โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจ้าเซื่อเรื่องพญานาคบ่? พาส่อง 4 สัตว์ในตำนาน ท้าทายความเชื่อ

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 08 เม.ย. 2565 เวลา 17.00 น. • AJ.

ยังมีตำนานและเรื่องราวมากมายในโลกที่หาคำอธิบายไม่ได้

'พญานาค' คือหนึ่งในนั้น ด้วยความเป็นสัตว์ในตำนานที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี บางคนรู้จักในแง่ความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งที่ต้องเคารพบูชา บางคนรู้จักพญานาคในฐานะทูตการท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนไปเยี่ยมชม 'บั้งไฟพญานาค' ที่ริมน้ำโขงในทุกปี บางคนเชื่อว่าพญานาค 'มีจริง' ในขณะที่อีกฝั่งมองว่าเป็นเพียง 'เรื่องเล่า' เท่านั้น

นอกจากพญานาค โลกเรายังมีสิ่งมีชีวิตขึ้นหิ้งในตำนาน ที่เต็มไปด้วยปริศนาและความลึกลับ แต่ก็ดึงดูดความสนใจของพวกเราได้เป็นอย่างดี LINE TODAY จึงอยากชวนทุกคนส่อง'4 สัตว์ในตำนาน' ที่เกิดมาเพื่อท้าทายความเชื่อส่วนบุคคล ทั้งสร้างสีสันให้โลกใบนี้กลายเป็นสถานที่สุดแฟนตาซี แต่ในขณะเดียวกันก็จุดประกายให้มนุษย์เกิดความฉงนปนสงสัย นำไปสู่การค้นหาคำตอบที่อาจทำให้เราแปลกใจยิ่งกว่าเดิม!

(โปรดใช้วิจารญาณในการอ่าน และแสดงความคิดเห็น)

นางเงือก

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลาชนิดนี้ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ในตำนานอย่างแท้จริง เพราะเกิดจากการจินตนาการมนุษย์ล้วนๆ นักสมุทรศาสตร์จากทั่วโลกพยายามสืบสวนการมีอยู่ของนางเงือก แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่พบหลักฐานการมีอยู่จริงของนางเงือกแม้แต่น้อย

ตำนานนางเงือกเริ่มต้นมากว่า 3,000 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ที่มักมีการสมมติสิ่งมีชีวิตมากมายให้มีลักษณะครึ่งคนครึ่งสัตว์ (เช่น เซนธอร์ (Centaur) หรือครึ่งคนครึ่งม้า) นางเงือกในตำนานกรีกก็เช่นกัน โดยมีทั้งนางเงือกฝั่งดี ที่เป็นสมมติเทพ และนางเงือกฝั่งร้ายหรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า 'ไซเรนส์' (Sirens) นอกจากนี้ในวัฒนธรรมต่างๆ ก็มีนางเงือกเป็นของตัวเอง อย่างญี่ปุ่น ที่มีนางเงือกรูปร่างคล้ายปลาทองที่มีหน้าเป็นเด็กหญิง (หาดูได้ในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Ponyo)

Photo by Annette Batista Day on Unsplash
Photo by Annette Batista Day on Unsplash 

แล้วมีจริงไหม? : มีผู้แจ้งว่าเคยเจอนางเงือกหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ หนึ่งในเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดที่มีผู้พบเห็นนางเงือกคือที่ เมือง Kiryat Yam ประเทศอิสราเอล เมื่อปี 2009 โดยชาวบ้านแถบนั้นหลายคนอ้างว่าพวกเขาพบสิ่งมีชีวิตครึ่งปลาครึ่งคนที่ชายฝั่ง ข่าวลือดังกล่าวหนาหูหนักมากเสียจนนายกเทศมนตรีถึงกับประกาศว่าจะมอบเงิน 1 ล้านเหรียญให้กับคนที่มีหลักฐานการพบเห็นนางเงือกเลยทีเดียว

ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นกันจะจะได้ว่านางเงือกมีจริง ยังคงเป็นตำนานเมืองที่เล่ากันปากต่อปากต่อไป

เนสซี แห่งทะเลสาบล็อกเนส (Nessie, Loch Ness)

เนสซี สัตว์ประหลาดแห่งทะเลสาบล็อกเนสนับเป็นเรื่องลึกลับที่เก่าแก่ที่สุดของสกอตแลนด์ เป็นแรงบันดาลใจให้หนังสือ ภาพยนตร์ และรายการทีวีมากมาย ทั้งยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัสความลี้ลับอีกด้วย

แล้วมีจริงไหม? : การพบเห็นเนสซีครั้งแรกที่ทำให้กลายเป็นตำนานเกิดเมื่อปี 1933 เมื่อมีผู้พบเห็นสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายปลาวาฬที่ทะเลสาบ ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวถูกนำไปลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ 'สัตว์ประหลาดแห่งทะเลสาบล็อกเนส'

