โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Broadways Exclusive ร้านตัดสูทที่รังสรรค์ชุดสูทสุดเท่จากคาแร็กเตอร์สนีกเกอร์คู่เด็ด

Capital

อัพเดต 16 พ.ค. 2567 เวลา 12.08 น. • เผยแพร่ 16 พ.ค. 2567 เวลา 11.48 น. • Insight

หรูหรา สะอาดตา และสีสันเรียบง่าย

เหล่านี้ คือภาพจำเดิมๆ ในสายตาของคนไทยที่มีต่อ ‘ชุดสูท’ เสื้อผ้าซึ่งถูกกำหนดให้เหมาะสำหรับสวมใส่ยามออกงานเลี้ยง งานแต่ง หรืองานพิธีสำคัญ จุดประสงค์หลักก็เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่นั้นๆ ไปจนถึงญาติผู้ใหญ่และแขกเหรื่อผู้มีเกียรติ

ไม่แปลกใจนัก ที่หน้าตาชุดสูทส่วนใหญ่ในบ้านเราจะหน้าตาราวกับถูกตัดโดยช่างฝีมือคนเดียวกัน และน้อยครั้งที่จะมีใครกล้าหยิบสูทสีสันฉูดฉาดมาสวมใส่ ในเมื่อความเชื่อข้างต้นฝังรากลึกราวเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังกลายเป็นข้อจำกัดกีดขวางไอเดียบรรเจิดของดีไซเนอร์น้อยใหญ่เรื่อยมา

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่าไม่สามารถใช้ได้กับ ดีเค–เจริญ ซิงห์ เมตตากุล ชายที่เรียกตัวเองว่าเป็น Street & Sartorial Designer ควบตำแหน่งผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง Broadways Exclusive ร้านตัดสูทเก่าแก่ ประจำซอยสุขุมวิท 11 ที่ฉุกคิดไอเดียบรรเจิดหยิบคาแร็กเตอร์สนีกเกอร์คู่เด็ดมาดีไซน์เป็นชุดสูทสุดเท่ หรือที่เจริญ ซิงห์เรียกว่าเทรนด์แฟชั่น Suits & Sneakers

จากไอเดียนึกสนุกนำมาสู่การปลุกกระแส Suits & Sneakers ที่กำลังแพร่หลายในหมู่อินฟลูเอนเซอร์และนักสะสมสนีกเกอร์ ดังปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมื่อ Broadways Exclusive จับมือกับร้าน sneaker streetwear WoooW BKK จัดอีเวนต์ที่มีชื่อว่า Street & Sartorial กับการหยิบสนีกเกอร์พื้นฐาน ไปจนถึงสนีกเกอร์ระดับลิมิเต็ดมาดีไซน์เป็นชุดสูท พลันทำให้กระแส Suits & Sneakers ขยายเป็นวงกว้าง และถูกยกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนรักแฟชั่นสายสตรีท

เกริ่นนำกันพอหอมปากหอมคอ คอลัมน์ Micro Wave คราวนี้ ขอชวนผู้อ่านไขคำตอบจากปากของเจริญ ซิงห์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของไอเดีย Suits & Sneakers แนวคิดการออกแบบจากสนีกเกอร์คู่โปรดสู่สูทตัวเก่ง การเปลี่ยนภาพจำว่าร้านตัดสูทไม่ได้โบราณคร่ำครึอย่างที่คิด และไม่ว่าใครก็สนุกกับการใส่สูทได้

1.
จากทายาทร้านตัดสูท ที่ไม่เคยสนใจเรื่องสูทมาก่อนในชีวิต

“ร้าน Broadways Exclusive เปิดมาตั้งแต่ปี 2533 โดยคุณโทนี่ ซึ่งเป็นคุณลุงของผมเอง ก่อนที่พ่อของผม คุณจอนนี่จะเข้ามาช่วยกิจการ”

เจริญ ซิงห์เริ่มประวัติของร้านตัดสูทเก่าแก่นี้ให้เราฟังพอสังเขป โดยคุณลุงของเขา ที่ก่อนหน้านี้สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากร้านขายผ้าที่ประเทศอินเดียและร้าน tailor-made แห่งหนึ่งในประเทศไทย ก่อนจะถือโอกาสชักชวนพ่อของเขามาช่วยดำเนินกิจการ จนเป็นที่รู้จักในวงการนักตัดสูทถึงปัจจุบัน

