ปีใหม่นี้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไทยยกเลิกถุงพลาสติก เป็นจุดเริ่มต้นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชน ทว่านี่มิใช่หมายความว่าถุงพลาสติกจะหายไป แค่ลดปริมาณลง
แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เราต้องระวังไม่ชี้นิ้วไปที่จุดจุดเดียวคือถุงพลาสติกตามห้าง ว่ามันเป็นตัวการเดียวของขยะพลาสติก เพราะอาจทำให้ลืมมองภาพรวมของปัญหา ยังมีพลาสติกอื่น ๆ ที่ก่อปัญหา อาจมากกว่าถุงของซูเปอร์มาร์เก็ต
อาจจะชัดเจนกว่าถ้าขยายเป้าให้ใหญ่ขึ้น นั่นคือ พลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกกว้างขวางขึ้น และได้ผลขึ้น
จะว่าไปแล้ว คนจำนวนไม่น้อยใช้ถุงของซูเปอร์มาร์เก็ตหลายครั้งกว่าจะทิ้ง ถุงของซูเปอร์มาร์เก็ตอาจไม่ใช่ Single-use plastic เมื่อเทียบกับขวดน้ำพลาสติกและอื่น ๆ
Single-use plastic ที่สังคม (ยัง) ไม่ได้กดดันให้เลิกใช้ เป็นพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เราใช้อยู่ทุกวัน เช่น ถุงที่ใส่ลูกชิ้นปิ้ง ถุงใส่น้ำปลา พริก หลอดดูดกาแฟ ถ้วยกาแฟ ขวดน้ำอัดลม ขวดชาเขียว กล่องโฟมใส่อาหาร ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็น Single-use plastic ที่มีอายุสั้นมาก ใช้ครั้งเดียวไม่กี่นาที ก็กลายเป็นขยะทันที ใช้ไม่คุ้มอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับอายุขัยหลายร้อยปีของมัน
สั่งก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหนึ่งห่อ จะได้ถุงพลาสติกมาหกถุง หนึ่งถุงบรรจุก๋วยเตี๋ยว หนึ่งถุงบรรจุน้ำราดหน้า หนึ่งถุงบรรจุพริกป่น หนึ่งถุงบรรจุพริกน้ำส้ม หนึ่งถุงบรรจุน้ำปลา และถุงพลาสติกใหญ่ใส่ทุกถุงเข้าด้วยกัน
เดี๋ยวนี้ร้านกาแฟจำนวนมากไม่เสิร์ฟด้วยถ้วยเซรามิกแล้ว ดื่มในร้านก็ยังเสิร์ฟด้วยถ้วยพลาสติก ใช้ครั้งเดียวก็กลายเป็นขยะในมหาสมุทร
จะลดขยะพลาสติกสำเร็จหรือไม่จึงอาจไม่ใช่การแบนพลาสติก แต่คือการรู้จักใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น และใช้ให้คุ้มที่สุดในอายุขัยของมัน
……………
สมัยผมเป็นเด็ก พลาสติกมีคุณภาพต่ำมาก เสื้อกันฝนพลาสติกนั้นหนาเตอะ หนักจนไม่มีใครอยากใช้
กาแฟกลับบ้านในสมัยนั้นใส่กระป๋องนม มีเชือกหิ้ว ซื้ออาหารสดในตลาดใช้ใบตองเป็นหลัก
แต่ในที่สุดใบตองก็ถูก ‘ดิสรัพท์’ ด้วยเทคโนโลยีพลาสติก PET ที่ทำให้การผลิตบรรจุภัณฑ์ง่าย สะดวก ราคาถูก มันเปลี่ยนวิถีชีวิตเราโดยสิ้นเชิง
ทุกอย่างมุ่งตรงไปที่พลาสติก อะไร ๆ ก็ต้องพลาสติก จนในที่สุดเราก็กลายเป็นสังคมที่พึ่งพลาสติก
เวลานี้น้ำเปล่าใส่ขวดเป็นตัวการสำคัญหนึ่งของขยะล้นโลก ขวดพลาสติกบรรจุน้ำเปล่าใช้เวลา 450 ปีในการย่อยสลายตามธรรมชาติ
ณ วันนี้โลกใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำหนึ่งล้านขวดต่อนาที ถ้านำขวดทั้งหมดในโลกต่อวันมากอง คงสูงเป็นภูเขา วันละภูเขา
ยอดจำหน่ายน้ำขวดพลาสติกในสหรัฐฯสูงกว่าน้ำอัดลม มาตั้งแต่ปี 2016
ขวดพลาสติกและฝาจุกจัดเป็นอันดับสามของขยะในมหาสมุทร มันกลายเป็นอาวุธฆ่าสัตว์น้ำจำนวนไม่น้อย
งานวิจัยบอกว่า พลาสติกที่เราใช้ ๆ กันในโลก รีไซเคิลไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ลงเอยที่การถมที่และทิ้งลงมหาสมุทร ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีรีไซเคิลในโลกยังมีข้อจำกัด
โลกเรามีพื้นที่กว้างขวางก็จริง แต่ถ้าใช้ทิ้งใช้ขว้างแบบนี้ ไม่นานก็ไม่เหลือที่กลบฝังขยะพลาสติก เมื่อพื้นที่กลบฝังลดลง ก็ทิ้งลงห้วงสมุทร
……………
อะไรคือต้นเหตุของปัญหา ?
