ญาติเพื่อนคนหนึ่งล้มฟาดพื้นเพราะเส้นเลือดในสมองตีบ ผ่านไปไม่กี่วันหมดค่ารักษาไปเกินหนึ่งล้านบาท และยังห่างไกลจากการออกจากโรงพยาบาล
แม่เพื่อนอีกคนเลือดตกใน นอนโรงพยาบาลหนึ่งสัปดาห์ หมดไปสองล้านบาท
ความจริงน่าเจ็บปวดของมนุษย์ยุคนี้คือ เมื่อป่วยก็สามารถหมดตัวได้ เงินทองที่สะสมมาทั้งชีวิตอาจอันตรธานไปเพราะการป่วยครั้งเดียว
ไม่รักษาก็ทำใจไม่ได้ รักษาก็ทำใจไม่ได้
ดังนั้นดูเหมือนว่า เราแต่ละคนควรดูแลตัวเองก่อน อย่างน้อยหากต้องเข้าโรงพยาบาล และสูญเสียเงินทองที่สะสมมาทั้งชีวิต ก็ยังบอกได้ว่า “ฉันทำดีที่สุดแล้ว”
คำถามคือ แค่ไหนคือ ‘ทำดีที่สุดแล้ว’ ?
เวลาอ่านบทความหรือข้อมูลเรื่องสุขภาพ บางคนอาจรู้สึกว่าทำไมเราต้องดูแลสุขภาพของตัวเองถึงขนาดนั้น เว่อร์ไปไหม? นี่ก็กินไม่ได้ นั่นก็ไม่ควรกิน แล้วจะมีชีวิตไปทำไม
นี่เป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยน เพราะ “กินได้-กินไม่ได้” เป็นคนละประเด็นกับ “จะมีชีวิตไปทำไม” เราโยงมันเอาเอง ไม่เช่นนั้นพระที่ฉันอาหารมื้อเดียว เลือกอาหารไม่ได้ จะมีความสุขได้อย่างไร
ถามว่าคนเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ ดื่มกินอะไรก็ตามใจตัวเองได้ มิใช่หรือ? การกินอาหารขยะและไม่ดูแลตัวเองไม่ได้หนักกบาลใครสักหน่อย ใช่ไหม?
ใช่ ถูกต้อง นี่คือเสรีภาพ
แต่นี่อาจเป็นการมองความไม่ครบด้าน เพราะยังมีอีกเรื่องหนึ่งเรียกว่า Cause & Effect มันมาเกี่ยวกับเราโดยเราหนีไม่พ้น ทุกสิ่งทุกเรื่องที่เรากระทำส่งผลต่อออกไปเป็นลูกโซ่เสมอ
Cause & Effect ในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงถึงสูบบุหรี่แล้วเป็นมะเร็งปอด ดื่มเหล้าแล้วเป็นมะเร็งตับ แต่มันกินพื้นที่กว้างกว่าแค่ตัวเรา
Cause & Effect คือเวลาเราป่วย เราไม่ได้ป่วยคนเดียว
จำได้ไหมว่าเวลาเราเป็นวัยรุ่น ออกไปเที่ยวนอกบ้านตอนกลางคืน แม่โทร.ตามทุกชั่วโมง เมื่อกลับถึงบ้านตอนตีสอง ก็เห็นแม่นั่งรออยู่ เราอาจนึกรำคาญ บอกแม่ว่า “ผมโตแล้วน่า”
แต่เมื่อเรากลับบ้านดึกอีกครั้ง ก็จะพบแม่รออยู่ แม่นอนไม่หลับหากเรายังไม่ถึงบ้าน เราไม่สามารถลบ Effect ตัวนี้ได้ มันมากับ Cause ของการกลับบ้านดึกของเราเสมอ
นี่คือ Cause & Effect ที่กระทบความห่วงใยของแม่ที่รักเรา
เช่นกัน เราดื่มเหล้าทุกวัน กินตามใจปากจนป่วย เมื่อเรานอนในโรงพยาบาล คนที่ต้องลางานมาเฝ้าดูเราก็คือเมีย ลูก และคนที่รักเรา และสร้างความเครียดให้คนที่เรารัก ดังนั้นมันไม่ใช่แค่ร่างกายของเราเท่านั้น
ทุกครั้งที่ใครคนหนึ่งป่วย จะมีคนอื่นป่วยด้วย Cause & Effect กินพื้นที่กว้างกว่าการป่วยของคนหนึ่งคน
ถึงจะไม่มีครอบครัวต้องห่วงใย เราก็ไม่ได้ป่วยคนเดียวเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่ป่วย สังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการรักษา เงินที่ใช้จ่ายยา บุคลากรที่ดูแลเรา สามารถไปใช้กับสิ่งที่จำเป็นกว่าได้
โรคภัยหลายชนิดเป็นเรื่องที่ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะถูกกำหนดโดยพันธุกรรม แต่โรคอีกจำนวนมากเกิดจากกิน กินจนป่วย มนุษย์จำนวนมากก็เป็นชูชก ตายเพราะกิน กินจนตาย
ไม่น่าเชื่อว่าอาหารทุกคำที่เรากินในระยะสั้นกระทบตัวเรา ในระยะยาวกระทบคนที่รักเรา
บางทีการกินตามใจปากโดยไม่ยั้งคิด ไม่มองผลที่ตามมา ก็อาจจัดเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง!