ถัดมาก็มีผู้เผยภาพถ่ายสัตว์คล้ายไดโนเสาร์บนผิวน้ำที่ทำให้ทั้งโลกฮือฮา แต่กระแสก็ค่อยๆ ซาลง เมื่อมีผู้พิสูจน์ว่าเป็นภาพปลอมบ้างล่ะ ภาพช้างของคณะละครสัตว์ขณะกำลังอาบน้ำในทะเลสาบบ้างล่ะ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีผู้ใช้โดรนถ่ายผิวน้ำ และพบเงาขนาดใหญ่สีดำกำลังขยับไปมาราวกับแหวกว่ายอยู่ใต้น้ำ

พิสูจน์แล้วว่าแหกตา!
พิสูจน์แล้วว่าแหกตา!

ซึ่งในปี 2021 นี้ ยังมีพยานอีกมากกว่า 5 รายที่บอกว่าสามารถบันทึกภาพเจ้าเนสซีไว้ได้ โดยหนึ่งในนั้นยังอธิบายว่านอกจากจะพบเห็นเนสซีตัวใหญ่แล้ว เขายังเห็นตัวเล็กๆ อีก 2 ตัวอยู่ใกล้ๆ กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ย้อนไปเมื่อปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์ที่ศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตในทะเลสาบได้รวบรวมดีเอ็นเอและตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลสาบแห่งนี้เพื่อทำการศึกษา ผลการวิจัยไม่พบหลักฐานของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายเจ้าเนสซีเลย แต่กลับพบดีเอ็นเอของ 'ปลาไหล' จำนวนมาก ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสิ่งที่ผู้คนเข้าใจว่าเป็น 'ไดโนเสาร์น้ำ' อาจเป็นแค่ปลาไหลยักษ์ก็ได้

เยติ (Yeti)

หลายคนน่าจะได้เคยได้ยินเรื่องราวของตัว 'เยติ' (Yeti) หรือ 'ไอ้ตีนโต' สัตว์ประหลาดตัวเบิ้มที่มักปรากฏตัวท่ามกลางพายุหิมะจากภาพยนตร์หรือหนังสือจำนวนมาก โดยมีต้นกำเนิดบริเวณประเทศเนปาลหรือทิเบต ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตลึกลับรูปร่างคล้ายลิงยักษ์ขนฟู เรื่องราวของเจ้าเยติได้รับความสนใจจากสาวกจำนวนมากทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ถึงขนาดมีกลุ่มค้นหาที่คอยแชร์ข้อมูลและคลิปวิดีโอหลักฐานการพบเห็นเยติอย่างจริงจัง

แล้วมีจริงไหม? : มีการพิสูจน์ดีเอ็นเอของเยติเกิดขึ้นแล้ว โดยรวบรวมเส้นผม ฟัน เส้นขน อุจจาระที่ค้นพบแถบเทือกเขาหิมาลัย ตลอดจนวัตถุตัวอย่างจากคอลเล็กชันส่วนตัวของเจ้าของที่เป็นสาวกเจ้าเยติ พบว่าส่วนหนึ่งมาจากหมีหิมาลายันสีดำและน้ำตาล นอกจากนี้ชิ้นส่วนฟันบางชิ้น ยังมีที่มาจากหมาบ้านอีกด้วย ซึ่งก็นำมาสู่บทสรุปของตำนานเยติว่าไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของเจ้าตีนโตตัวจริง หากแต่ได้ศึกษาวิวัฒนาการของหมีแถบเทือกเขาหิมาลัยและทิเบตเพิ่มเติมเท่านั้นเอง

พิสูจน์แล้วว่าเป็นหมี! - Photo by Zdeněk Macháček on Unsplash
พิสูจน์แล้วว่าเป็นหมี! - Photo by Zdeněk Macháček on Unsplash

พญานาค

ตำนานพญานาคมีมาตั้งแต่โบราณและอยู่คู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนาน ปัจจุบันยังมีรายงานเกี่ยวกับพบเจอพญานาคเป็นระยะ

นาค หรือ พญานาค เป็นงูใหญ่ มีหงอน เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่และอุดมสมบูรณฺ์ เป็นตำนานที่แพร่หลายในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ โดยชาวบ้านในภูมิภาคนี้มีความเชื่อว่าพญานาคพำนักอยู่แม่น้ำโขง บางที่บอกว่าอยู่ในเมืองใต้บาดาลที่มีลักษณะคล้ายเมืองมนุษย์ และจะพบเห็นรอยพญานาคได้ในช่วงวันออกพรรษา

ในไทยเราเห็น 'นาค' ในเกือบทุกที่ โดยเฉพาะอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนสถาน ตามคติว่า 'นาคยิ่งใหญ่ ต้องคู่ควรกับสถาบันที่สูงส่ง'

