โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถึงร้ายก็รัก! รู้จัก 'โรคคลั่งผู้ร้าย' อาการทางใจที่อาจมี 'สื่อ' ช่วยปั่น

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2564 เวลา 18.23 น. • AJ.

เกิดอะไรขึ้น? เมื่อคนบางกลุ่มปฏิบัติกับ 'ผู้กระทำผิด' ด้วยความหลงใหลและชื่นชม แทนที่จะเป็นการลงโทษและโกรธแค้น

ทางจิตวิทยา มีคำอธิบายอาการเหล่านี้ว่าคือ 'Hybristophilia' หรือ'โรคคลั่งรักผู้ร้าย' คืออาการที่บางคนรู้สึก 'รัก' และ 'มีอารมณ์ทางเพศ' กับคนร้ายหรือฆาตกรเป็นพิเศษ อาการเหล่านี้คือคำตอบว่าทำไมบางคนถึงหมกมุ่นกับเหล่าฆาตกรต่อเนื่อง หรือบุคคลที่ดูเลวร้ายในสายตาของคนทั่วไป

เจฟฟรี เอียน รอส (Jeffrey Ian Ross) นักอาชญาวิทยาและอาจารย์มหาวิทยาลัยบัลติมอร์ กล่าวเสริมว่าประเภทของผู้ร้ายที่มีแนวโน้มดึงดูดคนมีอาการคลั่งรักผู้ร้ายคือพวกฆาตกรต่อเนื่อง พวกเจ้าลัทธิ รวมถึงพวกก่ออาชญากรรมทางเพศ

ชอบดูหนังฆาตกรรม ถือเป็นคนคลั่งรักฆาตกรด้วยหรือเปล่า?

หากแค่ชอบดู แต่ไม่ถึงกับรู้สึกคลั่งไคล้ หรือรู้สึกเสียวซ่านกับรูปลักษณ์ฆาตกร รวมถึงอยากสานสัมพันธ์จริงๆ กับผู้ร้ายก็ไม่นับว่าเข้าข่าย

หลุยส์ ชาร์ลซิงเกอร์ (Louis Schlesinger) อาจารย์ด้านนิติจิตวิทยา ที่ John Jay College Of Criminal Justice กล่าวว่ากลุ่มคนที่เข้าข่ายอาการคลั่งรักผู้ร้าย มักมองว่าอาชญากรเหล่านี้อาจเป็นคนรักที่ดีได้ ในกรณีที่เป็นแฟนคลับระดับที่ไปเยี่ยมถึงเรือนจำ (อย่างในกรณีของเท็ด บันดี้ ที่จะกล่าวถึงต่อไป) หลุยส์บอกว่าเหล่าคนคลั่งรักจะรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมพวก'แบดบอยส์' เหล่านี้ได้ เพราะพวกเขาอยู่หลังลูกกรง แถมยังทำตัวแสนดี (แน่สิ ก็มีผู้คุมสังเกตพฤติกรรมอยู่ยังไงล่ะ หลุยส์ว่า) หลายคนมองว่าตนอาจเป็น'แม่พระมาโปรด' เหล่าคนร้ายได้ อย่างการช่วยให้พ้นโทษ เป็นต้น ซึ่งก็มีอีกหลายกรณีเช่นกันที่เหล่าคนคลั่งรักมองว่าการมีคนรักเป็นอาชญากรมือเปื้อนเลือดมันช่างเร้าใจซะเหลือเกิน!

ผู้ร้ายแบบไหน ที่คนคลั่ง?

เท็ด บันดี้ (Ted Bundy) ฆาตกรต่อเนื่องเลื่องชื่อชาวอเมริกันยุค 70's ลงมือฆ่าข่มขืนผู้หญิงไปกว่า 36 ราย (เจ้าหน้าที่สืบสวนคดีบอกว่าเหยื่ออาจมีมากถึง 100 คนด้วยซ้ำ) โด่งดังด้วยรูปลักษณ์ที่หลายคนบอกว่า 'หล่อเหลา' เขาเป็นผู้ร้ายที่มีคารมคมคาย ทั้งยังเคยมั่นอกมั่นใจขนาดขึ้นศาลว่าความให้ตัวเองมาแล้ว เป็นฆาตกรต่อเนื่องที่มีแฟนคลับมากมาย และไปสุดถึงขนาดมีการตั้งชื่อกลุ่มคนคลั่งไคล้เท็ด บันดี้ว่า บันดี้ไฟล์ (Bundyphile) มีข่าวลือว่าหนึ่งในผู้หญิงที่เขาเคยมีสัมพันธ์ด้วยคือทนายความของเขาเอง ส่วนภรรยาของเขาก็พัฒนาความสัมพันธ์มาจากแฟนคลับที่ติดตามมาตั้งแต่ตอนเขาขึ้นศาลครั้งแรกๆ จนลงเอยและมีลูกด้วยกันก่อนเขาจะถูกตัดสินประหารชีวิต

ขอบคุณภาพจาก uknow.uky.edu
เท็ด บันดี้ / ขอบคุณภาพจาก uknow.uky.edu

เช่นเดียวกับ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ (Jeffrey Dahmer) ฆาตกรที่ฆ่าผู้ชายไปกว่า 17 คน ทั้งยังมีการตัดอวัยวะเพศและกินเนื้อเหยื่อด้วย ชาร์ลส แมนสัน (Charles Manson) เจ้าลัทธิแมนสันแฟมิลี่ที่ก่อเหตุฆ่าชารอน เทต ดาราฮอลลีวู้ด จนเป็นข่าวระทึกขวัญไปทั่วโลก ตามด้วยริชาร์ด รามิเรซ (Richard Ramirez) เจ้าของฉายานักล่ายามค่ำคืนที่ฆ่าข่มขืนเหยื่อไปกว่า 13 ราย ซึ่งรายสุดท้ายนี้ได้แต่งงานกับหนึ่งใน 'แฟนคลับ' เช่นกัน