ในขณะที่นั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ ผู้เขียนพลางกวาดสายตาสำรวจภายในร้าน ผ้าหลากหลายชนิดวางทบเรียงรายตลอดแนวบนชั้น ทั้งผ้าประเภท Linen, Wool, Cotton, Tweeds ฯลฯ เรียกว่าผ้าอย่างดีที่มีอยู่บนโลกใบนี้ล้วนถูกส่งมารวมอยู่ที่นี่ เพื่อรอบริการลูกค้าตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักการเมืองชื่อดังที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการตัดสูดตัวโปรด

มองภายนอก Broadways Exclusive อาจเหมือนร้านตัดสูทเก่าแก่ที่พบเห็นจนชินตาตามย่านลิตเติ้ลอินเดียในไทย แต่ที่ต่างออกไปคือไอเดีย Suits &Sneakers ที่เจริญ ซิงห์ ได้เข้ามาเติมเต็มให้ Broadways Exclusive มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วเขาไม่เคยคิดอยากสานต่อกิจการของครอบครัวมาก่อนเลย

“แต่ก่อนผมไม่เคยคิดทำอาชีพดีไซเนอร์สูทเลยนะ ลุงผมเคยถามว่า สนใจอยากช่วยทำกิจการต่อไหม ผมตอบกลับทันทีว่า ยังไงก็ไม่ทำแน่นอนเพราะมันน่าเบื่อ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมก็เหมือนหลายคนที่คิดว่าร้านตัดสูทมันดูโบราณ”

“กระทั่งปี 2561 ช่วงที่ผมได้ไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ผมมีโอกาสคลุกคลีอยู่ในร้านขายสนีกเกอร์ของคนรู้จักที่ชื่อว่าร้าน FCS Sneakers นั่นทำให้ผมกลายเป็นสนีกเกอร์เฮดแบบเต็มตัว เพราะก่อนหน้านั้นผมก็เริ่มสนใจวงการสนีกเกอร์บ้างจากตอนที่ได้สนีกเกอร์รุ่น Air Max 97 สี wolf grey ของยี่ห้อ Nike เป็นของขวัญ

“จนวันหนึ่งขณะที่เดินอยู่แถวไทม์สแควร์ ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวดีเลย ชุดที่เขาใส่เป็นสูทคู่กับสนีกเกอร์ แต่ที่ผมสังเกตเห็นคือสูทที่เขาใส่ไม่แมตช์กับสนีกเกอร์เลย นั่นทำให้ผมเกิดไอเดียว่า ถ้าเราดีไซน์ชุดสูทที่เข้ากับสนีกเกอร์คู่นั้นเพื่อตอบโจทย์ personality ของคนรักสนีกเกอร์ได้ก็คงจะดี”

หลังกลับมาจากนิวยอร์ก เจริญ ซิงห์ได้นำไอเดียที่ว่ากลับมาคุยกับครอบครัว แต่คำตอบที่ได้จากลุงของเขาคือ

“จะบ้าเหรอ! ใครมันจะไปใส่สูทลายเดียวกับรองเท้า อาจเพราะเขาอยู่ในวงการขายสูทนานถึง 34 ปี แล้วไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน มันเลยดูเป็นอะไรที่ค่อนข้างผิดแปลกไปจากขนบเดิมๆ”

อธิบายให้เห็นภาพ การตัดสูททั่วไป ลูกค้าเพียงเลือกว่าอยากได้ผ้าแบบไหน สีอะไร ทรงประมาณไหน จากนั้นช่างจะตัดตามออร์เดอร์ เรียกว่าตัดเย็บตามการใช้งาน ไม่ได้อิงจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ แต่กับ Suits & Sneakers เจริญ ซิงห์ต้องทำหน้าที่ดีไซเนอร์ให้ลูกค้ารายนั้นก่อน

“สมมติลูกค้าให้โจทย์มาว่า เขามีสนีกเกอร์คู่นี้ไว้สำหรับใส่ไปงานอีเวนต์ เมื่อประเมินแล้วว่าสูทที่ไว้ใส่คู่กันน่าจะเป็นแนว quiet luxury หรือ street look ผมก็จะสเกตช์ให้เขาดูว่าหน้าตาชุดจะออกมาเป็นประมาณไหน” เจริญ ซิงห์อธิบายไอเดียของเขาด้วยแววตาเป็นประกาย

