โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เสพติดความเศร้า - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 11 ก.พ. 2562 เวลา 04.20 น. • วินทร์ เลียววาริณ

สมัยผมเป็นวัยรุ่น โรงหนังบางโรงในกรุงเทพฯ มีโปรโมชั่น ซื้อตั๋วหนังหนึ่งใบได้รับกระดาษทิชชูหนึ่งห่อ เอาไว้ซับน้ำตา เพราะหนังเศร้าสลดทุกข์ระทมขมขื่นสุดประมาณ

เวลานั้นหนังเศร้าตั้งชื่อแนวอีโมชั่นเต็มๆ เช่น ธรณีกรรแสง น้ำตานางทาส น้ำตาสาวใช้ น้ำตาแม่ค้า ฯลฯ แค่ชื่อเรื่องก็เตรียมเศร้าแล้ว ดูๆ ไปน้ำตาก็ไหล เห็นคนอื่นร้องไห้ พลอยทำให้ร้องตาม ไม่นานทั้งโรงก็มีแต่คนร้องไห้ ราวกับไปร่วมงานศพ จะออกจากโรงหนังต้องลุยน้ำตาที่ท่วมโรงออกมา

หนังจีนก็ไม่น้อยหน้า คัดสรรมาแต่หนังเศร้าสะเทือนอารมณ์ขมขื่นฤทัย

หนังตระกูลนี้เรียกว่า tearjerker มีสูตรสำเร็จ เขียนไม่ยาก ไม่ต้องเน้นความสมจริง แค่เน้นอารมณ์ก็ใช้ได้แล้ว เคล็ดลับคือทำให้ตัวละครเอกถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สุขภาพเสื่อม สังคมรังเกียจทั้งที่เป็นคนดีเหลือประมาณ เท่านี้ก็จับใจคนดูได้แล้ว

หนังไทย tearjerker เรื่องหนึ่งนานมาแล้วเศร้าเหลือประมาณ นางเอกผจญชะตากรรมโหดร้ายรันทดบัดซบสิ้นดี ลูกตาย พ่อตาย แม่ป่วยเป็นอัมพาต บ้านถูกไฟไหม้ คนทำหนังต้องการยัดความเศร้าแบบ ‘จัดเต็ม’ ตัวละครจึงต้องทุกข์ทรมานปานนั้น

ที่แปลกก็คือคนดูจ่ายเงินไปร้องไห้อย่างมีความสุข

กลายเป็นว่าดูหนังเศร้าแล้วผ่อนคลาย!

ออกจากโรงแล้วตาแดงๆ น้ำตายังไม่แห้งดี

พอตาหายแดง ก็ไปดูอีกรอบ!

เกิดอะไรขึ้น?

…………..

ผมรู้จักคนไม่น้อยที่ชอบดูหนังเศร้า ดูแล้วร้องไห้ แล้วไปดูซ้ำอีก

เพื่อนผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า “ร้องไห้แล้วมีความสุข”

ทีแรกฟังดูเป็นตรรกะที่ย้อนแย้งแปลกๆ แต่เมื่อเข้าใจกลไกเคมีสมองดีขึ้น ก็พบว่าธรรมชาติไม่สร้างการร้องไห้มาโดยไร้เหตุผลหรือไม่มีประโยชน์ การร้องไห้เป็นการลดความกดดันอย่างหนึ่งของสมอง

ในหนังเรื่อง Fight Club ตัวละครเอกเป็นโรคนอนไม่หลับอย่างแรง เมื่อการรักษาจากแพทย์ไม่ประสบผล หมอคนหนึ่งก็แนะนำให้ทดลองแนวทางใหม่ นั่นคือไปร่วมบำบัดจิตกับกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งอัณฑะ ในกระบวนหนึ่งของการบำบัดร่วมคือร้องไห้ในอ้อมอกของคนไข้คนอื่น ปรากฏว่าเขาค้นพบอิสรภาพ และนอนหลับได้เป็นครั้งแรก

นี่อาจเป็นหนัง แต่ก็ไม่ต่างจากความจริงเท่าไร เพราะการร้องไห้ลดความเครียดได้จริง

ฝรั่งมีคำพูดว่า Have a good cry หมายถึงการร้องไห้ที่ไม่ต้องอั้น ร้องไห้จนหมดสิ้น แล้วจะรู้สึกดีขึ้น เหมือนปลดปล่อยความทุกข์ออกไป

*ร้องไห้ช่วยลดความเครียดได้อย่างไร? *

การร้องไห้เป็นผลของการปะทุและระเบิดของอารมณ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นความเศร้า บางครั้งเป็นความดีใจ น้ำตาที่มาจากอารมณ์เริ่มที่สมอง เมื่อสมองจับสัญญาณความเครียดได้ ความแรงของอารมณ์ที่ปะทุ ทำให้ระดับฮอร์โมน adrenocorticotropic เพิ่มขึ้นมากไป ก่อให้เกิดกระบวนการร้องไห้

