คำว่า centenarian แปลว่าคนที่มีอายุ 100 หรือมากกว่า 100 ปี
เป็นเป้าหมายชีวิตของคนไม่น้อย
หลายคนตั้งเป้าว่าจะอยู่ถึงร้อย เพื่อเข้ากลุ่มชาว centenarian
ในโลกที่มีพลเมืองเจ็ดพันล้านคนของเรามี centenarian ราวครึ่งล้านคน ถือว่าเป็น ‘เอ็กซคลูซีฟ คลับ’ ไม่ใช่ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกได้ง่ายๆ
คนไม่น้อยบอกว่าอยากอยู่ถึงวัยหนึ่งร้อยปี วันหนึ่งในอนาคต อายุเฉลี่ยของมนุษย์ก็อาจเลยเลข 100 เมื่อวิทยาการด้านการแพทย์ดีขึ้น ถึงเวลานั้นก็จะมีคนอยากอยู่ถึง 150
ในนวนิยายเรื่อง She (สาวสองพันปี) ของ H. Rider Haggard นักผจญภัยกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าป่าแอฟริกาไปในดินแดนที่ปกครองโดยราชินีผิวขาวนาม อะยีชา พระนางเลอโฉมสุดพรรณนา อายุสองพันปี มีอำนาจพิเศษและเวทมนตร์ สามารถรักษาแผลและโรคทุกชนิด นักผจญภัยพบถ้ำลับของนางใกล้ภูเขาไฟ เป็นที่ตั้งของกองเพลิงวิเศษ ใครก็ตามที่อาบไฟนี้จะกลายเป็นอมตะ
จิ๋นซีฮ่องเต้เมื่อครองอำนาจทั้งแผ่นดินจีน ก็ส่งคนไปแสวงหายาอายุวัฒนะ เพื่อให้มีพระชนม์ชีพยืนยาวหมื่นปีตามคำแซ่ซ้องของข้าราชบริพาร
ทั้งนิยายและเรื่องจริงบอกเราว่า ความปรารถนาจะมีชีวิตอมตะอาจฝังในจิตใต้สำนึกของเรา อาจเป็นเพราะธรรมชาติฝังความคิดว่าต้องอยู่รอดในโลกให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
เพียงแต่ ‘นานที่สุด’ ของมนุษย์ยาวกว่าของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
จิ๋นซีฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ พระชนมายุเพียงห้าสิบชันษา
ไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ ทุกชีวิตต้อง ‘ตาย’
หากใครคนหนึ่งเดินทางย้อนเวลาไปบอกคนโบราณยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ว่า คนยุคเราอายุหกสิบมีถึง 30 เปอร์เซ็นต์ (ในญี่ปุ่น) พวกเขาคงตะลึง เช่นที่เราก็คงไม่เชื่อว่าคนในอนาคตอีกสองพันปีอาจมีอายุเฉลี่ย 500 ปี
คนโบราณอาจตั้งความหวังว่าจะอยู่ถึงอายุ 50 ในโลกยุคที่คนส่วนใหญ่ตายตั้งแต่หนุ่มสาว อายุ 50 ก็เทียบเท่าอายุ 100 ในวันนี้
แต่ในอนาคตกาล ใครที่ตายตอน 100 อาจถือว่าอายุสั้นมาก
คำถามคือ เป็นไปได้ไหมในทางวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์จะเป็นอมตะจริงๆ
ตัวละครไซบอร์กในหนังไซไฟจำนวนมากแข็งแรงกว่ามนุษย์ เช่น The Terminator ทว่าไซบอร์กออกจากพื้นที่ของนิยายวิทยาศาสตร์มานานแล้ว ไซบอร์กมีจริงในโลก อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
เทคโนโลยีวันนี้สามารถผสมผสานไซบอร์กเข้ากับคนจริง ส่วนมากเป็นคนพิการ คนที่สูญเสียแขนขาในวันนี้สามารถสร้างแขนขาเทียมที่เชื่อมกับระบบประสาท และมีความรู้สึก
ไซบอร์ก (Cyborg หรือ Cybernetic Organism) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นมา มีอวัยวะส่วนใหญ่เหมือนมนุษย์ แต่ออกแบบให้แข็งแรงกว่า เช่น โครงสร้างกระดูกอาจเป็นโลหะพิเศษ
ดังนั้นใครที่เคยผ่าตัดกระดูก เปลี่ยนอวัยวะที่รับบริจาคมา ก็จัดว่าเป็นไซบอร์กในระดับหนึ่ง!
นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเราจะมีวิทยาการเชื่อมไซบอร์กกับเนื้อหนังของมนุษย์เป็นหนึ่งเดียว ทำให้แข็งแรงอายุยืนยาวกว่าเดิม อะไหล่ทุกชิ้นเปลี่ยนได้ตามศูนย์บริการทั่วไป หรือสร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนชิ้นส่วนที่เสียหายแบบหางจิ้งจกที่เมื่อขาดแล้วงอกใหม่ได้ วิทยาการอาจก้าวไปถึงจุดที่มิเพียงเราสามารถเปลี่ยนอวัยวะทุกส่วน แต่สามารถเปลี่ยนร่างกายหรือสร้างร่างกายใหม่ได้
มนุษย์ในอนาคตอาจสามารถกำหนดคุณลักษณะของชีวิตที่ต้องการแบบ ‘สั่งตัด’ (tailor-made) ได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบชีวภาพล้วนๆ หรือผสมเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์เข้าไปด้วย โลกจะไปถึงจุดที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของเราในทิศทางที่เราหรือสังคมต้องการ เช่น เปลี่ยนยีนไม่ดีเป็นยีนที่ดี ขจัดยีนที่ก่อโรค
นี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์เพราะปัจจุบันเรามีความรู้ถึงขั้นรู้พิมพ์เขียวของมนุษย์แล้ว เทคโนโลยีก็เดินทางมาถึงจุดที่ปรับแต่งยีนได้ในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี CRISPR (Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats) สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขยีนของเราโดยใช้ประโยชน์จากยีนของแบคทีเรีย ที่เหลือคือการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้จริง
เราจะก้าวไปถึงขั้นสามารถคัดสรรคนเป็นคนที่ ‘เพอร์เฟ็กท์’ ในอนาคตพ่อแม่อาจจะคัดลูกก่อนที่จะปฏิสนธิ ให้เป็น ‘designer baby’ หมายถึงเด็กที่เกิดมาจากการคัดเลือกยีนที่ดีที่สุด ปลอดโรคทางพันธุกรรม และหรือมีสมองชาญฉลาด
โลกอาจก้าวสู่การคัดเลือกอีกครั้ง ต่อจาก Natural Selection ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน
เราอาจสามารถกำหนดทิศทางของวิวัฒนาการขั้นต่อไปของเราได้
เวลานั้นมนุษย์อายุ 500 ปีอาจเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง และใครจะรู้ อายุหนึ่งพัน สองพันปี หรือกระทั่งหมื่นปีดังที่จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงปรารถนา ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ถ้าเทคโนโลยีการย้ายจิตสำนึก ประสบการณ์ชีวิต และความรู้ในหัวไปอยู่ร่างใหม่ได้ การอยู่เป็นอมตะก็เป็นไปได้ สามารถอยู่ในร่างกายใหม่ที่แข็งแรงกว่า หรือสามารถเปลี่ยนร่างได้เสมอ หรือกระทั่งไปถึงจุดที่ไร้ร่างกาย!
วิทยาการก็คือกองเพลิงอมตะของพระนางอะยีชา
แต่เราอยากจะมีอายุยืนยาวขนาดนั้นจริงหรือ?
………………….
สังคมโลกไม่ใช่ของปัจเจกไม่กี่คน อายุที่ยืนยาวขึ้นหมายถึงจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น อาจถึงขั้นล้นโลก คำถามที่ตามติดมาก็คือ เราจะมีอาหารพอเลี้ยงทุกคนหรือไม่ คุณภาพชีวิตของทุกคนเป็นอย่างไร เราจะทำลายสภาพแวดล้อมจนเป็นอย่างไร ฯลฯ
มนุษย์ไม่ได้อยู่เฉยๆ ต้องเสพอาหารใช้พลังงาน
มีชีวิตหกสิบปี ก็เสพอาหารใช้พลังงานหกสิบปี
มีชีวิตหนึ่งพันปี ก็เสพอาหารใช้พลังงานหนึ่งพันปี
และนิสัยไม่ดีของชาวมนุษย์ก็คือชอบทำลายธรรมชาติ
ในโลกของ centenarian ผู้คนอาจไม่ตายเพราะโรคภัย แต่ตายเพราะการฆ่ากัน หรืออาหารไม่พอกิน อาจจะเกิดสงครามมากขึ้น
ในธรรมชาติ เมื่อมีชีวิตใดมากเกินไป ธรรมชาติก็หาวิธีลดมันลง เพื่อให้สมดุล
หนังนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Logan’s Run (1976) ฉายสภาพโลกในปี 2274 ชาวโลกอาศัยอยู่ในเมืองใต้โดมยักษ์ ทุกคนมีอายุเพียงสามสิบปี เพราะเมื่อถึงวัยนั้น ก็ต้องเข้าสู่พิธีเดินทางสู่ความตาย ที่เรียกว่า Carousel ใครที่หนีออกจากเมืองโดมจะถูกตามล่าโดยตำรวจที่เรียกว่าแซนด์แมน
ตัวละครเอกชื่อ โลแกน 5 เป็นตำรวจ วันหนึ่งเมื่อเขาหนีออกจากโดม ก็พบว่าในโลกนอกโดมนั้น ผู้คนมีอายุจนแก่เฒ่า
ความจริงที่ค้นพบคือ โลกต้องคุมจำนวนประชากรให้คงที่ จึงต้องฆ่าประชากรเมื่อถึงวัย 30
บางทีวันหนึ่งเทคโนโลยีการมีอายุแบบไม่จำกัดอาจมาพร้อมกับการจำกัดอายุ!
