โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระเครื่องใช่พุทธหรือ ? - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 02 ก.พ. 2563 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

326 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงยาตราทัพบุกอินเดีย ซึ่งเชื่อว่าคือสุดโลกทางตะวันออก แต่ไม่สำเร็จ จำต้องยกทัพกลับ

โครงการครองโลกของกษัตริย์หนุ่มองค์นี้คือ เมื่อยึดเมืองใดได้ ก็ทรงให้นายทหารคนสนิทและรัชทายาทปกครอง 

หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ทหารกรีกเหล่านั้นก็ตั้งตนเป็นอาณาจักรอิสระ นายทหารและรัชทายาทที่ปกครองตามดินแดนต่าง ๆ ก็สู้รบกัน อาณาจักรกรีกแตกสลาย

หนึ่งในรัฐอิสระก็คือบักเตรีย (Bactria) ในเอเชียกลาง แถบอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ปกครองโดยกษัตริย์เชื้อสายกรีกเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 6 ปกครองโดยพระเจ้ามินันเดอร์ (Menander I Soter) ที่อินเดียเรียกว่าพระเจ้ามิลินท์ 

รัชสมัยพระเจ้ามิลินท์ครอบครองแคว้นคันธารราฐ แผ่อำนาจลงมาถึงตอนเหนือของลุ่มนํ้าคงคา ตีแคว้นปัญจาบ ก่อร่างสร้างอาณาจักรที่ครอบครองแผ่นดินกว้างใหญ่ถึงอินเดีย ไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ มีสาคละนครเป็นเมืองหลวง เป็นยุครุ่งเรืองทางการค้า

พระเจ้ามิลินท์ทรงปราดเปรื่องและแตกฉานทั้งหลักพิชัยสงครามและปรัชญาศาสนาสายต่าง ๆ ทรงนิยมเชิญผู้ที่มีปัญญามาสนทนาธรรมกัน ปรากฏว่าไม่มีใครโต้คารมชนะพระองค์ได้

ในที่สุดทรงมีโอกาสสนทนาธรรมกับพระรูปหนึ่งนามพระนาคเสน ทั้งสองสนทนาธรรมและปรัชญานานหลายวัน

หลังการสนทนาธรรม พระเจ้ามิลินท์ทรงซาบซึ้งหลักการและแนวทางของศาสนาพุทธ เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา 

บทสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า มิลินทปัญหา (The Questions of Milinda)

เมื่อเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงให้ช่างชาวบักเตรียสร้างพระพุทธรูปองค์แรกขึ้น โดยใช้ศิลปะการสร้างประติมากรรมแบบกรีก พระพักตร์อย่างเทพกรีก ลักษณะริ้วจีวรก็เหมือนเครื่องนุ่งห่มของรูปปั้นตะวันตก นี่เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปในโลก ประมาณห้าร้อยปีหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เรียกว่าพระพุทธรูปแบบคันธารราฐ

พุทธศาสนาไม่เคยมีรูปเคารพมาก่อน ในสมัยพระพุทธองค์ ยังไม่มีพระพุทธรูปหรือปฏิมากรรม (ประติมากรรมทางศาสนาเรียกว่าปฏิมากรรม) ทั้งที่การปั้นรูปบุคคลสำคัญตอนที่ผู้นั้นยังมีชีวิตเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธเรื่องนี้ ตรัสสอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดในพระรัตนตรัยคือพระธรรม ไม่ใช่พระศาสดา

ในกาลถัดมา สัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับพระพุทธองค์และศาสนามีฉัตร ธรรมจักร ต้นโพธิ์ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีพระพุทธรูป

ในยุคแรกพระพุทธรูปเป็นอนุสาวรีย์ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ เหมือนมีพระองค์ยังทรงอยู่เพื่อให้เราทำความดี ปฏิบัติธรรม เหมือนกับที่เราติดรูปถ่ายพ่อแม่ผู้ล่วงลับในบ้าน

เมื่อรวมศิลปะเข้ากับศาสนา เราก็ได้พระพุทธรูปที่งดงาม รวมใจคน ทำให้คนเลื่อมใส เหมือนกับที่เข้าวิหารคริสต์ รู้สึกว่าอลังการและเชื่อมกับความเชื่อเรื่องผู้สร้างได้ง่ายขึ้น

เจตนาแรกของการสร้างพระพุทธรูปรัชสมัยพระเจ้ามิลินท์ไม่ใช่เพื่อไสยศาสตร์ แต่ต่อมาก็ผิดเพี้ยนไปเรื่อย ๆ จนเลอะเทอะอย่างทุกวันนี้ เป็นความเชื่อว่าบูชาพระพุทธปฏิมาแล้วชีวิตจะเจริญ

ทว่าเมื่อบิดเบือนหน้าที่ของพระพุทธรูป แทนที่จะระลึกถึงคุณพระพุทธองค์และพระธรรมคำสอน กลายเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพร มันก็หวนกลับไปสู่หนทางแห่งศาสนาผี

มีผู้ใช้ประโยชน์จากความเชื่อนี้จนกลายเป็นการพาณิชย์ เช่น ให้คนเชื่อว่าหากบูชาพระพุทธรูปด้วยไม้หอม ชาติหน้าจะเกิดมาดี ฯลฯ

