โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยนชะตาของเราเอง - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2561 เวลา 04.20 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เคยได้ยินคำว่า ‘chemistry ตรงกัน’ และ ‘chemistry ไม่ตรงกัน’ ไหม?

chemistry แปลว่าวิชาเคมี แต่จะแปลว่าความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างคนสองคนก็ได้

พูดง่ายๆ chemistry ก็คืออารมณ์ความรู้สึกนั่นเอง

เมื่อ ‘chemistry ตรงกัน’ เราก็อยากพบคนคนนั้นอีก รู้สึกอยากอยู่ใกล้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเพศ

เรามักใช้คำว่า chemistry แทน ‘เข้ากันได้’ บางคนใช้มันเป็นมาตรวัดว่าความสัมพันธ์หนึ่งๆ จะยั่งยืนหรือไม่

ทำไมเราใช้คำว่าเคมีมาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์?

น่าจะเพราะความรู้สึกของคนมาจากการทำงานของเคมีในสมอง มีฮอร์โมนหลายชนิดที่ปรากฏขึ้น ซึ่งคุมความรู้สึกของเรา สมมุติว่าเราพบเพศตรงข้ามคนหนึ่งที่เราชอบ ร่างกายเราอาจหลั่งสารฟีโรโมนออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสารดึงดูดกันโดยสัญชาตญาณทางเพศ

คนที่หิวมากมักจะโมโห คนกินผลไม้หวานๆ อาจมีอารมณ์ดีขึ้น เพราะผลไม้หลายชนิดมีสารเซโรโทนินที่ช่วยปรับอารมณ์

ในคนที่มีความรัก สมองจะสั่งให้หลั่งเคมีหลายชนิิดออกมา ทำให้เชื่อมใจกัน เป็นปฏิกิริยาทางเคมีของคนสองคน

เรารู้จากการทำงานของสมองและสารเคมีในสมองว่า มีปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้นเสมอ และมันคุมหรือสร้างความรู้สึกชนิดต่างๆ

นักวิทยาศาสตร์สายประสาทวิทยาและสมองจำนวนมากเชื่อว่า ตัวตนมนุษย์แต่ละคนก็คือโครงสร้างสมองของเขาบวกสิ่งแวดล้อม โครงสร้างสมองกำหนดนิสัย อารมณ์ ความเป็นนักบุญกับฆาตกรอาจถูกกำหนดมาจากโครงสร้างสมองตั้งแต่วันแรกแล้ว สิ่งแวดล้อมเพียงช่วยปรับรายละเอียดปลีกย่อย

จนมีคนสรุปว่า ตัวตนมนุษย์ก็เป็นเพียงนิวรอน + สารเคมีในสมอง

ฟังดูแห้งแล้งเอาการ! แต่มิใช่ไร้หลักฐาน

…………..

ธรรมชาติสอนเราว่า มีคำสั่งบางอย่างกำหนดชีวิตเราแต่แรกเกิด

เต่าทะเลออกจากไข่ในหลุมทราย ก็เดินลงทะเลเลย โดยไม่มีใครสอน ลูกจิงโจ้เกิดมาแล้วก็ปีนเข้าไปอยู่ใน ‘กระเป๋า’ หน้าท้องของแม่โดยไม่ต้องบอก ผึ้งบินหาอาหารโดยไม่มีใครสอน สัตว์หลายชนิดต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย ปลาเกิดมาก็ว่ายน้ำได้เอง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็เดินเองได้ ทำโดยไม่มีใครสอน

ในการสร้างรังของนก นกแต่ละชนิดสร้างรังในแบบเดียวกันหรือคล้ายกันโดยไม่ต้องเรียนมาก่อน ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า พวกมันรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำรังแบบนี้ มีคำสั่งอะไรในตัวมันที่บอกให้ทำอย่างนี้

คำตอบคือคำสั่งฝังในยีน เราเรียกมันว่าสัญชาตญาณ

โครงสร้างมนุษย์ก็ไม่ต่างจากสัตว์ ตรงที่มีสัญชาตญาณ สัญชาตญาณคือสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมความสามารถของเรา โดยที่ไม่ได้เรียนรู้มาก่อน ไม่มีประสบการณ์มาก่อน มันทำได้เอง รูปแบบพฤติกรรมนี้จะถูกกำหนดชัดเจนแน่นอน เหมือนเรื่องเพศสัมพันธ์ ไม่ต้องสอนก็รู้เอง

มีโปรแกรมฝังในตัวเสร็จ

ฝังในตัวเราตั้งแต่เกิด เป็นคำสั่งชัดเจน

แมวถูกเลี้ยงมาให้กินอาหารสำเร็จรูปโดยไม่อดอยาก แต่เมื่อเห็นหนู มันก็กระโจนเข้างาบตามสัญชาตญาณ

ถ้าเราเป็นนก เราจะคิดอย่างนก ความเคยชินอย่างนก อาจร้องยี้เวลาเห็นขนมเค้กหรือไอศกรีมของชาวมนุษย์ แต่น้ำลายสอเมื่อเห็นตัวหนอนคลานกระดิบๆ ร้องว่า “หรอยจังฮู้”

