โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ครีเอทีฟ’ คืออะไร? มาทำความรู้จักอาชีพนี้กัน - เพิท เพจ Ad Addict

TALK TODAY

เผยแพร่ 08 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เพิท เพจ Ad Addict

‘ครีเอทีฟ’ เป็นอีกหนึ่งสายอาชีพที่ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนต้องเคยได้ยินชื่อตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน ซึ่งภาพในหัวของเราเวลาพูดถึงครีเอทีฟ เราก็มักจะนึกถึงคนเท่ๆ ดูเซอร์ๆ ติสๆ แต่งตัวแนวๆ ดูเป็นคนคูลๆ ทำให้อาชีพนี้อาจจะเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คนเช่นกัน

แต่เพื่อนๆ อยากรู้กันหรือไม่ ว่าจริงๆ แล้วอาชีพ ‘ครีเอทีฟ’ นี้คืออะไร และเขาต้องทำอะไรบ้าง? เราลองมาทำความรู้จักอาชีพนี้เพิ่มเติมกัน

========

อาชีพ ‘ครีเอทีฟ’ คืออะไร?

นิยามของอาชีพนี้ ผมคิดว่าคงมีคนนิยามไว้อยู่ค่อนข้างหลากหลายเหมือนกัน แต่ถ้าผมสรุปสั้นๆ ให้เพื่อนๆ เข้าใจแบบง่ายๆ ในมุมมองผม อาชีพครีเอทีฟ ก็คือคนที่ทำหน้าที่คิดไอเดียและสร้างสรรค์ผลงานความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ในการสื่อสาร หรือโจทย์ทางธุรกิจบางอย่าง เช่น การคิดโฆษณารูปแบบต่างๆ การคิดสินค้าใหม่ๆ หรือแม้แต่การคิดบทละครต่างๆ

จะเห็นได้ว่า ‘ครีเอทีฟ’ เป็นตำแหน่งอาชีพที่สามารถอยู่ได้ในหลากหลายวงการธุรกิจ แต่ถ้าหากพูดถึงกลุ่มธุรกิจที่ครีเอทีฟค่อนข้างมีบทบาทและถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนั้น ก็คือ อุตสาหกรรม ‘โฆษณา’ เพราะหากวงการโฆษณาขาดพวกเขา เราก็คงไม่ได้เห็นผลงานการสื่อสารแปลกๆ ใหม่ๆ ที่โดนใจเราในหลายๆ ครั้ง (แต่ก็อาจจะไม่โดนใจบ้างเหมือนกัน 55)

-----------------

‘ครีเอทีฟ’ แบ่งได้เป็นกี่แบบ? ต่างกันอย่างไร?

จากที่ผมได้บอกไปว่าครีเอทีฟเป็นสายอาชีพที่มีบทบาทสำคัญกับวงการโฆษณาเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าหากพูดถึงอาชีพครีเอทีฟในวงการเอเจนซีโฆษณา ซึ่งเป็นตัวกลางในการสร้างสรรค์ผลงานการสื่อสารต่างๆ นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ตำแหน่งหลักด้วยกัน ได้แก่

1. Art Director: ผู้สร้างสรรค์ภาพ ให้เราเข้าใจในไอเดีย

ตำแหน่งของคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ภาพเพื่อสื่อสารและเล่าเรื่องในสิ่งที่อยากจะนำเสนอ ซึ่งเป็นการทำไอเดียที่คิดให้ออกมาเป็นภาพจริงที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสกิลที่คนเป็น Art Director ส่วนใหญ่จำเป็นต้องมี ก็คือพื้นฐานในการวาดภาพ จัดวางองค์ประกอบต่างๆ ให้เหมาะสม

2. Copy Writer: ผู้สร้างสรรค์ข้อความและวิธีการเล่าเรื่องต่างๆ

ตำแหน่งนี้จะเน้นในเรื่องของความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ ‘คำและข้อความ’ ในชิ้นงานการสื่อสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแกนกลางในการเล่าเรื่องให้ออกมาตอบโจทย์แบรนด์ และโดนใจกลุ่มเป้าหมายด้วยข้อความที่ถูกกลั่นกรองมาอย่างดี ซึ่งสกิลของคนที่จะเป็น Copy Writer จำเป็นต้องมีก็คือการเขียน ที่อย่างน้อยต้องไม่เขียนผิด! และแน่นอนว่า ต้องสามารถเล่าเรื่องเป็น

พอเห็น 2 ตำแหน่งหลักของอาชีพครีเอทีฟแบบนี้ เพื่อนๆ ก็คงเห็นถึงความแตกต่างระหว่าง Art Director และ Copy Writer กันแล้วว่าคนนึงเน้นเรื่อง ‘ภาพ’ ส่วนอีกคนเน้นเรื่อง ‘ข้อความ’ ซึ่งเวลาทำงานจริงๆ ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ จะต้องทำงานควบคู่กัน ช่วยกันคิด และช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน เพื่อให้ไอเดียที่นำเสนอออกมามีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงไอเดีย และมีข้อความที่สามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารได้นั่นเอง

========

และนี่ก็คือเรื่องน่ารู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาชีพ ‘ครีเอทีฟ’ ที่เพื่อนๆ หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งพอเพื่อนๆ รู้จักอาชีพนี้มากขึ้นแบบนี้แล้ว หากใครมีความใฝ่ฝันจะทำอาชีพนี้ ผมแนะนำให้พยายามหาโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานของเราเก็บไว้เยอะๆ เพื่อเป็น Portfolio ในการสมัครงาน เพราะสำหรับสายอาชีพนี้ ผลงานถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าและเป็นสิ่งที่พี่ๆ วงการครีเอทีฟให้ความสำคัญมากกว่าผลงานก็คือ “Passion” ซึ่งถ้าหากคุณมีใจรักที่อยากจะทำงานสายนี้จริงๆ รับรองว่าสักวันคุณก็จะสามารถเป็นครีเอทีฟได้อย่างแน่นอน!

ถ้าเพื่อนๆ อยากรู้อะไรเกี่ยวกับครีเอทีฟเพิ่มเติมก็สามารถคอมเมนต์มาแบ่งปันกันไว้ได้นะครับ ไว้อนาคตจะหาโอกาสมาเล่าถึงอาชีพนี้แบบเจาะลึกเพิ่มเติมกันอีก

ติดตามบทความของเพิท เพจ AD ADDICT บน LINE TODAY ทุกวันพุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0