โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หมวกกันน็อคของหัวใจ - หมอเอิ้น พิยะดา

THINK TODAY

เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2561 เวลา 04.30 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

6 ปีมาแล้ว เอิ้นตัดสินใจขอกรมสุขภาพจิตกลับมาทำงานเป็นจิตแพทย์ที่จังหวัดเลย บ้านเกิดที่เอิ้นตั้งอกตั้งใจจะกลับมาทำประโยชน์ เพราะการใช้ชีวิตหลายสิบปีในเมืองหลวงเพียงลำพัง ทำให้เอิ้นได้เรียนรู้ว่าเรามีช่วงชีวิตที่มักจะไขว่คว้าหาความสำเร็จ แต่เมื่อได้มาแล้วสิ่งที่มากกว่าความสำเร็จที่ชีวิตต้องการคือความรักและความสุข แล้วความรักและความสุขใดเล่าจะเท่าบ้าน

เอิ้นยังจำวันแรกที่ขับรถไปทำงานที่โรงพยาบาลได้ดี “เมื่อไรจะถึง?” “ทำไมเส้นทางช่างลึกลับ?” 

พอถึงหน้าโรงพยาบาล “นี่ฉันเหมือนเป็นพจมานเดินทางมาถึงบ้านทรายทอง” ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลเองก็ห่างจากตัวเมืองเพียงสิบกว่ากิโล

แต่นั้นไม่เท่ากับเมื่อเข้าไปทำงานแล้วเอิ้นพบว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชที่มารับบริการมีเป็นจำนวนมากและบอกได้เลยว่าร้อยละ 90 คือคนยากจน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกอย่างในโรงพยาบาลจะดูขาดแคลน ทั้งยา อุปกรณ์การรักษา (อย่าลืมว่าผู้ป่วยจิตเวชก็เป็นมนุษย์ที่เจ็บป่วยทางกายได้) ความแออัด

สิ่งที่เอิ้นกลับมาถามตัวเองเกือบทุกวันด้วยความหดหู่ใจคือ “เราจะอยู่กับการเจอสภาพผู้ป่วยแบบนี้ไปตลอดชีวิตได้จริงหรือ?” 

คำตอบคือ “ไม่ได้” และนี่คือจุดกำเนิดที่เอิ้นได้ก่อตั้งกองทุนผู้ป่วยจิตเวชยากไร้ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการชักชวนเพื่อนและศิลปินที่คุ้นเคยมาจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชยากไร้

คำถามต่อมาที่เอิ้นมักจะได้ยินเสมอคือ “หมอจะทุ่มเทในการรักษาคนไข้กลุ่มนี้เพื่ออะไร ทั้งที่เค้าก็กลับมาหาหมอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เค้าควรรู้จักดูแลตัวเองรึป่าว?” 

จริงค่ะ หมอที่ดีที่สุดคือตัวเองเราเองและเราทุกคนควรรู้จักดูแลตัวเอง แต่มีคนไข้กลุ่มนึงที่เค้าไม่อาจเข้าใจ เพราะเค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือความเจ็บป่วย ไม่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นไม่มีจริง ไม่รู้ว่าภาพที่เห็นคือภาพหลอน ไม่รู้ว่าเรื่องที่เชื่อไม่เคยเกิดขึ้น รู้แต่เพียงว่าคนรอบข้างไม่ยอมเข้าใจ 

สุดท้ายอาจบานปลายกลายเป็นความก้าวร้าว รุนแรง โรคที่กำลังพูดถึงมีชื่อว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia)

ไม่มีใครบนโลกเกิดมาเพื่ออยากจะเป็นทุกข์ หรือเกิดมาเพื่ออยากจะเจ็บป่วย แต่บางอย่างเราก็ฝืนลิขิตไม่ได้ โรคจิตเภทก็เช่นกัน เราพบว่าโรคจิตเภทถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ถึง 6.5% ในคนที่มีญาติใกล้ชิดเป็น 13% หากพ่อหรือแม่เป็น และ 50% หากพ่อและแม่เป็น หรือบางคนมีสาเหตุมาจากการเคยใช้ยาเสพติด 

ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาตุอะไร ท้ายที่สุดแล้วมันทำให้สารเคมีในสมองของผุ้ป่วยหลั่งผิดปกติแบบถาวร ดังนั้นคนที่เป็นโรคจิตเภทมักจะต้องทานยาไปเกือบตลอดชีวิต น้อยมากๆ ที่จะหยุดยาได้

