ระวัง! “อีสปอร์ต” หลุมพรางที่เด็กติดเกมไม่มีวันเข้าใจ!
ในวันที่กระแสการแข่งขัน ‘อีสปอร์ต’ กำลังเป็นที่นิยม และรายได้จำนวนมหาศาลจากอาชีพ ‘นักกีฬาอีสปอร์ต’ หรือโปรเพลเยอร์ กลายมาเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ หลายคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ หลายคนตัดสินใจคิดว่าตัวเองจะฝึกฝนพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวเท้าเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขันนี้อย่างเต็มตัว
โดยที่ไม่ทันรู้เลยว่าโลกของนักกีฬาอีสปอร์ตนั้นโหดร้ายขนาดไหน และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถก้าวเข้าสู่วงการและประสบความสำเร็จ เพราะกว่าจะทำแบบนั้นได้ มีหลายสิ่งที่ ‘มืออาชีพ’ ต้องยอมแลกเพื่อเอาชนะคู่แข่งที่มากขึ้นทุกวัน
เพราะไม่อย่างนั้น การก้มหน้าก้มตาเล่นเกมในทุกๆ วันที่ทำอยู่ อาจเป็นเพียง ‘ข้ออ้าง’ ของเด็กๆ หลายคนที่เอาไว้หลอกพ่อแม่ และหลอกตัวเองว่า กำลังเดินตามความฝันเพราะอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพ ทั้งที่จริงๆ สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเพียงแค่การกระทำเพื่อความสนุกของ ‘เด็กติดเกม’ เพียงเท่านั้น
1. ต้นทุนมหาศาลจากเกมมิ่งเกียร์ชั้นดี
คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า เล่นเกมเอาสนุก ใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ แต่ถ้าคิดจะก้าวเท้าเข้าสู่โลกของ ‘การแข่งขัน’ เมื่อไหร่ คำว่า ‘อะไรก็ได้’ จะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะสำหรับนักกีฬาที่ม่ีความสามารถใกล้เคียงกัน ความแตกต่างในช่วงเสี้ยววินาทีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่ากลัว
คิดง่ายๆ กับเกมบนมือถือที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง ROV แน่นอนว่า เพียงแค่การโหลดเกมเร็วที่เร็วขึ้น การแสดงผลของเอ็ฟเฟ็คต์ท่ีคมชัด ไปจนถึงความไหลลื่นระหว่างบังคับตัวละคร ที่ความแตกต่างของสมาร์ตโฟนหลักพันและหลักหมื่นก็เพียงพอต่อการทำให้เกมเมอร์หลายคนออกอาการ ‘หัวร้อน’ ได้แล้ว
และถ้าเป็นเกมที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เล่นเป็นหลัก ตรงนี้ล่ะ ที่รายละเอียดยิบย่อยจะค่อยๆ ทวีมูลค่าอุปกรณ์อะไรก็ได้ให้เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ตั้งแต่สเป็คพื้นฐาน การ์ดจอ, Ram, มอนิเตอร์ ฯลฯ ที่ช่วยในการแสดงผลและความรวดเร็วขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในเกมที่กราฟฟิกสวยๆ อย่าง Overwatch ที่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ธรรมดา (ราคาหมื่นต้นๆ) นั้นแทบจะบอกลาเส้นทางนี้ไปได้เลย
