“มีเงินอย่างเดียวก็ซื้อไม่ได้ ต้อง….ด้วย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดเปรียบเปรยในข้างต้น ส่วนใหญ่มักจะถูกหยิบยกมาพูดในช่วงเวลาที่ใช้เงินเกินตัวหรือซื้อของที่ราคาแพง แม้เป็นวลีที่ทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้ในเวลาจับจ่ายใช้สอยแบบมันส์มือ จนนำไปสู่การวางแผนการใช้เงินเพื่อความมั่นคงในอนาคต
แต่ทว่าในปัจจุบันค่าครองชีพทั้งคมนาคม,ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน,ค่าใช้อุปโภคบริโภค,ค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าใช้จ่ายจิปาถะ ฯลฯ ได้พากันตบเท้าพร้อมใจกันขึ้นราคาแบบไม่เกรงใจใครทั้งสิ้น
สาเหตุของราคาสินค้าแพงในเวลานี้ก็มีหลายปัจจัยทั้งโรคระบาดในสัตว์,ความผันผวนของค่าเงิน-น้ำมัน และตัวแปรสำคัญที่อยู่ในวิกฤตคือรายได้สวนทางกับค่าครองชีพ
เมื่อย้อนดูเส้นทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 พบว่าอยู่ที่ 300 บาท แต่ในปัจจุบันมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยใช้ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งใช้บังคับในปี 2563 พบว่าถูกปรับขึ้นเป็น 331 บาท
ซึ่งสรุปได้อย่างชัดเจนว่าวันเวลาได้ล่วงเลยผ่านมา 10 ปี คนไทยต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินดูแลปากท้องและจุนเจือครอบครัวค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้น 31 บาท เพียงเท่านั้น
(อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับพื้นที่กรุงเทพ,นครปฐม,นนทบุรี,ปทุมธานี,ภูเก็ต,สมุทรปราการ และสมุทรสาคร)
300 พอกินจริงเหรอ ? อาจเป็นคำถามที่พาไปสู่การถกเถียงถึงวินัยการใช้เงินล้วนขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลก็จริง แต่ปัจจุบันสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคมีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งหยาดเหงื่อที่เสียไปใน 8 ชั่วโมงเพื่อเงิน 300 บาทนั้น คุ้มค่าหรือไม่
เพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ค่าจ้างวันละ 300 บาท กับอาหาร 3 มื้อ โดยคิดเฉลี่ยมื้อละ 60 บาท ภายใน 1 วัน เฉพาะแค่ค่าอาหารก็ 180 บาท ซึ่งยังไม่ได้รวมค่าเดินทาง,ค่าเช่าบ้าน,ของใช้จิปาถะหรือยิ่งต้องส่งกลับไปให้ญาติอีกก็แทบจะไม่เหลือเก็บ ซึ่งพวกเขาต้องประหยัดถึงขั้นรัดเข็มขัด จนไม่สามารถทำในสิ่งที่นอกเหนือจากวินัยการเงินที่ขีดเส้นใต้อย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ค่าแรง 300 บาทกับเศรษฐกิจในปัจจุบันนับว่าอยู่ในสภาวะวิกฤต ดั่งคำที่ชาวเน็ตมักวิจารณ์ที่ว่า “คนจนตาย คนรวยรอด”
ข้าวของแพง รัฐช่วยอะไรบ้าง เมื่อค่าแรงไม่ถูกปรับขึ้น ?
เป็นที่แน่ชัดเมื่อประชาชนได้รับผลกระทบจากสภาวะของขึ้นราคา โลกออนไลน์ก็ได้ติดแฮชแท็ก #แพงทั้งแผ่นดิน พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงปัจจัยที่ทำให้ของอุปโภคบริโภคราคาสูง
ล่าสุดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ‘กระทรวงพาณิชย์’ ได้พยายามหาทางออกให้กับประชาชนในเบื้องต้นสำหรับวิกฤตราคาที่พุงสูงของหมูโดยจัด 667 จุดบริการขายหมูราคาถูกทั่วไทย แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงเท่านั้น
‘ไข่ไก่-เนื้อไก่’ นับว่าเตรียมที่จะตบเท้าจับมือเข้าสู่การปรับขึ้นราคาเช่นกัน ถ้าเปรียบเป็นการแข่งขันก็จัดอยู่อันดับ 2 และน่าจับตามอง จนกระทั่งสั่งเบรกห้ามปรับราคาขึ้น
นี่เป็นเพียง 2 วัตถุดิบยอดฮิต ที่มักถูกนำมาประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องและสามารถเข้าถึงทุกคน แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง แม้ผู้ที่มีรายได้น้อยอาจเข้าถึงได้ก็จริง แต่ก็ต้องยอมควักเงินเกินครึ่งของรายได้ทั้งหมด 300 บาท/วัน เท่ากับว่าใน 1 วัน เราทำงานอันแสนเหนื่อย แต่ซื้อเนื้อหมูได้เพียง 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมี ค่าไฟ ค่าทางด่วน ก๊าซหุงต้ม ที่กำลังทยอยปรับราคาขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้การที่ข้าวของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเพิ่มราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางคนกลับมองเป็นสัญญาณดีที่ชาวเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่-หมู ได้ถึงเวลาลืมตาอ้าปาก แต่ทางกลับกันในปัจจุบันผู้ที่ได้รับทรัพย์กอบโกยกำไรในวิกฤตนั้นส่วนใหญ่ ’นายทุน’ ทั้งสิ้น
ดังนั้นจึงอยากให้ลองมองมุมกลับ ปรับมุมมองที่ว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท พวกเขาจะต้องประหยัดแค่ไหนและค่าแรงเท่านี้เพียงพอต่อการดำรงชีพจริงหรือ แล้วถึงเวลาหรือยังที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกปรับขึ้นหลังถูกแช่แข็งกว่า 10 ปี
สุดท้ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะยังไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามที่หลายคนหวัง แต่ขอให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงวิกฤต #แพงทั้งแผ่นดิน ครั้งนี้ไปให้ได้
ข้อมูล