โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘แข็งกร้าวแต่สุภาพ’ ข้าราชการของประชาชน : วีรชัย พลาศรัย - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 05 ก.ย 2563 เวลา 17.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

“ผมอยากให้เราใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์”

ย้อนกลับไปเมื่อราวสิบปีก่อน มีกรณีหนึ่งที่สร้างแรงสั่นสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังกัมพูชาพยายามยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

แม้ตัวปราสาทจะเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการขึ้นทะเบียนยังไม่ปรากฏชัดว่าเป็นของชาติใด จนกลายเป็นคดีความถึงขั้นต้องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ครั้งนั้น คนไทยได้รู้จักกับนักการทูตคนหนึ่ง ผู้นำทีมกฎหมายฝ่ายไทย ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของประเทศชาติ

‘แข็งกร้าวแต่สุภาพ’ น่าจะเป็นคำอธิบายที่ตรงกับบุคลิกเขาที่สุด ด้วยท่าทีสงบนิ่ง ใช้ข้อมูลและเหตุผลเป็นที่ตั้ง ตอบโต้คำให้การของอีกฝ่ายแบบ ‘แสบๆ’ สมกับชื่อเล่นของเขา

ในที่สุดศาลโลกก็ตัดสินให้ไทยไม่เสียอธิปไตยบนพื้นที่บริเวณรอบเขาพระวิหารตามที่กัมพูชาร้องขอ พร้อมแนะให้ทั้งสองประเทศไปพูดคุยเพื่อพัฒนาพื้นที่ตรงนี้้ร่วมกัน โดยมียูเนสโกเป็นตัวกลาง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอย่างมากสำหรับคนไทยทั้งประเทศ

แม้คดีเขาพระวิหารจะเป็นงานยาก เดิมพันสูง แต่ก็ไม่ใช่คดีใหญ่ที่สุดที่นักการทูตผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคนนี้เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะเขาเคยตัดสินคดีการค้าระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงอยู่เบื้องหลังการเจรจาให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองจากการประมงไทย

สิ่งที่เขายึดถือมาตลอดเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งคือ เหตุผลต้องมาก่อน และผลประโยชน์ของชาติสำคัญที่สุด ส่วนอารมณ์เป็นเรื่องท้ายๆ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ทูตแสบ-ดร.วีรชัย พลาศรัยนักการทูต-นักกฎหมาย-ข้าราชการ ผู้ทุ่มเทชีวิตในการทำงานเพื่อประเทศ ขณะเดียวกันก็มีชีวิตอีกด้านที่หลงใหลเสียงเพลง เป็นนักดนตรี ชอบทำอาหาร สองขั้วที่รวมอยู่ในคนเดียวอย่างลงตัว

01

คดีเขาพระวิหาร

มีหนังสือเล่มหนึ่ง วางอยู่บนหัวเตียงของวีรชัยมาเกือบ 20 ปี เขาจะหยิบมาอ่านซ้ำอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่รับหน้าที่ต่อสู้คดีเขาพระวิหาร

หนังสือเล่มนั้นชื่อ ‘เข้าโรงเรียนนักการทูต’ เขียนโดยพันเอกแบร์นาร์ด ชายฝรั่งเศส ผู้จัดทำแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เอกสารชิ้นสำคัญที่เป็นปัญหามายาวนานในกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร 

“หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้จักตัวตนและจิตใจของเขา มีเบื้องหลังการทำงานอะไรมาบ้าง เหมือนทำให้เรารู้จักฝ่ายตรงข้าม ทุกวันนี้ก็ยังหยิบมาอ่านทุกคืน อ่านแล้วก็อ่านอีก แล้วคิดไปต่างๆ นานาว่า ระหว่างบรรทัดนั้นมีอะไรอยู่เบื้องหลัง เพราะถ้าคุณเข้าใจแบร์นาร์ด คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ทั้งหมด จึงทำให้ผมกล้าบอกว่า แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่เราไม่ชอบกัน หรือที่เรียกว่าแผนที่อัปยศ จริงๆ แล้วเป็นเจตนาแสดงสันปันน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะคนไปคิดว่าแผนที่นี้ไม่ได้แสดงสันปันน้ำ 

