โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ป้ายโฆษณา” มีผลต่อการยั่วยุทางเพศได้จริงเหรอ?

Another View

เผยแพร่ 24 ม.ค. 2562 เวลา 13.00 น.

“ป้ายโฆษณามีผลต่อการยั่วยุทางเพศได้จริงเหรอ?

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างเกี่ยวกับกรณีที่สมาชิกพรรคพลเมืองไทย ได้เข้าไปยื่นหนังสือต่อ กสทช. ให้ปลดป้ายโฆษณาซีรีส์ SEX EDUCATION หรือเพศศึกษา(บทเรียนฉบับเร่งรัก) ของ Netflix โดยมองว่าเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งเนื้อเรื่องและภาพการร่วมเพศของวัยรุ่นชัดแจ้ง มีคำพูดและภาพที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศชัดเจน ล่อแหลมต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกยั่วยุ จึงขอให้ กสทช. ปลดป้ายดังกล่าวออกทันที

https://hilight.kapook.com/view/182944

"นายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ" โฆษกพรรคพลเมืองไทย กล่าวว่าแม้หนัง SEX EDUCATION ของ Netflix จะได้ระบุช่วงอายุที่สามารถเข้ารับชมคืออายุ 16 ปีขึ้นไปแต่โดยข้อเท็จจริงไม่สามารถควบคุมการเข้าถึงได้ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือไม่ว่าช่วงอายุใด ทั้งนี้ SEX EDUCATION อาจเหมาะสมในสังคมประเทศตะวันตกที่วัยรุ่นได้เรียนรู้เพศศึกษาทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียนมาก่อนแล้ว แต่ในสังคมไทยวัยรุ่นยังไม่ได้เรียนรู้อย่างถูกต้องยิ่งนำไปสู่ปัญหาทางสังคมตามมา 

โฆษกพรรคพลเมืองไทย ได้ยกสถิติในปี 2559 ที่มีจำนวนเด็กที่คลอดจากแม่วัยรุ่น อายุ 10-19 ปี จำนวน 666,207 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย โดยปัญหาการท้องในวัยรุ่น และการล่วงละเมิดทางเพศ ที่สังคมไทยพยายามรณรงค์ให้ลดลงอาจเป็นการกระทำที่สูญเปล่า หากผู้เกี่ยวข้องยังเพิกเฉยปล่อยให้ธุรกิจข้ามชาติทำการโฆษณาผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ด้วยการจูงใจเรื่องทางเพศเพียงเพื่อการแสวงหากำไร จึงขอให้ กสทช. ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดควบคุมให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิกที่รับชมต่อไป

ซึ่งมองเผินดูเป็นเรื่องดีที่ผู้ใหญ่ในสังคมให้ความใส่ใจเยาวชนเกี่ยวกับเรื่องเพศและการท้องก่อนไว้อันควรแต่การทำแบบนี้คือการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่?

https://www.imdb.com/title/tt7767422/

ก็ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าซีรีส์เรื่อง SEX EDUCATION ของ Netflix นั้นมันมีเนื้อหาที่ยั่วยุจริง ๆ หรือเปล่า หากใครที่ไม่เคยดูอาจจะเข้าใจได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่รุนแรง ยั่วยุทางเพศ แต่จริง ๆ แล้วแม้ชื่อเรื่องคือ “เพศศึกษา” แต่มันเป็นเพียงแค่แกนกลางของเรื่องเท่านั้นเอง ประเด็นที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอคือ“การก้าวข้ามวัย หรือ Coming of age” จุดเด่นของซีรีส์คือสามารถนำเรื่องเซ็กส์มาโยงถึงการก้าวข้ามวัยได้อย่างลึกซึ้ง แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละคร การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และยังนำเสนอประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครออกมาได้ดีเยี่ยม ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน คนรัก หรือกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเอง 

ซีรีส์เรื่องนี้ใช้เซ็กส์ในการค่อย ๆ เปิดเผยให้เห็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่บางคนภายนอกดูแข็งแกร่งแต่ความรักและเซ็กส์ก็ทำให้อ่อนไหวเปราะบางได้ หรือกระทั่งตัวพระเอกเองก็เป็นคนขาดความมั่นใจในเรื่องเซ็กส์ มีปัญหากระทั่งไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และเหตุการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเมื่อเขามีแม่เป็นนักบำบัดด้านเพศสัมพันธ์ที่พยายามก้าวก่ายเรื่องใต้สะดือของเขาเหลือเกิน ทำให้เห็นว่าบทซีรีส์มองเรื่องเซ็กส์ในมุมมองรอบด้านและสามารถอธิบายความสัมพันธ์และความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นได้อย่างลึกซึ้ง แม้ซีรีส์จะมีฉากเซ็กส์และพูดถึงเรื่องเซ็กส์แทบทุกตอน แต่มันกลับสะท้อนด้านที่อ่อนไหวของวัยรุ่นและอุปสรรคที่ต้องเจอในรายทางระหว่างการเติบโตได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

ไม่แปลกที่ซีรีส์เรื่องนี้จะมีชื่อเรื่องว่าเพศศึกษาเพราะมันสอนเรื่องเพศมากกว่าที่มันจะยั่วยุทางเพศ !

การหยิบยกปัญหาท้องก่อนวัยอันควรมาอ้างแล้วบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เด็กท้องก่อนวัยอันควรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกนักทีเดียว เพราะจากสภาพสังคมไทยปัญหาเรื่องท้องก่อนวัยอันควรนั้นเกิดจากการที่เด็กไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องเพศที่ดีทั้งจากครอบครัวและจากโรงเรียน ทำให้ขาดความรู้ที่จะเตรียมพร้อม รับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์ สังคมไทยมักจะกีดกันเด็กให้ออกห่างจากเรื่องเพศเพราะมองว่ามันยังไม่ถึงเวลา นั่นอาจจะยิ่งทำให้เด็กอยากรู้อยากลอง ซึ่งการอยากรู้อยากลองนี้ก็เป็นพฤติกรรมที่เป็นปกติของเด็กในช่วงวัยรุ่นอยู่แล้ว ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นตามมาโดยขาดการรับมือและแก้ไขที่ถูกต้อง

สังคมไทยมักมองว่า “เพศศึกษา” จะมีแค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่จริง ๆ แล้วเพศศึกษายังรวมถึงการเจริญเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน คนรัก ครอบครัว การรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากได้ 

สิ่งที่สังคมไทยขาดหายไปจริงคือการส่งเสริมจริยธรรมเรื่องเพศที่ถูกต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศเสรีภาพในการมีเพศสัมพันธ์ที่มาพร้อมความรับผิดชอบและวุฒิภาวะที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์โดยเพศสัมพันธ์ทุกครั้งต้องเกิดจากความสมัครใจปราศจากความรุนแรงและการบังคับขืนใจรวมทั้งการสร้างเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมของสังคมได้ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจมากนักในสังคมไทย 

อ้างอิง

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/824814

https://www.sanook.com/movie/84153/

https://hilight.kapook.com/view/182944

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0