โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อื้ม..ก็แปลกอยู่! รวม 5 การทดลองทางสังคม เปิดปม 'พฤติกรรมมนุษย์'

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 21 เม.ย. 2564 เวลา 18.45 น. • AJ.
ภาพโดย Markus Spiske / Unsplash
ภาพโดย Markus Spiske / Unsplash

ยอมไหม? หากเขาให้เราเป็น 'หนูทดลอง'

เพิ่งเป็นข่าวร้อนในโลกออนไลน์ไปหมาดๆ สำหรับประเด็น 'Umm ก็สวยอยู่' คลิปรายการสไตล์ถาม-ตอบที่มี 3 พิธีกรสาวนั่งตอบคำถามจากผู้ชมทางบ้าน โดยตอนแรกของรายการมีชื่อว่า"เรื่องความสวยที่อยากถามคนสวย" ซึ่งมีตอนหนึ่งที่พิธีกรให้คำปรึกษาในเรื่องการแต่งกาย รูปร่างในเชิงตัดสิน ไปจนถึงการกล่าวถึงชาว LGBTQ+ ด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง ชาวเน็ตส่วนใหญ่มองว่าพฤติกรรมของทั้ง 3 คนมีลักษณะเป็นไปในทาง 'บูลลี่' (Bully) และบั่นทอนความมั่นใจของผู้อื่น

ล่าสุดทางทีมงานรายการออกมาชี้แจงว่าคอนเทนต์ดังกล่าวเป็น'ละครวิทยานิพนธ์' และต้องการสื่อออกมาในรูปแบบ Social Experiment หรือการทดลองทางสังคม ที่ต้องการการแสดงความคิดเห็นของคนในโซเชียลเท่านั้น และจบเรื่องด้วยการที่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม้ทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยดี แต่ชาวเน็ตยังคงถกเถียงกันในเรื่องของผลกระทบต่อผู้ที่ได้ดูคลิป หลายคนยังวิจารณ์ 'การทดลอง' ดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม และไม่เห็นด้วยที่ทางทีมงานมองว่าพวกเขาเป็นเพียง 'หนูทดลอง' ของโปรเจกต์นี้ ทั้งๆ ที่มีหลายคนที่รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจจากการได้ดูคลิปจริงๆ

การทดลองทางสังคม ที่ส่งผลต่อ 'หัวใจ'

'การทดลองทางสังคม' หรือ Social Experiment นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจิตวิทยาที่มีมานานแล้ว โดยนักจิตวิทยาจะคิดการทดลองขึ้นมาเพื่อทดสอบปฏิกิริยาและพฤติกรรมของมนุษย์ ว่าเมื่อเจอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง คนเราจะตอบสนองอย่างไร ในอดีตมีการทดลองทางสังคมหลายอย่างที่ทั้งสุดโหดและท้าทายศีลธรรม ด้วยธรรมชาติของการทดลองประเภทนี้ที่มักทำกับมนุษย์หรือลิงเท่านั้น ซึ่งหลายการทดลองก็กลายเป็นแม่แบบให้นักจิตวิทยารุ่นหลังได้ศึกษา

เรารวบรวมการทดลองแปลกๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้มาให้ทุกคนลองอ่าน ทั้งการทดลองทางสังคมที่ทำให้เราทึ่ง ไปจนถึงผลการทดลองสนุกๆ ที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมาย้อนถามตัวเองอยู่เหมือนกัน ว่าเรา 'เป็นอย่างที่เขาว่าจริงหรือ?'

ภาพโดย Tetiana SHYSHKINA / Unsplash
ภาพโดย Tetiana SHYSHKINA / Unsplash

1.การทดลองนักไวโอลินใต้ดิน - ทดสอบความสุนทรีย์รอบตัวที่เรามักมองข้าม

ในปี 2007 นักไวโอลินชื่อดัง จอช เบลล์ (Josh Bell) ลงไปเปิดหมวกเล่นไวโอลินที่สถานีรถไฟใต้ดินกลางกรุงวอชิงตัน.ดี.ซี ก่อนหน้านี้คอนเสิร์ตของเบลล์เพิ่ง ขายหมดบัตรทุกที่นั่ง ด้วยราคาบัตรเข้าชมกว่า 100 ดอลลาร์ (ราว 3,000 บาท)

เบลล์เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก และกำลังเล่นไวโอลินสั่งทำพิเศษราคากว่า 3.5 ล้านดอลลาร์กลางสถานีรถไฟใต้ดินที่พลุกพล่าน เหลือเชื่อที่คนส่วนมากเดินผ่านเขาไปเฉยๆ โดยไม่แม้จะหยุดฟังเพลงเพราะๆ ด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กๆ จำนวนหนึ่งแสดงท่าทีสนใจและพยายามจะหยุดฟังเสียงเพลงของเบลล์ แต่พวกพ่อแม่ก็มักจะเร่งรัดเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าเสมอ

