โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยอดหญิงตำราเรียน ‘ไทยวัฒนาพานิช’ : บุญพริ้ง ต.สุวรรณ - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 12 ก.ย 2563 เวลา 19.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แบบเรียนแถวหน้าของประเทศ คือผู้หญิงที่เรียนไม่จบชั้นมัธยม!

‘ไทยวัฒนาพานิช’ คือชื่อที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะมีผลงานพิมพ์แบบเรียนทุกระดับชั้น รวมไปถึงตำราคู่ใจเด็กไทยหลายยุคหลายสมัย เช่น ปทานุกรมฉบับนักเรียน, ดิกชันนารี ของสอ เสถบุตร, หนังสือแผนที่ของนายทองใบ แตงน้อย

นอกจากนี้ยังปลุกปั้นนิตยสารในตำนานอย่างวิทยาสาร ชัยพฤกษ์ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งมีผู้อ่านติดกันงอมแงม เป็นแหล่งรวมทีมงานคุณภาพคับคั่ง อาทิ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร, ส. ศิวรักษ์, ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, วิทยากร เชียงกูล และคนเก่งอีกมากมายที่เคยเป็นศิษย์เก่าของที่นี่

เรียกได้ว่าเห็นโลโก้ วงกลม 3 ห่วงซ้อนกัน มีตัวหนังสือ ทวพ. ก็มั่นใจได้เรื่องมาตรฐานความถูกต้อง ความสวยงาม และคุณภาพการพิมพ์

แต่ใครต่อใครอาจไม่รู้ว่า เส้นทางกว่าจะมาเป็นอาณาจักรไทยวัฒนาพานิช ไม่ได้ราบรื่น สวยงามเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ‘บุญพริ้ง ต.สุวรรณ’ ลูกสาวพ่อค้าแห่งเมืองสีคิ้ว ผู้ตามสามีเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนทดลองหยิบจับธุรกิจหนังสือแบบเรียน ใช้ความซื่อสัตย์และคุณภาพงาน พิสูจน์ตัวเองจนก้าวขึ้นมาเป็นคุณนาย ผู้กว้างขวางแห่งวงการสิ่งพิมพ์ไทย 

หญิงแกร่ง ผู้นี้บอกกับเราว่าระดับการศึกษา อาจไม่สำคัญเท่าความใฝ่รู้ ความตั้งใจ และการขยันสร้างหมู่มิตรมากมาย

01

กำเนิด ไทยวัฒนาพานิช

“ฉันชอบเรื่องการศึกษามาตั้งแต่เด็ก เสียดายที่เรียนมาน้อย จะทำการพูดหรือ เขียนอะไรก็เป็นไปด้วยความพยายามที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ฉันคบค้าสมาคมกับครู อาจารย์มาก และไปที่กระทรวงศึกษาธิการแทบทุกวัน..”

ตอนที่บุญพริ้ง ตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มายังกรุงเทพฯ กับสามี-บุญธรรม ต.สุวรรณเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต เธออายุ 23 ปี มีเพื่อนฝูงในเมืองหลวงน้อยมาก หนึ่งในนั้นคือเพื่อนชื่อชง ที่ทำงานอยู่โรงพิมพ์ศึกษานุมิตร แถววัดตึก เขาแนะนำให้เธอรับหนังสือไปขาย 

บุญพริ้งเห็นว่าหนังสือเป็นของที่ไม่เน่าไม่เปื่อย และไม่ต้องลงทุนมากนัก จึงตัดสินใจทำ โดยเริ่มต้นที่ตึกแถววัดสามจีน เปิดกิจการ ‘ขายส่ง’ หนังสือแบบเรียน ที่เป็นเช่นนี้เพราะตึกแถวอยู่ในซอยต้องเดินเข้าไป ทำเลไม่เหมาะกับการขายปลีก 

ร้านตั้งเมื่อปี 2481 ตอนแรกใช้ชื่อว่า สยามวัฒนาพานิช โดยเพื่อนที่ทำงานอยู่กรมโฆษณาการเป็นคนตั้งให้  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไทยวัฒนาพานิช เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย

