โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

10 สาเหตุที่อาจทำให้เรากลายเป็นคนนอนไม่หลับ - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 29 ก.ค. 2563 เวลา 09.06 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ภาพโดย Alexandra Gorn / unsplash.com
ภาพโดย Alexandra Gorn / unsplash.com

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จนตอนนี้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ดูเหมือนว่าคนไทยเราจะเอาอยู่ แม้ว่าสถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยความมีน้ำใจร่วมด้วยช่วยกันที่เราจะเห็นเสมอมาทุกครั้งที่มีวิกฤตเกิดขึ้น ผลกระทบทางด้านร่างกายน้อยลงอย่างชัดเจนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ

แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจยังคงเป็นสิ่งที่เรายังคงต้องติดตามกันต่อไป

สิ่งหนึ่งที่หมอสังเกตได้คือคนมาขอรับคำปรึกษาเรื่องปัญหาการนอนไม่หลับมากขึ้น จนเมื่ออาทิตย์ก่อนได้ลองตั้งคำถามกับสมาชิกเพจ หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness ด้วยคำถามว่า"ใครมีปัญหาการนอนบ้าง? และมีปัญหาอย่างไร?" ปรากฏว่ามีคนคอมเมนต์ปัญหาการนอนมามากมายหลายร้อย จนหมอตอบไม่ไหวเลยทีเดียว

เลยทำให้มีความตั้งใจ อยากเขียนความรู้เรื่องการนอนให้ทุกคนได้อ่าน จะได้เป็นแนวทางในการที่เราจะนำไปปรับใช้หรือหาช่องทางในการดูแลรักษาต่อไป

ปัญหาในเรื่องการนอนนั้นค่อนข้างหลากหลาย แต่พอจะจัดกลุ่มลักษณะการนอนที่เริ่มผิดปกติได้เป็น 3 ลักษณะ 

  • 1.อยากนอนแต่นอนหลับยาก 
  • 2.นอนหลับแล้วเหมือนไม่ได้นอน ฝันมาก รู้สึกตัวง่ายและเมื่อรู้สึกตัวแล้วกลับไปหลับต่อยาก 
  • 3.หลับได้แต่ตื่นเร็ว แม้อยากนอนต่อแต่นอนไม่หลับ

สัญญาณที่บอกว่าการนอนเริ่มผิดปกตินั้น มักกระทบการนอนทั้งในเชิงคุณภาพ คือ ช่วงหลับได้ก็หลับไม่สนิท และเชิงปริมาณ คือเวลานอนได้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ

แต่ถึงเราจะเคยมีปัญหาการนอนผิดปกติที่ว่ามาก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเป็นโรคนอนไม่หลับเสมอไป เพราะเราทุกคนสามารถเจอสถานการณ์ที่การนอนมีปัญหาได้ หากมีสาเหตุบางอย่างมากระตุ้นและหากเรารู้สิ่งที่กระตุ้นการปรับที่สาเหตุก็จะทำให้การนอนของเรากลับมาปกติได้

10 สาเหตุที่อาจทำให้เรากลายเป็นคนนอนไม่หลับ

  • สภาพแวดล้อมของการนอน เช่น คนใกล้ตัวนอนกรนเสียงดัง ห้องอยู่ติดถนนมีเสียงรถ แสงไฟในห้องไม่มืดสนิท หรือ อุณหภูมิหนาวไปหรือร้อนไป
  • Jet lag (การที่นาฬิกาชีวิตของเราไม่สามารถปรับตัวได้จากการเดินทางข้ามเขตเวลา เช่น การไปต่างประเทศที่มีเวลาต่างกันหลายชั่วโมง) หรือ การทำงานเป็นช่วงเวลา (Shift work)
  • การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การมีโรคทางด้านร่างกาย เช่น การขาดลมหายใจในช่วงขณะหลับ (Sleep apnea syndrome) , เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เป็นต้น
  • การที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บ ,ได้รับการผ่าตัด , หรือมีอาการปวด
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ , ยาขยายหลอดลม , ยารักษาไทรอยด์ เป็นต้น
  • ความเครียด
  • เป็นอาการนึงของโรคซึมเศร้า, อารมณ์สองขั้ว หรือเป็นผลของโรคทางจิตเวชอื่นๆ
  • การมีวินัยการนอนที่ไม่ดี (Poor sleep hygiene) - อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ : นอนดีชีวีมีสุข 
  • เป็นโรคนอนไม่หลับ (Primary insomnia)

ซึ่งโรคนอนไม่หลับ (Primary insomnia) มักเกิดตามมาจากการที่เรามีประสบการณ์การนอนไม่หลับอาจเพียงแค่ครั้งเดียว จากหลากหลายสาเหตุที่ว่ามา แล้วทำให้เกิดความวิตกกังวลในการนอนของตัวเองในคืนถัดไปว่า “เราจะนอนไม่หลับอีกมั้ย” “คืนนี้จะหลับมั้ย”

ความคิดเหล่านี้มักทำให้ยิ่งนอนไม่หลับ จนมีปัญหาการนอน และหากเป็นต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 1 เดือน

จนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ก็จะกลายเป็นโรคนอนไม่หลับได้ในที่สุด

ดังนั้นหากเราเริ่มมีประสบการณ์การนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ้าง อย่าเพิ่งตกใจ เพราะยิ่งตกใจยิ่งทำให้นอนไม่หลับ ลองค่อยๆ ถามตัวเองว่าอะไรที่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีปัญหาการนอนได้บ้าง

บางสาเหตุเราสามารถแก้ไขได้เอง บางสาเหตุใช้เวลาในการปรับตัว บางสาเหตุต้องรีบพบผู้เชี่ยวชาญ

และไม่ว่าจะมาจากสาเหตุไหน ปัญหาการนอนไม่หลับก็มีทางออกเสมอ

เปลี่ยนพ่อแม่อย่างไรให้หันมาฟังเรา

-

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0