสักหน่อยว่าเหตุผลของความผิดหวังในครั้งนี้คืออะไร ลองคิดทบทวนเยอะ ๆ และแก้ปัญหาบนหลักการ หากเป็นความผิดหวังที่เกิดขึ้นซ้ำเดิมบ่อย ๆๆ ในสเต็ปนี้คุณอาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่าฉันจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ความรู้สึกนี้กลับมาอีกครั้ง แล้วเทคแอกชั่นกับมัน

4 | ฝึกฝนการยอมรับในตัวตนของตนเอง

เช็กอินกับความรู้สึกตัวเองบ่อย ๆ และพยายามฝึก Self-Acceptance หรือการยอมรับตัวตนของตัวเราเองเพื่อที่ในเวลาที่ผิดพลาด เราจะไม่เปราะบางและโทษตัวเอง แต่สามารถมองเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ด้วยความเข้าใจและมูฟออนต่อไปได้

อ้างอิง

เว็บไซต์ Better Up

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0