โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปรมาจารย์หนังสือเพลง..เบื้องหลังนักสร้างคนดนตรี : เล็ก วงศ์สว่าง - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 19 ก.ย 2563 เวลา 20.39 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

คงไม่ผิดหากจะบอกว่าบุรุษชื่อ ‘เล็ก วงศ์สว่าง’ คือผู้ยิ่งใหญ่ของวงการดนตรีเมืองไทย

เพราะหนังสือที่เขาก่อตั้ง I.S. Song Hits และ The Guitar ได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน

หลายคนใช้หนังสือเล่มนี้หัดแกะคอร์ดกีตาร์ บ้างก็ใช้เป็นตัวช่วยสำหรับร้องเพลงจีบสาว แม้แต่ห้องซ้อมทั่วประเทศ ต่างก็ต้องติดไว้ให้บรรดานักดนตรีทั้งมืออาชีพ และมือสมัครใช้ซ้อมเล่นเพลง

ครั้งหนึ่ง ‘สิงโต นำโชค’ เคยพูดว่า “ผมเล่นดนตรีเป็นเพราะคุณเล็ก แกไม่เคยมาสอนผม แต่ผมซื้อหนังสือ THE GUITAR ผมมีวงดนตรีกับเพื่อนตอนแรก ก็เพราะหนังสือเล่มนั้น”

เช่นเดียวกับ ‘พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์’ ซึ่งบอกว่า “หนังสือของคุณเล็ก สร้างแรงขับให้คนที่มีความฝันในอาชีพนี้ เขาเป็นคนเล็กๆ ที่สร้างผลสะเทือนให้สังคมวงกว้าง”

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเป็นผู้สร้างตำนาน ‘ศาลาคนเศร้า’ ให้กำเนิดหนังสือ ‘ทะลึ่ง’ เป็น ‘ราชาโปสเตอร์’ และอื่นๆ อีกมากมาย 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดาจึงอยากพาทุกคนไปรู้จักชีวิตและความคิดของนักบุกเบิกคนสำคัญ ชายผู้ปลุกพลังทางดนตรีให้เกิดขึ้นในใจของผู้คนมากมาย

01

I.S. Song Hits ครูดนตรีฉบับกระเป๋า

เล็กคลุกคลีกับวงการเพลงมาตั้งแต่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง

สมัยนั้นวงการเพลงสากลในบ้านเรากำลังเบ่งบาน เพราะระบบการศึกษาเปลี่ยนไป โรงเรียนเริ่มให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองจากภาษาไทยมากขึ้น เป็นเหตุให้บทเพลง ภาพยนตร์ หรือวัฒนธรรมป๊อปจากเมืองนอกหลั่งไหลเข้ามาในสื่อบันเทิง

ยิ่งในแวดวงวิทยุต้องถือว่าตื่นตัวมากเป็นพิเศษ ดีเจเกือบทั้งหมดล้วนเปิดแต่เพลงฝรั่ง ส่วนเพลงไทยก็จางหายหรือถูกมองว่าเชยไปหมด

เล็กเองก็ได้รับอิทธิพลจากวิทยุค่อนข้างมาก ถึงขั้นเคยเดินทางไปตามสถานีต่างๆ เพราะอยากรู้ว่าบรรดานักจัดรายการทำงานกันยังไง พอได้เห็นแล้วก็รู้สึกว่าไม่ยากเท่าไหร่ ตัวเองก็น่าจะทำได้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

แล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็พัดพาให้เขาได้รู้จักกับ ‘หลุยส์ ธุระวณิชย์’ 

หลุยส์เป็นดีเจมือต้นๆ ของเมืองไทย เดิมทีเขาเปิดคาเฟ่ แถวถนนสามเสน ที่นี่เป็นศูนย์กลางวัยรุ่น เพราะเป็นร้านเดียวที่มีตู้เพลงแบบหยอดเสียง มีฟลอร์ให้เด็กนักเรียนเต้นรำ เล็กจึงไปขอฝากตัว สมัครเป็นลูกมือ คอยเก็บเงิน เช็ดโต๊ะ ด้วยความหวังจะได้เข้าวงการกับเขาบ้าง

