โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อย่าเข้าใจผิด! 'Anti-Vaxxer' ไม่ใช่คน 'เลือก' แต่คือคน 'ไม่เอา' วัคซีน

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2564 เวลา 18.00 น. • AJ.

ฉีดวัคซีนยัง?

กลายเป็นคำถามฮิตที่คนไทยนำมาทักทายถามไถ่ เมื่อรัฐบาลมีมาตรการเปิดจองฉีดวัคซีน หลายคนคงเริ่มลงทะเบียนผ่าน 'หมอพร้อม' กันแล้ว ขณะเดียวก็เริ่มเห็นคนมีชื่อเสียงทยอยกันไปรับวัคซีนเป็นระยะ

หนึ่งในกระแสที่กำลังร้อนแรงคือ 'ทางเลือก' ในการฉีดวัคซีน ที่หลายคนกำลังนำมาถกเถียง เพราะเมื่อดูสถานการณ์วัคซีนไทยในขณะนี้ มีเพียง วัคซีน'ซิโนแวค' สำหรับบุคคลธรรมดา และ 'แอสตร้าเซเนก้า' สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในขณะที่บางข้อมูลบอกว่าประเทศอื่นมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อกว่า

ท่ามกลางการถกเถียงถึงทางเลือกนี้เอง ที่ทำให้หลายคนมองว่าคนกลุ่มนี้ 'ช่างเลือก' บางคนกล่าวหาว่าคนเหล่านี้เป็น 'Anti-Vaxxer' หรือพวกกลุ่มคน 'ไม่เอาวัคซีน'

ว่าแต่กลุ่ม Anti-Vaxxer คือใคร? เราเข้าข่าย 'คนไม่เอาวัคซีน' ไหม? ลองอ่านกันเลย!

'Anti-Vaxxer' ไม่ฉีด ยังไงก็ไม่ฉีด!

กลุ่มคนปฏิเสธวัคซีน หรือ 'Anti-Vaccination' เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวัคซีนเข็มแรกเลยก็ว่าได้ ซึ่งวัคซีนชนิดแรกสุดที่มนุษย์คิดค้นคือวัคซีนป้องกัน 'โรคฝีดาษ' ประมาณปี 1800 พัฒนาโดยเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษ ที่ใช้ไวรัสฝีดาษในวัว มาทำให้อ่อนแรง และนำไปฉีดให้มนุษย์ เรียกอีกอย่างว่าการ 'ปลูกฝี' เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอาการข้างเคียงคืออาจทำให้ผู้ถูกปลูกฝีรู้สึกป่วยเล็กน้อย

แต่ด้วยวิธีการที่ฟังดูค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและ 'นอกรีต' สำหรับคนในยุคนั้น ทุกคนไม่มั่นใจในการนำ 'ไวรัส' หรือ 'เชื้อโรค' จากสัตว์ มาฉีดใส่คน หรือเด็กเพื่อรักษาโรคเลย แนวคิดดังกล่าวได้รับการวิจารณ์อย่างรุนแรงมากขึ้นไปอีก เมื่อประเทศอังกฤษออกกฎให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอย่างจริงจัง

กลุ่มต่อต้านวัคซีนเริ่มก่อตัวขึ้นมาในช่วงเวลานี้ ราวปี 1879 สมาชิกกลุ่มต่อต้านวัคซีนได้นำแนวคิดนี้ไปเผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกาด้วย กลายเป็นสมาคม Anti Vaccination Society of America คอยป่าวประกาศว่าวัคซีนนั้นเป็นเจ้าตัวร้าย และเป็นเครื่องมือของรัฐและหมอที่ใช้ในการทำร้ายประชาชนเท่านั้น

ที่เป็นประเด็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือในปี 1998 แพทย์แอนดรูว์ เวคฟีลด์ (Andrew Wakefield) เขียนบทความลงในนิตยสาร The Lancet หนังสือพิมพ์ทางการแพทย์ ว่าวัคซีนโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (วัคซีน MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ฉีดให้เด็กอ่อนเป็นเข็มแรก เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะออทิสซึมในเด็ก อย่างไรก็ตาม The Lancet ประกาศถอดบทความนี้ในปี 2004 เพราะหมอเวคฟีลด์ไม่สามารถชี้แจงหลายจุดบอดในบทความได้

ต่อมาผลวิจัยในปี 2020 รวบรวมสถิติจากเปเปอร์จำนวน 138 ชิ้น เผยว่าเด็ก 23 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน MMR มีภูมิคุ้มกันจากโรคดังกล่าวจริง และไม่มีผลกระทบต่อภาวะออทิสซึมแต่อย่างใด

แม้ข้อพิสูจน์เรื่องวัคซีนก่อให้เกิดภาวะออทิสซึมจะถูกตัดตกไปแล้ว แต่แนวคิดนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ 'ขบวนการต่อต้านวัคซีน' ยุคใหม่ สังเกตได้จากจำนวนสมาชิกกลุ่มต่อต้านวัคซีนใน Facebook ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 31 ล้านคน

กลุ่มคนต่อต้านวัคซีนเหล่านี้ ให้เหตุผลว่าการเลี้ยงลูกโดยธรรมชาตินั้นดีที่สุด พวกเขาเชื่อว่าการฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนการนำลูกหลานไปเป็นหนูทดลองให้รัฐบาลและบริษัทยา ทั้งยังยืนกรานว่าวัคซีนไม่เคยได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งการปฏิเสธวัคซีนของคนบางกลุ่ม ทำให้โรคบางโรคกลับมาระบาดอีกครั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยออกมาประกาศว่าการต่อต้านวัคซีนเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดของโลกในปี 2019 เลยทีเดียว

