ครั้งหนึ่งเมืองไทยเคยมีวงดนตรีแจ๊สที่โด่งดังมากชื่อ COCO JAZZ
จุดเด่นของวงนี้ไม่ได้มีแค่เสียงร้องอันโดดเด่นของศิลปินสาว‘นรีกระจ่าง คันธมาส’ เท่านั้น แต่อีกสิ่งที่หลายคนคงจดจำได้ดีคือ มือเปียโนตาบอดนามว่า‘ปิยะ โกศินานนท์’ ผู้มีฝีมือจัดจ้าน จนหลายคนยกให้เป็น Stevie Wonder ของเมืองไทยเลยทีเดียว
เขาเป็นนักดนตรีพิการคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ได้รับการยอมรับในวงการ ครั้งหนึ่งเขาเคยเล่นเปียโนร่วมกับ วง อ.ส. ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่สำคัญยังได้รับทุนฟุลไบร์ท ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสอนดนตรีเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้ คงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมชื่อของเขายังเป็นแรงบันดาลใจแก่คนตาบอดไม่เปลี่ยนแปลง แม้เจ้าตัวจะจากโลกนี้ไปกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม
แต่กว่าจะมายืนอยู่บนจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในยุคที่คนพิการแทบปราศจากที่ยืนในสังคม ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกคนมารู้จักเรื่องราวของอาจารย์ปิยะ สุดยอดศิลปิน หนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีแจ๊สของบ้านเรา
01
แสงดนตรีท่ามกลางโลกมืด
ท่ามกลางกระแสเพลงร็อกที่กำลังระบาดไปทั่วเมือง วงดนตรีแจ๊สเล็กๆ ในสังกัด Kita Entertainment ได้ปรากฏตัวขึ้นบนแผง เมื่อปลายปี 2532
แม้อัลบั้มนั้นจะเป็นเพลงคัฟเวอร์ทั้งชุด แต่ผลงานแรกของ COCO JAZZ ก็แนวฉีกแนวจากตลาดยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง จนเรียกเสียงฮือฮาจากคนฟังเพลงได้ไม่น้อย
ว่ากันว่า ครั้งนั้นผู้บริหารค่ายมีเป้าหมายที่จะปั้นศิลปินสาว วัย 17 ปี ซึ่งชนะการประกวดจากรายการคอนเสิร์ตคอนเทนต์ แต่ด้วยอ่อนประสบการณ์ จึงเชื้อเชิญ 2 ปรมาจารย์ทางดนตรี คือ อาจารย์ปิยะ และอาจารย์ชื่น เริงใจ นักแซกโซโฟนมือเก๋ามาร่วมงานด้วย
นรีกระจ่างเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนออกอัลบั้มแรก เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า แจ๊สเป็นอย่างไร แตกต่างจากดนตรีอื่นแบบไหน แต่ก็ได้อาจารย์ปิยะนี่เองที่คอยฝึกคอยสอน ตั้งแต่เทคนิคการร้องเพลงสากล การออกเสียง ทำนอง วิธีดึงความเป็นแจ๊สออกมาให้ได้
“ตอนนั้นอาจารย์ก็อัดเพลงมาให้ฟัง Fly Me To The Moon แล้วก็ไปฝึกร้องเพลงสากลกับแกที่ภัตตาคารเรือนหอที่แกเล่นอยู่ ก็ให้คุุณพ่อขับไปส่ง พอเที่ยงคืนตีหนึ่งก็มารับกลับ
“จำได้ว่าแกสอนน่ารักมาก แกบอกร้องมาเลยลูก อยากร้องตอนไหนก็ร้องเลย ถ้าไม่อยากก็ปล่อยให้ฉันเล่นต่อไป แล้วแกก็อินโทรไปเรื่อยๆ สนุกสนาน ซดเบียร์ไปด้วย เราก็จำเป็นต้องร้องแล้ว.. Fly Me To The Moon แกก็ยิ้ม เออ..เป็นแล้วนี่ กล้าที่จะเล่นแล้ว สรุปแล้วอาจารย์ไม่ได้สอนอะไรเลย นอกจากให้ปล่อยวางกับดนตรีว่า ดนตรีไม่มีล่มหรอก คนนั่นแหละที่ล่ม ทำให้เราชอบการอิมโพรไวซ์”