“ผมช่วยงานร้านพี่หลุยส์อยู่เกือบเดือน จนเข้าไว้เนื้อเชื่อใจและเห็นว่าเราชอบเพลง ก็เลยถามว่าอยากจัดรายการไหม โอ้โห้! ชอบเลย อยากจัดมาก แกเลยพาไปหาหัวหน้าสถานีเพื่อขอเช่าเวลา”

เล็กมีโอกาสได้ทำรายการของตัวเองอยู่หลายสถานี แต่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ทำให้สถานีโด่งดัง เพราะด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ น้ำเสียงทุ้มลึก สอดแทรกข้อความกินใจอยู่เสมอ จึงมีแฟนติดตามเขียนจดหมายส่งมาถึงกันเพียบ

เพียง 5 ปีเขาก็ถูกดันขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ โดยรายการที่เป็นเสมือนโลโก้ประจำตัวคือ Impressive Songs เปิดแต่เพลงสากลล้วนๆ ทั้ง Elvis Presley, Cliff Richard, Brandon Lee, Connie Francis และ The Beatles เป็นที่ถูกใจของชาวโก๋หลังวังยิ่งนัก

จากจดหมายปริมาณมหาศาลนี่เอง เล็กจึงสังเกตเห็นความต้องการอย่างหนึ่งของแฟนรายการ นั่นคือ คนชอบขอเนื้อเพลง เพื่อเอาไปฝึกร้อง เขาก็เลยเกิดไอเดียที่จะทำหนังสือเพลงเป็นของตัวเองขึ้นมาในปี 2507 โดยใช้ชื่อว่า Impressive Songs เหมือนตัวรายการ

หนังสือเพลงของเล็กแตกต่างจากเล่มอื่นที่ขายในท้องตลาด คือ เล่มเล็กขนาดเท่าฝ่ามือ สามารถพกพาไปไหนก็ได้ จำหน่ายเล่มละ 3 บาท ปกแรกเป็น Brandon Lee จากนั้นก็มาเป็น Elvis Presley ด้วยฐานแฟนคลับที่หนาแน่น ทำให้หนังสือเพลงของเล็กขายดิบขายดี และมีการขยายขนาดเล่มให้ใหญ่ขึ้นตามลำดับ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น I.S. Song Hits เพื่อให้เรียกง่ายขึ้น 

แต่ปัจจัยที่ทำให้ที่ให้หนังสือเล่มนี้ทะยานขึ้นเป็นเบอร์ 1 คือคุณภาพและความรวดเร็ว เล็กใฝ่ฝันให้หนังสือเล่มนี้สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและตำราของคนอ่านได้ เขาจึงหามือดีเข้ามาช่วยแกะเนื้อเพลงจากแผ่นเสียงที่เอามาเปิดในรายการของตัวเอง

“สมัยก่อนมีการแข่งขันกันเรื่องการเปิดเพลงใหม่ ใครเปิดก่อนก็หน้าบานเลย ซึ่งพอเราได้แล้ว เราก็เอามาให้คนแกะเนื้อเพลง ซึ่งสมัยนั้นใช้การฟังแล้วก็เขียนลงบนกระดาษ ก็ได้คนอย่าง ทูน หิรัญทรัพย์, เอเลน ซาลี ชาวมาเลย์และบันนี เอฟ คิดฉิ่น ชาวพม่า มาช่วยทำหน้าที่นี้ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เก่งภาษาอังกฤษมาก หูทิพย์ด้วย ฟังแล้วก็เขียนออกมาเป็นเนื้อเพลง”

นอกจากนี้เขายังใช้กลยุทธ์การแจกโปสเตอร์ศิลปินตามปกหนังสือ ซึ่งนอกจากจะเป็นการคืนกำไรให้แฟนเพลง ยังทำใหยอดขายหนังสือ I.S. Song Hits พุ่งสูงขึ้น 

หากแต่ปัจจัยที่ทำให้หนังสือของเล็กขึ้นแท่นตำนาน เกิดขึ้นจากการที่เขานำคอร์ดกีตาร์เข้ามาใส่ในหนังสือ ส่งผลให้เกิดกระแสการเล่นกีตาร์ไปตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

“ยุคที่วงชาโดว์ดัง วัยรุ่นเริ่มหันมาสนใจกีตาร์กันแล้ว นอกจากฟังเพลงก็มาหัดเล่นหัดร้อง ยุคนั้นกีตาร์ราคาถูก และหาง่าย 300-500 บาทก็มี ทีนี้พอวัยรุ่นหันมาเล่นกีตาร์กัน ก็เลยคิดว่าลองใส่คอร์ดลงไป เขาร้องและเล่นกีตาร์ไปด้วย มันจะได้เพอร์เฟกต์ และสมบูรณ์แบบมากกว่า

