โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเก่าและความใหม่ในไวยากรณ์ของเมือง - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2561 เวลา 08.59 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน

เราใช้ภาษาในชีวิตประจำวันเพื่อทำความเข้าใจกัน แต่ไวยากรณ์และขนบของการสื่อสารเพื่อเอาตัวรอดก็เป็นที่มาของข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจ ทั้งยังบ่มเพาะทัศนคติคับแคบให้กับผู้ใช้ภาษาได้มากพอๆกับที่มันให้ประโยชน์ในการเข้าสังคม 

ภาษาสื่อสารจำเป็นต้องกระชับ เรียบง่าย ไม่เอื้อพื้นที่ให้ขยายความหรือตั้งคำถาม เราลดทอนรายละเอียดและความรู้ความเข้าใจไปมาก (ทั้งในแง่ความรู้จากตำราและความรู้จากประสบการณ์ส่วนตัว) เพื่อแลกเปลี่ยนเร่งด่วน คำศัพท์ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการรับรู้ผิวเผิน เพื่อจุดประสงค์ระยะสั้น หรือกระทั่งเพื่อหลีกเลี่ยงความจริง ภาษาสื่อสารจึงไม่ควรถูก “เชื่อ” ว่าเพียงพอสำหรับใช้เป็นเหตุเป็นผลในมิติอื่นๆของชีวิตได้โดยปริยาย

ที่สำคัญ การสื่อสารในชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยการตกค้างของความรู้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนและคำศัพท์ไร้ความหมาย (เช่น การพูดว่า “พระอาทิตย์ขึ้น-ตก” อาจมีประโยชน์ในการสื่อสารถึงช่วงเวลาของวัน แต่ไม่มีคุณค่าทางปัญญาใดๆ หนำซ้ำยังเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา) มันจึงมีหน้าที่เพียง “ทำซ้ำ” ทางการสื่อสาร ด้วยเหตุผลเดียวคือความคุ้นชิน ผลด้านลบที่ตามมาจึงเป็นการฝังรากของความเข้าใจผิดหรือทัศนคติคับแคบซึ่งถูกทำซ้ำไปด้วย บางอย่างทำซ้ำนานเป็นร้อยเป็นพันปีและไม่มีเค้าว่าจะเลือนหายตายจากในเร็ววัน

การนำภาษาสื่อสารแบบ “ตื้น” มาใช้ในบริบทที่ควรลงลึก อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจหรือการตัดสินใจที่ไม่ผ่านการพิจารณาเพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องทางสังคมและส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ตัวอย่างหนึ่งคือการพูดถึงความ “เก่า-ใหม่” ซึ่งในบางกรณีบดขยี้ความซับซ้อนของ “เวลา” ให้เหลือเพียงอคติเกี่ยวกับอายุขัยและการให้คุณค่าเชิงจารีต

เรามักใช้คำว่า “เก่า-ใหม่” ด้วยทัศนคติเกี่ยวกับเวลาแบบประสบการณ์วันต่อวันของมนุษย์ มีแนวโน้มจะวัดความ “เก่า-ใหม่” จากการให้ค่าทางมโนทัศน์เกี่ยวกับ “อายุขัย” และการเปลี่ยนแปรทางกายภาพในแบบของเรา แต่สสารและการดำรงอยู่แต่ละชนิดล้วนมีกรอบอ้างอิงทางเวลาของตัวเอง ไม่มีสิ่งไหนใช้เส้นเวลาร่วมกันโดยสิ้นเชิง ความ “เก่า-ใหม่” มีคุณสมบัติเป็น “สัมพัทธ์” (relative) นั่นคือขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ไม่มีความเก่า-ใหม่ใดเป็นสากล ในระดับบุคคล สิ่งที่อยู่กับเรามาสามสิบปีอาจเรียกว่า “เก่า” สำหรับเรา แต่ยังคง “ใหม่” สำหรับคนที่ไม่ได้ครอบครองมัน ตำนานที่สืบสานมาสองพันปี อาจ “เก่า” สำหรับวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ “ใหม่” สำหรับชุมชนที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่เมื่อเราครอบกรอบทุกอย่างด้วยความหมาย “เก่า-ใหม่” ของการสื่อสารแบบตื้น เราจึงมองข้ามความเป็นไปได้หรือความหมายในมิติอื่นๆของสิ่งที่อาจมีค่าบนเส้นเวลาของมันเองไปอย่างน่าเสียดาย

