เราเห็นจากหนังมากมาย ฉากคล้ายกัน อุกกาบาตพุ่งลงมาจากฟ้าถล่มโลกกึกก้องกัมปนาท แผ่นดินสะท้านสะเทือน ลูกไฟกระจายไดโนเสาร์ล้มตายหมด
ความจริงไดโนเสาร์ไม่ได้ตายหมดในวันเดียว มันอาจกินเวลาหลายปีที่สายพันธุ์นี้ต้านแรงธรรมชาติไม่ไหว ล้มตายสิ้น
การถล่มของอุกกาบาตก็เหมือนการถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์จะมีเถ้าดำแผ่คลุมท้องฟ้านานหลายปี อากาศเย็นลงทั้งโลกจนพืชต่างๆ ตายเกือบหมด ที่เรียกว่า Nuclear Winter
มีทฤษฎีมากมายเสนอความคิดว่า ทำไมไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ทฤษฎีหนึ่งพูดเรื่องอุณหภูมิกับไข่ เราเชื่อว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง แพร่พันธุ์ด้วยไข่ และเราก็รู้จากธรรมชาติว่า อุณหภูมิมีผลต่อการกำหนดเพศของตัวอ่อนในไข่ ถ้าอุณหภูมิโลกในช่วงนั้นต่ำมากเท่ากัน อาจทำให้ไข่แทบทั้งหมดเป็นเพศเดียว ทำให้ไม่สามารถสืบสายพันธุ์ต่อไปได้
ไม่ว่าไดโนเสาร์จะจากไปอย่างไร ยักษ์ใหญ่ที่ครองโลกร่วมสองร้อยล้านปีเหลือเพียงซากในฟอสซิล
เมื่อพี่ใหญ่ไดโนเสาร์จากไป น้องเล็กชื่อ แมมมอล (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ก็มาแทน
ดังนั้นหากเชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมาจากการสร้างสรรค์ของอำนาจเบื้องบน ก็ต้องเชื่อว่าการที่อุกกาบาตถล่มโลกในวันนั้นเป็นการกำหนดของอำนาจเบื้องบน เป็นส่วนหนึ่งของ ‘แผน’
นักวิทยาศาสตร์สายวิวัฒนาการจำนวนมากไม่เชื่อเรื่อง ‘แผน’ ตรงกันข้ามกลับเห็นพ้องกันว่า วิวัฒนาการของโลกและคนเกิดขึ้นแบบไร้แผน ชีวิตไม่ว่าจะมีต้นกำเนิดในโลกนี้หรือนอกโลก อาจเกิดมาด้วยความบังเอิญ เมื่อธาตุต่างๆ มาเจอกันอย่างลงตัว จะเรียกว่าฟลุกก็ได้ เหมือนสายน้ำแห่งชีวิตที่ไหลไปเรื่อย ผ่านภูมิประเทศต่างๆ เจอหินก็หลบเลี่ยง แตกสายสาขาออกไปมากมายนับไม่ถ้วน สายไหนตันก็เหือดแห้งหายไป ที่ที่ยังไหลได้ดีก็ไหลต่อไป แตกแขนงต่อไป
สายน้ำไดโนเสาร์เหือดแห้งไป สายน้ำแมมมอลไหลต่อมาจนทุกวันนี้ และเราเป็นแขนงหนึ่งที่แตกมาจากสายน้ำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
หากไดโนเสาร์ไม่สูญพันธุ์ โอกาสที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะผงาดขึ้นแทนคงน้อยมาก และโอกาสที่จะวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ก็ยิ่งน้อย ดังนั้นจะว่าไปแล้ว สายพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญหมายเลข 1 คือไดโนเสาร์ถูกอุกกาบาตถล่มตาย
ความบังเอิญหมายเลข 2 คือสภาพแวดล้อมของโลกในยุคหนึ่งเปลี่ยนแปลงและเอื้อให้มนุษย์วานรตัดสินใจเดินสองขาเพื่อความอยู่รอดสูงกว่า แล้ววิวัฒนาการเป็นมนุษย์สมัยใหม่ที่ชาญฉลาดในวันนี้
นี่อาจจะแปลว่ามนุษย์เกิดมาอย่างบังเอิญซ้อนบังเอิญ
…………..
เอาละ สมมุติว่าเราเป็นเจ้าของตัวเราเอง ไม่มี ‘พระเจ้า’ หรืออำนาจพิเศษวางแผนกำหนดชีวิตเรา นี่แปลว่าเราสมควรปล่อยชีวิตไปเรื่อยเปื่อยกระนั้นหรือ?
หามิได้ เป็นคนละเรื่องกัน
หลักฐานในฟอสซิลบอกเพียงว่าเรามาจากไหน ส่วนเราจะทำอย่างไรต่อเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราควรดำเนินชีวิตที่เหลือของเราอย่างไร? ใช้อย่างมีจุดหมายหรือไม่ต้องมี?