“คนที่ใส่คอร์ดเป็นนักดนตรี เป็นครูสอนดนตรี เป็นมือโซโล่ที่ดังๆ ของแต่ละวง คอร์ดของเราดีที่สุด ไม่มีเพี้ยนเลย แล้วเราเดินสายกลาง นักดนตรีเขารู้ เขาจะแกะคอร์ดแบบง่ายๆ แค่คุณมีกีตาร์ก็เล่นได้แล้ว คนก็เลยสนใจมาก”

วงดนตรีหลายวงเติบโตมาพร้อมกับหนังสือเล่มนี้ อย่าง เศรษฐา ศิริฉายา จาก The Impossible ยังเคยขอเนื้อเพลง Take Me Home, Country Roads ของ John Denver จากเล็กไปร้องเป็นคนแรก

กระทั่งปี 2512 เมื่อกระแสเพลงไทยเริ่มบูม เกิดวงสตริงใหม่ๆ หลายวง อาทิ Royal Sprites, ชาตรี, Grand Ex เล็กจึงตัดสินใจขยายตลาด ด้วยการเปิดหนังสืออีกเล่ม ชื่อ The Guitar

จุดเด่นของ The Guitar ไม่ได้มีเพียงแค่การนำเนื้อเพลงไทยมาใส่คอร์ดกีตาร์ แบบ I.S. Song Hits เท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลข่าวสารในแวดวงดนตรีแบบอินไซต์ จนกลายเป็นขวัญใจของวัยรุ่นมายาวนานหลายทศวรรษ จึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมใครต่อใครจึงยกให้เขาผู้นี้เป็นเสมือนครู เพราะหากเขาไม่เริ่มต้น บุกเบิกหนังสือ 2 เล่มนี้ เมืองไทยก็คงปราศจากศิลปินและนักดนตรีฝีมืออีกหลายคนแน่นอน

“ถ้าไม่มีอาเล็ก เราก็คงไม่รู้ว่าจะไปหาคอร์ดจากไหนมาเล่น พวกผมคิดว่าหนังสือ I.S. Song Hits และ The Guitar คือสิ่งที่บันทึกความเป็นไปของวงการเพลงไทยตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน” สมาชิกวง Micro กล่าวสรุปถึงบุคคลที่ชื่อ ‘เล็ก วงศ์สว่าง’

02

ศาลาคนเศร้า..ที่พักของคนเหงา

จดหมายของสาวโรงงานที่มีถึงชายหนุ่มที่เธอแอบรัก ความคิดถึงของคู่รักที่ต้องห่างกันไกล เพราะฝ่ายชายต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ และอีกสารพัดเรื่องราวถ่ายทอดตรงจากชีวิตของนักอ่านทางบ้าน รวบรวมอัดแน่นอยู่ในนิตยสารขนาดพ็อกเกตบุ๊ค ซึ่งยัดยืนคู่แผงมานานเกินครึ่งศตวรรษ 

แม้วันนี้ ‘ศาลาคนเศร้า’ จะหลงเหลือเพียงแค่ตำนาน หากแต่ประสบการณ์ความผิดหวังของผู้คนนับหมื่นนับแสนเรื่อง ก็ยังคงติดแน่นในความทรงจำของแฟนๆ ไม่เปลี่ยนแปลง และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ติดตัวบรรณาธิการอย่าง เล็ก วงศ์สว่าง ไม่แพ้หนังสือเพลงเลย

จุดเริ่มต้นของศาลาคนเศร้าเกิดขึ้นมาจากจดหมายที่ถูกส่งเข้ามายังรายการ Impressive Songs เพลงประทับใจ ทางสถานีวิทยุเสียงสามยอด

“ตอนที่เราจัดก็มักจะบรรยายความหมายของเพลงไปด้วยว่าหมายความว่าอย่างไร รื่นรมย์ สุขสม อกหัก โศกเศร้าอย่างไร พอบรรยายไป มีคนส่งมาทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง บางคนเขียนเป็นเรื่องราวมาบอกว่าเขาปวดร้าว ขมขื่นอย่างไร”