ขยับมาที่อุปกรณ์ที่นักเล่นเกมสมัครเล่นมองผ่าน อย่างเมาส์และคีย์บอร์ด อุปกรณ์เล็กๆ ที่มืออาชีพไม่เคยมองข้าม โดยเฉพาะในเกมส์แบบสงครามแบบ FPS อย่าง Counter Strike, Point Blank, PubG ฯลฯ ที่ความเร็วในการสะบัดเมาส์เพียงชั่ววินาทีอุปกรณ์ธรรมดาให้ไม่ได้ นั้นสามารถตัดสินผลแพ้ชนะได้ทุกเมื่อ
รวมไปถึงหูฟัง ที่บางคนคิดว่าเสียงที่ไว้แค่เพิ่มความสนุก แต่จริงๆ แล้ว เสียงรอยเท้า เสียงกระสุน ระเบิด ลม แม้กระทั่งพุ่มหญ้า ก็ล้วนมีผลกับรูปเกม ถึงขนาดที่เกมเมอร์มืออาชีพยอมเสียเงินหลักหมื่นเพื่อแลกมา
เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า เกมเมอร์ที่มีฐานะดี หรือมีครอบครัวคอยสนับสนุนค่อนข้างได้เปรียบเกมเมอร์ทั่วไปอยู่สมควร ยอมรับว่าหากมีฝีมือและความพยายามมากพอ อาจจะกลบข้อเสียเปรียบตรงนี้ไปได้บ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามมากหน่อย จนหลายคนท้อใจเลิกเล่น หรืออาจจะต้องกัดฟันเป็นหนี้สิน เพื่อลงทุนกลบข้อเสียเปรียบตรงนี้ไป
2. ชีวิตส่วนตัวที่สูญเสียไปจากระเบียบวินัย
สิ่งที่นักเล่นเกมสมัครเล่นมองข้ามอยู่เสมอ คือเวลามองเห็นฝีมือของเหล่าโปรเพลเยอร์และคิดว่านั่นคือพรสวรรค์ที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายดาย แต่จริงๆ แล้วแทบ 95% ของคนเหล่านั้น ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของวงการเกมได้ด้วย ‘พรแสวง’ ที่ต้องฝึกซ้อมทุกวัน วันละ 5-10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ชีวิตของพวกเขามีแต่การฝึกซ้อม และเป็นการฝึกซ้อมด้วยความกดดันที่จะต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา จะไม่ใช่แค่เล่นเกมเพื่อความสนุกอีกต่อไป อย่าง "Mickey (ปองภพ รัตนแสงโชติ)" โปรเพลเยอร์เกม Overwatch หนึ่งเดียวของไทยในอเมริกา ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า การเล่นเกมของเขาคือการทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ไม่ต่างจากพนักงานออฟฟิศทั่วไป (อาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ) นี่ยังไม่รวมช่วงเวลานอกเหนือจากนั้นที่ต้องเอามาวิเคราะห์ความผิดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ที่แทบทำให้ชีวิตของเขาทั้งหมดใช้ไปกับการเล่นเกมเพื่อทำงาน และการเล่นเกมเพื่อความสนุกก็แทบไม่เกิดขึ้นในชีวิตอีกเลย
ยังไม่รวมถึงโปรเพลเยอร์ที่ยังไม่มีเดินเดือนจากสปอนเซอร์เพื่อเข้าแข่งในเกมต่างๆ ที่ต้องใช้เวลากลางวันเพื่อทำงานปกติทั่วไป (ที่หนักอยู่แล้ว) ส่วนเวลากลางคืนก็ต้องเอามาซ้อมแข่งเพื่อพัฒนาฝีมือจนดึกดื่น แถมยังไม่ใช่เล่นเพื่อความผ่อนคลาย เพราะนี่คือการ ‘ทำงาน’ เพิ่มอีกหนึ่งกะ ที่สร้างความเครียดสะสมทวีคูณขึ้นไปอีก
3. สภาพร่างกายที่ถูกทำลายเร็วกว่าปกติ