ความจริงอาจารย์ปิยะฝันจะทำอัลบั้มของตัวเองมานานแล้ว
อาจารย์อยากทำวงเล็กๆ ที่ใช้เครื่องเป่า 4-5 ชิ้น เป็นทรัมเปต แซกโซโฟน และทรอมโบน มีกีตาร์เล่นประกอบ เอาเพลงเก่าๆ ทำนองเพราะๆ อย่างสุนทราภรณ์ มาทำใหม่ให้เหมาะกับผู้ฟัง
แม้ COCO JAZZ อาจไม่ตรงกับสิ่งที่เคยนึกไว้ทั้งหมด แต่สำหรับอาจารย์แล้วก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะการได้ออกอัลบั้มไม่เพียงแต่เป็นการต่อเติมฝันของนักดนตรีคนหนึ่งให้สมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ว่าคนพิการนั้นมีความสามารถไม่แพ้ใครด้วย
เดิมที อาจารย์ปิยะไม่ได้ตาบอดตั้งแต่เกิด แต่สาเหตุที่ตาเสีย เพราะตอนอายุได้ขวบกว่า ป่วยเป็นโรคตาแดง พอไปหาหมอ ปรากฏว่าหมอเกิดให้ยาผิด ดวงตาก็เลยพร่ามัวเรื่อยๆ สุดท้ายก็บอดสนิท
แต่ท่ามกลางโลกที่มืดมน มีสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตให้สว่างไสว นั่นก็คือ ดนตรี
“ตั้งแต่จำความได้ ผมก็ชอบดนตรี ชอบเพราะชอบ ไม่ได้มีแรงดลใจอะไรทั้งนั้น พอไปโรงเรียนก็ไปแอบดีดเปียโนดูเล่นๆ ทำไปทำมาก็ถูกใจ พอดีได้ครูที่สอนเป็นชาวอเมริกันใจดีชื่อ มิสเจเนเวียฟ คอลฟิลด์ ถูกชะตากันก็เลยขยันเรียนขยันฝึกซ้อมตั้งแต่นั้นมา”
มิสคอลฟิลด์เป็นคนตาบอดทั้งสองข้างเหมือนกับอาจารย์ปิยะ โดยก่อนมาอยู่เมืองไทย เธอเคยสอนภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่น จนวันหนึ่งได้พูดคุยกับนักเรียนไทยจึงรู้ว่าที่นี่ไม่มีโรงเรียนสอนคนตาบอดเลย ก็เลยค่อยๆ เก็บเงินทีละเล็กละน้อย พร้อมกับรับสอนนักเรียนตาบอด 1-2 คน จากนั้นก็เริ่มขยายมาเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นโรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว
แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่มิสคอลฟิลด์ก็พยายามใช้ทักษะที่มีถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์ตัวน้อย พร้อมกับขอแรงบรรดาอาสาสมัครที่มีฝีมือจากหลายๆ ชาติผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสอน จนเด็กชายปิยะเริ่มเล่นเปียโนคล่องขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าเก่ง กระทั่งได้พบกับอาสาสมัครที่ช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้น
“ครูคนหนึ่งชื่อ มิสเตอร์ซิงเกอร์มาดูผมเล่นเปลี่ยนเล่นเปียโนก็สนใจ รับปากจะสอนให้ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าจะสอนได้หรือไม่ เพราะผมอ่านโน้ตไม่ได้ ก็ตามองไม่เห็นนี่ เขาก็เลยสอนแบบให้ท่องจำคล้ายๆ กับ Learn by Heart คือเอาเพลงให้ฟังแล้วให้ผมแกะตามจนเป็น ผมก็เลยแกะเพลงเป็นตั้งแต่นั้น”
พอเรียนจบมิสคอลฟิลด์ก็อยากส่งเสริมอาจารย์ปิยะเต็มที่ จึงติดต่อขอทุนฟุลไบร์ทให้ ปรากฏว่าสอบผ่าน ได้ไปเรียน Perkins Institute For The Blind สหรัฐอเมริกา