……………….………………………………………………

พระเครื่องที่วนเวียนในตลาดเป็นพระเดิม ๆ ที่มีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้การตลาดกำหนดว่า ควรหล่อด้วยวัสดุพิสดารอะไร พระอาจารย์องค์ใด ทำพิธีพิสดารเพียงไร โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์และบิลบอร์ดขนาดยักษ์สี่มุมเมือง มีพรี-เซลส์ พรี-ออร์เดอร์เหมือนสินค้าทั้งหลาย ชำระด้วยบัตรเครดิตได้ สารพัด

กระนั้นเราก็ยังเหนียมอายที่จะใช้คำว่า ‘ซื้อ-ขาย’ ทั้งที่มันเป็นการตลาดเต็มรูปแบบ

เราไม่ใช้คำว่า ‘ซื้อ’ พระเครื่อง มีแต่ ‘เช่า’ พระเครื่อง คำอธิบายในเรื่องนี้มีหลายอย่าง บ้างว่าพระเครื่องพระบูชาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จะเรียกว่าซื้อขายไม่เหมาะสม จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘เช่า’ หรือ ‘บูชา’ หรือ ‘ทำบุญ’ ฯลฯ ส่วนคำว่า ‘ปล่อย’ หมายถึงขาย

“เหรียญนี้ผมบูชามาสองพันบาท” 

ว่าก็ว่าเถอะ เด็กชั้นประถมก็เข้าใจไม่ยากว่า เช่าก็คือเช่า ซื้อก็คือซื้อ ขายก็คือขาย เป็นคนละความหมายกัน

ถ้าเช่าพระเครื่องจริง ก็ต้องไปคืนเจ้าของมิใช่หรือ ? และถ้าบูชาพระเครื่อง ทำไมต้องเอากลับบ้าน ? บูชาในวัดหรือในใจมิได้หรือ ?

เราเพียงแต่หลอกตัวเองเท่านั้น

หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคนจำนวนมากเชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดไม่เข้าใจความนี้ และเชื่อการเลี่ยงบาลีของคน และดลบันดาลให้คนที่บูชาประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นปลายแถวที่คิดไม่เป็น

ก็แสดงว่าเราใช้พระเครื่องเป็นยันต์หรือเสื้อเกราะป้องกันภัย

ถ้าคำว่า ‘ซื้อ-ขาย’ ไม่เหมาะสม การทำพระพุทธรูปเพื่อเป็นยันต์เหมาะสมแล้วหรือ ?

ในเมื่อเด็กชั้นประถมเข้าใจ และเทวดาไม่น่าจะโง่ ก็แปลได้อย่างเดียวว่าเราเองต่างหากที่แกล้งโง่ แกล้งคิดไม่ออก เพราะเมื่อใช้ความเชื่อนำทาง ก็ไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ มันสบายใจดี

และนี่เองที่ทำให้ชาวพุทธไม่น้อยถอยห่างจากแก่นพุทธธรรม

พระพุทธรูปทำหน้าที่เพียงให้เราระลึกถึงพุทธคุณ พระธรรม มิใช่ใช้เป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์หรือให้บูชาขอพรและชาติหน้าที่ดีกว่า

คิดดูง่าย ๆ ว่า เราวางรูปพ่อแม่ไว้ในบ้านเพื่อระลึกถึงพระคุณท่าน ทำไมเราไม่จุดธูปขอหวยจากท่าน หรือขอให้เราได้ชาติหน้าที่ดีกว่า ก็เพราะรูปเหล่านั้นมีไว้เพื่อระลึกถึงพระคุณท่าน เราเคารพรักท่าน เราจึงไม่ขอหวยขอรวยจากพ่อแม่

พระเครื่องก็เช่นกัน หากพกไว้เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์และพระธรรม เอาไว้เตือนสติเวลาคิดทำเรื่องไม่ดี ก็นับว่าสมเจตนารมณ์ของวัตถุนั้นแล้ว และหากใช้เพื่อเจตนาดังกล่าวจริง ทำไมต้องหาพระเครื่องราคาองค์ละล้านหรือหลายล้าน ? 

ตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ในฐานะภิกษุ ทรงใช้ชีวิตเรียบง่าย สวมจีวรธรรมดา ไม่เคยทรงใช้จีวรผ้าไหมอย่างดีเหมือนพระบางลัทธิในเมืองไทย ไปไหนมาไหนโดยการเดินเท้า ไม่ต้องมีรถเก๋งหรู ก็เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของแนวทางพุทธคือพระธรรมคำสอน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงปฏิเสธการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นทำไมเราจึงสร้างภาพพระพุทธองค์ด้วยพระเครื่ององค์ละล้าน หรือสร้างด้วยวัสดุและอัญมณีแพง ๆ เล่า ? มันคือการสวนทางคำสอนของพระพุทธองค์

ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้สำหรับทุกคน ไม่แบ่งแยกชนชั้น ฐานะ ถ้าพระเครื่ององค์ละล้านสามารถทำให้คนบรรลุธรรมชั้นสูงหรือพบชาติหน้าที่ดีกว่า คนยากจนก็คงต้องอยู่ในสภาพเดิมไปจนตายเช่นนั้นหรือ นี่ไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธองค์

ชาวพุทธล้วนรักและเคารพพระพุทธองค์ ยกให้พระองค์นำทางเรา แต่คนจำนวนมากกลับไม่สนใจคำที่พระองค์สอนไว้ว่า อย่าเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ เรายังคงบูชาศาสนาผีที่ละลาบละล้วงแปะยี่ห้อ ‘พุทธศาสนา’

ดังนี้จะเรียกตนว่าชาวพุทธได้อย่างไร

……………………….………….………….………….

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0