เพราะอีสปอร์ตไม่ใช่การแข่งขันที่ต้องใช้ร่างกายเพื่อออกกำลังที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่การต้องนั่งอยู่ที่เดิม ทำท่าเดิม กดปุ่มเดิม ก้มหน้าอยู่หน้าคอมวันละหลายชั่วโมงยิ่งทำให้ร่างกายของนักกีฬาอีสปอร์ตถูกทำลายเร็วกว่านักกีฬาทั่วไปหลายเท่าตัว
ที่แน่ๆ คืออาการออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล่ สะโพก ที่แทบจะเป็นโรคประจำตัวของนักกีฬาอีสปอร์ต ลองคิดภาพพนักงานออฟฟิศที่นั่งหน้าคอม ซึ่งอันนี้หลายคนรู้ดีอยู่แล้ว แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคืออาการ ‘นิ้วล็อก’ ในเกมโทรศัพท์มือถืออย่าง ROV หรือถ้าเป็นเกมกีฬาที่ต้องใช้จอยในการบังคับอย่าง FIFA หรือ PES ที่เมื่อก่อน เราจะพบเห็นอาการนี้ในผู้ใหญ่ที่ร่างกายเสื่อมถอยไปถามการเวลา แต่ตอนนี้มีนักกีฬาอีสปอร์ตทั้งสมัครเล่นและมืออาชีพ กว่า 30% ที่เริ่มพบอาการนิ้วล็อกตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 25 ปี
อีกหนึ่งอาการคือ พังผืดที่ข้อมือ จากการจับเมาส์และคีย์บอร์ดติดกันเป็นเวลานาน ช่วงมือที่ต้องอยู่ติดกับเมาส์และพื้นโต๊ะอยู่ตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนท่า จะค่อยๆ สร้างพังผืดสะสมขึ้นมาทีละน้อย ในรายที่อาการยังไม่หนักมาก อาจจะรู้สึกแค่ติดขัดเคลื่อนไหวมือไม่สะดวกเหมือนก่อน แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ อาจถึงขั้น ‘อักเสบ’ จนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสลายพังผืด และต้องงดใช้ข้อมืออีก 1 เดือนเป็นอย่างน้อย
ยังไม่นับอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ที่เกิดจากการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะการนั่งในท่าประจำตัวที่รู้สึกสบาย ซึ่งส่วนมากจะทำให้กระดูกสันหลังโค้งผิดรูป ทำให้ตอนนี้โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ก็เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่ใกล้ตัวนักกีฬาอีสปอร์ตมากขึ้นโดยที่หลายคนยังไม่รู้ตัว
4. เมื่อการเล่นเกมไม่ใช่ความสนุกสภาพจิตใจก็ย่ำแย่ลงทุกขณะ
จากเรื่องพื้นฐานที่เราเล่นเกมเผื่อความผ่อนคลาย ยังมีเวลาที่เรารู้สึก ‘หัวร้อน’ เมื่อไม่สามารถทำผลงานได้อย่างที่หวัง ถ้าเรารู้สึกเบื่อก็แค่เลิกเล่นแล้วไปทำอย่างอื่น แต่กับนักกีฬาอีสปอร์ตไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะยิ่งแพ้ ก็ต้องยิ่งฝึกฝน ยิ่งต้องวิเคราะห์หาทางพัฒนาตัวเองขึ้นไปตลอดเวลา ไม่มีเวลาให้หยุดพัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่หยุดพัก จะนักกีฬาจำนวนมาก พร้อมที่จะเหยียบหัวแซงเราขึ้นไปทุกเมื่อที่เราหยุดพัฒนาตัวเอง