หรืออย่างในกรณีเมื่อไม่นานมานี้คริส วัตต์ (Chris Watts) ฆาตกรที่ฆ่าภรรยาที่กำลังตั้งท้อง และลูกสาวสองคนอย่างเลือดเย็นเพราะตนไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น ก็กลับได้รับ 'จดหมายรัก' และภาพนู้ดจากแฟนคลับจำนวนมากระหว่างที่เขากำลังถูกคุมขังในเรือนจำ มีการใช้แฮชแท็ก #TEAMCHRIS #CHRISISINNOCENT ยืนยันความรักกันไปอีก

อาการคลั่งรักผู้ร้าย อาจเกิดจาก ภาพลักษณ์ของ 'คนร้าย' ที่สื่อนำเสนอ

ข่าวของคริสได้รับคำวิจารณ์จากประชาชนชาวอเมริกาเป็นจำนวนมาก ในแง่ที่ 'สื่อ' อาจนำเสนอคริสในแง่มุมที่ดีเกินไป มีการตีพิมพ์ภาพคริสยิ้มแย้มแจ่มใส แวดล้อมไปด้วยครอบครัวอบอุ่นที่สุดท้ายกลายเป็นเหยื่อที่น่าสงสาร หลายความเห็นนำมาเทียบกับคดีที่มีคนร้ายเป็น 'คนผิวสี' ที่สื่อจะเลือกใช้ภาพอาชญากรของบุคคลนั้นๆ ในการทำข่าว แต่พอผู้ร้ายเป็นคนผิวขาว สื่อกลับเลือกแสดงภาพดีๆ ของเขาแทน

ภาพจาก Twitter / เปรียบเทียบผลจากการค้นหาใน Google ของชายผิวสีที่สารภาพว่าฆาตกรรมผู้ชายที่พยายามข่มขืนลูกสาวของเขา และคริส วัตต์
ภาพจาก Twitter / เปรียบเทียบผลการค้นหาใน Google ด้านซ้ายคือชายผิวสีที่สารภาพว่าฆาตกรรมผู้ชายที่พยายามข่มขืนลูกสาวของเขา และด้านขวา คือ คริส วัตต์

คล้ายกับเคส'เนวาดาทัน' ฉายาของ'เด็กหญิงเอ' นามสมมุติของเด็กชาวญี่ปุ่นวัย 11 ปีที่ก่อเหตุฆาตกรรมเพื่อนร่วมชั้นอย่างโหดเหี้ยมด้วยมีดคัตเตอร์ โดยเหตุผลของการโกรธแค้นมาจากการถูกล้อเลียนในโลกออนไลน์อยู่บ่อยๆ มีภาพเธอปรากฏตัวในชุดเสื้อฮู้ดเขียนคำว่า NEVADA ก่อให้เกิดเป็นกระแสแห่งความเอ็นดูไปทั่วญี่ปุ่นถึงความ 'น่ารัก' ของเธอ หลายคนแสดง 'ความเป็นแฟนคลับ' ด้วยการวาดภาพแฟนอาร์ต ไปจนถึงคอสเพลย์เป็นเนวาดาทัน เรียกว่าโด่งดังในอินเทอร์เน็ตอยู่พักหนึ่งทีเดียว

กรณีของ 'เนวาดาทัน' ทำให้ชาวญี่ปุ่นตั้งคำถามถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้เยาว์ เพราะเพียงไม่นานหลังจากมีข่าว ใบหน้าจริง ชื่อจริง รวมถึงพิกัดโรงเรียนของเด็กหญิงเอก็โผล่ว่อนเน็ต รวมถึงจิตสำนึกของผู้คนในสังคมต่อการ 'ชื่นชม' ฆาตกรแทนการลงโทษอีกด้วย

อาการทางใจอย่างโรคคลั่งรักผู้ร้ายอาจเกิดขึ้นได้จริงกับคนบางกลุ่ม และแม้การชื่นชมบูชาผู้กระทำผิดจะไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางใจต่อเหยื่อและครอบครัวผู้เกี่ยวข้องซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าสื่อและโซเชียลมีเดีย ก็มีส่วนในการส่องแสงสปอตไลต์ให้ 'ผู้ร้าย' โด่งดัง จนอาจส่งผลต่อความคิดและวิจารณญาณของผู้คนในสังคมได้จริงๆ

อ้างอิง

indy100.com

mirror.co.uk

thematter.co

vice.com

womenshealthmag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 43

  • บุณยนุช มีพันธุ์
    สื่อสร้างกระแสจนผู้ร้ายกลายเป็นพระเอก
    03 มิ.ย. 2564 เวลา 03.08 น.
  • สุจินต์ กิตติบงกช
    คนที่ชื่นชอบคนที่น่าจะเป็นคนร้ายคือคนไร้สติปัญญา แยกแยะไม่ออก
    03 มิ.ย. 2564 เวลา 03.31 น.
  • yoohoo
    พาดพิงคดีตอนนี้ป่าว
    03 มิ.ย. 2564 เวลา 01.43 น.
  • Mr. EI
    เห็นด้วยที่ว่าไม่ควรคลั่งไคล้ใครเพียงเพราะหน้าตาและกระแส แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรด่วนตัดสินใครว่าผิดเพียงเพราะกระแสเช่นกัน
    03 มิ.ย. 2564 เวลา 05.37 น.
  • Kampol
    ไร้สมอง ไร้สติ
    03 มิ.ย. 2564 เวลา 01.13 น.
ดูทั้งหมด