2.
ลองผิดลองถูกเพื่อ ‘สนีกเกอร์เฮด’
ที่อยากมีชุดสูทไว้ใส่กับสนีกเกอร์คู่โปรด

ถึงไอเดียบรรเจิดจะบังเกิดในเวลาที่ใช่ แต่ข้อจำกัดที่เจริญ ซิงห์ต้องเจอคือเขาไม่เคยศึกษาเรื่องแฟชั่นมาก่อนเลยในชีวิต ขณะที่ต้นทุนในมือมีเพียงวัตถุดิบในร้านและความเป็น ‘สนีกเกอร์เฮด’ ติดตัวเท่านั้น ทำให้ช่วงแรกทายาทแห่ง Broadways Exclusive ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกกับไอเดีย Suits & Sneakers พอสมควร

“ในตอนนั้นผมไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นเลย มีแค่แพสชั่นเรื่องสนีกเกอร์เหมือนคนทั่วไป ความรู้เรื่องการดีไซน์สูทก็อยู่ในขั้นพื้นฐาน เป็นวิธีการดีไซน์สูทแบบเรียบๆ ตามที่คนนิยมใส่ทำงาน ไม่ใช่สูทที่มีลูกเล่นเว่อร์วัง ช่วงแรกเลยต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองว่า เรามีความสามารถมากพอที่จะดีไซน์สูทให้คนอื่นใส่”

เขาเล่าว่าวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือวิธีง่ายๆ อย่างการลองผิดลองถูก ลงมือดีไซน์หลายแบบ ควบคู่กับศึกษาวิธีตัดเย็บของช่างในร้านเพื่อความเป็นไปได้ในการดีไซน์ออกมา ทั้งวิธีเดินด้าย การเย็บรังกระดุม การเลือกลายผ้าด้านใน แม้แต่การเลือกสีของกระดุมเองก็ตาม

“ผมทำวนอยู่อย่างนั้นสองปีถึงกล้าโปรโมตไอเดีย Suits & Sneakers ลงในโซเชียลฯ ของร้าน”

“โจทย์ Suits & Sneakers ที่ได้มาโจทย์แรกรายละเอียดเป็นยังไง คุณพอจะจำได้ไหม” ผมถามเจริญ ซิงห์ต่อด้วยความสงสัย

“จริงๆ โจทย์แรกผมเริ่มจากรองเท้าของตัวเองก่อนนี่แหละครับ” เขาตอบทันทีพร้อมรอยยิ้มก่อนจะเริ่มเท้าความถึงสูทฝึกหัดตัวแรกๆ ที่เกิดจากงานแต่งของญาติเมื่อปี 2562

แม้เขาจะเกิดมาในครอบครัวที่มีธุรกิจร้านตัดสูท แต่ตัวเขาเองไม่เคยมีสูทตัวโปรดจริงๆ จังๆ เป็นของตัวเองมาก่อน ครั้งนั้น เจริญ ซิงห์ตัดสินใจเอาตัวเองเป็นหนูทดลอง เริ่มจากหยิบรองเท้า Adidas Ultra Tech Vegeta ซึ่งเป็นรองเท้าที่ Adidas คอลแล็บกับการ์ตูนเรื่อง Dragon Ball มาออกแบบ สูทที่ได้เลยออกมาเป็นสีน้ำเงิน-เหลือง ตามสีหลักของรองเท้า

“พอโพสต์ลงโซเชียลฯ คนก็ให้ความสนใจพอสมควรแต่ถ้าถามต่อว่าโจทย์ไหนที่ชอบมากที่สุด นั่นคือโจทย์ที่ลูกค้าให้มาว่าอยากหยิบ Nike Air Force 1 Tiffany มาดีไซน์เป็นสูท แต่ขอให้ดีไซน์เรียบๆ เหมาะสำหรับใส่ไปงานแต่ง

“ส่วนตัวผมชอบสีของรองเท้าที่เป็นสีดำล้วน ตัดด้วยสีของโลโก้ Tiffany ที่เป็นสีเงินตรงบริเวณลิ้นรองเท้า บวกกับสวูชด้านข้างของไนกี้ที่เป็นสีเทอร์คอยส์ พอมาเปลี่ยนเป็นสูทเลยมีความเรียบหรู มีกลิ่นอายความเป็น quiet luxury ขณะเดียวกันดีไซน์ยังมีความไทม์เลสสูง ฉะนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า สูทตัวนี้ก็ไม่มีทางตกยุค