ก่อนอื่น อะไรคือจุดหมาย?
เราจะอยู่ต่อไปอย่างไร แบบไหน
อยู่เพื่อสนองความสุขของเรา หรือว่าเพื่อชื่อเสียง อำนาจ
เราอยู่เพื่ออะไร? คำว่า ‘เพื่ออะไร’ ก็เป็นการสร้างกรอบล้อมตัวเองอย่างหนึ่ง
ใครจะรู้ ชีวิตอาจเป็นเรื่องยถากรรมจริงๆ ก็ได้ เราอาจคิดเองเออเองว่าชีวิตต้องมีความหมาย!
บางทีความหมายของชีวิตและอุดมคติต่างๆ เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์
แต่ทว่าต่อให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์จริง ก็มิได้แปลว่าเป็นเรื่องไม่ดี เพราะมนุษย์มีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่ได้มีในธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
บางทีการใช้ชีวิตก็คือการดำเนินตามกลไกของชีวิต นั่นคือหายใจ และมีชีวิต ส่วนสาระหรือเป้าหมายหรือจุดหมาย อาจจะขึ้นอยู่กับเราเอง และอาจไม่มีถูกหรือผิด สิ่งที่มีค่าที่สุดก็อาจเป็นอิสรภาพที่จะหายใจ มีชีวิตต่อไปอย่างนั้น
…………..
อาจารย์เจ้าโจวฉงเซิน (趙州從諗) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า เจ้าโจว เป็นพระเซนใน (พ.ศ. 1321-1440) เป็นพระเซนที่มีสีสันที่สุดรูปหนึ่ง สอนธรรมแบบแทงทะลุใจ
เจ้าโจวเป็นเจ้าอาวาสวัดเก่าแห่งหนึ่งชื่อ กวนยินเหยียน ทางตอนเหนือของจีน
ท่านบอกว่า “เซนก็คือจิตในทุก ๆ วันของเจ้านั่นเอง”
ครั้งหนึ่งพระใหม่รูปหนึ่งพูดกับอาจารย์เจ้าโจวว่า “ศิษย์เพิ่งมาใหม่ในวัดนี้ โปรดสั่งสอนศิษย์ด้วย”
เจ้าโจวถามศิษย์ใหม่ว่า “เจ้ากินข้าวต้มแล้วหรือยัง?”
“กินแล้ว”
“ถ้าเช่นนั้นก็จงไปล้างชามเสีย”
ได้ยินเท่านี้ ศิษย์ใหม่ก็บรรลุธรรม
บทสนทนานี้บอกอะไร? อาจารย์เจ้าโจวอาจต้องการบอกศิษย์ว่าวิถีทางที่ดีที่สุดก็คือวิถีชีวิตสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ และเราเรียกความไม่มีอะไรพิเศษนี้ว่า ‘เซน’ อาจารย์เจ้าโจวอาจอยากบอกว่าจงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เดินไปทีละขั้น หิวก็กิน กินแล้วก็ล้างชาม ไม่ต้องคิดไปไกลถึงสาระของชีวิตหรือเป้าหมายไกลๆ
บางทีอาจารย์เจ้าโจวอาจอยากบอกว่า การค้นหาสาระก็คือความไร้สาระชนิดหนึ่ง
อาจารย์มู่โจวเต้าหมิง (睦州道明) ก็เป็นปรมาจารย์เซนอีกท่านหนึ่ง (พ.ศ. 1323-1420) เมื่อศิษย์ถามท่านว่า “เราสวมเสื้อผ้าและกินทุกวัน มีทางใดหรือไม่ที่จะหนีพ้นจากการสวมเสื้อผ้าและกินทุกวัน?”
อาจารย์ก็ตอบว่า “เราสวมเสื้อผ้า เรากิน”
“ศิษย์ไม่เข้าใจ”
“หากเจ้าไม่เข้าใจ ก็จงสวมเสื้อผ้าและกินอาหารเถิด”
ฟังดูเหมือนอาจารย์กวนประสาท แต่ความหมายคล้ายจะบอกว่า ชีวิตก็คือการใช้ชีวิต ไม่มีอะไรซับซ้อน
Don’t think too much!
แต่กว่าจะไม่คิดมากได้อย่างนี้ ก็ผ่านการคิดมากจนเข้าใจว่า สาระของชีวิตอาจเป็นเพียงมายา
คำพูด “ง่วงก็นอน หิวก็กิน” อาจเพียงชี้ว่าชีวิตไม่ได้มีสาระหรือไม่มีสาระ
มันไม่มีอะไร
มันเป็นเช่นนี้เอง
นี่เองที่ทำให้ผมเลิกถามตัวเองมานานแล้วว่า ชีวิตจำเป็นต้องมีสาระไหม
…………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
กันยายน 2561