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีเทศกาล 'บั้งไฟพญานาค' ที่มีตำนานว่าในช่วงเวลาออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทำให้พญานาคในแม่น้ำโขงมีความปีติยินดี จึงจุดบั้งไฟถวาย กลายเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ริมน้ำโขงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในทุกปี

แล้วมีจริงไหม? : เพิ่งมีดรามาไปหมาดๆ เมื่อเพจดังชื่อ 'พิสูจน์บั้งไฟพญานาค' รวบรวมรายชื่อหมู่บ้านจากฝั่งลาวจำนวน 10 หมู่บ้าน พร้อมเรียกร้องให้สถานทูตลาวตรวจสอบว่ามีการยิงปืนลูกไฟจากหมู่บ้านเหล่านี้เพื่อให้คนเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค โดยเจ้าของเพจดังกล่าวยืนยันว่าต้องการให้ความจริงปรากฏเท่านั้น เพราะความเชื่อเป็นสิทธิส่วนบุคคล

เจ้าเซื่อเรื่องลูกปืนส่องแสงบ่

Posted by พิสูจน์บั้งไฟพญานาค on Sunday, October 24, 2021

ซึ่งเหตุการณ์พิสูจน์บั้งไฟฯ นี้ทำให้ภาคธุรกิจจังหวัดหนองคายออกมาตั้งคำถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องประชาชนสองฝั่งโขงและความศรัทธาของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง

อ่านเพิ่มเติม : ภาคธุรกิจถามกลับ “พิสุจน์บั้งไฟพญานาคแล้วได้อะไร” บั่นสัมพันธ์ไทย-ลาว ทำลายศรัทธาชาวบ้าน

บทสรุปเรื่องพญานาคจะจบลงอย่างไรยังไม่มีใครรู้ สิ่งที่น่าตั้งคำถามที่สุดคือเมื่อ 'ความเชื่อ' ส่วนบุคคลถูกสั่นคลอน มนุษย์เราจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อ 'การเปลี่ยนแปลง' ที่เกิดขึ้น คงต้องติดตามกันต่อไป :)

อ้างอิง : 

bbc.com 1 /

theconversation.com

india.com

nationtv.tv

ngthai.com

sanook.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 93

  • พี่ตรี ศิรสิทธิ์
    ผมเชื่อว่ามีอยู่จริงแต่รูปกายอาจจะไม่เหมือนที่เขาปั้นอยู่ตามวัดหรือตามสถานที่ต่างๆผมเคยอ่านหนังสือประวัติพระเกจิอาจารย์อย่างหลวงปู่มั่นหลวงปู่แหวนฯตอนท่านไปธุดงค์ตามป่าเขาแล้วท่านพบเจอมาแล้วท่านมาเล่าให้ญาติโยมและลูกศิษย์ฟังคุณคิดว่าพระระดับนี้ท่านจะมามุสาหรือเปล่าครับถ้าท่านไม่เห็นด้วยตาตัวเองแล้วเอามาเล่า
    28 ต.ค. 2564 เวลา 01.42 น.
  • อิทธิชัย
    พญานาคมีจริง พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นพญานาค ชื่อภูริทัตบำเพ็ญตบะบารมี ตอนพระองค์ตรัสรู้ก็มีพญานาคชื่อมุจลินทร์ มาขดกายล้อมพระองค์และแผ่พังพานป้องกันลมฝน ให้กับพระองค์ด้วยครับ ตามบันทึกในพระไตรปิฎก
    27 ต.ค. 2564 เวลา 23.32 น.
  • lek_❤️
    ความเชื่อคือความเชื่อ ถ้าความเชื่อนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนก็เรื่องของเขา ใครไม่เชื่อก็อย่าไปยุ่ง ทุกชาติ ทุกทวีป ก็มีความเชื่อของตัวเอง คนที่ไม่เชื่อก็อย่าไปว่าคนที่เขาเชื่อหรือศรัทธาเลย ไปทำเรื่องที่ตัวเองชอบ หรือเชื่อดีกว่า
    28 ต.ค. 2564 เวลา 06.03 น.
  • จงรักษ์
    คนไทยเป็นเผ่าพันธุ์ที่ฉลาดที่สุดในโลก เพราะจินตนาการเรื่องราวต่างๆได้สูงมาก(เหตุผล ข้อเท็จจริงไม่ต้องพูดถึง)
    27 ต.ค. 2564 เวลา 19.48 น.
  • Pom
    น่าแปลกใจที่มีคนเห็นแต่พญานาค แต่ทำไมไม่มีคนเคยเห็นพญาครุฑเลยทั้งๆที่ทั้งสองอยู่คู่สังคมไทยจากเรื่องเล่ามานาน
    28 ต.ค. 2564 เวลา 12.58 น.
ดูทั้งหมด