“ต้องบอกว่าโจทย์ส่วนใหญ่ที่ผมได้รับจากลูกค้าจะไม่ค่อยมาจากสนีกเกอร์ธรรมดา ส่วนใหญ่จะเป็นแนวลิมิเต็ดไม่ก็คอลแล็บ ผมเลยหมั่นติดตามเทรนด์สนีกเกอร์และศึกษาสตอรีของสนีกเกอร์คู่นั้น เพื่อให้ถ่ายทอดผลงานออกมาได้สมบูรณ์ที่สุด” เจริญ ซิงห์อธิบายถึงช่วงตั้งไข่โปรเจกต์ Suits & Sneakers

แน่นอนว่าขั้นตอนการรังสรรค์ Suits & Sneakers แต่ละชุดไม่ได้จบลงแค่นำเสนอร่างไอเดียแล้วจะส่งต่อให้ทีมช่างของร้านตัดเย็บได้ทันทีทันใด เพราะเมื่อได้แบบดีไซน์คร่าวๆ ที่ต้องการแล้ว ลูกค้าจะต้องเข้ามาวัดขนาดตัว เลือกชนิดและลายผ้าที่ชอบ จนถึงรับทราบดีเทลการปักแต่ละจุด โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดีไซน์และตัดชุดราว 1-2 อาทิตย์

ดังเช่นสูทที่ได้ไอเดียมาจาก Nike Air Force 1 Tiffany ที่เจริญ ซิงห์ภูมิใจนำเสนอ หากมองเจาะลึกลงไปจะเห็นรายละเอียดพิถีพิถันที่เชื่อมโยงสูทและสนีกเกอร์ไว้ด้วยกัน เช่น รางกระดุมสีเทอร์คอยส์เหมือนตราสวูช, ด้ายสีเงินที่ไล่เรียงตั้งแต่ปกคอเสื้อจรดกระเป๋าตาม CI ของแบรนด์ Tiffany ปิดท้ายด้วยลายผ้าสามมิติด้านในที่พลิกด้านไว้สำหรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวในวันที่ไม่ต้องออกงานทางการ เรียกว่าการตัดสูทหนึ่งครั้งสามารถใช้งานได้หลากหลายตามแต่สถานการณ์

ที่สำคัญคือสูทแต่ละตัวถูกสั่งตัดแบบ ‘1 of 1’ หรือมีตัวเดียวบนโลกเท่านั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เจริญ ซิงห์เน้นย้ำว่า คนแต่ละคนมี personality ต่างกัน และถึงแม้จะได้โจทย์เป็นสนีกเกอร์รุ่นเดียวกัน แต่ผลลัพธ์จากการดีไซน์สูทตัวนั้นต้องออกมาไม่ซ้ำแบบเดิม

3.
ต่อยอดสู่เทรนด์ SneakVest
ที่ใส่ดี ใส่เท่ ในทุกสถานการณ์

แม้ Suits & Sneakers จะเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วเทรนด์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2483 โดยเริ่มจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งใน Ivy League ที่เบื่อหน่ายกับการใส่รองเท้าหนังคู่กับชุดสูท พวกเขาจึงหันมาใส่รองเท้าผ้าใบกีฬาสีขาวคู่กับชุดสูทแทนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน กระทั่งการแต่งกายดังกล่าวขยายเป็นวงกว้างจนกลายเป็นแมสแฟชั่นในสหรัฐฯ

แต่ต่อให้แฟชั่น Suits & Sneakers จะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม ทว่าอากาศที่ร้อนอบอ้าวราวปรอทแตกตามสไตล์บ้านเรา ดูจะไม่อนุญาตให้เทรนด์ที่ว่านี้เฉิดฉายง่ายๆ จึงไม่แปลกใจหากคนจะเลือกสูทเป็นตัวเลือกแต่งกายลำดับท้ายๆ เช่นนั้นเอง เจริญ ซิงห์จึงต่อยอดไอเดียมาสู่ SneakVest ซึ่งเป็นแฟชั่นที่เหมาะสำหรับชีวิตประจำวัน

