โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฟุ้งซ่านจัด ปฏิบัติอย่างไรจะระงับได้เร็วๆ? - ดังตฤณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 02.11 น. • ดังตฤณ

ความฟุ้งซ่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง

แต่เกิดจากนิสัย ความเคยชิน วิธีคิด

ในแบบที่ลงเอยเป็นอาการฟุ้งจัด ควบคุมไม่ได้

พูดง่ายๆ คุณไปเสกพายุความฟุ้งซ่านไม่ได้

ต้องมีบางสิ่งเป็นตัวทำให้มันก่อตัวขึ้น

และเมื่อพายุความฟุ้งซ่านก่อตัวแรง

แล้วคุณใจร้อนอยากระงับมันลงเร็วๆ

แทนที่มันจะลดระดับ กลับทวีตัวแรงขึ้น

ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ก็จะหลับยากขึ้นอีก

ที่คุมสติคิดงานให้เป็นระบบระเบียบไม่ได้

ก็จะยิ่งกระเจิดกระเจิง ออกอ่าวยิ่งๆขึ้นไป

.

เหตุปัจจัยให้ฟุ้งยุ่งเตลิดเปิดเปิงมีอยู่ ๒ ชนิด

หนึ่ง ชนิดที่ควบคุมได้ แต่ไม่ยอมควบคุม 

สะท้อนว่า คุณเป็นพวกรนหาที่

อยู่ดีๆ ก็เอาความฟุ้งซ่านมาใส่หัว

แบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน

เช่น ไม่ต้องดูละครประเภทอัดฉีดเสียงกรี๊ดเข้าหู

ไม่ต้องคุยไร้สาระเละเทะหลายๆ ชั่วโมง

แต่ก็เต็มใจ ยินดี และไม่มีความคิดจะเลิก

กลัวชีวิตจะไม่สนุก

กลัวความสุขชั่ววูบพรรค์นั้นจะหายไปจากตัว

แบบนี้นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมให้ตายก็ไม่หายฟุ้งซ่าน

เพราะคุณเป็นพวกฝักใฝ่เอง

สมยอมเองตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

.

สอง ชนิดที่ควบคุมไม่ได้ เป็นเหตุสุดวิสัย 

เช่น ต้องฝืนใจอ่านหนังสือ เพื่อสอบให้ผ่าน

ต้องเข้าออฟฟิศที่เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง

เพื่อเลี้ยงชีพให้รอด เรียกว่าหลบไม่พ้น

หนีอย่างไรก็ต้องวิ่งเข้าชนตอวันยังค่ำ

อันนี้ให้บอกตัวเองว่า

อย่างไรก็ต้องเป็นทุกข์ อย่างไรก็ต้องฟุ้งซ่าน

แต่จำกัดความทุกข์ให้เกิดเป็นเวล่ำเวลา

อย่าต้องเป็นทุกข์

อย่าต้องปั่นพายุความฟุ้งตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็แล้วกัน

.

ยกตัวอย่างเช่น

รู้ตัวว่าตื่นนอนตอนเช้า ไม่อยากไปทำงาน

เพราะคิดถึงสภาพแวดล้อมแย่ๆ ในที่ทำงานแล้วปวดหัวใจ

แปลว่าคุณเริ่มอมทุกข์นั้นไว้

ตั้งแต่ลุกจากที่นอนไปจนถึงที่ทำงาน

คิดเป็นเวลา ๔๕ นาที หรือหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

จากนั้นพอถึงที่ทำงานจริง

เจองานและคนในที่ทำงานอันเป็นต้นเหตุทุกข์ของจริง

ก็เป็นทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ อีก

แถมพอเลิกงาน

ก็อาจจมอยู่กับอารมณ์แฟบๆ ต่ออีกไม่รู้กี่ชั่วโมง

พอ ๕ นาทีสุดท้ายใกล้นอน

ค่อยคิดหาวิธีระงับความฟุ้งซ่าน สวดมนต์ไหว้พระ

หรือนั่งดูลมหายใจบนที่นอนกัน

.