“พันเอกแบร์นาร์ดหมกเม็ดสารพัด ถ้าเจอทายาท ผมจะขอต่อว่าสักที เคยเปิดสมุดหน้าเหลืองกะจะหาชื่อนี้แล้วโทรไปต่อว่า แต่ปรากฏว่ามีชื่อแบร์นาร์ดเต็มไปหมด”เขากล่าวด้วยอารมณ์ขัน 

ความจริงแล้วการตัดสินกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหารจบลงไปตั้งแต่ ปี 2505 ครั้งนั้นศาลโลกมีมติให้พื้นที่ปราสาทเป็นของประเทศกัมพูชา และไทยต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พร้อมกับคืนโบราณวัตถุที่พบในตัวปราสาททั้งหมด

เวลาผ่านมาอีกราว 50 ปี กัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่เนื่องด้วยมีกฎว่าต้องมีพื้นที่แนวกันชน ซึ่งจะกินดินแดนมายังฝั่งไทยประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไทยจึงไม่ยอม ทำให้กัมพูชารื้อฟื้นคดีนี้ให้ศาลโลกตีความอีกครั้งในปี 2554

ขณะนั้น วีรชัยดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับมอบหมายให้ทำคดีสำคัญครั้งนี้ เนื่องจากเคยดูแลเอกสารคดีเขาพระวิหารมาก่อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เขาจึงมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ 

วีรชัยและทีมงานใช้เวลา 2 ปี ศึกษารวบรวบรวมหลักฐานอย่างละเอียด เขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อศาลในการพิจารณาคดีวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเข้มข้น ต่างฝ่ายต่างงัดหลักฐานและข้อมูลมาประชันกัน ซึ่งเขาค่อนข้างมั่นใจว่าฝ่ายตุลาการจะรับฟังเหตุผลที่เตรียมมา

หนึ่งในข้อต่อสู้ที่ทีมไทยชี้แจงกับศาลครั้งนั้น คือกัมพูชาใช้แผนที่อ้างอิงผิดวัตถุประสงค์ ไม่สามารถนำมาอ้างสิทธิในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรได้ ประเด็นนี้ทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในเวลาต่อมา

“ประเด็นสำคัญคือการถ่ายทอดเส้นจากแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ลงมาในพื้นที่จริง เดิมศาลไม่เคยเห็นประเด็นนี้ แต่ในคดีนี้ศาลเห็นแล้วว่าการถ่ายทอดเส้นมันมีผลต่อคดี เพราะเส้นมันถ่ายทอดออกมาได้เป็นล้านๆ รูปแบบ แต่ที่กัมพูชาถ่ายทอดออกมาจนเกิดเป็นพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แล้วเขาอ้างว่าเป็นพื้นที่ของเขา เป็น 1 ในล้านวิธีที่ทำได้ในการถ่ายทอดเส้น แล้วยังผิดอีกด้วย 

“เพราะฉะนั้นเส้นที่กัมพูชาเขียนขึ้นมาจึงตกไปแล้วโดยการพิพากษาครั้งนี้ ..คือคุณจะเอารูปร่างเส้นแบบนั้นมาใช้ตรงๆ ไม่ได้ เพราะว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นั้นภูมิประเทศมันผิด ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด และคนก็ไม่ค่อยเข้าใจเพราะซับซ้อน”

เดือนพฤศจิกายน 2556 ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษา กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรตามที่ต้องการ ยกเว้น ‘พื้นที่เล็กๆ’ รอบปราสาท ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเท่าไร ศาลให้ทั้งสองประเทศต้องเจรจากันเองต่อไป

การต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติครั้งนี้ ทำให้ชื่อของ วีรชัย พลาศรัย ได้รับการยกย่องจากคนไทยในฐานะฮีโร่ของประเทศ แต่สำหรับเขาแล้วคือผลตอบแทนของการทำงานหนักมาตลอดหลายปี