ช่วงนั้นอาจารย์ต้องพยายามพัฒนาตัวเองหลายอย่างตั้งแต่เรื่องภาษาอังกฤษ เพราะเขาเป็นคนไทยคนเดียวของที่นั่น ที่สำคัญแม้จะเลือกเปียโนเป็นวิชาเอก แต่ก็ต้องเรียนรู้ทุกอย่างของดนตรี ตั้งแต่การแต่งเนื้อร้อง ทำนองเพลง คอรัส รวมถึงเรื่องการใช้เสียงต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้กลายมาเป็นพื้นฐานหลัก เมื่ออาจารย์เข้ามาโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีเต็มตัว
“คุณเชื่อไหม กว่าผมจะมาขนาดนี้ ผมเคยโดนปรามาสมาก่อนว่า คนตาบอดจะเรียนอะไรก็ลำบาก ยิ่งเรียนดนตรีมีตัวโน้ตเยอะแยะ คนตาดียังว่ายากเลย แล้วตาบอดอย่างนี้จะเรียนได้หรือ ผมก็เลยเกิดทิฐิ ทำไมเราจะเรียนไม่ได้ พอโอกาสมาถึงผมก็พยายามกอบโกยวิชาต่างๆ ให้มากที่สุด ผมไปฟังบอสตันซิมโฟนีทุกเสาร์เลย บางทีก็มีพวกบอสตันป๊อป วงอะไรดีๆ มาเล่นผมกวาดเข้าไปฟังเรียบ
“ชีวิตที่โน่นก็ต้องสู้เค้านะ เพราะผมเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกที่โรงเรียนนี้รับ ไปถึงใหม่ๆ กลัวจนทำอะไรไม่ถูก ประเทศเราเค้าก็ไม่รู้จัก เราก็ต้องพยายามดิ้นรน ไหนจะเรื่องความพิการ ไหนจะเรื่องภาษาที่เราที่เราไม่ชินหู เค้าพูดอะไรมาให้เราทำ เราไม่เข้าใจก็ไปทำอีกอย่างก็โดนหัวเราเยาะ”
อาจารย์ปิยะเรียนอยู่ที่นี่ 3 ปีเต็ม มีโอกาสแสดงผลงานหลายครั้ง จนเป็นที่ประทับใจของชาวต่างชาติ จากนั้นก็ศึกษาต่อที่ New England Conservatory Boston ซึ่งเต็มไปด้วยนักดนตรีเก่งๆ จนจบหลักสูตร แล้วกลับมาเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพตามที่สัญญากับมิสคอลฟิลด์ไว้
02
โลดแล่นบนถนนดนตรี
แม้จะมีอาชีพหลักเป็นครู แต่สิ่งที่ทำให้อาจารย์ปิยะมีความสุขที่สุด คือการเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่น
หลังกลับมาถึงเมืองไทย เขาจึงเริ่มฟอร์มวงดนตรีโรงเรียนขึ้นมา ออกเดินสายเล่นตามสถานที่ต่างๆ เครื่องดนตรีครบทุกอย่าง ทั้งเปียโน กีตาร์ เบส เครื่องเป่า ส่วนสมาชิกวงก็ล้วนแต่เป็นคนตาบอด ช่วงนั้นอาจารย์ก็ถือโอกาสสอนโน้ตนักเรียนไปด้วย
ชีวิตช่วงนี้เองที่อาจารย์มีโอกาสได้เล่นดนตรีถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยครั้งหนึ่งมีรับสั่งให้วงดนตรีของโรงเรียนเข้ามาแสดงร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ รวมทั้งยังโปรดฯ ให้เข้าวังมาจูนเปียโนให้ด้วย
อาจารย์ปิยะทำงานอยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพอยู่ 20 ปีเต็ม ผลิตนักดนตรีตาบอดได้หลายคน จึงตัดสินใจลาออก และมุ่งสู่ถนนดนตรี ออกเดินสายเล่นเปียโนตามสถานบันเทิงต่างๆ อาทิ โรงแรมเชอราตัน มณเฑียร แอมบาสเดอร์ เอราวัณ รวมทั้งยังเคยเป็นวงแบ็กอัพให้ภัทราวดี มีชูธน
“ผมก็ว่าเขาต้อนรับดีนะ ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ช่วงนั้นมันอาจจะใหม่หน่อยที่คนตาบอดจะออกมาเล่นดนตรีกับคนดี”