การทดลองนี้ทำให้เราตั้งคำถามสำคัญ ว่ามนุษย์เราสามารถเพิกเฉยต่อความสุนทรีย์รอบตัวได้แค่ไหน และทำให้รู้ว่าสิ่งสวยงามอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด แค่เพียงเราหัดหยุดมองเสียบ้าง

ภาพจากคลิปการทดลองของ 'คาร์ลสเบิร์ก'
ภาพจากคลิปการทดลองของ 'คาร์ลสเบิร์ก'

2.การทดลองของเบียร์ 'คาร์ลสเบิร์ก' - ทดสอบว่าเราไม่ควรตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก

การทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง 'คาร์ลสเบิร์ก' (Carlsberg) โดยให้คู่รักที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์ที่มีคนนั่งอยู่เต็มโรงยกเว้นสองที่นั่งตรงกลาง และเมื่อมองดีๆ แล้ว เราจะพบว่าทุกคนที่นั่งอยู่ล้วนเป็นคุณพี่แก๊งไบค์เกอร์หนวดเฟิ้มหน้าโหดทั้งหมด!

ผลการทดลองสรุปว่าคู่รักหลายคู่มีท่าทีหวาดกลัวและเลือกเดินกลับออกไปจากโรงหนัง ในขณะที่คู่ที่เดินเข้าไปนั่งที่นั่งที่ว่างจะได้รับเสียงปรบมือกระหึ่ม และได้รับเบียร์คาร์ลสเบิร์กไปดื่มให้ชื่นใจ แคมเปญนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนเราไม่ควรตัดสินผู้อื่นจากภายนอก

ภาพจากคลิปการทดลองของ 'เบอร์เกอร์คิง'
ภาพจากคลิปการทดลองของ 'เบอร์เกอร์คิง'

3.การทดลองบูลลี่แฮมเบอร์เกอร์ของ 'เบอร์เกอร์คิง' - ทดสอบการตอบสนองต่อการกลั่นแกล้ง

อีกหนึ่งการทดลองทางสังคมที่เป็นแคมเปญโฆษณาจาก 'เบอร์เกอร์คิง' (Burger's King) ที่สร้างสถานการณ์กลั่นแกล้งกันของกลุ่มเด็กวัยรุ่นชายในร้านเบอร์เกอร์คิง ตลอดการทดลอง ลูกค้าส่วนมากเพียงมองดูและเพิกเฉยต่อเหตุการณ์บูลลี่ที่เกิดขึ้น ตัดภาพไปในครัว พนักงานร้านกำลังใช้มือต่อยแฮมเบอร์เกอร์จนบูดเบี้ยวเสียทรงและนำไปขายต่อ ผลลัพธ์คือลูกค้าที่ซื้อเบอร์เกอร์ไปต่างเดินมาต่อว่าพนักงานที่เคาท์เตอร์

เบอร์เกอร์คิงสรุปผลการทดลองดังกล่าวว่าในขณะที่ลูกค้ากว่า 95% กล้าแจ้งทางร้านว่าเบอร์เกอร์ของพวกเขาถูก 'ทำร้าย' แต่มีลูกค้าเพียง 12% ที่กล้ายื่นมือเข้าช่วยเด็กผู้ชายที่ถูกทำร้าย บางส่วนเดินมาแจ้งทางร้านให้ช่วยหยุดเหตุการณ์กลั่นแกล้ง

คงไม่ต้องสรุปผลการทดลองให้ฟัง แต่แคมเปญนี้ชวนทุกคนตั้งคำถามว่าคุณมีความกล้าแค่ไหนในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อตนเองเลย

ภาพโดย Pascal Meier / Unsplash
ภาพโดย Pascal Meier / Unsplash

4.การทดลองควันในห้อง - ทดสอบปฏิกิริยาของกลุ่มคนเมื่อเกิดเหตุการณ์ระทึก

การทดลองนี้ผู้เข้าร่วมต้องนั่งกรอกแบบสอบถามอยู่ในห้อง ผู้วิจัยจะคอยสังเกตปฏิกิริยาของผู้ร่วมทดลองในขณะที่ค่อยๆ ปล่อยควันสีขาวเข้าไปในห้อง