“ตารางชีวิตผมพังไปบ้างเหมือนกัน ปี 2554 ผมซื้อตั๋วจองที่พักแล้ว เช่ารถแล้ว ตั้งใจไปเที่ยวตอนเดือนพฤษภาคม แต่ก็ติดงานจนไปไม่ได้ ..ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คดีเขาพระวิหารกินเวลาชีวิตผมไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว”

หลายคนที่เคยทำงานด้วย มักบอกว่าวีรชัยเป็นมนุษย์เพอร์เฟ็กต์ ทุกครั้งจะทุ่มเทเกินร้อย เตรียมตัวอย่างดี ซักซ้อมรายละเอียดทั้งหมด และมีแนวทางชัดเจนไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ รวมถึงเรียกร้องจากเพื่อนร่วมงานทุกคนให้ทุ่มเทเต็มกำลัง เพราะถือว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของคนไทย ในคดีครั้งนี้ก็เช่นกัน

“เราเป็นข้าราชการก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผมไม่ได้มองเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก ถ้าเรามีตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบ งานทุกชิ้นสำคัญเท่าเทียมกันทั้งสิ้น เพราะคุณต้องทำให้ดีที่สุดสำหรับงานที่คุณได้มา งานนั้นอาจจะเป็นแค่การชงกาแฟให้เจ้านายหรือทำคดีเขาพระวิหาร มันมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในหน้าที่ของคุณ

“การเขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลทั้งสองฉบับ ผมมองว่าเป็นงานเขียนของราชการอีกชิ้นหนึ่งที่ต้องทำให้เต็มที่ การกล่าวถ้อยแถลงต่อหน้าศาล ผมก็ถือว่าเป็นสุนทรพจน์ที่เราทำในฐานะนักการทูต เมื่อมองให้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างนี้ ก็จะเห็นงานทุกชิ้นสำคัญเท่าเทียมกัน ช่วยให้ไม่กังวล และไม่เครียด”เขาเล่าย้อนไปถึงการรับมือความกดดันในครั้งนั้น

02

ทูตแสบ กับชีวิตที่มีสีสัน

อาจกล่าวได้ว่า วีรชัยได้รับดีเอ็นเอการเป็นทูตมาจากพ่อ โดยมีแม่เป็นคนผลักดัน 

พ่อของเขาเคยทำงานอยู่ที่กงสุลใหญ่ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ส่วนแม่เป็นแพทย์ แม่ตั้งชื่อเล่นเขาว่าเด่น ตามชื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนดังในขณะนั้นคือ Anthony Eden ตอนอายุไม่ถึงขวบเขาป่วยหนักจนเกือบเสียชีวิต แต่นายแพทย์ชาวอินเดียซึ่งเป็นอาจารย์ของแม่ช่วยรักษาไว้จนหาย

วีรชัยเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง แต่ชอบอยู่หลังห้อง สมัยเด็กเขาชอบดูมวยมาก ถึงขนาดให้เพื่อนๆ เรียกชื่อตนเองว่า ‘ไอ้แสบ’ ตามฉายาของแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ นักมวยคนโปรด ก่อนจะพัฒนาชื่อมาเป็น แสบสันต์ อนันตโชค และทูตแสบ ในเวลาต่อมา

อีกอย่างที่เขาชอบคือดนตรี เล่นเป็นทั้งไวโอลิน เปียโน กีตาร์ ตอนเรียนมัธยมปลายที่เตรียมอุดม ชะตาชีวิตเกือบพลิกผันไปเป็นนักดนตรี เมื่อเพื่อนชวนไปฟังเพลงในบาร์ แล้วมีโอกาสแจมกีตาร์กับรุ่นพี่จนตั้งวง รับจ้างเล่นกลางคืนด้วยกัน แต่แม่ของเขาก็พยายามเบรกไว้ โดยขอให้ญาติๆ มาช่วยกันหว่านล้อมให้ลูกชายเอาดีทางเป็นผู้พิพากษา หรือนักการทูตมากกว่า

