โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความกลัวโดยปกติ - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 07.37 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
 ภาพโดย Priscilla Du Preez / unsplash.com
ภาพโดย Priscilla Du Preez / unsplash.com

"ชีวิตนี้เรากลัวอะไรบ้าง?"   เราเคยถามตัวเองแบบนี้ไหมคะ ถ้าไม่เคยลองนั่งนิ่งๆ เงียบๆ อยู่กับตัวเองแล้วลองถามตัวเองอีกครั้ง พร้อมทั้งเขียนความกลัว สามอันดับแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของคุณ 

คำตอบของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน บางคนอาจจะมีคำตอบว่า กลัวผี กลัวจิ้งจก กลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ กลัวที่แคบ แค่นึกภาพขึ้นมาก็แทบจะเขียนอะไรลงบนกระดาต่อไม่ได้แล้ว เพราะความกลัวนั้นท่วมท้นจนมือสั่นใจสั่นและรู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้

ถ้าความกลัวของคุณออกมาในลักษณะแบบนี้ คุณมีแนวโน้วจะมีความกลัวในแบบไม่ปกติ หรือที่เรียกว่า Phobia (โฟเบีย) ซึ่งครึ่งหนึ่งมักมีโรคแพนิคร่วมด้วย ซึ่งวันนี้หมอจะยังไม่ได้เล่าเรื่องความกลัวที่ผิดปกติให้ฟังนะคะ

แต่วันนี้อยากมาเล่าความกลัวโดยปกติมากกว่า เพราะความกลัวคืออารมณ์สำคัญที่ทำให้เราสามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรากลัวตั้งแต่วินาทีแรกที่ออกจากท้องแม่ เราจึงร้องกระจองอแงให้คนอุ้ม ให้แม่ป้อนนม ความกลัวทำให้เราหาทางเอาตัวรอดจากอันตรายที่เข้ามาคุกคามชีวิต เช่นถ้าเราเจองูเห่า ศูนย์การควบคุมความปลอดภัยในชีวิตที่อยู่บริเวณก้านสมองก็จะสั่งการทันทีว่า จะสู้ จะหนี หรือหยุดนิ่งไม่ตอบสนอง เพื่อให้รอดจากงูเห่าตัวนี้

เรียกได้ว่าความกลัวเองก็มีประโยชน์ แต่หากความกลัวมากจนเกินไปก็จะทำให้เราเกิดความวิตกกังวลได้

ดังนั้นวันนี้ถ้าหากเราต้องการเรียนรู้ ที่จะจัดการความวิตกกังวลในจิตใจ การเข้าใจความกลัวซึ่งเป็นหัวเชื้อของความกังวลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ลองมาเช็คดูนะคะว่า เรื่องที่ทำให้เรากลัวโดยปกติแล้วส่งผลต่อความกังวลมีเรื่องอะไรบ้าง

1. กลัวการถูกทอดทิ้ง

เราจำวันแรกที่เราไปโรงเรียนกันได้ไหม เราไม่ได้กลัวโรงเรียนเพราะยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าโรงเรียนคืออะไร แต่สิ่งที่ทำให้ต้องเกาะขาคุณพ่อคุณแม่ไว้แน่ คือกลัวว่าจะทิ้งเราไว้ที่โรงเรียน ความกลัวนี้สำหรับบางคนแม้ว่าโตแล้วก็ยังไม่หายไป แค่เปลี่ยนคนเปลี่ยนสถานที่เปลี่ยนเวลา เช่น กลัวแฟนทิ้ง กลัวเพื่อนทิ้ง เป็นต้น

2. กลัวการถูกลืม

การที่เราให้คุณค่ากับการเป็นคนสำคัญ หรือเคยมีประสบการณ์ของการได้เป็นคนสำคัญแล้วรู้สึกติดใจกับความสุขในช่วงเวลานั้น การเป็นคนที่ถูกลืมจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

3. กลัวไม่เป็นที่รัก

เราทุกคนล้วนอยากเป็นที่รัก แต่ถ้าเราไม่มั่นใจว่าตัวเองนั้นดีพอที่คนจะรักหรือไม่ การไม่เป็นที่รักจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

4. กลัวการเปลี่ยนแปลง

เรารู้ดีว่าธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราใช้เวลาอย่างมากไปกับการพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

5. กลัวความผิดหวัง

เรามีความสุขเวลาที่เรามีความหวังแล้วสมหวัง จนบางครั้งลืมว่าไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตที่จะสมหวังและไม่เผื่อใจไว้สำหรับความผิดหวัง ความผิดหวังจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

6. กลัวการเป็นส่วนเกิน

คงเคยได้ยินว่า “มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม” เราจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่รอดได้เพียงลำพังคนเดียวต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ถ้าหากเราให้ความสำคัญในชีวิตกับคำว่าพวกพ้องมากเกินไป จนไม่ยอมให้ตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยวได้ในบางครั้ง ความรู้สึกเป็นส่วนเกินจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

7. กลัวตัวเองลำบาก

“ความจนมันน่ากลัวมากนะหมอ” คำพูดของคนไข้คนหนึ่งที่เครียดจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง เพราะความจนเคยทำให้ชีวิตเธอต้องลำบาก การมีเงินทำให้เธอมีความสุขจากความสบาย ในวันที่เงินหายากขึ้นจึงเป็นสัญญาณของความลำบาก การกลัวตัวเองกลับไปลำบากแล้วลืมว่าตัวเองเก่งแค่ไหนที่เคยผ่านความลำบากมาได้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ทำให้กังวลใจ

8. กลัวได้ยินสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน

หากเราให้คุณค่ากับสิ่งที่เราอยากเป็น มากกว่าสิ่งที่เราเป็น เราสนใจว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไรมากกว่าเรามองตัวเองอย่างไร การได้ยินสิ่งที่ไม่อยากได้ยินจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

9. กลัวตัวเองลืม

ยิ่งเราไม่ชอบความผิดพลาด เราก็จะยิ่งไม่อยากเห็นตัวเองทำอะไรผิดพลาด การกลัวตัวเองลืมแล้วพยายามจดจำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองทำผิดพลาดจะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ

เราจะรับรู้ความกลัวโดยปกติที่อยู่เบื้องหลังความกังวลใจไปเพื่ออะไร?

ก็เพื่อเข้าใจความกังวลแล้วใช้ความกังวลใจให้เป็นประโยชน์ เพราะในวันที่เราไม่รับรู้ความกลัวที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่เข้าใจความกังวล ความกังวลจะขโมยความสุขในปัจจุบันไปจากเราโดยอัตโนมัติ

แต่เมื่อไรที่เรารู้สึกได้ว่า กลัวก็ธรรมดา กังวลก็ธรรมดา“แล้วเราจะทำอย่างไรให้เราไม่กลัว ไม่กังวล?” นี่เป็นสัญญาณของการเป็นเจ้าของอารมณ์ตัวเองอย่างแท้จริง

แล้วเราอาจพบว่า It ‘s ok not to be ok มันก็โอนะถ้าบางครั้งเราจะรู้สึกไม่โอเค

บรรยากาศ มาหาสารความสุข

-

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0