เล็กไม่เคยละเลยจดหมายเหล่านั้นเลย หลายครั้งที่เขาหยิบขึ้นมาอ่านให้ฟังทางรายการ กระทั่งเมื่อเปิดตัวหนังสือเพลง I.S. Song Hits เขาจึงตัดสินใจใช้พื้นที่บางส่วนประมาณ 7-8 หน้า ตีพิมพ์จดหมาย เรียกว่าคอลัมน์ ‘ศาลาคนเศร้า’

“ผมไปเจอจดหมายอยู่ฉบับหนึ่งอ่านแล้วรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งไปรักกับผู้หญิง แต่ผู้หญิงเครื่องบินตก ผู้ชายคนนี้เมื่อเห็นเครื่องบิน เขาจะคิดว่าแฟนของเขาจะมาถึงแล้ว แต่จริงๆ แฟนของเขาตายแล้ว ผมมาคิดว่าน่าจะมีอีกหลายๆ รูปแบบ คิดว่าจะตั้งคอลัมน์อย่างไรดี จนสุดท้ายก็มาเป็นศาลาคนเศร้า”

หลังเปิดคอลัมน์ได้ไม่นาน ปรากฏว่า ศาลาคนเศร้า เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง มีจดหมายทะลักเข้ามากกว่าเดิม ช่วงนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่เล็กเริ่มตั้งโรงพิมพ์ของตัวเอง เขาจึงเกิดไอเดีย แยกคอลัมน์ออกมาเป็นนิตยสารรายเดือนต่างหาก เมื่อปี 2510

“แรกๆ มีแต่คนบอกว่าหนังสือบ้าบอ มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะอ่าน ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้ว่ากลุ่มคนอ่านกลุ่มหนึ่งในเวลานั้นไม่ชอบหนังสือแบบนี้ที่มีแต่เรื่องอกหัก เขาอยากอ่านแต่เรื่องบันเทิง คลายเครียด แต่ก็ต้องคิดนะว่าความผิดหวังกับความสุข อะไรมันอยู่นานกว่า ความสุขอย่างมากประเดี๋ยวประด๋าว แต่เวลาทุกข์สิมันเจ็บลึก มันอยู่นาน

“สำหรับผม ศาลาคนเศร้าเป็นเหมือนสนามให้คนลองภูมิปัญญา เพราะคนที่เขียนมาไม่ใช่นักประพันธ์ ถึงเขียนไปลงนิตยสารอื่นก็ไม่ได้ลง เพราะเขาเขียนเป็นภาษาชาวบ้าน ไม่ได้มีสำบัดสำนวนอย่างนักกวี เราก็ลงไปตามสำนวนของเขา ดังนั้นศาลาคนเศร้า จึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม สามารถเติบโตมาได้อย่างยาวนาน โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณาใดๆ”

เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้ไม่ต่างจากศูนย์รวมใจและศรัทธาของผู้คน คนนับแสนใช้พื้นที่นี้ปรับทุกข์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต หาเพื่อนใหม่ เพื่อจะได้มีพลังต่อสู้กับโลกในวันข้างหน้า ไม่แปลกเลยว่า ทำไมศาลาคนเศร้าจึงครองใจกลุ่มผู้อ่านระดับล่าง ทุกเพศทุกวัย อย่างยาวนาน

แม้วันนี้ศาลาคนเศร้าจะไม่มีฉบับเล่มอีกแล้ว เหลือแต่เพียงบนโลกออนไลน์เท่านั้น หากแต่ปณิธานและความตั้งใจของเล็กที่อยากเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันก็ไม่เคยหายไป และยังก้องในใจมิตรรักนักอ่านต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

03

แบบนี้เขาเรียกว่า ‘ทะลึ่ง’

ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนไทยพากันหมดอาลัย บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง เพื่อเยียวยาอารมณ์ของคนในสังคม เล็กจึงทำพ็อกเกตบุ๊คคลายเครียดสำหรับผู้ใหญ่ ชื่อว่า ‘ทะลึ่ง’

“ปี 2540-2541 เศรษฐกิจมันถดถอยมาก มีแต่คนคิดฆ่าตัวตาย เลยคิดว่าเสียงหัวเราะยังไง พอช่วยได้เลยเอามารวมเล่ม เล่มแรกไปเค้นเอากับเพื่อนักร้องนักดนตรีที่ ‘โสมทอง’ จนหมดพุงต้องมุ่งไปที่คนอ่านช่วยส่งมา”