ความจริงแล้วบุญพริ้ง เคยช่วยบิดาชาวจีนทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 11-12 ปี เตี่ยของเธอทำสัญญาขายไม้เนื้อแข็งกับบริษัทอีสเอเชียติกเพื่อนำไปทำไม้หมอนรถไฟ บุญพริ้งจึงได้รับมอบหมายให้ช่วยเขียนบิล เขียนจดหมายเป็นภาษาไทย ตามที่เตี่ยบอก เมื่อมีลูกค้ามาคุยธุรกิจ เธอก็ชอบไปนั่งฟัง 

ครั้งหนึ่งมีพระจากวัดพระพุทธบาท ทักว่าเธอเป็นคนมีโชคมีลาภ โตขึ้นจะมีเงินเป็นล้าน สองพ่อลูกก็ได้แต่นั่งยิ้ม เพราะสมัยนั้นเงินหมื่นก็หายากแล้ว คำทำนายจึงเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อ

บุญพริ้งเป็นคนรักการเรียนรู้ ตอนกลางคืนเมื่อมีเวลาว่างก็จะจุดตะเกียงอ่านหนังสือ นอกจากหนังสือเรียนแล้วยังอ่านวรรณคดี เช่น ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ พระอภัยมณี อิเหนา ที่บิดาซื้อมาจากกรุงเทพฯ เธอมีความฝันอยากจะร่ำเรียนสูงๆ แต่ตอนอายุ 14 ปี เตี่ยขอให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยงาน เธอก็ไม่กล้าขัด เส้นทางการเรียนในห้องเรียนจึงยุติลงเพียงแค่นั้น  

อย่างไรก็ตาม เธอพยายามเรียนรู้เองอยู่ตลอดจากงานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งการรับ-จ่ายเงิน ดูแลสินค้าที่ส่งมาขายกรุงเทพฯ ให้กู้ยืมเงินและเช่าที่นา รวมทั้งเริ่มค้าขายเองโดยนำทองที่เตี่ยให้มาขายเป็นทุนทำกิจการค้าข้าวเปลือก

เมื่อได้มาทำกิจการขายหนังสือแบบเรียน จึงนำความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจตรงนั้นมาใช้ บุญพริ้งและสามี พยายามหาข้อมูลว่าในอำเภอต่างๆ มีบริษัทหรือลูกค้ารายใดที่ขายหนังสืออยู่บ้าง จากนั้นเธอจะเขียนจดหมายไปแนะนำตัว พร้อมกับบอกว่าร้านไทยวัฒนาพานิช ขายแบบเรียนของทุกโรงพิมพ์ ทั้งโรงพิมพ์ของกระทรวงศึกษาธิการ โรงพิมพ์เลปาจารย์ โรงพิมพ์สีหงส์ โรงพิมพ์อักษรนิจ 

โรงพิมพ์เหล่านี้จะลดให้ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ แต่มีเงื่อนไขเช่น ต้องไปรับหนังสือและหีบห่อเอง หรือจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งบุญพริ้งก็จะนำมาขายลูกค้าโดยกินกำไรส่วนต่าง 1.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยความที่ไทยวัฒนาพานิช เน้นจุดขายที่การส่งถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว และสั่งทีเดียวได้จากทุกโรงพิมพ์ กิจการจึงก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงใกล้เปิดเทอมที่โรงเรียนเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ พ่อค้าต้องการแบบเรียนไปขายให้ทันเวลา ถึงกับต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ

“วิธีสั่งสินค้าในตอนนั้นใช้วิธีฝากใบสั่งพร้อมกับเงินมากับพ่อค้าที่ขายอาหารบนรถไฟ เมื่อเราได้ใบสั่งวันรุ่งขึ้นก็ส่งหนังสือให้ลูกค้าเลย ทุกๆ เย็น ฉันจะนั่งคอยว่าคนขายอาหารบนรถไฟจะเอาใบสั่งซื้อมาให้หรือไม่ ถ้าวันไหนไม่มีฉันจะเสียใจมาก ในสมัยนั้นคนขายกับคนซื้อจะไม่รู้จักหน้ากันเลย แต่ก็ค้าขายกันอย่างซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด”

02

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หลังสงครามโลก

2-3 ปีต่อมา เมื่อเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง บุญพริ้งและสามีก็นำมาซื้อแท่นพิมพ์ขนาดเล็กในราคา 400 บาท เช่าตึกแถว 2 ชั้นละแวกสวนกวางตุ้ง ใกล้กับวงเวียน 22 กรกฎาคม และเริ่มมองหาต้นฉบับมาพิมพ์จำหน่าย ก่อนได้ฉบับหนังสือศีลธรรมของอาจารย์สนั่น ผิวนวลแต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักทั้งผู้เขียนและสำนักพิมพ์ 

