โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทวนเข็มนาฬิกา - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 01 ต.ค. 2561 เวลา 04.12 น. • วินทร์ เลียววาริณ

คนแก่วัยเจ็ดสิบกว่ากลุ่มหนึ่งเดินทางย้อนเวลาไปในปี ค.ศ. 1959 พวกเขาใช้ชีวิตในอดีต ฟังเพลงจากวิทยุที่เป็นเพลงยุคนั้น ดูโทรทัศน์ที่ฉายหนังเก่าของช่วงนั้น แล้วหวนกลับสู่โลกปัจจุบันแข็งแรงกว่าเดิม

หากคิดว่านี่เป็นพล็อตหนังแฟนตาซีสักเรื่อง ก็ผิดแล้ว นี่เป็นเรื่องจริง ทว่ามันไม่ใช่การเดินทางย้อนเวลาจริงๆ มันเป็นการจัดฉาก

นี่คือการทดลองที่เรียก Counterclockwise เป็นแนวคิดของ Ellen Langer ศาตราจารย์จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

การทดลองทำโดยให้คนแก่กลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตในสถานที่ซึ่งจำลองสิ่งแวดล้อมของปี 1959 เพลงที่ดังผ่านวิทยุเป็นเพลงเมื่อห้าสิบปีก่อน โทรทัศน์ฉายเรื่องห้าสิบปีก่อน ประหนึ่งพวกเขานั่งยานเวลาไปปรากฏตัวในโลกเมื่อห้าสิบปีก่อน ทุกคนที่เข้าไปในโลกนั้นต้องแต่งตัวตามยุคนั้น พูดจาโดยใช้ภาษาของยุคนั้น ห้ามพูดเรื่องที่เป็นเหตุการณ์หลังปี 1959

พูดง่ายๆ คือสะกดจิตตัวเองให้คืนอดีต เจตนามิได้ต้องการย้อนอดีตเพื่อรำลึกความหลัง แต่ทดลองเพื่อดูผลทางกายภาพเมื่อสมองเชื่อว่าร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะของเมื่อยังหนุ่มสาว

คนจำนวนมากชอบย้อนคิดถึงอดีตอันสุขสม ถ้าเราสามารถย้อนความคิดความรู้สึกอารมณ์เรากลับไปได้ ทำไมเราไม่สามารถย้อนสภาวะทางกายภาพเราด้วย อย่างน้อยในระดับหนึ่ง?

หลังจากหนึ่งอาทิตย์ในโลกอดีต ก็ถึงเวลาวัดผลสุขภาพ ปรากฏว่าแทบทุกคนที่ร่วมการทดลองก้าวออกจากอดีตปี 1959 ด้วยสภาพร่างกายดีขึ้น ความดันดีขึ้น ประสาททุกส่วนทำงานดีขึ้น ความจำดีขึ้น การฟังและสายตาดีขึ้น คนที่เดินถือไม้เท้าเข้าไปในโลกอดีตกลับออกมาด้วยการเดินเอง ราวกับว่าการหลอกตัวเองว่าอยู่ในอดีต เซลล์ในร่างกายก็คืนอดีตด้วย

…………..

การทดลองนี้ชี้ว่า บางทีเป็นไปได้ว่าจิตสามารถทำงานแบบ ‘ย้อนเวลา’ และทำให้ร่างกายหนุ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือพลังจิตสามารถคุมร่างกาย และถ้าจิตสามารถทำเรื่องนี้ได้ ใครจะรู้ว่ามันสามารถมีพลังรักษาหรือทำเรื่องที่มากกว่านี้ได้หรือไม่

บางทีมันอาจสามารถรักษาโรคที่การแพทย์บอกว่ารักษาไม่ได้

การทดลองยังบอกเป็นนัยว่า ความแก่อาจเป็นผลจากความคิดว่าเราแก่ มากกว่าความเสื่อมทางกายภาพจริงๆ

มันอาจแปลว่าคนเราแก่เพราะเราคิดว่าตัวเองแก่

คนเราเมื่ออายุเพิ่ม จำเป็นต้องแก่ตามด้วยหรือไม่? หรือว่าความแก่เป็นความรู้สึกทางใจมากกว่าทางกายภาพ? เป็นไปได้ไหมที่เราชลอความแก่โดยคิดว่าเราไม่แก่?