ในยุคนี้เรามีข้อมูลความรู้มากมายกว่าสมัยผมเป็นเด็กหลายร้อยเท่า หากตอนนั้นผมได้รับข้อมูลเท่าตอนนี้ ผมคงสามารถต่อชีวิตแม่ได้อีกอย่างน้อย 15-20 ปี เพราะโรคนั้นเกิดจากการกินไม่ถูก
คนโบราณตายด้วยโรคที่รักษาได้ในสมัยนี้ โลกสูญเสียคนเก่งไปด้วย ‘โรคง่ายๆ’ ลองคิดดู พวกเขาจะสร้างสรรค์ได้อีกมากเพียงไร หากคนเก่งเหล่านั้นอายุยืนขึ้นสักสิบปี
ลองคิดดูว่า หากเราเป็นคนโบราณสัก 100 ปีก่อน ป่วยด้วยโรคที่วิทยาการยุคนี้รู้สาเหตุและการรักษา เราคงยอมเสียเงินทองเพื่อรับข้อมูลนี้
เช่นกันเราใน พ.ศ. นี้ ย่อมอยากรู้ข้อมูลสาเหตุและการรักษาโรคร้ายในวันนี้ที่รักษาได้ง่ายดายในยุคอนาคต 100 ปีข้างหน้า
เอาละ มองโลกในแง่ดีคือ เรารู้มากกว่าคนยุคก่อนหลายสิบหลายร้อยเท่า เรารู้สาเหตุของเบาหวาน โรคหัวใจ และอีกสารพัดโรค หลายโรคเราสามารถป้องกันได้เดี๋ยวนี้
ดังนั้นหากเรามีข้อมูลนี้แล้วไม่ใช้ หรือปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นโรค ก็เสียของเปล่าๆ
ถ้าไม่รู้ก็ว่าอย่าง แต่ถ้ามีความรู้แล้ว ละเลยความรู้นั้นจนกลายเป็นภัยกับตัวเอง ต้องเสียเงินเป็นล้านเพื่อรักษาโรคที่เรามีข้อมูลพร้อมมาก่อนและป้องกันได้ และสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่รักเรา เราก็เข้าข่ายโง่เขลาเบาปัญญา
มนุษย์เราต่างจากสัตว์ตรงที่เรามีการสะสมความรู้ และเราใช้ความรู้ช่วยวิวัฒนาการ
บางคนรู้ทั้งรู้ แต่ก็ยังติดรสชาติของอาหารที่มีปัญหา ท่องคาถาว่า “เราคงไม่เป็นไร” หรือ “มียารักษา”
คนเราต้องรับผิดชอบต่อตัวเองแค่ไหน คำตอบคือแล้วแต่เรา พูดเป็นภาษาวันนี้ก็คือ “เอาที่สบายใจ”
แต่รับผิดชอบต่อผลที่ตามมา เพราะการกระทำกับผลลัพธ์ที่ตามมา เป็นแพ็คคู่ มาพร้อมกันเสมอ
…………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
กันยายน 2561
ความเห็น 6
Pol
เห็นด้วยกับข้อมูลครับ
แต่ว่าต่อให้ดูแลสุขภาพดีอย่างไรคนเราก็มีโอกาสที่จะป่วยได้ทั้งนั้น และถ้ายิ่งค่ารักษาพยาบาลไม่สมเหตุผลก็หมดตัวเหมือนกันครับ
24 ก.ย 2561 เวลา 14.50 น.
ร.อ.บุญเหลือ แสงมา
ป่วยตายโดยไม่สมควร ย่อมได้ชื่อว่าเสียชาติเกิด
30 ก.ย 2561 เวลา 05.11 น.
Life My Way >>>
ขอบคุณมากครับ
30 ก.ย 2561 เวลา 00.18 น.
Dol
ควรทำประกันสุขภาพเพื่อโอนภาระมาให้บริษัทประกันไม่ใช่คนในครอบครัว จากเคสที่ยกมาแสดงว่าคนป่วยไม่มีประกันเลย
30 ก.ย 2561 เวลา 12.08 น.
@...
การได้ตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำก็จะดี เพื่อจะได้เป็นการลดร่ายจ่ายในด้านการรักษา.
24 ก.ย 2561 เวลา 22.30 น.
ดูทั้งหมด