ผู้ทดลองจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ทดลองอยู่คนเดียว กลุ่มถัดมาคือผู้ทดลองที่ไม่รู้จักกัน 3 คน และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ทดลอง 1 คน กับนักแสดงอีก 2 คน ผลการทดลองคือ ผู้ทดลองที่อยู่คนเดียวกว่า 3 ใน 4 ส่วนต่างเดินออกจากห้องมาแจ้งว่าในห้องมีควัน ขณะที่ผู้ทดลองที่ไม่รู้จักกันออกมาแจ้งเหตุเพียง 38% และสุดท้ายในกลุ่มที่มีนักแสดงแฝงตัวและไม่แสดงท่าทีตื่นตระหนกต่อควัน ผู้ร่วมทดลองต่างก็เฉยเมยไปด้วย และมีส่วนน้อยกว่า 10% เท่านั้นที่ออกมาแจ้งผู้วิจัยว่าในห้องมีควัน

สรุปผลการทดลองได้ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่หากไม่มีคนเริ่มตอบสนอง คนอื่นๆ ก็อาจนิ่งเฉย เพราะคิดว่าการกระทำของตนเองนั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไร

ภาพโดย BENCE BOROS / Unsplash
ภาพโดย BENCE BOROS / Unsplash

5.การทดลองบันไดเปียโนของ 'โฟล์กสวาเกน' - ทดสอบการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมื่อมีเรื่องสนุก!

การทดลองสนุกๆ ที่สนับสนุนโดย 'โฟล์กสวาเกน' (Volkswagen) แบรนด์รถยนต์ยี่ห้อดังนี้ ทำขึ้นเพื่อทดสอบว่าบางครั้งแค่เติมความสดใหม่ให้กิจวัตรเดิมๆ ที่แสนจะน่าเบื่อ ก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ไปได้เลย

ในการทดลองนี้ เขาเปลี่ยนบันไดในสถานีรถไฟให้กลายเป็นแป้นเปียโนที่ทำงานได้จริง เมื่อเราเดินผ่าน เจ้าบันไดจะส่งเสียงออกมาเป็นโน้ตดนตรีตามขั้นที่เราเหยียบ ให้ผู้โดยสารรถไฟได้เลือกว่าจะขึ้นลงบันไดเลื่อนตามปกติ หรือเปลี่ยนมาเดินผ่านขั้นบันไดนี้แทน

ผลปรากฏว่าบันไดเปียโนนี้เรียกคะแนนความนิยมให้คนเดินผ่านเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 66% ทีเดียว แสดงให้เห็นว่าทางลัดอย่างบันไดเลื่อนก็อาจหมดความหมาย หากเราเปลี่ยนการขึ้นลงบันไดให้กลายเป็นเรื่องสนุก แถมสุขภาพดีอีกต่างหาก!

การทดลองทางสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีผู้ทดลองเป็น 'มนุษย์' ตัวเป็นๆ ให้นักจิตวิทยาได้ทำการทดสอบ ในแง่ของศีลธรรม การทดลองแบบนี้อาจดูหมิ่นเหม่และน่าตะขิดตะขวงใจอยู่บ้าง แต่ในเชิงผลลัพธ์ บทสรุปของแต่ละการทดลองจะทำให้มนุษย์อย่างเราได้เรียนรู้จากการกระทำของตนเอง ที่เหลือก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะนำข้อคิดที่ได้ไปพัฒนาตนเองในด้านใด :)

-

อ้างอิง

abc13.com

verywellmind.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 19

  • Wallop Danchaiyakul
    เคสแรกที่คนไม่รอฟังการทดลองน่าจะไม่โอ คนเดินทางด้วยรถใต้ดินมีความเร่งด่วนอยู่แล้ว มาฟันธงวิเคราะห์แบบนี้ไม่ถูกหรอก หาวิธีทดลองใหม่จะเหมาะกว่า
    07 ต.ค. 2565 เวลา 02.48 น.
  • Popzcorn
    ชั้นชอบการทดลองของเบอเกอร์คิง
    27 ก.ย 2565 เวลา 01.10 น.
  • amorn
    การทดลองน่าสนใจ แต่การสรุปผลห่วยไปหน่อย
    26 ก.ย 2565 เวลา 13.51 น.
  • เป้
    สรุป มนุษย์ชอบทดสอบพฤติกรรมคนอื่นมากกว่าทดสอบพฤติกรรมตนเอง
    24 เม.ย. 2564 เวลา 03.46 น.
  • Pornrawee 🐬🐼
    เราควรเปิดใจกว้างและยอมรับในตัวตนของเรา นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับด้านจิตวิทยาจำเป็นต้องทดลองโดยการสมมติสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อดูการตอบสนองต่อพฤติกรรมต่างๆ จะได้นำไปวิเคราะห์ต่อได้ ...เป็นเนื้อหาที่มีสาระ และประโยชน์ทางความคิดดีค่ะ ควรเอามาลงบ่อยๆ
    23 เม.ย. 2564 เวลา 14.35 น.
ดูทั้งหมด