สมาคมผู้ค้าปลีกไทย แนะผู้ประกอบการ “ตั้งรับ-รุกกลับ-ปรับตัว” ฝ่าพายุเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เตือนผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์ "ตั้งรับ-รุกกลับ-ปรับตัว" พร้อมเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด่วน รับมือแข่ง E-Commerce ต่างชาติ สินค้าราคาถูกทะลัก ต้นทุนพุ่ง
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ค้าปลีกไทยที่เผชิญความท้าทายรอบด้าน จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงการบริโภคที่ชะลอตัว ภาคท่องเที่ยวเติบโตลดลง และภาคส่งออกที่ต้องเผชิญกับกำแพงภาษี
โดยย้ำว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไทยไม่เพียงต้อง "อยู่รอด" แต่ต้อง "ยืนหยัด" และ "ก้าวนำ" ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การ "ตั้งรับ รุกกลับ และปรับตัว" จึงเป็นกุญแจสำคัญในการฝ่าวิกฤติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาคค้าปลีกไทยในปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16% ของ GDP แต่แนวโน้มการเติบโตของยอดขายในช่วงปี 2567-2568 ชะลอตัวลงเฉลี่ย 3.4% เทียบกับช่วงปี 2565-2566 ที่เติบโต 5.9% สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำแพงภาษีสหรัฐฯ กำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวช้า และการแข่งขันรุนแรงจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ต่างชาติ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.3 ล้านราย กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพที่เข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นจากการปรับค่าแรง ค่าขนส่ง และค่าพลังงาน อย่างไรก็ตาม ภาคค้าปลีกยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาคการผลิต การบริโภค และการจ้างงาน นอกจากนี้ การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนในครึ่งปีหลัง ทำให้จำเป็นต้องมองหาตลาดนักท่องเที่ยวทดแทน เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกลจากยุโรปและตะวันออกกลาง
สำหรับเทรนด์ค้าปลีกในปี 2568 จะมุ่งเน้นไปที่การปรับตัวสู่ดิจิทัลและความยั่งยืน ได้แก่ Convergence Commerce ที่เชื่อมโยงประสบการณ์ซื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ AI Personalization Engine ที่นำเสนอสินค้าและโปรโมชั่นเฉพาะบุคคลด้วยการวิเคราะห์ Big Data และ Sustainable Retail ที่ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงเสนอ กลยุทธ์ 3S (Shield Strike Shape) เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
1. ตั้งรับ (Shield)
- ป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพ: ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% และควบคุมมาตรฐานสินค้าในประเทศอย่างเข้มงวด
- ปราบปรามธุรกิจนอมินี: เร่งหามาตรการจัดการธุรกิจนอมินีเพื่อป้องกันการรั่วไหลของเม็ดเงิน
- ป้องกันการสวมสิทธิ์ Re-Export: สกัดกั้นการใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมาย
2. รุกกลับ (Strike):
- ค้าเสรีและเป็นธรรม: จัดเก็บ VAT 7% กับสินค้านำเข้าออนไลน์ทุกรายการ และปรับปรุงกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุม
- ช้อปปิ้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Instant Tax Refund): นำร่องคืน VAT 7% ให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าเกิน 3,000 บาท
- เขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Shopping Paradise Sandbox): พิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ในพื้นที่ท่องเที่ยว
3. ปรับตัว (Shape):
- การลดทอนกฎระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน (Regulatory Guillotine): ปรับลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ
- การสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย (Championing Thai SME): สนับสนุนงบประมาณฟื้นฟู พัฒนานวัตกรรม และผลักดันการรับรอง Made in Thailand
- การมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี: จูงใจนักลงทุนไทยให้ลงทุนในเมืองท่องเที่ยวศักยภาพสูงผ่าน BOI
สมาคมฯ ยังคงเดินหน้านโยบายภายใต้กรอบ "TRA GREAT" เพื่อพัฒนาภาคค้าปลีกไทยในระยะกลางถึงยาวใน 5 ด้าน ได้แก่ G - Global Hub of Lifestyle, R - Reinforce Retailer Competitiveness, E - Elevate Human Capital, A - Accelerate Action on Environment and Sustainability และ T - Technology Adoption พร้อมทั้งผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของค้าปลีกไทย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ความเห็น 0