ผู้ผลิตถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติก ? อาจจะใช่ แต่ไม่ใช่ตัวการหลัก
พ่อค้าแม่ค้าที่ใช้ถุงพลาสติก ? อาจจะใช่ แต่พ่อค้าแม่ค้าก็อาจไม่ใช่ตัวการหลัก
ตัวการหลักก็คือเรา !
บางทีกระบวนการรีไซเคิลควรเกิดที่เราก่อน
คนที่จะรีไซเคิลได้ดีที่สุดก็คือเราทุกคน
ขั้นแรกที่เราช่วยได้ก็คือลดการใช้ Single-use plastic ลง
ถามตัวเองว่า เวลาดื่มน้ำ ดื่มกาแฟเย็น พอจะดื่มโดยไม่ใช้หลอดได้ไหม ? ดื่มจากถ้วยจากแก้วได้ไหม ? ดื่มกาแฟที่ร้านดีกว่าไหม ?
พอจะกรอกน้ำใส่กระติกมาจากบ้าน พกติดตัวไปทุกที่ได้ไหม? เวลาไปร้านอาหาร ก็จะได้ไม่ต้องสั่งน้ำขวด
เวลาสั่งอาหารกลับบ้าน ไม่เอาถุงพริกถุงน้ำปลาได้ไหม ? ไปใช้น้ำปลาในขวดใหญ่ที่บ้านได้ไหม ?
น้ำอัดลมที่บรรจุในขวดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดเลิกไปเลยดีไหม? มิใช่เพื่อโลก แต่เพื่อสุขภาพตัวเอง
คิดเสียว่าเป็นโอกาสในวิกฤติก็แล้วกัน รักษาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ทุกอย่างในโลกทำงานด้วยระบบ Demand-supply เมื่อเราใช้น้อยลง พลาสติกจากผู้ผลิตก็น้อยลง
น่ายินดีที่หลายร้านเริ่มเปลี่ยนจากพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ หลายร้านยกเลิกหลอดพลาสติกไปแล้ว
แต่ท้ายที่สุดก็เป็นผู้บริโภคนี่เองที่กำหนดชะตาของสังคมและอนาคตของลูกหลานของเรา
เราช่วยได้ คนละไม้คนละมือ
เราเลิกไม่ใช่เพราะกฎหมายบังคับ เราลดมิใช่เพราะสังคมกดดัน หรือเป็นแฟชั่นลดโลกร้อน แต่เพราะความเข้าใจและความเมตตา มองไกล ๆ ไปถึงโลกในอนาคตที่ลูกหลานเราอยู่
……………
เอาละ สมมุติว่าเราไม่แยแสโลก ไม่ไยดีสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจว่าพลาสติกจะติดคอปลาหรือเต่า อย่างน้อยเราก็ควรแคร์สุขภาพตัวเอง
สรรพสิ่งดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตา เหตุทำให้เกิดผล ผลทำให้เกิดเหตุ ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อใช้พลาสติกมากเกินไป ลูกศรของอิทัปปัจจยตาจะย้อนกลับมาหาเรา ไม่ตรงก็อ้อม ไม่เร็วก็ช้า สิ่งที่เรียกว่าไมโครพลาสติกก็ปรากฏบนจานอาหารและน้ำดื่มของเรา
อะไรคือไมโครพลาสติก ?
ไมโครพลาสติกคืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดต่ำกว่า 5 มม. อาจเป็นอนุภาคใยไฟเบอร์จากเสื้อผ้า หรือละอองอนุภาคจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก อาจเกิดจากขั้นตอนการผลิตหรือขั้นตอนการเสื่อมสลายของพลาสติก
เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ไมโครพลาสติกสามารถเข้าไปในอาหาร เครื่องดื่ม แล้วลงเอยไปฝังตัวในเนื้อเยื่อภายในร่างกายเรา
องค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายแห่งตรวจตัวอย่างขวดน้ำพลาสติกที่จำหน่ายในหลายประเทศ พบว่า 93 เปอร์เซ็นต์ปนเปื้อนอนุภาคไมโครพลาสติก นี่รวมน้ำยี่ห้อดัง ๆ ด้วยถึง 11 ยี่ห้อที่จำหน่ายในสหรัฐฯและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
อัตราส่วนเฉลี่ยไมโครพลาสติกคือ 325 อนุภาคต่อลิตร บางยี่ห้อสูงถึง 10,000 อนุภาคต่อลิตร
นักวิทยาศาสตร์พบว่าไมโครพลาสติกไม่ได้อยู่แค่ในขวดน้ำ มันยังกระจายในอากาศ ในดิน ในน้ำใต้ดิน
นี่ทำให้อาหารที่เรากินมีโอกาสสูงที่มีไมโครพลาสติกเป็นผงชูรสพิเศษ
ในปี 2018 ผลตรวจอุจจาระของประชากรจากฟินแลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี รัสเซีย และที่อื่น ๆ พบว่าปนเปื้อนไมโครพลาสติก
ผู้ผลิตน้ำดื่มแบบขวดมักโฆษณาว่า น้ำดื่มขวดพลาสติกสะอาดกว่าน้ำประปา แต่ในงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าตรงกันข้าม มันอาจจะมีอันตรายกว่า เนื่องจากมีไมโครพลาสติกแถมมาด้วย
เวลาดื่มน้ำใสแจ๋วจากขวดพลาสติก ก็พึงรู้ว่าอาจได้รับอนุภาคพิเศษเป็นของแถม
งานวิจัยหลายที่พบไมโครพลาสติกในขวดน้ำดื่มพลาสติกมากกว่าในน้ำประปาถึงสองเท่า
พูดง่ายๆ คือดื่มน้ำก๊อกน่าจะเจอไมโครพลาสติกน้อยกว่าดื่มจากขวดพลาสติก
นักวิทยาศาสตร์พบว่าไมโครพลาสติกที่พบในขวดน้ำดื่มส่วนใหญ่เป็นส่วนประกอบของ Polypropylene ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำฝาขวด
แม้ว่าวันนี้เรายังไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับผลร้ายของไมโครพลาสติกต่อร่างกาย แต่การที่ร่างกายสะสมสิ่งแปลกปลอมย่อมไม่น่าจะเป็นเรื่องดี
กันไว้ดีกว่าแก้ ไม่ดีหรือ ?
ในประเทศด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนหรือเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด น้ำขวดพลาสติกเป็นสิ่งจำเป็น เพราะปลอดภัยกว่า แต่ที่น่าขันขื่นคือ เป็นโลก ‘ด้อยพัฒนา’ นี่เองที่กลับแบนหรือลดการใช้ขวดพลาสติก ประเทศเคนยากำลังเริ่มแบนขวดพลาสติกตามชายหาดและป่าสงวน เริ่มปีนี้
////////////////////////////////////////////////////////
วินทร์ เลียววาริณ
ความเห็น 20
Patcharawalai
ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเรา ไม่ใช่พุ่งเป้าไปที่คนอื่น
15 ม.ค. 2563 เวลา 04.16 น.
ฉลาดเลือก ฉลาดใช้
ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค
คิดก่อนผลิต คิดก่อนซื้อ
คิดก่อนใช้ คิดก่อนทิ้ง
สิ่งดีๆเริ่มต้นที่เรา
เพื่อชีวิตดีๆของเราและโลกของเรา
❤อย่าเห็นแก่ตัว❤
14 ม.ค. 2563 เวลา 13.29 น.
เห็นด้วยค่ะ เห็นภาพและถูกใจมาก
14 ม.ค. 2563 เวลา 06.46 น.
หมวย
👍👍
14 ม.ค. 2563 เวลา 06.44 น.
မာံ လဝီ
5
14 ม.ค. 2563 เวลา 05.35 น.
ดูทั้งหมด