กับอีกหนึ่งเรื่องคือ เมื่อเข้าสู่โลกของการแข่งขันแบบมืออาชีพ การเล่นเกมกับ ‘เพื่อน’ เพื่อหาความสนุกร่วมกันก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก เพราะเราจะเล่นเพื่อเอาชนะ บางครั้งก็โกรธกันเป็นจริงจังเมื่อเพื่อนทำไม่ดี จนถึงขนาดเสียความสัมพันธ์ดีๆ ไปก็มี
นักกีฬาบางคนก็หนักกว่านั้น ในกรณีที่ตัวเองมีฝีมือเหนือกว่ากลุ่มเพื่อนที่เล่นด้วยกัน และรู้ว่าไม่มีทางพัฒนาฝีมือตัวเองได้หากเล่นอยู่กับเพื่อนกลุ่มเก่า ก็ต้องตัดสินใจ ‘ย้ายทีม’ เพื่อโอกาสในการแข่งขันที่มากขึ้น ถึงแม้จะต้องแลกกับความสัมพันธ์กับเพื่อนที่สร้างมานานปีก็ตาม
5. สภาพสังคมเป็นพิษบนโลกออนไลน์
อีกหนึ่งเรื่องที่นักกีฬาอีสปอร์ตต้องเจอคือเสียงวิจารณ์ของบรรดา ‘โค้ชคีบอร์ด’ ที่พร้อมจะพ่นคำสบถและความคิดเห็นแบบไม่เคยมีประณีประณอมใคร ที่พร้อมจะทำลายสภาพจิตใจของคนที่ไม่แข็งแกร่งพอได้ทุกเมื่อ
แน่นอนว่ามีคำพูดที่ว่า “ก็แค่เสียงวิจารณ์คนในอินเตอร์เน็ต” แต่อย่าลืมว่าถ้าต้องตื่นเช้ามาเจอกับว่า ‘ไอ้ห่วย’, ‘ไอ้กาก’, ‘คนนู้นเล่นนี้กว่า คนนี้เจ๋งกว่าอีก’ ฯลฯ ซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน รวมทั้งการเล่นเกมให้คนดูผ่านโปรแกรม ‘สตีมมิ่ง’ ที่เป็นอีกหนึ่ง ‘งาน’ ที่นักกีฬาอีสปอร์ตต้องทำเพื่อหารายได้ ที่จะมีคนร้อยพ่อพันแม่พร้อมมาชื่นชม และอัดเราให้จมดินอยู่ตลอดเวลา
ความเห็น 29
ถ้าอีสปอร์ตคือกีฬา ป๊อกเด้ง ดัมมี่ เล่นไพ่ ก็คงเป็นกีฬาเหมือนกัน แต่ผิดกฏหมาย
09 ต.ค. 2561 เวลา 05.24 น.
เด๋วสาวกติดเกมก็ออกมาต่อต้านด้วยตรรกะเดิมๆว่าเล่นเกมก็เป็นอาชีพได้แต่ลืมแล้วมั้งมีกี่คนที่เล่นเกมแล้วได้เงินกี่แสนคนเสียเงินเพราะติดเกมแล้วกี่หมื่นคนที่เสียอนาคตเสียการเรียนเพราะเกมและจะต้องมีอีกกี่คนที่หลงผิแก่ออาชญากรรมเพราะเกม
09 ต.ค. 2561 เวลา 05.27 น.
David_kop
อีกอย่างนะครับ เกมถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทเกม การเล่นเกมทุกครั้ง เงินรายได้ก็จะวิ่งเข้าไปที่บริษัทเกม ดังนั้นพวกเขาก็จะพยายามโหมกระหน่ำโฆษณาชักชวนให้คนเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเป็นผลประโยชน์มหาศาล เด็กยิ่งติดเกมบริษัทเกมก็ยิ่งรวย พวกเขาก็ไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบอะไรเพราะมันคือรายได้ของพวกเขา
09 ต.ค. 2561 เวลา 06.46 น.
เหม่ตี้
ถูกต้องครับเสียมากกว่าได้ น้อยมากที่จะประสพผลสำเร็จ เด็กส่วนมากแบ่งเวลาไม่เป็นด้วย
09 ต.ค. 2561 เวลา 05.10 น.
MUA Inc.
วิธีควบคุมเบื้องต้น คือจัดออดิชั่น หาเด็กที่มีพรสวรรค์มาเข้าค่ายของตน เพื่อฝึกเป็นมืออาชีพต่อไป เด็กคนไหนเอาแต่เล่นเกมส์ทั้งวันแล้วไม่ไปคัดตัวหรือมีสังกัด พวกนี้แหละที่ไม่ควรมีข้ออ้าง
09 ต.ค. 2561 เวลา 05.54 น.
ดูทั้งหมด