ตัวอย่างเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่เกิดจากกลุ่ม Anti-Vaxxer คือเมื่อมีครอบครัวต่อต้านวัคซีนครอบครัวหนึ่งเดินทางไปประเทศคอสตาริกา ในระหว่างที่เที่ยว ลูกชายของครอบครัวเกิดป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโรคหัด ซึ่งโรคนี้ไม่พบการระบาดในประเทศคอสตาริกามานาน ทำให้เกิดมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดทันที มีการตามตัวผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกับครอบครัวนี้มาสอบโรค ครอบคลุมไปถึงพนักงานโรงแรมที่ครอบครัวนี้เข้าพัก สถานที่ท่องเที่ยว ก่อให้เกิดความวุ่นวายไปทั่ว

ขบวนการต่อต้านวัคซีน ในยุคโควิด-19

แนวคิดวัคซีนทำให้เกิดภาวะออทิซึม ยังส่งผลกระทบต่อการรับวัคซีนในยุค 'โควิด-19' หนึ่งในกลยุทธ์การตั้งมั่นในจุดยืน 'ไม่ฉีดวัคซีน' ของคนกลุ่มนี้คือการยืนกรานว่าจะไม่รับวัคซีนโควิด-19 เด็ดขาด แต่จะใช้วิธีธรรมชาติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแทน มีการอ้างว่าให้บริโภควิตามินซี น้ำมันงา กระเทียม และที่หนักข้อที่สุดคือการใช้สารฟอกขาวรักษาโควิด!

เลือกวัคซีน ไม่เท่ากับ ต่อต้านวัคซีน

กรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย อาจมองว่าเป็นการถกเถียงเพื่อแก้ปัญหาการขาดทางเลือกวัคซีนที่จัดหาโดยรัฐ ในขณะที่กลุ่มคนต่อต้านวัคซีนเชื่อว่า วัคซีนไม่ปลอดภัย ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งความคิดเหล่านี้มักเกิดจากทฤษฎีสมคบคิดที่แชร์กันในโลกโซเชียลเป็นส่วนใหญ่

'วัคซีน' เป็นวิธีการรักษาโรคที่ปลอดภัยที่สุดวิธีหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นได้ กลับกันการปฏิเสธไม่รับวัคซีนแบบชาว Anti-Vaxxer ก็อาจมีผลกระทบต่อส่วนรวม เป็นการทำลายขั้นตอนการเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม (Herd Immunity) และก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้จริงๆ เพราะเหตุผลด้านสุขภาพ ภูมิแพ้ หรืออายุ

อ้างอิง :

historyofvaccines.org

hfocus.org

medicalnewstoday.com

motherhood.co.th

wpr.org

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 88

  • Thitipong
    ประเทศไหนกันครับที่ว่ามีวัคซีนให้เลือกฉีด เอาสภาพเศรษฐกิจอย่างประเทศไทยเรานะครับ แล้วที่ว่าคนไม่อยากฉีดน่ะ ไม่ใช่เพราะความรุ้เรื่องวัคซีนหรอก แต่เป็นเพราะบางคนไม่ยอมแยกระหว่างคำว่าการเมืองกับสุขภาพ พยายามเอามาปนกันแล้วสร้างความรุ่ค่านิยมผิดๆฝห้กับคนที่ไม่รุ้เรื่องเอาไปลือกันจน ประเทศจะเข้าขั้นวิกฤต แล้ว
    19 พ.ค. 2564 เวลา 22.47 น.
  • !ก๋ 🌱
    ที่เห็นๆในไทยไม่ใช่พวกไม่เอาวัคซีนหรอก แต่เป็นพวกการเมืองไม่เอารัฐบาลมากกว่า เอาปัญหาสุขภาพไปโยงกับการเมือง มาปั่นหัวชาวบ้านให้กลัววัคซีนตัวนั้นตัวนี้ และจะเอาตัวนั้นตัวนี้ แบบป่วนไปเรื่อย ตัวเองไม่ฉีดแต่ไปไซโคคนอื่นด้วย นี่แหล่ะมีเยอะในไทย
    19 พ.ค. 2564 เวลา 23.48 น.
  • Pan20
    จริงๆถ้าเลือกที่จะไม่ฉีดเอง ก็น่าจะรับความเสี่ยงโดย ถ้าหากว่าเป็นโรคแล้วจะต้องจ่ายค่ารักษาเอง เพราะทำให้ระบบสาธาฯต้องรับภาระหนักขึ้น เพราะหมอ พยาบาล ต้องมาเสี่ยง คนในสังคม ต้องมาเสี่ยงกะคุณ
    19 พ.ค. 2564 เวลา 23.35 น.
  • ลัดดา
    พวกต่อต้าน ถ้ามันเป็นโควิด ก็ปล่อยให้มันตายไปก็จบนะ น่าเบื่อ
    19 พ.ค. 2564 เวลา 23.59 น.
  • Som-O
    ตอนเรียนได้เรียนเรื่องหมอ Wakefield ที่โยงวัคซีนกับการเป็น Autism และมีดาราฮอลลีวูดเป็นตัวตั้งตัวตี เรื่องต่อต้านวัคซีนด้วย โลกเรามีคนหลายแบบจริง ๆ ค่ะ ถ้าดูจากข้อมูลวัคซีนช่วยทำให้โรคร้ายหมดไปก็เยอะค่ะ (อันนี้พูดโดยรวม ไม่ได้จำเพาะกับโควิด)
    19 พ.ค. 2564 เวลา 23.39 น.
ดูทั้งหมด