สมมุติว่าวันนี้เรามีวิทยาการเพิ่มอายุได้ถึงหนึ่งพันปี เราอยากจะอยู่ให้ถึงวันเป่าเค้กวันเกิดหนึ่งพันปีหรือไม่
มองสภาพบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อม อากาศเสีย มลพิษ ฯลฯ หลายคนอาจจะไม่อยากอยู่นานขนาดนั้น
ท้ายที่สุดแล้ว คุณภาพชีวิตก็สำคัญกว่าความยาวของชีวิต
อีกปัจจัยคือความเบื่อหน่าย ถ้ามีชีวิตยืนยาว แต่ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย อาจเลวร้ายกว่ามีชีวิตเสียอีก
เราอาจต้องการอยู่ยาว เพราะเป็นคำสั่งของยีนให้เราเอาตัวรอดให้นานที่สุด อาจมิใช่เจตจำนงอิสระจริงๆ
คนส่วนใหญ่บอกคล้ายกันว่า ถ้าชีวิตดีมีความสุข ก็อยากอยู่นานๆ 100-200 ปีก็ได้
ถ้าทุกข์ทรมาน ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ตายเร็วหน่อยก็ดี
แปลว่าเรายังอยากมีความสุขมากกว่าอายุยืน
บางทีธรรมชาติอาจมีเหตุผลให้แต่ละชีวิตมีอายุเท่าที่เป็นอยู่ ช้างอายุประมาณ 100 ปี จระเข้ 100 ปี ม้า 30 ปี กระต่าย 7 ปี ผึ้ง 6 เดือน แมลงชีปะขาวอายุหนึ่งวัน ฯลฯ
ถ้าเช่นนั้น คุณอยากตายเมื่ออายุเท่าไร?
…………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
พฤศจิกายน 2561
ความเห็น 36
ว่างแล้ว-ถึงรู้จริง
อยู่เพื่อความวุ่นวาย หรือ อยู่เพื่อความสุข
26 พ.ย. 2561 เวลา 11.32 น.
ร่างกายไม่แข็งแรงเจ็บออดๆแอดๆ พิการติดเตียงให้อยู่200ปีเลยเอาไหม
คงไม่มีใครอยากอยู่ เวินจะหมดความหมายทันที เพราะงั้นร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง จิตใจที่เข้มแข็งจึงนับเป็นความประเสริฐอย่างแรกที่ทุกชีวิตควรมีและรักษามันไว้อย่างดี ไม่งั้นะหาเงินกันไปเพื่ออะไร ถึงจะตอบว่าเอาไว้บำเรอกามความอยาก นั้นก็ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงก่อนอยู่ดี
26 พ.ย. 2561 เวลา 12.31 น.
Phat
ตายเมื่อไรก็สมควรตายเมื่อนั้น ไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้สักคน
26 พ.ย. 2561 เวลา 11.39 น.
@...
ทุกสิ่งก็ล้วนแล้วต้องเป็นไปตามสัจจะธรรมของชีวิต จะไปคิดทำไมว่าเมื่อไรให้ปวดหัว สู้ทำวันนี้ให้ดีเข้าไว้แค่นั้นก็พอจะดีกว่า.
26 พ.ย. 2561 เวลา 12.16 น.
ps.sod
ตายเมื่อสิ้นลมหายใจ
26 พ.ย. 2561 เวลา 11.58 น.
ดูทั้งหมด