บุญพริ้งไม่ยอมแพ้ พยายามติดต่อผู้เขียนที่มีชื่อเสียง ในที่สุดก็ได้ อาจารย์จำลอง สง่ามั่งคั่งมาเขียนตำราด้านภูมิศาสตร์ อาจารย์ทองใบ แตงน้อย มาเขียนหนังสือแผนที่ ขุนประสงค์จรรยามาเขียนหนังสือคณิตศาสตร์ของเด็กเล็ก ซึ่งนับว่ามีโชคไม่น้อย เพราะผู้เขียนเหล่านี้เดิมพิมพ์งานอยู่กับโรงพิมพ์เลปาจารย์ แต่ต่อมาเจ้าของเสียชีวิต จึงหันมาพิมพ์กับไทยวัฒนาพานิชแทน

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือในช่วงหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าทุกชนิดขาดแคลน รวมถึงวัสดุและอุปกรณ์การพิมพ์ด้วย รัฐบาลไม่สามารถพิมพ์แบบเรียนเองได้ จึงเรียกโรงพิมพ์เอกชนไปชี้แจงว่าหลังจากนี้จะมอบต้นฉบับให้โรงพิมพ์เอกชนนำไปพิมพ์ขายเอง ทางกระทรวงศึกษาจะจัดทำต้นฉบับและพิสูจน์อักษรให้ โดยให้โรงพิมพ์จ่าย 3 % ของราคาหน้าปก 

แม้จะเป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็ก แต่บุญพริ้งเห็นโอกาสว่าวิธีนี้ดีกว่าการหาต้นฉบับมาพิมพ์เอง เพราะต้นฉบับจากกระทรวงฯ นั้นไม่ต้องเสี่ยงว่าโรงเรียนจะไม่รับหนังสือ เธอจึงขอรับแบบเรียนเร็ว ป. 1 มาพิมพ์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าทั่วประเทศมีเด็กเล็กจำนวนมาก และในช่วงสงคราม รัฐไม่ได้พิมพ์ออกมาเลย ทำให้หนังสือหายาก ราคาแพง เมื่อตัดสินใจได้ก็รีบดำเนินการอย่างเร็วที่สุด

เล่ากันว่า ในตอนนั้น บุญพริ้งไปถึงกระทรวงแต่เช้า เพื่อยื่นขอหนังสือประทับตราเพื่อจัดพิมพ์ เจ้าหน้าที่ก็นัดหมายวันมารับหนังสือเรียบร้อย แต่พอถึงวัดนัดจริงๆ หนังสือกลับเป็นชื่อสำนักพิมพ์อื่น อาจด้วยเส้นสายหรืออะไรก็ตาม พอเธอรู้ก็ร้องห่มร้องไห้ขอพบท่านอธิบดี โชคดีที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น คือหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านมีความยุติธรรม จึงตรวจสอบเรื่องราวและอนุญาตให้ไทยวัฒนาพานิชในที่สุด

หลังจากพิมพ์แบบเรียนเร็ว ป. 1 ประสบความสำเร็จ ไทยวัฒนาพานิชก็ขอจัดพิมพ์ ป.2-ป.4 และด้วยกลยุทธ์ตั้งราคาปกหนังสือที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลายสิบสตางค์ ก็ทำให้โรงพิมพ์แห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับงานจากกระทรวงฯ อย่างต่อเนื่อง จนเติบโตแซงหน้าคู่แข่งขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของวงการ

“ผู้ใหญ่ในกระทรวงท่านคิดว่าฉันเป็นผู้หญิง อาจคิดราคาไม่ถูกต้อง จำได้ว่ารองอธิบดีเรียกไปถามว่า ราคาผิดกับคนอื่นหลายสิบสตางค์อย่างนี้ไม่ขาดทุนหรือ ฉันยังเรียนท่านว่า ยังพอมีกำไรเล่มละ 50-60 สตางค์ บางเล่มที่เนื้อหาน้อย จำนวนหน้าน้อยก็อาจได้สัก 30-40 สตางค์ ท่านยังเอ่ยปากอวยพรให้กิจการของฉันเจริญ ยิ่งๆ ขึ้นไป”

