“10 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส” คำสอนของพ่อยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
วันที่ 13 ตุลาคม 2561 ปีนี้เป็นวันครบรอบแห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทย หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงเป็นดั่ง “พ่อหลวง” แห่งปวงพสกนิกรชาวไทย และในปีนี้ เราจะย้อนรำลึกถึง “คำสอนของพ่อ” โดยการอัญเชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะยังคงเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรในทุกยุคทุกสมัย อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นใหม่อีกด้วย
1. ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้
“ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคนหลายๆทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางและบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓
2. ความสุขที่แท้…ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาด้วยการเบียดเบียดผู้อื่น
“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”
พระราชดำรัสในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ๒๕๓๙
3. เสรีภาพเป็นสิ่งที่ดี…ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
“การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีความยุ่งยาก จะทำสังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง”
พระราชดำรัสเนื่องในวันนักข่าว ๕ มีนาคม ๒๕๒๐
4. การรู้จัก“ปิดทองหลังพระ” ก็สำคัญ
“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖
5. คนที่พูดคำไหนเป็นคำนั้น…ก็จะได้รับความเชื่อถือ
“ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐
6. เมื่อมีโอกาสทำงานก็ควรทำให้เต็มที่
"เมื่อมีโอกาสและมีงานทำควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐
7. ทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นกล้าทำตาม
“สิ่งใดที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว ท่านจะต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะพาให้เกิดความท้อถอย ทำให้มีคนทำงานจริงน้อยลง งานทุกอย่าง คุณธรรมทุกอย่างจะเสื่อมทรามลงจนหมดสิ้น เมื่อท่านกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะเป็นตัวอย่าง ชักนำผู้มีความรู้ สติปัญญาทั้งหลาย ให้มีกำลังใจ มีความเข้มแข็งที่จะปฏิบัติอย่างเดียวกัน”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๔
8. “ความรู้” เป็นหลักของการทำงาน
“ความรู้นั้นเป็นหลักของการงาน ผู้ที่จะทำงานอย่างใดจำต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อนเบื้องต้น ส่วนความคิด เป็นเครื่องช่วยความรู้ คือช่วยให้ใช้ความรู้ได้ถูกต้อง เช่น จะใช้อย่างไร ที่ไหน เมื่อใด เมื่อมีความรู้สำหรับงาน มีความคิดสำหรับพิจารณาใช้ความรู้ให้ถูกต้องแล้วย่อมทำงานได้ผลสมบูรณ์ดี ยากที่จะผิดพลาด ความรู้กับความคิดจึงไม่ควรแยกจากกัน”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๐๘
9. ใช้ชีวิตด้วยความรู้วิชาอย่างเดียวไม่พอ…ต้องมีศีลธรรมด้วย
"การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑๘ ก.ย. ๒๕๐๔
10. เตรียมตัวให้พร้อมรับอุปสรรคในชีวิตเสมอ
“วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัยมีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ทุกๆคนจะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๒๘ ในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๕๒๗
10 พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านพระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยในวาระโอกาสต่างๆซึ่งเราได้อัญเชิญมานี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคำสอนของพ่อ ซึ่งสะท้อนถึงความรักความปรารถนาดีที่พระองค์ท่านมีต่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา และทางเราก็อยากให้ชาวไทยทุกคนใช้ชีวิตโดยรำลึกถึงพระองค์ท่าน ด้วยการยึดมั่นในความดี ความถูกต้อง ความเหมาะสม ให้เป็นดั่งเข็มทิศที่นำทางชีวิตสืบตลอดไป