“เก่า-ใหม่” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการแบ่งพื้นที่เมืองและมองสิ่งปลูกสร้าง หลายเมืองในโลกมีย่าน “เก่า” ซึ่งมักเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีอาคารบ้านเรือนหลงเหลือจาก “สมัยก่อน” สะท้อนภาพวิถีชีวิต “ในอดีต” ส่วนย่าน “ใหม่” มักถูกพัฒนาขึ้นในช่วงต้นหรือกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ได้รับอิทธิพลจากการออกแบบเมืองของโลกฝั่งตะวันตก (ในโลกฝั่งตะวันตกเองมักเป็นย่านที่ได้อิทธิพลจากแนวคิดแบบ “สมัยใหม่”) ย่านเก่าของแต่ละประเทศมักถูกมองว่าเป็นการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ในขณะที่ย่านใหม่แสดงถึงความเจริญทัดเทียมเทียบเท่ากับวัฒนธรรมร่วมสมัยระดับสากล

การแบ่งแยก “เก่า-ใหม่” เช่นนี้ มาพร้อมกับนัยของการให้ค่าทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม ย่านเก่าได้รับการจัดการดูแลอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง มีงบประมาณรัฐและหลายแห่งมีกองทุนข้ามชาติพร้อมสนับสนุน เป็น “มรดก” ของโลก และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ในขณะที่ย่านใหม่มีสถานะลื่นไหลและเปราะบางกว่า ตกอยู่ภายใต้ความแปรปรวนของกระแสนิยม ตึกรามบ้านช่องอยู่ในกลไกของระบบใช้แล้วทิ้ง ความทันกระแสสำคัญกว่าการทำนุบำรุง ความ “เก่า” ยิ่งเก็บยิ่งมีค่า ความ “ใหม่” ต้องรื้อถอนได้จึงมีราคา

วัสดุปลูกสร้างจำนวนมากมีอายุขัยยาวนานกว่าชั่วอายุคน ความ “เก่า-ใหม่” ในการสื่อสารของมนุษย์จึงใช้ไม่ได้กับสิ่งปลูกสร้างโดยตัวของมันเอง เราวัดอายุของย่านในเมืองจากช่วงวัยและยุคสมัยของสังคม ซึ่งมีเหตุมีผลในมิติการใช้งาน แต่ถึงอย่างนั้น มันก็สร้างทัศนคติที่เป็นกรอบขังความเป็นไปได้อีกมากมายในการออกแบบและวางระบบสำหรับการอยู่อาศัยให้ชุมชน

การแบ่งแยกขอบเขตของการอนุรักษ์กับการใช้แล้วทิ้งอย่างเป็นขาว-ดำบนพื้นฐานการใช้ภาษาสื่อสารแบบตื้น ทำให้สังคมมักไม่พิจารณาการใช้งานหรืออายุขัยของรายละเอียดต่างๆในความเป็นเมืองจากปัจจัยอื่นๆที่อาจมีประโยชน์กว่าความ “เก่า-ใหม่” หรือการให้ค่าในเชิงประวัติศาสตร์

ความ “เก่า” ไม่จำเป็นต้องมีค่าเพียงเพราะมันอยู่มานาน ในขณะที่ความ “ใหม่” ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้แล้วทิ้งไปตามกระแสนิยม

สถานะใช้แล้วทิ้งของย่านใหม่ทำให้ภูมิทัศน์เมืองเปลี่ยนแปลงตามกระแสและการเปลี่ยนมือของกลุ่มทุน แม้จะมีสิ่งปลูกสร้าง “อายุมาก” แค่ไหน หากไม่อยู่ในย่านเก่าก็มักไม่นับว่าควรค่าต่อการอนุรักษ์หรือซ่อมแซมดูแล แต่อัตลักษณ์แท้จริงของชุมชนที่ยังมีชีวิตและยังพัฒนามักปรากฏอยู่ในย่านใหม่ หากสังคมสามารถขยายทัศนคติเกี่ยวกับเมืองให้กว้างกว่ากรอบของคำว่า “เก่า-ใหม่” ย่านใหม่อาจเป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญและมีมาตรการจัดสรรดูแลอย่างพิถีพิถันกว่า เพราะเป็นศูนย์รวมชีพจรของเมือง (และของชาติ) รวมถึงเป็นจุดสร้าง “ความทรงจำร่วม” ในช่วงวัยของผู้คนในชุมชนนั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนควรต้องขยายกรอบทางทัศนคติต่อเมืองออกจากคำว่า “เก่า-ใหม่” ปัจจุบันนี้การรักษาซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างในย่านใหม่แทนการรื้อถอน ไม่ได้มีเหตุจูงใจทางความสวยงาม เพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม หรือเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น การประหยัดพลังงานยังเป็นประเด็นที่นักออกแบบและวิศวกรควรต้องคำนึงถึงมากขึ้น และไม่ใช่เพราะมันเป็นปัจจัย “ใหม่” หากเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้จะดำรงอยู่อย่างมีคุณภาพใน “ระยะยาว” ของชุมชน ซึ่งมีมิติทางเวลาและอายุขัยสัมพัทธ์กับสภาพแวดล้อมอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน

หากคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของสังคม พื้นที่และสิ่งปลูกสร้างย่อมมีบทบาทอย่างยิ่งในความเป็นภาชนะรองรับความเป็นอยู่ของชุมชน นโยบายสำหรับดูแลจัดการพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างอย่างเหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ความหมายในระดับตื้นของภาษาอย่าง “เก่า-ใหม่” ที่เราใช้ระบุความเป็น “อดีต” กับ “ปัจจุบัน” ทำให้เกิดการตีค่าด้วยอคติที่ไม่เชื่อมโยงกับประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน

สังคมส่วนใหญ่มีอายุขัยยาวนานกว่าชั่วอายุของสมาชิกแต่ละคนอย่างน้อยเป็นศตวรรษ หากยึดติดอยู่แต่กับความหมายในภาษาสื่อสารของความ “เก่า-ใหม่” เราจะเสี่ยงกับการมองข้ามคุณค่าของพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างของชุมชนในระดับที่เหนือจากสัมพัทธภาพทางเวลาแห่งยุคสมัยของเรา และอาจมีส่วนในการลิดรอนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากคนรุ่นต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 15

  • ใช้ภาษาที่อ่านแล้ว เข้าใจเนื้อหาได้ยากมาก พยายามทำความเข้าใจ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี
    21 มิ.ย. 2561 เวลา 12.28 น.
  • Rosemaryn🌈
    นี่ๆ พ่อคุณก่อนจะเขียนบอกคนอื่นอะ ตัวเองก็โคตรจะรุ่ยรวยทางภาษาเหลือเกิน ใช้ภาษาสูงส่งเหยียดคนอ่านอยู่เรื่อย เนี่ยแหละอุปนิสัยน่ารำคาญของพวกนักเขียนซีไรต์ คำพูดมากมาย ความหมายเท่าเดิม นะปราบดา คุ่น ว่างๆ ลองไปอ่านพระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯพระเทพบ้างนะ ท่านเป็นเชื้อพระวงศ์แต่ท่านใช้คำเรียบง่าย สละสลวย อ่านเข้าใจง่าย จะเป็นนักเขียน สำนึกด้วยว่าเขียนให้คนอื่นอ่าน ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ ไม่งั้นก็ไปเขียนเองอ่านเองคนเดียวนะคะ พยายามอ่านงานคุณอย่างมีสติและไม่อคติแล้วนะ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี มองบนจนตาเหลือก
    22 มิ.ย. 2561 เวลา 12.06 น.
  • S.
    หลายปีก่อนอ่านงานปราบดาหยุ่นไม่รู่เรื่อง มาวันนี้ผ่านมาอ่านก็ยังไม่รู้เรื่อง เราคงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเขา
    22 มิ.ย. 2561 เวลา 04.38 น.
  • Ice
    สรุปสั้นๆคือ ต้องการจะสื่อว่า คนส่วนใหญ่เวลาจะใช้คำว่าเก่าหรือใหม่ เรามักมีอคติตัดสินไปแล้วว่าอันหนึ่งดี อีกอันหนึ่งไม่ดี เวลาใช้ซ้ำๆจะติดจนเกิดมุมมองด้านเดียว ซึ่งอันที่จริงไม่ว่าเก่าหรือใหม่ก็มีสิ่งดีในตัวมันเอง นอกจากนี้เก่าของคนหนึ่งอาจเป็นใหม่ของอีกคนก็ได้ คนเขียนเขาไม่อยากใช้ภาษาที่มีข้อจำกัดตื้นๆมาอธิบายสิ่งที่มีความลุ่มลึก สุดท้ายเลยใช้ภาษาเทพ เข้าใจเองคนเดียว จบ
    28 มิ.ย. 2561 เวลา 15.52 น.
  • Sirichai Sanguankaew
    บทความอธิบาย คำว่า "เก่า-ใหม่" ตามความหมายของภาษาและความหมายตามดารเรียนตามประสบการณ์แห่งตน ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory) เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการสร้างความรู้ของผู้เรียน ซึ่งถ้าพิจารณาจากรากศัพท์ “Construct” แปลว่า “สร้าง” โดยในที่นี้หมายถึงการสร้างความรู้โดยผู้เรียนนั่นเอง
    28 มิ.ย. 2561 เวลา 04.15 น.
ดูทั้งหมด