วีรชัย เปลี่ยนเส้นทางมาเป็นทูตสมใจแม่ เมื่อเขาสอบได้ทุนจากกระทรวงต่างประเทศ ไปเรียนด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสจนจบปริญญาเอก ก่อนกลับมาทำงานใช้ทุน เริ่มตำแหน่งแรกคือเลขานุการโทที่กรมการเมือง และโยกย้ายมาอยู่ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย  

เขาอยู่เบื้องหลังการเจรจาสำคัญๆ ระหว่างประเทศหลายครั้ง เช่น เจรจาเขตทะเลไทย-เวียดนาม เจรจาแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ต่อมาได้ทำหน้าที่คณะผู้แทนประจำองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ต้องทำคดีความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น ฟ้องร้องสหรัฐเรื่องกีดกันกุ้งทะเล คดีตลาดเหล็กที่โปแลนด์ฟ้องประเทศไทย 

รวมถึงเคยทำหน้าที่ตัดสินคดีใหญ่ๆ ที่มีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล ให้กับ WTO เช่น กรณีความขัดแย้งบริษัทเครื่องบิน Boeing-Airbus เรื่องการพนันในอินเทอร์เน็ต หรือคดีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เรื่องบัตร China Union Pay แข่งกับ Visa และ Master Card ซึ่งคดีหลังนี้วีรชัยภูมิใจมาก 

“คดีนั้นผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานครั้งแรกในชีวิต เมื่อเราตัดสินแล้วไม่มีใครอุทธรณ์ นั่นแสดงว่าเขาเห็นว่าสิ่งที่ผมตัดสินนั่นเที่ยงธรรมแล้ว เขาพอใจ ยังดีใจจนถึงทุกวันนี้” 

ใช่ว่าชีวิตจะราบรื่นไปเสียหมด ตอนที่เขาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เมื่อปี 2551 ซึ่งตรงกับช่วงที่กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกพอดี เขามีบทบาทในการคัดค้านแผนที่แนบท้ายแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งฝ่ายกัมพูชายื่นประกอบการพิจารณาของยูเนสโก เนื่องจากลุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย จนนำไปสู่ข้อขัดแย้งทางการเมือง

บทบาทครั้งนั้นส่งผลให้วีรชัยถูกย้ายมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งเดิมอีกครั้งในช่วงปลายปี 2551 กระทั่งเมื่อข้อพิพาทนี้ถูกนำขึ้นศาลโลก จึงย้ายเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เพื่อนำทีมไทยต่อสู้เรื่องคดีเขาพระวิหาร 

“หน้าที่ของผมคือทำทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ของประเทศและประชาชนของตัวเอง ต้องเป็นประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีใครได้ดีคนเดียว เวลาทำงานก็ต้องคิดสองด้านอย่างนี้เสมอ”เขาย้ำจุดยืน 

แม้จะเป็นนักการทูต แต่ในบางบทบาท เช่น การต่อสู้คดีเขาพระวิหาร จะเห็นเขามีท่าทีแข็งกร้าวเป็นพิเศษ จนดูเหมือนว่าไม่ใช่วิธีทางการทูตอันอ่อนน้อมที่คนเข้าใจ แต่นั่นก็เพราะวีรชัยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง และสวมหมวกอีกใบคือทนายของประเทศไทย ดังนั้นจึงได้เห็นเขาพูดตรงๆ แรงๆ ต่อศาลว่า กัมพูชาปลอมแปลงเอกสาร 

“จริงๆ คำว่าวิธีการทางการทูตนี้มันกว้างนะ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนดี น่ารัก การทูตบางที ก็สามารถพูดจารุนแรงได้ มีวิธีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้วิธีไหน มันตรงข้ามกับการใช้กำลังเท่านั้นเอง เราไม่ใช้กำลังเด็ดขาด ดังนั้นอะไรที่ไม่ใช้กำลัง ทางการทูตใช้เป็นเครื่องมือได้หมด วิธีที่แข็ง อ่อนหรือ นิ่ม ได้ทั้งนั้น บางครั้งอาจจะต้องพูดกันแรงหน่อย แต่เพื่อหลักการและความถูกต้องก็ต้องทำ แต่ต้องมีวิธีที่ในระยะยาวมิตรภาพยังอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทำตัวน่ารักทว่าพูดอะไรไม่ได้เลย”

