ใคร ๆ ก็รู้ว่าหนึ่งปีมี 365 วัน หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง ดังนั้นหากมีคนบอกว่าหนึ่งปีมี 400 วัน หนึ่งวันมี 22 ชั่วโมง เราคงหาว่าเขาบ้าแน่ ๆ
แต่อย่าเพิ่งหัวเราะเยาะเขา บางทีเราอาจบ้าเสียเอง เพราะโลกเราเคยมียุคหนึ่งที่หนึ่งปีมี 400 วัน หนึ่งวันมี 22 ชั่วโมงจริง ๆ!
ยุคนั้นเรียกว่า ดีโวเนียน ในอดีตกาลประมาณสี่ร้อยล้านปีก่อนโน้น ชื่อนี้มาจากเขต Devon ประเทศอังกฤษ จุดที่เราพบตัวอย่างหินจากยุคนั้น บางครั้งเราเรียกมันว่า ‘ยุคแห่งปลา’ เพราะเป็นยุคที่สายพันธุ์ปลาในห้วงสมุทรมีความหลากหลายมาก
อย่างไรก็ตาม ปลาในยุคนั้นผ่านวันที่สั้นกว่าปลาในยุคของเรา คือวันละแค่ 22 ชั่วโมง หากเป็นวิถีชีวิตสมัยนี้ก็แปลว่าเรามีเวลาทำงานน้อยลง แต่ก็คงมีเวลานอนน้อยลงเช่นกัน
เหตุที่โลกตอนนั้นมีจำนวนวันต่อปีมาก จำนวนชั่วโมงต่อวันน้อยก็เพราะโลกหมุนเร็วกว่าตอนนี้ หมุน 22 ชั่วโมงก็ครบวันแล้ว นั่นหมายความว่าตอนนี้โลกหมุนช้าลงสองชั่วโมง จำนวนวันก็ลดลงเหลือ 365 วันต่อปี
เหตุที่โลกหมุนช้าลงก็เพราะดวงจันทร์ของเรานี่เอง ในอดีตกาลนานมาแล้ว ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมาก เวลานั้นคลื่นในทะเลแรงกว่าตอนนี้หลายเท่า ตามหลักฟิสิกส์แห่งแรง เมื่อวัตถุสองชิ้นโคจรกัน ชิ้นหนึ่งหมุนเร็วขึ้น อีกชิ้นหนึ่งจะหมุนช้าลง การโคจรของดวงจันทร์ทำให้โลกหมุนช้าลงประมาณน้อยกว่าหนึ่งวินาทีต่อศตวรรษและทำให้ดวงจันทร์หมุนเร็วขึ้น
ใช่! ลักษณะการโคจรแบบนี้จะทำให้ดวงจันทร์ค่อย ๆ ถอยตัวห่างจากโลกออกไปเรื่อย ๆ ปีละ 3-4 เซนติเมตร จนวันหนึ่งอีกสักหลายล้านปี ดวงจันทร์จะหายไปจากวงโคจรของโลก ผลก็คือโลกจะตุปัดตุเป๋เพราะไม่มีตัวถ่วงให้สมดุล นั่นหมายถึงธรรมชาติวิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก
โลกทางกายภาพจะหมุนช้าลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งไกลออกไปในอนาคตเท่าไร จำนวนวันต่อปีก็ยิ่งลดลง และความยาวของหนึ่งวันจะยาวขึ้น
ดังนั้นสมมุติว่าในอนาคตสักหลายล้านปี หากกายภาพของเราไม่เปลี่ยนจากวันนี้ เราจะมีเลข ‘อายุ’ สั้นลง แต่มีอายุขัยเท่าเดิม
มองแบบนี้จะเห็นว่าตัวเลขอายุจะสั้นหรือยาวไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือ “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ดังที่บางคนชอบปลอบใจตัวเองเวลาอายุมากขึ้น
อายุเป็นเพียงตัวเลขจริง ๆ!
.……………………………………………………..
ธรรมชาติให้ความยุติธรรมต่อคน สัตว์ พืช แบคทีเรีย ทุกชีวิตได้รับเวลายาวเหมือนกัน เวลาหนึ่งวัน หนึ่งชั่วโมง หนึ่งนาทีของเราทุกคนยาวเท่ากัน
เราจะอยู่ในโลกที่หนึ่งปีมี 400 วัน หนึ่งวันมี 22 ชั่วโมง หรือโลกที่หนึ่งปีมี 365 วัน หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเราทุกคนได้เวลาที่ยาวเท่ากัน
ประเด็นอยู่ที่เราจะใช้เวลาที่มีนั้นอย่างไร
แต่พนันได้ว่าถึงดวงจันทร์เคลื่อนคล้อยลอยหายไปจากโลกเรา จำนวนชั่วโมงต่อวันมากขึ้น เราก็จะยังคงได้ยินคนบ่นว่า “เวลาไม่พอ”, “เวลาน้อยจัง” จะไม่ได้ยินว่า “หัวหน้าให้เวลาผมทำงานชิ้นนี้มากไปแล้ว!”
คนจำนวนมากมีทัศนคติว่า เวลาไม่กี่ชั่วโมงทำอะไรไม่ได้มาก
“ให้เวลาผมครึ่งวัน จะทำอะไรได้”
วลี “เวลาไม่พอ” จึงเป็นทัศนคติเชิงลบมากกว่าเวลาไม่พอจริง ๆ เพราะเห็นงานทุกงานยากไว้ก่อน
คนเก่งไม่อ้างเรื่องเวลาไม่พอ จำนวนวัน-ชั่วโมงสั้นหรือยาวไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เราทำ และผลงานที่เราสร้างในวัน-ชั่วโมงนั้น
เมื่อไม่มองว่าเวลาน้อยเป็นข้อจำกัด มันก็เปลี่ยน ‘งาน’ เป็น ‘ความท้าทาย’ เหมือนได้เล่นเกมใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทัศนคติแบบนี้ทำให้ทำงานสนุกเสมอไม่ว่าหนึ่งปีจะมีกี่วัน และหนึ่งวันจะมีกี่ชั่วโมง