03

‘เล่าปี่’ ในตัวของคุณนาย

บุญพริ้งเป็นคนที่ชอบอ่าน “สามก๊ก” มากๆ 

อนุช อาภาภิรม นักเขียน-นักวิชาการ ศิษย์เก่าของไทยวัฒนาพานิชคนหนึ่ง เล่าว่า ‘คุณนายบุญพริ้ง’ อ่านสามก๊กสำนวนจีนหลายรอบ และนำมาปรับใช้กับชีวิต โดยวีรบุรุษของเธอคือ เล่าปี่

เล่าปี่เป็นผู้บริหารแบบ ‘พนมมือสิบทิศ’ คือตนเองไม่ได้มีความสามารถโดดเด่น จึงใช้วิธีดึงคนเก่งๆ ในแต่ละด้านมาร่วมทำงาน เช่น ขอร้องให้ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย จูล่ง มาช่วย 

เหมือนกับคุณนายบุญพริ้งที่การศึกษาไม่สูง จึงขวนขวายหาครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาร่วมงาน ทำให้ได้ใกล้ชิดกับคนเก่งและได้การศึกษาไปด้วย เช่น ในช่วงแรกได้พระยาอุปกิตศิลปสาร, ขุนประสงค์จรรยา, ดร. คลุ้ม วัชโรบล, หลวงดรุณกิจวิฑูร ผู้เขียนแบบเรียน กข ซึ่งพิมพ์ขายเป็นล้านๆ เล่ม มาช่วย เป็นต้น ต่อมาได้รู้จักกับ ฟ. ฮีแลร์ และรับหนังสือของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เช่น ดรุณศึกษาและแบบเรียนภาษาอังกฤษมาพิมพ์ ซึ่งโรงเรียนในเครือจะใช้เหมือนกันหมด ทำให้กิจการก้าวหน้าขึ้นไปอีก 

สิ่งสำคัญที่คุณนายตอบแทนให้กับนักเขียนเหล่านี้ คือการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม และซื่อสัตย์ ทำให้ผูกใจกันไว้ได้อย่างยาวนาน 

“ฉันจ่ายลิขสิทธิ์จากรายได้ที่ขายได้ให้ทุก ๆ ปี นักเขียนบางท่านติดต่อกันจนท่านเสียชีวิตและทายาทได้มารับช่วงต่อ บางครั้งนักเขียนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ฉันก็อนุโลมจ่ายให้ล่วงหน้า ฉันไม่คิดว่าเป็นการได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เพียงแต่ช่วยเหลือกันเมื่อทำได้ การที่ฉันต้องรับภาระดอกเบี้ยธนาคารเพิ่มขึ้นก็ไม่เคยอยู่ในสมองเลย เตี่ยเคยสอนไว้ว่าการเสียสละดีกว่าการได้มา เพราะจะทำให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นๆ

“นักเขียนทุกคนจะมารับค่าลิขสิทธิ์ที่บริษัท ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ไม่เคยมีท่านใดอยากให้พิมพ์หนังสือของตัวเองมากๆ เพราะเห็นแก่ได้ ท่านให้ความไว้วางใจทำให้ฉันทำงานได้อย่างราบรื่น เมื่อหนังสือขายดี ท่านก็ได้รับค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม เราต่างทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้หนังสือกระจายสู่เด็กๆ ให้มากที่สุด ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับนั้น สำคัญกว่าประโยชน์ของเราทั้งสองฝ่ายมากนัก” 

บางคืนบุญพริ้งฝันว่าได้กลับไปเรียนหนังสือ การที่รู้สึกว่าตนเองการศึกษาน้อย เหมือนเป็นปมในใจ ทำให้คุณนายหมั่นแสวงหาความรู้อยู่ตลอด เมื่อว่างเว้นจากงานบริหาร พนักงานก็มักจะเห็นคุณนายนำหนังสือที่เพิ่งพิมพ์เสร็จออกมาอ่านอย่างเพลิดเพลิน พร้อมกันนั้นยังช่วยตรวจตำราทุกเล่มอย่างละเอียด เมื่อพบข้อผิดพลาดหรือบกพร่อง จะไม่ให้ผ่านสายตาไปได้เลย