03

ข้าราชการของประชาชน

วีรชัยใช้ทุนครบเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2549 ด้วยฝีมือและความสามารถแล้ว เขาจะลาออกจากราชการไปทำงานไหนก็ได้ ที่ผ่านมามีคนเสนอโอกาสให้อยู่เรื่อยๆ แม้ทูตแสบจะสนใจ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไปหมดเพราะไม่อยากทิ้งงานราชการ 

“ก่อนหน้านี้ก็มีคนเสนอมา เป็นบริษัทเอกชน หลังจากนั้นก็มีเอ็นจีโอ ไม่นานนี้มีบริษัทอีกแห่งชวนให้ไป เป็น Senior Associate แค่เงินเขาก็ 20 เท่า ของราชการแล้ว จนได้มาทำคดีเขาพระวิหาร ผมก็บอก รอไว้ก่อน ผมคงต้องส่งต่อให้ในรูปแบบที่เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นคนรับต่อเขาก็ลำบาก”

แม้ตอนทำงานจะมุ่งมั่น ทุ่มเท จริงจัง แต่เมื่ออยู่นอกเวลางาน ทูตแสบจะเป็นคนละคน ทั้งตลก เฮฮา และไม่เคยเลิกนิสัยชอบแกล้งเพื่อน ความสุขอีกอย่างของเขาคือดนตรี เขาจะฟังเพลงทุกวันและนัดกับเพื่อนทูตซ้อมดนตรีเป็นประจำ เพื่อนคนไหนขาดซ้อมจะโดนเขาเอ็ดเอาได้ พอถึงงานสำคัญๆ ทุกคนก็จะเห็นท่านทูตวีรชัยขึ้นเวทีไปโซโล่กีตาร์เรียกเสียงฮือฮาจากแขกเหรื่อ 

ทูตแสบยังใช้ดนตรีที่เขารักเชื่อมความสัมพันธ์กับทูตนานาชาติ เรียกว่าเป็น Music Diplomacy หรือ ‘ดนตรีการทูต’ ในช่วงที่มารับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาก่อตั้งวงดนตรี ‘ThaiPhoons’ ของเจ้าหน้าที่คนไทย และ ‘UN Rocks’ ของท่านทูตประเทศต่าง ๆ ประจำสหประชาชาติ เล่นกันอย่างสนุกสนาน จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว วง UN Rocks ได้มีโอกาสเปิดการแสดงสดในห้องประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ รวมทั้งจัดทำอัลบั้มออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปช่วยส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนของสหประชาชาติอีกด้วย

ประมาณปลายปี 2561 คนรอบข้างเริ่มทราบข่าวว่าเขาป่วยเป็นโรคไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic syndrome-MDS) และต้องทำเคมีบำบัด ทูตแสบยังคงตั้งใจทำงานต่อไป เพียงแต่แพทย์ไม่อนุญาตให้เขาเดินทางไปไหนต่อไหนได้ อาการของเขาเหมือนจะดีขึ้น แต่ก็ทรุดหนักในเวลาต่อมา และจากไปในวันที่ 16 มีนาคม 2562 ด้วยวัย 58 ปี

หนึ่งในผลงานสำคัญ ชิ้นท้ายๆ ของชีวิตคือ การรับหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาของไทยกับสหภาพยุโรปเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (lllegal, unreported and unregulated fishing-IUU) ตอนนั้นประมงไทยโดนโทษใบเหลือง แม้เป็นการเตือนที่ไม่มีการลงโทษ แต่หากไม่ปรับปรุงแก้ไขการประมงให้ได้ตามมาตรฐานอาจถูกสหภาพยุโรปประกาศให้ใบแดง จะมีผลรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเล ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับสามของโลก

ทูตแสบจึงนำทีมหารือกับสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงของไทย ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการประมงให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และการพัฒนากลไกแก้ไขปัญหา IUU จนได้รับการปลดสถานะใบเหลืองในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถือเป็นความสำเร็จอันงดงามในการรักษาผลประโยชน์ของชาติอีกครั้งของเขา โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเจือปนแม้แต่น้อย

“แม่เคยให้ผมสัญญาว่า จะไม่เล่นการเมือง ท่านคงเห็นว่าบุคลิกผมไม่เหมาะ แล้วผมมีนิสัยเหมือนกับพ่ออย่างหนึ่งคือ ตรงไปตรงมา คงกลัวผมมีศัตรู ผมน่ะไม่ต้องการสร้างศัตรูกับใคร ไม่เคยด่าใครลับหลัง ไม่เคยคิดร้ายกับใคร ทุกสิ่งที่ทำก็เพื่อปกป้องประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ”

ในยุคที่ประชาชนตั้งคำถามกับการทำงานของข้าราชการ ชีวิตของ ทูตแสบ-วีรชัย น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบจาก

  • หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ วีรชัย พลาศรัย
  • สัมภาษณ์ : ชีวิตและภารกิจรักษาแผ่นดินท่านทูตวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะกฎหมายไทยสู้คดีเขาพระวิหาร นิตยสารแพรว ฉบับธันวาคม 2556
  • นิตยสาร a day Bulletin ฉบับที่ 280 29 พ.ย.- 5 ธ.ค. 2556
  • คดีปราสาทพระวิหารรอบ 2 นิตยสารดิฉัน มกราคม 2556
  • รายงานพิเศษ: เบื้องหลังคดีพระวิหาร "เราไม่ได้เสียดินแดน" ดร.วีรชัย พลาศรัย เนชั่นสุดสัปดาห์  พฤศจิกายน 2556  
  • เปิดเบื้องหลังวีรกรรมทูต "วีระชัย" walk out-บุกยูเนสโก ขวางขึ้นทะเบียน "พระวิหาร" เว็บไซต์ Post Today วันที่ 18 มีนาคม 2562
  • หนังสือ Life journey : เรื่องราวการเดินทางสู่ความสำเร็จของไอคอลจากหลากหลายสาขาอาชีพ โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 33

  • mum (มั่ม)adj.เงียบฯ
    ระลึกถึงท่านเสมอ...ขอแแสดงความเคารพอย่างสูงต่อผลงานของท่านที่มอบให้กับแผ่นดิน
    06 ก.ย 2563 เวลา 03.48 น.
  • Vanida
    ติดตามการทำหน้าที่ของท่านมาตลอด หนึ่งในบุคคลตัวอย่างของชาติ นับถือในความเก่งและความมุ่งมั่นในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ท่านจะอยู่ในความทรงจำตลอดไป เสียดายคนดีคนเก่งของประเทศ จากไปเร็วเกินไป
    06 ก.ย 2563 เวลา 02.52 น.
  • T "curse my name"
    น่าเสียใจและเสียดายแทนประเทศชาติมากครับ เราต้องเสียคนดี มีความสามารถไปอย่างจะหาทดแทนได้ยาก ยังจำตอนท่านเข้าให้การต่อศาลโลกคดีพิพาทได้ครับ องอาจ กล้าหาญที่สุด ขอแสดงความนับถือท่านครับ
    06 ก.ย 2563 เวลา 07.40 น.
  • kim_befu
    ท่านโชดดีที่มีผู้บังคับบัญชาที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจงานราชการ ทำให้ท่านเติบโตอย่างต่อเนื่อง เสียดายมากที่คนดีจะอยู่ได้ไม่นาน
    06 ก.ย 2563 เวลา 03.00 น.
  • Louis
    ประวัติน่าสนใจดี
    06 ก.ย 2563 เวลา 02.13 น.
ดูทั้งหมด