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ปิยะมักบอกเสมอคือ เขาเป็นเพียงนักเปียโนธรรมดาๆ คนหนึ่ง และเป้าหมายในการเล่นดนตรีก็คือ การทำให้ผู้ชมรู้สึกมีความสุขที่ได้มาชมการแสดงนั้นๆ ไม่ใช่ฟังแล้วรู้สึกว่าทำไมถึงเล่นอย่างนี้ โดยที่ตัวเขาเองก็ยังต้องรักษาตัวตนและความสุขไว้ด้วยเช่นกัน
หากแต่ชีวิตของนักดนตรีกลางคืนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
อาจารย์เคยตกงานอยู่ 2-3 เดือน แถมบางครั้งยังต้องเล่นเพลงที่ตัวเองไม่ถนัด แต่เขาก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับวงการดนตรีร่วมสมัยให้มากที่สุด
“พอใครขอเพลงใหม่ๆ ก็ต้องให้ได้ ผมเองก็ต้องฟังจากวิทยุเป็นประจำ ตลาดเทปก็ต้องไปเดินอยู่เรื่อย นักร้อง นักดนตรี เค้าทำกันอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ คิดๆ ดูแล้วบางทีผมก็เสียใจเหมือนกันที่ต้องเล่นดนตรีอย่างตามใจตลาด ทำไงได้ล่ะ เพราะเราหากินทางนี้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าชอบโมสาร์ต ชอบบาร์คก็ต้องเก็บไปชอบคนเดียว ใครจะไปจ้างเล่น จริงไหม” อาจารย์ปิยะกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
หลังวนเวียนอยู่ในวงการดนตรีกลางคืนนานร่วมสิบปี อาจารย์ก็ได้รับการชักชวนจากค่าย Kita Entertainment ให้มาร่วมงานด้วย
ยุคนั้นต้องถือว่า Kita เป็นค่ายเพลงที่กล้าสร้างศิลปินที่ฉีกกรอบการตลาดออกมาหลายเบอร์ ไม่ว่าจะเป็น เยื่อไม้, นพ โสตถิพันธ์, ออโต้บาห์น, สามโทน, มะลิลา บราซิลเลี่ยน หรือแม้แต่เฉลียง
COCO JAZZ เองก็เช่นกัน ด้วยแนวคิดที่อยากจะเปิดตลาดแจ๊สขึ้นมาในเมืองไทย เพียงแต่ยังไม่กล้าจะทำเพลงสไตล์แจ๊สหนักๆ ด้วยเกรงว่าคนฟังในบ้านเราจะรับไม่ได้ และก็เป็นไปตามคาด ผลงานชุดแรกของพวกเขาได้รับเสียงตอบรับอย่างสูง มีการเดินสายเปิดการแสดงไปทั่วประเทศ จนนำไปสู่การทำอัลบั้มที่ 2 ในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน
แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของอาจารย์ปิยะนั้นสั้นเหลือเกิน
หลังอัดเพลงชุดใหม่ไปได้ถึงเพลงสุดท้าย อาจารย์ปิยะก็ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ด้วยอาการมะเร็งในตับ หลังจากนั้นอีก 3 วัน อาจารย์ก็เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2533
ทิ้งไว้แต่เพียงอัลบั้มชุด Coco Jazz 2 แทนค่านับพันของคืนวันหวาน ซึ่งวางแผงหลังอาจารย์จากไปเดือนหนึ่งพอดี เพื่อให้ระลึกถึงนักเปียโนตาบอดผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ตลอดกาล
ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
อ้างอิง
- นิตยสารนรี ปีที่ 4 ฉบับที่ 73 เดือนกรกฎาคม 2529
- นิตยสารถนนดนตรี ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2529
- นิตยสาร Young Executive ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 เดือนธันวาคม 2530
- นิตยสารแก้ว ปีที่ 3 ฉบับที่ 74 เดือนกันยายน 2533
- รายการคิดถึงจัง แขกรับเชิญ นรีกระจ่าง คันธมาส