“SneakVest เป็นคอนเซปต์ที่ผมคิดต่อยอดจาก core idea ของ Suits & Sneakers เพื่อฟังก์ชั่นเหมาะกับการใส่ในชีวิตประจำวันมากที่สุด พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ SneakVest เป็นเหมือนเสื้อกั๊กบวกกับกางเกงขาสั้นที่แมตช์กับสนีกเกอร์ของคุณ คอนเซปต์ไม่ต่างจาก Suits & Sneakers เลย แต่นี่มาในแบบชิลล์เข้ากับอากาศประเทศเราได้แน่นอน เพียงแค่เพิ่มเลเยอร์ทับไปอีกชั้น

“ความจริงไอเดียนี้เกิดจากความฝันที่อยากเห็นคนใส่ Suits & Sneakers เดินทั่วสยามเซ็นเตอร์ เป็นความฝันเหมือนกับดีไซเนอร์หลายคนที่อยากเห็นคนสวมใส่เสื้อผ้าจากฝีมือการออกแบบของตัวเอง แต่พอมาลงมือทำจริงๆ ผมถึงเข้าใจว่า อากาศประเทศไทยไม่เหมาะกับการใส่สูทเดินนอกบ้านแน่นอน ผมเลยแยกไปเลยว่า Suits & Sneakers ไว้สำหรับใส่ไปทำงาน ใส่ไปงานแต่ง ใส่ไปงานอีเวนต์ ส่วน SneakVest ไว้สำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน คุณจะใส่เดินเที่ยว ใส่ไปนั่งเล่นคาเฟ่ก็ได้”

ในอนาคต เจริญ ซิงห์ยังมองไว้อีกว่า Broadways Exclusive ไม่จำเป็นต้องตัด SneakVest ในแบบ tailor-made หากเขาวางดีไซน์ไว้ 2 แบบที่เหมาะสำหรับสนีกเกอร์รุ่น Nike Dunk Panda ลูกค้าก็กดเลือกไซส์ S, M, L หรือ XL กดใส่ตะกร้า ได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้ามาตัดชุดที่ร้าน เพื่อให้แบรนด์และเทรนด์ SneakVest ที่ต้องการนำเสนอมีความแมสมากยิ่งขึ้นในราคาที่จับต้องได้

ฟังดูเหมือน SneakVest จะถูกสร้างขึ้นเพื่อก้าวให้ทันต่อกระแสฟาสต์แฟชั่นถึงกระนั้น เจริญ ซิงห์ยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นว่า แฟชั่นใหม่ที่เขากำลังผลักดันไม่ได้ผูกโยงกับกระแสดังกล่าวเพื่อหวังกอบโกยกำไรเป็นหลัก ทั้งยังคงจุดประสงค์เดิมตั้งแต่วันแรก นั่นคือต้องการมอบทางเลือกแก่ผู้คนที่อยากใส่สูทตัวเก่งคู่กับสนีกเกอร์คู่โปรดได้ง่ายขึ้น

“ต้องอธิบายว่า ธรรมชาติของการซื้อสูทสักตัวคุณจำเป็นต้องมาลองใส่ ลองจับเนื้อผ้าที่ร้านก่อนตัดสินใจสั่งตัด แต่เสื้อผ้าทั่วไปคุณสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นกดสั่งชื้อตอนไหนก็ได้ สองถึงสามวันก็ส่งถึงบ้านให้คุณพร้อมใส่

“ผมเลยมองว่าร้านตัดสูทกับเรื่องของฟาสต์แฟชั่นเป็นอะไรที่ค่อนข้างสวนทางกัน และไม่จำเป็นต้องเร่งตามขนาดนั้น เหมือนกับสำนวนในวงการซื้อขายหุ้นที่ว่า Don't try to catch a falling knife. คืออย่าฉวยโอกาสเทหมดหน้าตักเพื่อหวังเก็งกำไรที่ไม่รู้มูลค่าจะหมดลงตอนไหน”

จริงอยู่ที่เขาเคยโยนหินถามทางกระแสฟาสต์แฟชั่นด้วยการตัดเสื้อเชิ้ตที่มีลวดลายอิงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งผลตอบรับนั้นใช้ได้หากมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขายชัดเจน แต่เขาเองมองว่า SneakVest เป็นการช่วยให้ผู้คนมีทางเลือกในการแต่งตัวคู่กับสนีกเกอร์ ในลุคที่ดูคลาสสิกไปพร้อมๆ กัน และลดขั้นตอนยุ่งยากในการตัดเย็บออกไป ไม่ใช่มีไว้เพื่อส่งเสริมฟาสต์แฟชั่นแน่นอน