คนจำนวนมากในโลกมีความสุขในวัยเด็ก หรือมีความทรงจำบางท่อนที่ดีมาก เป็น ‘happy moment’ ที่ทุกครั้งเมื่อระลึกถึง จะมีรอยยิ้มที่ริมฝีปากเสมอ

บางครั้งในการบำบัดจิต ก็สะกดจิตตัวเองโดยระลึกภาพสวยงามเหล่านี้ ทำให้จิตนิ่งขึ้น และผ่อนคลาย

เมื่อจิตดี สุขภาพก็ดีขึ้นด้วย

…………..

เราอาจไม่มีทางหยุดตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวินาที แต่เราอาจหยุดความรู้สึกแก่

ไม่ว่าการทดลอง Counterclockwise จะใช้ได้กับทุกคนหรือสามารถขยายขอบเขตของมันไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หรือไม่ มันทำให้เราต้องย้อนคิดใหม่ว่า บางทีเราถูก ‘สะกดจิต’ ให้อยู่ในกรอบคิดว่าสูงวัย = ความแก่ มาตั้งแต่เด็ก เรามองภาพคนแก่ทำกิจกรรมของคนหนุ่มสาวว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด

มองไปรอบตัวเรา เราพบว่าคนสูงวัยบางคนแก่หง่อม บางคนยังกระฉับกระเฉง เป็นเพราะพันธุกรรมอย่างเดียวเช่นนั้นหรือ?

ในเรื่องอายุและความแก่ เรามักมีกรอบคิดเฉพาะอย่าง เวลาคนสูงอายุลืมเรื่องบางเรื่อง จะบอกว่า “ฉันแก่แล้ว จึงขี้ลืม”

เราชอบโยงการขี้ลืมกับความแก่

มันทำให้สังคมเกิดภาพฝังหัวว่า ถ้าอายุมาก ก็สมควรขี้ลืม ซึ่งไม่ถูกเสมอไป การขี้ลืมอาจเป็นเพราะนอนไม่พอ หรือไม่สนใจในเรื่องนั้นๆ ก็ได้ อาจไม่ใช่เพราะอายุ

คนสูงวัยจำนวนมากไม่ทำกิจกรรมหลายอย่าง เพราะสะกดจิตตัวเองว่า “ฉันแก่เกินไป”

เมื่อปวดหลัง ก็บอกว่า “ฉันแก่ กระดูกจึงเสื่อม” ความจริงที่ปวดหลังอาจเพราะเผลอยกของหนัก

ดังนั้นการสร้างกรอบคิดอายุมาก = แก่ จึงอาจทำร้ายเราเอง หรือทำให้เสียโอกาสพบสิ่งดีๆ ในชีวิต

อาการป่วยหลายอย่างเกิดจากใจป่วย ใจบอกให้ป่วย บอกว่าเราจะรู้สึกแย่ ร่างกายก็เชื่อฟัง

ในทำนองกลับกัน หากเราเปลี่ยนพลังจิตเป็นบวก ก็อาจทำให้โรคจริงๆ ลดลง หรือความแก่หายไป

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ผมรู้จักคนที่อายุ 74 ยังวิ่งมาราธอน คนแก่จำนวนไม่น้อย อายุเลข 90 แล้ว ยังออกกำลังกาย เต้นรำ และกิจกรรมอื่นๆ

ผมเคยเห็นภาพยายแก่เตะตะกร้ออย่างสนุกสนาน เพราะยายแก่คิดจะเตะตะกร้อ ไม่ได้โยงการเตะตะกร้อกับอายุ

เมื่อไม่ได้คิดโยงว่าคนแก่เตะตะกร้อไม่ได้ ก็สนุกกับกิจกรรมที่อยากทำ

คนแก่มักแก่ที่ใจก่อน

และเมื่อใจไม่แก่ ก็ไม่ต้องทวนเข็มนาฬิกาชีวิต

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ตุลาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0