โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปิศาจในตัวเรา - วินทร์ เลียววาริณ

วินทร์ เลียววาริณ

เผยแพร่ 04 เม.ย. 2561 เวลา 11.00 น. • winbookclub.com

ในเดือนกรกฎาคม ปี 1961 สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ทำการทดลองทางจิตวิทยาสำคัญครั้งหนึ่ง ต่อมาเรียกชื่อว่า The Milgram Experiment

การทดลองนี้ประกอบด้วยตัวอย่างทดลองสองกลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นครู กลุ่มหลังทำหน้าที่เป็นนักเรียน ทดลองทีละคู่โดยมี สแตนลีย์ มิลแกรม เป็นผู้ควบคุมการทดลอง นักเรียนอยู่ที่ห้องหนึ่ง ครูกับผู้ควบคุมอยู่อีกห้องหนึ่ง

การทดลองเริ่มด้วยผูกข้อมือของนักเรียนด้วยเส้นลวดเชื่อมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ครูทำหน้าที่ป้อนคำถามแก่นักเรียน หากนักเรียนตอบไม่ได้ ครูจะลงโทษนักเรียนคนนั้นโดยกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าไปชอร์ตนักเรียน ปุ่มเหล่านี้เรียงจากค่าต่ำสุดไปถึงสูงสุด เมื่อตอบผิดครั้งแรก นักเรียนจะถูกลงโทษด้วยกระแสโวลต์ต่ำ และจะเพิ่มขึ้น 15 โวลต์ทุก ๆ ครั้งที่ตอบผิด บทลงโทษสูงสุดคือ 450 โวลต์ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ความเครียดเกิดขึ้นกับครูทุกคน เพราะเมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปหลายครั้ง นักเรียนจะร้องด้วยความเจ็บปวด จนถึงจุดจุดหนึ่งนักเรียนจะขอร้องครูไม่ให้ลงโทษพวกเขา บางคนทุบกำแพง บางคนร้องไห้ ครูบางคนลังเลและบอกผู้ควบคุมว่าจะขอเลิกทดลอง บางคนบอกว่าจะคืนเงินค่าจ้าง ผู้ควบคุมตอบว่า “เลิกไม่ได้ โปรดเดินหน้าทดลองต่อไป”

บางครั้งนักเรียนปฏิเสธที่จะตอบ เพราะกลัวตอบผิด ครูจะถือว่านักเรียนตอบคำถามนั้นผิด และกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า

แม้จะรู้สึกไม่สบายใจนัก ผู้ที่รับหน้าที่เป็นครูส่วนใหญ่ก็ดำเนินการต่อไปจนจบ ครูบางคนทนไม่ได้จริง ๆ ก็เดินออกจากห้องไป แต่ครูบางคนก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

หลังการทดลองจบแล้ว ผู้ควบคุมจะอธิบายให้ครูฟังว่า การทดลองนี้ไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจริงแต่อย่างใด นักเรียนที่มาทดลองทำหน้าที่เล่นบทหลอกครูเท่านั้น เสียงร้องของนักเรียนเป็นเสียงที่อัดเทปล่วงหน้า เพื่อหลอกดูปฏิกิริยาของครู ครูก็คือกลุ่มตัวอย่างที่แท้จริงของงานนี้

แม้ The Milgram Experiment ได้รับการวิพากษ์ว่าผิดจรรยาบรรณของการทำวิจัย แต่ผลการค้นพบน่าสนใจอย่างยิ่ง มันบอกว่ามนุษย์เราสามารถปฏิบัติตามคำสั่งให้กระทำเรื่องเลวร้ายได้ทั้งที่รู้ว่ามันผิด

การค้นพบนี้อธิบายว่ามนุษย์เราเชื่อฟังอำนาจเบื้องบนโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าเบื้องบนจะออกคำสั่งให้ทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน นี่อาจอธิบายว่าทำไมทหารนาซีจึงสามารถฆ่าชาวยิวหกล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งการทรมานนักโทษทุกรูปแบบ ทั้งที่รู้อยู่ว่ามันเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรม

นี่เป็นภาพที่เราเห็นเป็นประจำในสังคมบ้านเรา ข้าราชการรับคำสั่งรัฐมนตรีให้ปล้นชาติโดยไม่แย้ง ทั้งที่รู้โดยมโนธรรมและศีลธรรมว่ามันไม่ถูกต้อง อัยการปล่อยคนร้ายให้พ้นมือกฎหมาย ตำรวจรับใช้โจรที่เล่นการเมืองจนเป็นใหญ่ พัสดีโค้งคำนับนักโทษ ครูบาอาจารย์รับใช้นักการเมืองชั่ว ฯลฯ

ทหารนาซีที่ฆ่าชาวยิวก็เป็นคนธรรมดา รักครอบครัว เข้าโบสถ์ ตำรวจ พัสดี ครูอาจารย์ก็เป็นคนธรรมดา มีศาสนา เข้าวัดเข้าวา แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนเป็นปิศาจได้

.……………………………………………………..

ในชีวิตจริง คำสั่งมาในหลายรูปแบบและมีความรุนแรงต่างกัน ตั้งแต่การฆ่ากัน การยกพวกตีกัน ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ เช่น ประเพณีรับน้องวิตถารในบางสถาบัน

นักเรียนที่ยกพวกตีกันอาจมาจากครอบครัวที่ดี พ่อแม่อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี แต่ภายใต้บางสถานการณ์ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในคำสั่งให้ฆ่าหรือทำร้ายนักเรียนโรงเรียนอื่น ก็ไม่ปฏิเสธ

หลายคนเสพยาเพราะเพื่อนทุกคนเสพยา “ไม่งั้นจะเสียเพื่อน”

ในประเพณีรับน้อง เมื่อทุกคนก็ ‘ว้าก’ ใส่รุ่นน้อง เราก็ต้องทำด้วย “ไม่งั้นจะเข้ากับใครไม่ได้”

ฯลฯ

ความแตกแยกของสังคมบ้านเราในช่วงหลายปีนี้ สร้าง ‘ความชอบธรรม’ ให้เราทำร้ายเข่นฆ่าอีกฝ่ายได้ง่ายขึ้น ฆ่าพวกมันให้ตาย เอามันให้หนัก “เพราะพวกมันไม่ใช่พวกเรา”! ในที่สุดก็ไม่ต่างจากพวกนาซีที่ฆ่าชาวยิวไปหกล้านคน

คนเรามีข้ออ้างเสมอเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือคำอธิบาย เมื่อทำเรื่องแย่ ๆ : “ฉันทำตามหน้าที่”, “ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ”,“เบื้องบนสั่งมา ไม่ทำไม่ได้”, “เราต้องเคารพคำสั่ง”, “มันเป็นประเพณีของโรงเรียนเรา” ฯลฯ

สัญชาตญาณการเอาตัวรอดฝังในยีนของเราทุกคน แต่จุดหนึ่งที่ทำให้เราต่างจากสัตว์อื่น ๆ อยู่ที่เราพัฒนามโนธรรม ความรู้สึกผิดชอบชัั่วดี และเราพัฒนาสังคมให้ทุกหน่วยมีเจตจำนงอิสระมากเท่าที่จะมีได้ เรามีเจตจำนงอิสระที่จะทำดีหรือทำชั่ว

ไม่ช้าหรือเร็ว เราแทบทุกคนก็ต้องผ่านการทดลองกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า จะเลือกกดปุ่มหรือไม่กดปุ่มอยู่ที่เรา

เราทุกคนมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเป็นปิศาจได้ก็จริง แต่หากเราเลิกเชื่อว่าเราสามารถเลือกทำดีทำชั่วได้ เลือกที่จะมีความสุขได้ ชีวิตของเราจะเหลือคุณค่าอะไร?

มนุษย์อาจเป็นสัตว์ที่อ่อนแอโดยสันดาน แต่หากเราใช้เหตุผลนี้เป็นข้อแก้ตัวว่าเราอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อต้านอำนาจเบื้องบนที่เลวร้าย ก็เป็นเพียงคำแก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ เพราะประวัติศาสตร์มีตัวอย่างคนมากมายที่ปฏิเสธกระทำตามคำสั่งเลวร้าย

เราสามารถเลือกได้…

อย่างน้อยที่สุด 35% ของกลุ่มตัวอย่าง The Milgram Experiment ก็เลือกเดินออกจากห้อง ปฏิเสธที่จะกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำร้ายคนอื่น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0