โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“บุฟเฟ่ต์อาหารหรูเลี้ยงพระ” บททดสอบ “ศรัทธา” พระตามใจปาก หรือ กินตามใจโยม

Another View

เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 05.00 น.

บุฟเฟ่ต์อาหารหรูเลี้ยงพระบททดสอบศรัทธา  พระตามใจปากหรือกินตามใจโยม

จากกรณี ‘บุฟเฟ่ต์อาหารหรูเลี้ยงพระ’ ของวัดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในสังคม ซึ่งความคิดเห็นได้แตกออกเป็นฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายโจมตีอย่างชัดเจน ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจนแต่ประการใด แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบที่น่าสนใจและควรยกมาเป็นกรณีศึกษาในการ ‘วิพากษ์’ ประเด็นที่ละเอียดอ่อนโดยเฉพาะเรื่องศาสนาที่มากกว่าผิดหรือถูกอยู่ หลายหัวข้อด้วยกัน 

อธิบายคร่าว ๆ สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ คือกรณีดังกล่าว เป็นภาพที่เกิดขึ้นใน"โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร" ปีที่ 7 มีพระภิกษุธรรมยาตรา 1,135 รูป ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 2-31 ม.ค. ซึ่งมีลักษณะการต่อแถวตักอาหารของพระสงฆ์จำนวนมากที่มีลักษณะการให้บริการแบบ ‘บุฟเฟ่ต์’ ที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าทำได้จริงหรือเปล่า 

คำว่า ‘บุฟเฟ่ต์’ ในกรณีนี้อาจไม่ได้หมายถึงการ ‘เลือก’ กินเท่าไหร่ก็ได้ ‘ไม่จำกัด’ แต่น่าจะเป็นความพยายามใน ‘การจัดการ’ พิธีเลี้ยงอาหารที่มีพระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมมากกว่า 1,000 รูป เพราะหากปล่อยให้มีลักษณะการถวายอาหารทีละรูปตามปกติ กว่าทุกรูปจะได้รับอาหารครบจำนวน อาจเลยเวลาฉันเพลไปแล้วก็ได้ แม้กระทั่งวัดป่าสายปฏิบัติหลายวัดก็เลือกใช้วิธีนี้เพื่อง่ายต่อการจัดการด้วยเช่นกัน 

และข้อดีอีกอย่างคือ การให้พระสงฆ์ตักอาหารได้เองนั้นสะดวกต่อการคำนวนคำอาหารในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งที่เกิดจากการที่ญาติโยมประเคนถวายอาหารมากเกินไป และพระสงฆ์ไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่วนอาหารที่เหลือนั้นก็สามารถจัดการต่อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

เพราะฉะนั้นหากมองด้วยใจเป็นกลาง น่าจะพอมองเห็นว่าการมุ่งโจมตีที่เรื่องการตักอาหารเพียงอย่างเดียว ไม่น่าก่อให้เกิดการถกเถียงด้วยปัญหาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยกเว้นเพียงความสะใจที่ได้โจมตีองค์กรที่ไม่ถูกใจเพียงเท่านั้น 

แต่ประเด็นตัว ‘อาหาร’ ที่จัดเตรียมไว้เป็นจำนวนมากอย่าง ซูชิ, ซาชิมิแซลมอน, สเต็กแซลมอน, สลัดธัญพืช, หม่าล่า, ปลากระพงนิ่งมะนาว, หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์นึ่ง, กุ้งอบเกลือ, ไข่ลวก,  หมึกย่าง, รังนก, พะโล้คากิ, ปูจ๋า ฯลฯ ต่างหากที่ควรนำมาพูดถึงมากกว่า หากต้องการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างแท้จริง

อย่างแรกคืออาหารอย่างปลาและเนื้อดิบ ที่มีการบัญญัติไว้ว่าผิดพระวินัยอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ คือลูกศิษย์ลูกหาที่หวังอยากให้พระสงฆ์ได้ฉันอาหารดี ๆ โดยลืมคำนึงไปว่านั่นจะส่งเสริมให้พระสงฆ์ทำผิดพระวินัยไปด้วยหรือเปล่า 

ถ้ามีพระสงฆ์บางรูปที่รู้อยู่แล้วว่าผิดแต่ก็ยังเลือกอาหารเหล่านั้นไปฉัน ค่อยขยับไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เป็นรายบุคคลต่อไป จะเห็นว่าการให้พระสงฆ์ตักอาหารได้เอง จะช่วยลดปัญหานี้ไปได้ในระดับหนึ่งทีเดียว 

ส่วนประเด็นที่น่าพูดถึงมากที่สุด คืออาหารหลายรายการที่เข้าข่าย ‘อาหารหรู’ ที่คนธรรมดาหลายคนอาจะไม่มีโอกาสหามากินได้ด้วยซ้ำ เพราะถ้ามองกันจริง ๆ กรณีนี้น่าจะสร้างปัญหาให้กับพระภิกษุได้มากกว่าอาหารดิบที่ผิดพระนิวัยโดยตรงด้วยซ้ำ 

เพราะแนวคิดหลักที่ทุกคนยอมรับกันเป็นมาตฐาน ว่าพระสงฆ์คือผู้ที่ขัดเกลาตนเพื่อให้พ้นจากการยึดติดจากชื่อเสียง ลาภยศ ความสะดวกสบายมากที่สุด แต่จะให้ทำอย่างไร เมื่ออาหารที่วางอยู่ตรงหน้า เต็มไปด้วยอาหารเลิศรสแสนเย้ายวนชวนให้เกิดกิเลส ที่หากได้ลองเพียงครั้งหนึ่ง อาจทำให้รสสัมผัสที่ได้รับ ไปกระตุ้นต่อม ‘ความอยาก’ ที่เป็นธรรมชาติของ ‘มนุษย์’ ชวนให้นึกถึงขึ้นมาอยู่บ่อย ๆ 

อาศัยแค่วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดที่ต้องต่อสู้กับ ‘กิเลส’ ต่าง ๆ ก็ยากพออยู่แล้ว แต่คราวนี้ยังมีตัวเร่งปฏิกิริยาความยึดติดจากลูกศิษย์ลูกหา ที่ปาวารณาตัวเป็นผู้สนับสนุนศาสนาตัวยงเพิ่มเข้าอีก เลยยิ่งกลายเป็น ‘บททดสอบ’ อันหนักหนาที่ลูกศิษย์ลูกหานำมาสู่พระสงฆ์ที่เคารพด้วยตัวเอง 

บอกก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาต่อว่าความปรารถนาดีที่คิดว่าอยากให้พระสงฆ์ได้ฉันอาหารที่ดีที่สุด หากแต่บางครั้ง เราอาจต้องมาทวนตัวเองกันอีกสักครั้งว่า ‘ความหวังดี’ ของเราจะกลายเป็น ‘ความประสงค์ร้าย’ ที่อาจเป็นหนึ่งในชนวนเล็ก ๆ ในการทำลายศาสนา (อย่างน้อยก็ทำให้คนหันมาวิพากษ์วิจารณ์และรู้สึกแย่กับพระสงฆ์มากขึ้น) ขึ้นมาก็ได้ 

อ้างอิง

https://www.sanook.com/news/7645422/

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2090555

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0