จุดเด่นของทะลึ่งคือ แก๊กสั้นๆ แต่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน บางทีภาพการ์ตูนที่พอเห็นก็เรียกรอยยิ้มได้ทันที หลายเรื่องมีบรรดานักแสดง ดาราตลก หยิบยืมไปใช้ต่อบนหน้าจอ ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็น Bestseller ทันทีตั้งแต่เริ่มวางแผน

นอกจากนี้ เล็กยังต่อยอดหนังสือ ทั้งตลกนักศึกษา, ทะลึ่ง Top100, การ์ตูน เพลงแปลง, พักยก หรือ คำผวน กวนโอ๊ย บางครั้งก็แถมแผ่นซีดีเล่าเรื่องตลก ทำให้มีแฟนประจำติดตามเป็นสมาชิกทั่วประเทศหลายพันคน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ความตลกที่คนทันยุคนี้ไม่มีทางลืมได้ลง

“หนังสือทะลึ่งไม่มีสำนวนโวหาร ไม่มีอารัมภบท เพราะไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องตลกที่เล่าขานสืบต่อกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ฉะนั้นอ่านยังไงก็ไม่ฮาเท่ากับนำไปเล่าต่อๆ กันไป ส่วนผมเป็นคนคัดเลือกลงมาตีพิมพ์ให้ (คัดไปก็ขำไป) เสน่ห์ของเรื่องทะลึ่งที่อยู่ในหนังสือจึงเป็นเรื่องเล่าจากคนในวง (เหล้า) ที่หาอ่านไม่ได้ในหนังสือขำขันเล่มอื่นๆ”เล็กบันทึกความตั้งใจของตัวเองผ่านทาง ‘ทะลึ่งคลาสสิค’ หนังสือคัดสรรในวาระครบรอบ 12 ปีของตำนานทะลึ่ง

04

The Legend of Thai Music

หลังหยัดยืนอยู่ในถนนสายเสียงเพลงและสิ่งพิมพ์มานานกว่า 50 ปี เล็กสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับวงการนี้มากมาย

งานของเล็กไม่เคยล้าสมัย เขายินดีจะปรับเปลี่ยนเสมอ เช่นเมื่อปี 2532 ที่เขาตัดสินใจหยุดทำหนังสือ I.S. Song Hits และเปลี่ยนมาเป็นส่วนหนึ่งของ The Guitar เนื่องจากไม่สามารถฝืนกระแสความนิยมของเพลงไทยที่เข้ามากลืนเพลงสากลเกือบหมดได้ไหว

แต่ถึงอย่างนั้นเขายังพยายามรักษาแบรนด์ ด้วยการพิมพ์ I.S. Song Hits ฉบับ Year Book รองรับกลุ่มคนที่ยังนิยมเพลงสากล กระทั่งเมื่อกระแสเพลงสากลเริ่มกลับมาในปี 2537 เขาจึงตัดสินใจลองอีกครั้ง น่าเสียดายที่ช่วงนั้นราคากระดาษถีบตัวสูงขึ้น และมีข้อขัดข้องบางประการกับสายส่ง I.S. Song Hits ยุคใหม่จึงลาแผงไป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538

“จริงๆ แล้วรู้ว่าสักวันหนึ่งต้องเลิกทำ แต่ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่า ยังไงก็จะไม่เลิกก่อนจะครบรอบ 30 ปี ซึ่งก็ทำสำเร็จจนได้ ที่ผ่านมาเรายังดันทุรังทำอยู่ เพราะรัก I.S. Song Hits และผู้อ่านทุกคน เราคิดจะเลิกทำมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีผู้อ่านจำนวนมากให้กำลังใจเราทำต่อไป เราจึงมีแรงสู้มาตลอด วันนี้เราจึงอยากขอโทษผู้อ่านทุกคน เราคิดว่าถึงเวลาแล้ว ผู้อ่านคงเข้าใจเรา” เล็กเขียนไว้ใน I.S. Song Hits ฉบับสุดท้าย