ความฝืนธรรมชาตินี้อาจทำให้สุดท้ายคนไข้เลือกที่จะแอบลดยาหรือหยุดยาเอง สุดท้ายก็จะกลับมาสู่วงจรหูแว่ว ภาพหลอน หรือหลงผิด คนเกิดเป็นปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมกับคนรอบข้าง โดยเฉพาะในครอบครัว  

นำมาสู่การเบื่อหน่ายของครอบครัว ชุมชน และสุดท้ายก็ทิ้งพวกเค้าไว้ที่โรงพยาบาล 

แต่ไม่ใช่ครอบครัวของทอง (นามสมมุติ) ทองมีพี่น้องสามคน ทองเป็นคนเล็ก ปู่ของทองป่วยเป็นโรคจิตเภท และถ่ายทอดมาถึง พี่ชายทั้งสองและทองด้วย แม่ก็ล้มป่วยจนสุดท้ายกลายเป็นคนพิการ 

พ่อจึงแบกรับภาระในการทำงาน เลี้ยงดูคนในบ้านเพียงผู้เดียว จนไม่มีเวลาสนใจอาการของลูกและด้วยความยากจน จนมากขนาดที่ว่าต้องอาศัยอยู่กันในเพิง และบ้านมีระยะทางห่างจากโรงพยาบาลถึง 200 กิโลเมตร ทำให้ไม่มีลูกคนไหนได้รับการรักษา 

ลูกทั้งสามผลัดกันประสาทหลอนอาละวาด ทุบตีพ่อแม่ และชาวบ้าน จนเป็นที่หวาดกลัวและรังเกียจของคนในชุมชน สุดท้ายพี่ชายก็ค่อยๆ ฆ่าตัวตายไปทีละคนด้วยเสียงแว่วที่สั่งให้ฆ่าตัวตาย จนเหลือทองเพียงคนเดียว

หลังจากสูญเสียลูกชายคนที่สอง พ่อของทองจึงตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาชีวิตของทองไว้ด้วยการพามารักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช 

พ่อขอยืมเงินคนแถวบ้านเพื่อขับรถมอเตอร์ไซด์เก่าๆ เอาทองผูกผ้าขาวม้าติดกับเอวแล้วค่อยๆ ขับมาที่โรงพยาบาลด้วยความทุลักทุเล เป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร 

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลทองก็ได้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ในทันทีเพราะอาการทางจิตที่มีมาก หลังจากที่พ่อส่งทองเข้าหอผู้ป่วยแล้วพ่อได้ฝากหมวกกันน็อคที่ทองใส่มาไว้กับพยาบาลประจำตึก โดยให้เหตุผลว่า “ผมขอฝากหมวกกันน็อคไว้จะได้มีกำลังใจกลับไปหาเงินมารับทองเพื่อใส่หมวกใบนี้กลับบ้านด้วยกัน” 

แล้วกำลังใจที่เกิดจากความรัก ความห่วงใยที่พ่อมีต่อทองก็เป็นจริง ทองตอบสนองต่อการรักษาทางยาได้ดี อาการทางจิตหายไป ทองกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปเพียงแต่ต้องทานยาตลอดชีวิต 

แล้วพ่อก็ได้ลูกชายที่น่ารักกลับไป สิ่งเดียวที่จะรักษาความเป็นปกติของใจให้กับทองได้นอกเหนือจากยา คือ การยอมรับ ให้อภัย ให้โอกาสและความรักจากสังคมและครอบครัว 

เอิ้นเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้หัวใจของพวกเราทุกคนก็ต้องการเช่นกัน  

หากการยอมรับ ให้อภัย ให้โอกาสและให้ความรักจากครอบครัว คือหมวกกันน็อคชั้นยอดของจิตใจ

ถ้าเราอยากได้หมวกกันน็อคทางใจเราควรเริ่มต้นจากเป็นผู้ให้เช่นกัน

**ท้ายบทความนี้ เอิ้นมีคลิปหนังสั้นเรื่องหมวกกันน็อค ที่สร้างจากชีวิตจริงของผู้ป่วยให้ทุกคนได้รับชม  หนังสั้นเรื่องนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยจิตเวช และฉายในงานคอนเสิร์ตการกุศลประจำปี Love At Loei Charity Concert 5 ที่จะจัดในวันที่ 2-3 ก.พ. 62 เพื่อมอบรายได้ทั้งหมดให้กองทุนผู้ป่วยจิตเวชยากไร้** 

หนังสั้นเรื่อง หมวกกันน็อค
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0