ลองเปลี่ยนใหม่ ทันทีที่ตื่นนอน 

พอรู้ทันว่าเริ่มคิดให้เป็นทุกข์ตามความเคยชินเดิมๆ 

เห็นว่ายังไม่มีใครมาทำอะไรให้ 

แต่ความคิดของคุณมันทำตัวเอง  

เล่นงานตัวเองให้เป็นทุกข์ 

คุณจะเกิดสติ  

เกิดความผ่อนคลายทั้งทางกายและทางใจ

แล้วเห็นว่า ๔๕ นาที หรือชั่วโมงครึ่ง

ที่จะต้องเดินทางไปสู่ที่ทำงานนี้

ยังไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์ก็ได้

เท่านี้ก็จะเกิดชนวนนิสัยทางจิตแบบใหม่

เกิดความเคยชินใหม่

ที่ช่วยให้พื้นที่ความทุกข์ในชีวิตน้อยลงทันที

คิดเป็นเวลาแล้วอาจจะหายไปวันละเป็นสิบชั่วโมง

โดยที่ยังไม่ต้องนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด

.

สรุปว่า ไม่มีการนั่งสมาธิเดินจงกรมแบบใด 

ที่ช่วยให้คุณหายฟุ้งซ่านได้เร็วๆ 

ตราบใดที่ยังไม่เลิกพฤติกรรมชวนป่วน 

ลากตัวเองเข้ารกเข้าพง 

แต่ตรงข้าม หากพฤติกรรมทางใจของคุณ 

ลดต้นเหตุความฟุ้งซ่านลงแล้ว 

มีความสงบระงับแล้ว พร้อมตื่นรู้กายใจตามจริงแล้ว 

นั่นเอง คุณถึงพร้อมจะปฏิบัติธรรม 

เพื่อถอดถอนอุปาทานในกายนี้ใจนี้เสียได้! 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 6

  • Yongyuth
    ฟุ้งซ่านรำคาญใจเกิดจากจิตไม่เป็นสมาธิแต่ถ้าฟุ้งซ่านไม่รำคาญใจเกิดจากจิตที่เป็นสมาธิมีสติรู้เท่าทันความคิดคิดดีก็รู้คิดชั่วก็รู้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา เราต้องการความคิดที่ประกอบไปด้วยสติปัญญา เท่านั้นจึงจะเป็นความคิดดีหาไม่แล้วเราจะตกไปอยู่ใต้อำนาจของความคิดชั่วเห็นแก่ตัวเพราะ ว่าขาดสติรู้เท่าทันความคิด นั่นเอง
    15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.53 น.
  • Tui of Earth
    การคิดฟุ้งซ่านบางคนก็หยุดง่าย แต่เพราะว่ามันเป็นนิสัย ก็ยากสำหรับบางคนที่จะหยุดมัน การคิดเป็นคุณสมบัติของนักคิด เพียงแต่ถ้ามันฟุ้งซ่านนักคิดเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปหาอะไรซักอย่างทำแทน เช่นออกไปสูดอากาศ หากิจกรรมเล็กๆทำ นิสัยไม่สามารถแก้ได้ภายในวันเดียวต้องฝึก ความคิดหยุดไม่ยากแค่หยุดคิดแล้วหากิจกรรมทำแทน ก็น่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย
    15 ธ.ค. 2562 เวลา 07.37 น.
  • อย่าไปกังวลกับในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เตรียมพร้อมกับในการแก้ไข ย่อมช่วยทำให้จิตใจดีขึ้นมาได้เหมือนกัน.
    15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.23 น.
  • Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
    ใช้วิธีหักเหจิต และทำความรู้สึกตัวกับลมหายใจเมื่อสงบจึงปล่อยวางทุกสิ่ง
    16 ธ.ค. 2562 เวลา 02.58 น.
  • Chanokchon星
    ถ้าคิดถึงใครซักคนมากๆจนรบกวนการทำงานในชีวิตของเรา ต้องทำยังไงคะ
    15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.50 น.
ดูทั้งหมด