ระบบต่อมไร้ท่อหลัั่งฮอร์โมนไปยังพื้นที่รอบนัยน์ตา ทำให้น้ำตาเริ่มไหล แต่ไม่ไหลเปล่า มันหลั่งออกมาพร้อมสารเคมีหลายชนิดหลั่งออกมา เช่น โปรตีนที่เรียกว่าโปรแลคติน, ฮอร์โมน adrenocorticotropic, Leu-enkephalin โพทาสเซียม และแมงกานีส 

นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าสารเหล่านี้เป็นพิษที่เกิดจากความเครียด การร้องไห้ช่วยขับพิษและสารก่อความเครียดออกจากร่าง ร้องไห้แล้วดีขึ้นเพราะฮอร์โมนที่หลั่งจากความเครียดถูกกำจัดออกไปกับน้ำตา ยกตัวอย่างเช่น แมงกานิสในปริมาณพอเหมาะดีกับร่างกาย มากเกินไปก็เป็นอันตราย เมื่อน้ำตาชะล้างสารเหล่านี้ออกไป ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นทางกายภาพและจิตใจ

ขณะที่การหัวเราะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดความเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน การร้องไห้ก็ช่วยเช่นกัน

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือผู้หญิงมีโปรแลคตินมากกว่าผู้ชาย นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่า บ่อยกว่า อาจเพื่อขจัดมันออกไป

มีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าการร้องไห้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกเชื่อมต่อกับคนร้องไห้ได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการส่งสัญญาณออกไปอย่างได้ผล ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนที่เห็นอย่างแรงและได้ผล มันช่วยลดความโกรธของอีกฝ่ายลง

เคยมีประสบการณ์โกรธใครสักคนไหม? เมื่อเขาหรือเธอร้องไห้ ความโกรธของเราก็ลดลง นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีว่า การร้องไห้เป็นรูปหนึ่งของการขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพไม่น้อยเชื่อว่า เหตุที่ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายเฉลี่ย 5-7 ปี เพราะร้องไห้บ่อย ผู้หญิงปลดปล่อยอารมณ์เครียด โกรธ และอื่นๆ ด้วยการร้องไห้

ในบรรดาชนชาติต่างๆ ดูเหมือนชาวญี่ปุ่นจะเป็นพวกต่อมน้ำตาตื้น ร้องไห้ง่ายจริงๆ และก็ได้ยกการร้องไห้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือตั้งสมาคมร้องไห้ หรือคลับร้องไห้ (rui-katsu) สมาชิกสามารถร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรตามอัธยาศรัย ร้องไห้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ต้องกลับบ้าน

การกระตุ้นให้ร้องไห้ทำโดยการดูหนังเศร้า หรืออ่านหนังสือเศร้า เพราะเชื่อว่าร้องไห้แล้วดีขึ้น ถือว่าเป็นจิตบำบัดชนิดหนึ่ง

ตาบวมนิดหน่อย แต่คุ้ม

ในเมื่อเราสามารถใช้การร้องไห้เป็นการบำบัดจิตได้ ขยายวงให้กว้างขึ้นไม่ดีกว่าหรือ? ดังนั้นจึงมีบริการทำให้พนักงานองค์กรร้องไห้ ร้องไห้ทั้งออฟฟิศ

เหตุผลคือ สังคมญี่ปุ่นไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น ดังนั้นหากเราเห็นเพื่อนในออฟฟิศร้องไห้ จะเกิดการเชื่อมใจกันขึ้น ทำงานเป็นทีมดีขึ้น เพราะเพื่อนเห็นตัวตนภายในของเราว่าเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ การร้องไห้ด้วยกันจึงเป็นเรื่องดีต่อธุรกิจ

บริษัทร้องไห้จำกัดนี้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฉายหนังเศร้าให้ลูกค้าดู

หนังที่ให้ดูอาจเป็นเรื่องของชายหูหนวกกับลูกสาว ลูกสาวป่วยเป็นโรคร้ายแรง ถูกส่งไปโรงพยาบาล ผู้เป็นพ่อไม่สามารถสื่อสารกับพยาบาลได้ว่าเขาเป็นพ่อ เพราะไม่ได้ยิน พยาบาลจึงห้ามให้ไปเยี่ยมลูก พ่อร้องไห้อย่างโศกเศร้าขณะที่ลูกสาวตายอย่างโดดเดี่ยว

tearjerker ตามสูตรทุกประการ

ตลอดเวลานั้นเจ้าหน้าที่จะดูและร่วมร้องไห้ด้วย คนดูเศร้าสลดน้ำตาท่วมออฟฟิศ เจ้าหน้าที่จะให้บริการทิชชูซับน้ำตา

สมาคมเจ้าน้ำตานี้เชื่อหลักความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness GNH) ของประเทศภูฏาน เพียงแต่เปลี่ยนเป็น Gross National Tear (GNT) เชื่อว่าถ้าร้องไห้เป็น และถูกเวลา จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี

บางทีการดูหนังเศร้า ฟังเรื่องเศร้าทำให้เรารู้สึกดีเพราะทำให้เกิดการเปรียบเทียบโดยไม่ตั้งใจว่า ชีวิตเราดีกว่าชีวิตของตัวละคร

บางทีท้ายที่สุดแล้ว เราอาจไม่ได้สงสารคนอื่น เราสงสารตัวเราเอง!

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

กุมภาพันธ์ 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0