เช่นเดียวกับ The Guitar ที่ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา พร้อมกับแบ่งหนังสือออกเป็น 2 เล่มคือ The Guitar Mag เน้นเจาะลึกเรื่องราวข่าวสารทางดนตรีอย่างเข้มข้นเต็มอรรถรส พร้อมกับคอลัมน์สอนกีตาร์ กับ The Guitar Express เพื่อรวบรวมเนื้อเพลงไทยล่าสุดพร้อมคอร์ดกีตาร์ล้วนๆ ตลอดจนขยายรูปแบบให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งรายการโทรทัศน์ คลิปวีดิโอ รวมถึงคอนเสิร์ต

นอกจากนี้เล็กยังเป็นผู้บุกเบิกหนังสืออีกหลายแนว ทั้งแฟชั่นเสื้อผ้า แฟชั่นผม ซึ่งทั้งหมดมาจากแนวคิดที่ว่า ‘ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะเราคือผู้ริเริ่มไม่ใช่ผู้ตาม’

“ผมคิดอยู่ตลอดทุกวินาทีว่าจะทำอะไร 80% ที่ตัดสินใจไม่เคยพลาด เพราะคิดก่อนทำ ไตร่ตรองแล้วชิงลงมือทำเลย ทำก่อนได้เปรียบ ยกตัวอย่างสมัยจัดการเพลงเห็นคนขอเนื้อเพลงเพื่อจะร้องตาม เราก็แกะเนื้อเพลงฝรั่งลงหนังสือเลย หรือสมัยก่อนคนติงหนังสือ I.S. Song Hits ว่าเพลงเชย ไม่ทันสมัย เราก็เลยพลิกกลยุทธ์เอาศิลปินดังๆ มาถ่ายโปสเตอร์เลย ซื้อหนังสือได้โปสเตอร์

“หรือเราเห็นกีตาร์ที่คนพกพาไปไหนมาไหนประจำ เราก็จ้างครูสอนดนตรีที่เก่งๆ มาแกะคอร์ดลงหนังสือเพลงเลย ตั้งแต่นั้นมาใครๆ ก็ถือกีตาร์แล้วก็พกหนังสือของผมคู่กันไปด้วย นี่คือแนวคิด ถ้าเราไม่ริ แล้วใครจะเริ่ม”

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เล็กเริ่มผ่องถ่ายงานไปให้ทายาททั้ง 3 คน แต่ก็ยังมีอีกหลายงานที่เล็กยังคงทำเรื่อยมา ทั้งบันทึกเทปรายการวิทยุ ทำหนังสือรวมเพลงในอดีต The Oldies Greatest Hits แม้แต่ช่วงที่ต้องไปนอนโรงพยาบาล เขาก็ยังยกคอมพิวเตอร์ไปเพื่อเขียนสคริปต์ และคัดเลือกเพลง

อีกหนึ่งโครงการที่ลูกๆ ตั้งใจทำเป็นของขวัญให้พ่อ คือ The Legend of The Guitar : Celebrating 40th Years Anniversary คอนเสิร์ตเพื่อฉลอง 40 ปีของการก่อตั้งนิตยสาร The Guitar พร้อมกับเชิญศิลปินร่วมร้อยจากยุค 1970-2010 มาแสดงบน 3 เวที วันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2553

ครั้งนั้นเล็กปลาบปลื้มมาก เขาเดินสายให้สัมภาษณ์ตามรายการต่างๆ รวมทั้งมีแผนขึ้นพูดเพื่อเปิดงานคอนเสิร์ตด้วย แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้อยู่ชมความสำเร็จด้วยตัวเอง เพราะเล็กจากไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ด้วยโรคมะเร็งเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ในวัย 68 ปี ปิดตำนานนักสร้างสรรค์ผู้บุกเบิกวงการดนตรีตลอดกาล ทิ้งไว้แต่เพียงความฝัน ผลงาน และบุคลากรอีกมากมายที่เขามีส่วนร่วมบ่มเพาะแก่สังคมไทย

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

ข้อมูลและภาพประกอบ

  • หนังสืออนุสรณ์งานศพ นายเล็ก วงศ์สว่าง ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 30 มกราคม 2554
  • สูจิบัตรงาน เพลินเพลงกับเล็ก วงศ์สว่าง
  • นิตยสาร a day ฉบับ world of music special issue เดือนธันวาคม 2545
  • นิตยสารธุรกิจผู้นำ ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 เดือนสิงหาคม 2531
  • นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 962 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2553

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0