หรือเวลาทำหนังสือสำหรับเด็ก บุญพริ้งจะคอยดูแลไม่ให้ทำตัวหนังสือเล็กเกินไป เพื่อที่เด็กจะได้อ่านได้ง่าย บางครั้งก็ลงมือเขียนเองให้เป็นภาษาที่เหมาะกับเด็กๆ อ่าน

ความถูกต้องและทันสมัย ก็เป็นเรื่องที่คุณนายให้ความสำคัญ ทวพ. จึงเป็นสำนักพิมพ์แรกๆ ที่มีฝ่ายวิชาการ นำโดยอาจารย์เปลื้อง ณ นครและอาจารย์กัมพุชนาฏ เปรมกมล มีหน้าที่เป็นบรรณาธิการ-นักเขียน คือ แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือเรียนเมื่อมีการพิมพ์ซ้ำใหม่เพื่อทำให้ข้อมูลทันสมัย และปรับเกลาให้กลมกลืนกับเนื้อหาที่เปลี่ยนไป นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าไม่น้อยในยุคนั้น

นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันผลงานที่มีคุณภาพ ตั้งแต่หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือภาษาต่างประเทศชุด Class Work สารานุกรมชุด ‘โลกของเรา’ หนังสือด็อกเตอร์ดูลิตเติ้ล เรื่อยไปจนถึงอุดมศึกษา ทั้งหนังสือแพทย์ เช่น การดูฟิลม์เอ็กซเรย์ กับสาขาการเกษตร เช่น การเลี้ยงโคเนื้อ โคนม ซึ่งเป็นแขนงวิชาที่ใหม่มากในสมัยนั้น ไม่จำกัดว่าต้องทำกำไร เพียงให้เกิดความหลากหลายและเป็นคลังความรู้อันมีค่าสำหรับคนไทย 

ในส่วนงานวารสาร มีชัยพฤกษ์ นิตยสารรายปักษ์ภาษาไทย เป็นหัวหอก เน้นเนื้อหาสาระสำหรับเยาวชน ดูแลโดยอาจารย์เปลื้อง ก่อนจะแตกแขนงเป็นชัยพฤกษ์การ์ตูน ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ที่พาจินตนาการของเด็กไทยให้กว้างไกล รวมถึงวิทยาสาร นิตยสารให้ความรู้สำหรับครู 

“ธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่มีกำไรมากมาย ฉันว่ามันเหมือนน้ำซึมบ่อทราย เราอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ไม่อดอยาก แต่ไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจอื่น หนังสือบางเล่มขายดีก็โชคดี แต่บางเล่มพิมพ์มาแล้วขายไม่ดีก็ต้องเก็บต่อไป ต้นทุนมีแต่ก็ขึ้น ทุกวันๆ แต่เราไม่สามารถขายในราคาที่เราต้องการได้เสมอไป โดยเฉพาะแบบเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป เพื่อเด็กๆ จะได้ซื้อได้ 

“ฉันเข้าใจในจุดนี้และยังได้สอนลูกหลานที่เข้ามารับช่วงธุรกิจ ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับเด็กนักเรียน มากกว่าผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ”

04 

ช่วงสุดท้ายของชีวิต

ในวัย 80 ปี คุณนายบุญพริ้งยังมาทำงานที่ไทยวัฒนาพานิชทุกวัน ก่อนจะตัดสินใจวางมือให้กับทายาทมาสืบทอดต่อ ส่วนตัวเองหันมาเน้นการทำบุญ สร้างโรงเรียนชื่อ ‘บุญวัฒนา’ ที่บ้านเกิด มอบทุนการศึกษา รวมทั้งทำโครงการประกวดผลงานเขียนประเภทสารคดี วรรณกรรมเยาวชน และนิทานภาพสำหรับเด็ก รางวัลบุญพริ้ง-บุญธรรม ต.สุวรรณ 

ช่วงบั้นปลายของชีวิต โรคหัวใจทำให้คุณนายต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง ก่อนจากไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 ในวัยกว่า 90 ปี

แม้ถึงวันนี้ ชื่อของบุญพริ้ง ต. สุวรรณ จะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนส่วนใหญ่ แต่เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงนักธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ผู้หญิงแกร่งแห่งอาณาจักรไทยวัฒนาพานิชคนนี้ จะต้องเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบจาก

  • หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ นางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 5 ฉบับที่ 60 เดือนกรกฎาคม 2531
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 13 ฉบับที่ 144 เดือนกันยายน 2538
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0