ถ้าเป็นไก่เห็นแมลงสาบก็จิกกิน ร้องว่า “แซบอีหลี ดีลิเฌียส” เช่นกันถ้าเป็นด้วงเห็นก้องขี้ ก็คงตาลุกวาว เกิดความหิวขึ้นมาทันที

นี่แปลว่าอย่างน้อยที่สุด ก็มีบางส่วนของชีวิตเราที่เรากำหนดไม่ได้ มันเป็นคำสั่งเฉพาะที่ฝังในยีน ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และมันบังคับให้เราทำโน่นทำนี่ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว

เราอาจมีเจตจำนงอิสระที่จะเลือกกินข้าว หรือก๋วยเตี๋ยว หรือพิซซา แต่สัญชาตญาณภายในกำหนดเราก่อนว่า ให้ไปหาอะไรกิน เพราะถึงเวลาที่ร่างกายต้องการอาหารแล้ว

นาย ก. ชอบนางสาว ข. และตามจีบด้วยเจตจำนงอิสระ แต่บางทีการตามจีบนั้นเกิดขึ้นเพราะเคมีในสมองบอกให้ทำ ตามสัญชาตญาณสืบพันธุ์

เวลารักกันก็ใช้สัญชาตญาณ ไม่ได้ใช้เหตุผล อาจบอก “ห้ามใจไม่ได้” ก็แปลว่าห้ามสัญชาตญาณตัวเองไม่ได้ มันเกี่ยวข้องกับด้านเพศ มันคุมเราลึกๆ ทั้งหมดฝังในยีนหรือพันธุกรรม

พันธุกรรม = พันธุ + กรรม

ยีนก็คือกรรม!

สัญชาตญาณอาจทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างที่เราคาด หรือไม่ครบร้อย

ถ้ามองแบบนี้ เจตจำนงอิสระอาจไม่ใช่เจตจำนงอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ เจตจำนงอิสระอาจวางบนคำสั่งบางอย่าง

นี่แปลว่าชีวิตถูกสารเคมีและยีนกำหนดหรือ?

หามิได้

นี่แปลว่าเราถูกกำหนดหลายอย่าง แต่ไม่ทุกอย่าง เรายังสามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้ อย่างน้อยในระดับหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองคนเราเป็น ‘plastic’ ไม่ได้หมายความสมองทำด้วยพลาสติก แต่หมายถึงสมองยืดหยุ่นได้แบบ เรียกว่า Neuroplasticity หรือ brain plasticity

สมองคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต

สามารถสร้างตัวเชื่อมใหม่ระหว่างนิวรอน (คือเซลล์สมอง)

การเปลี่ยนแปลงของสมองเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี ปกติคือเมื่อแรกเกิด มันพัฒนาจากสมองเด็กเป็นสมองที่คงตัว บางครั้งมันสามารถเกิดขึ้นเมื่อเกิดความบาดเจ็บทางสมอง

สมองยังสามารถเปลี่ยนได้เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ถ้าเป็นแผ่นเสียงจากโรงงาน แต่ละร่องถูกกำหนดมาแล้ว ทว่าสมองก็เป็นแผ่นที่ปรับร่องใหม่ได้

การกำหนดวิถีชีวิต นิสัยอาจทำได้ใหม่ และมันก็กำหนดชีวิตของเรา

วันหนึ่งในอนาคตเราจะสามารถหนีจากแรง ‘กรรม’ ของยีนได้โดยเด็ดขาดจริงๆ หรือไม่? เราไม่รู้ แต่เราอาจไม่มีทางเลือกที่จะต้องมองโลกในแง่ดีว่า เราสามารถเปลี่ยน ‘ยีน’ หรือชาติกำเนิดของเราเองให้ดีขึ้นได้ หรือฝืนชะตากรรม เปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้

เพราะสัญชาตญาณเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะเราเป็นปลาที่ว่ายทวนน้ำได้

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ธันวาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 7

  • @...
    คิดว่าบางครั้งกับในหลายๆสิ่งหลายๆอย่างก็ที่จะสามารถปลี่ยนแปลงไปได้ก็ด้วยการกระทำเหมือนกันนะครับ.
    10 ธ.ค. 2561 เวลา 13.13 น.
  • 🙈🙉🙊นาย😇😇
    เพราะเราเป็นปลาที่ว่ายทวนน้ำ ชอบประโยคนี้มาก็คะ คิดถึงคุณครูตอนประถม
    10 ธ.ค. 2561 เวลา 11.32 น.
  • Tonyi6
    มนุษย์ กำหนดชีวิตของตัวเองด้วยความคิดอันไม่มีประมาณ จักรวาลยังไม่อาจเทียบเท่าได้
    11 ธ.ค. 2561 เวลา 08.42 น.
  • 👍 เพราะถ้ามันเปลี่ยนไม่ได้ ก็ไม่สมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ​จะต่างจากสัตว์เดรัจฉาน​ไปสักเท่าไร กิน ขี้ ปี้ นอน เสพ สะสมและตายจาก เพียงเท่านั้น สัตว์​เดรัจฉาน​มันก็ทำกัน ไม่ต่างๆ
    10 ธ.ค. 2561 เวลา 11.43 น.
  • Punnee kaha 59
    ยีนคือกรรม. กรรมคือการกระทำต้องมีสติควบคุมการกระทำ
    11 ธ.ค. 2561 เวลา 02.17 น.
ดูทั้งหมด