“Suits & Sneakers และ SneakVest ยังตอบโจทย์ในแง่ของ sustainability คือการตัดสูทหนึ่งครั้งคุณสามารถใช้ได้ยาวๆ หลายสิบปี ผมยกตัวอย่างมีลูกค้ารายหนึ่งที่เคยตัดสูทกับลุงของผมเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้สูทของเขาก็ยังเนียนกริบสวมใส่ได้อยู่

“เพราะเราใช้เนื้อผ้าและวิธีการตัดเย็บอย่างดี นั่นหมายความว่า Suits & Sneakers และ SneakVest สามารถตอบโจทย์เทรนด์แฟชั่นและสวมใส่ได้ยาวๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ให้สิ้นเปลืองเงินและทรัพยากร”

4.
สูทไม่ใช่แฟชั่นโบราณ
และร้านตัดสูทโดยคนอินเดียก็ไม่ได้โบราณเช่นกัน

หนึ่งในคำถามที่หลายคนตะขิดตะขวงใจรวมไปถึงตัวผู้เขียนเอง นั่นคือภาพจำเดิมๆ ที่มองว่า ร้านตัดสูทของคนอินเดียมักโบราณคร่ำครึ ดีไซน์เป็นแบบเดิมซ้ำไปมา แม้กระทั่งการขนส่งผ้าก็ยังใช้มอเตอร์ไซค์เวสป้าคันเก่าขี่ซิ่งไปมา แน่นอนว่าภาพจำดังกล่าวติดอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาช้านาน และ pain point นี้เองคือสิ่งที่เจริญ ซิงห์พยายามทำลายกำแพงมาโดยตลอด

“นี่เป็นปัญหาที่โดนมาโดยตรงเลยแหละ (หัวเราะ) คือคนมักจะมองว่าร้านเสื้อสูทของคนอินเดียหรือแขกดูโบราณ ไม่ได้มีความทันสมัยใดๆ และไม่ใช่แค่ร้านตัดสูทของคนแขกเท่านั้น ร้านตัดสูทของคนไทยหรือของคนจีนก็โดนตัดสินจากภาพลักษณ์แบบนี้เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจได้เพราะในอดีตผมก็เคยคิดแบบนี้”

หน้าที่ของเจริญ ซิงห์จึงมากกว่าแค่การขายของ แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติและสร้างภาพจำใหม่ว่าร้านตัดสูทปัจจุบันหน้าตาเป็นยังไง ทั้งจากการโปรโมตและการทำคอนเทนต์ เขาเองยังมองว่าความท้าทายนี้ไม่ต่างจากการเปลี่ยนมายด์เซตคนว่าสูทไม่จำเป็นต้องโบราณและสนีกเกอร์ไม่จำกัดอยู่ที่การแต่งกายแบบสตรีทแฟชั่น แต่แต่งกับ sartorial fashion หรือเสื้อผ้าที่ตัดเย็บมาอย่างดีก็ได้

“อย่างตอนอยู่นิวยอร์กการแต่งกายของคนที่นั่นค่อนข้างจะสื่อถึง personality ชัดเจน เขากล้าที่จะแต่งตัว ชอบแบบไหนก็แต่งแบบนั้น ผมเลยอยากให้คนไทยเป็นแบบนั้นบ้างนะ อยากให้สนุกไปกับการแต่งตัวโดยที่ไม่ต้องกลัวเป็นแกะดำในสายตาใคร คุณอยากใส่อะไรก็ใส่ เพราะนั่นคือตัวของคุณ

“อีกข้อที่อยากจะฝากบอก คือการตัดสูทเป็นเหมือนการ DIY แฟชั่นของเราขึ้นมาใหม่ เราสามารถสนุกไปกับการครีเอทีฟหน้าตามันได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณชื่นชอบการใส่สูทมากแค่ไหน และสูทไม่ได้จำกัดว่าเหมาะกับแค่เพศใดเพศหนึ่ง ผู้หญิงเองก็สามารถใส่สูทเพื่อความเท่ได้ อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีคู่รักคู่หนึ่งจูงมือกันมาตัดสูทเป็นชุดคู่กันสำหรับใส่ออกงาน”

“แล้วคนที่จะเข้าวงการ Suits & Sneakers ต้องเข้าใจพื้นฐานอะไรบ้าง” ผมถามเจริญ ซิงห์ทิ้งท้ายสั้นๆ

“อย่างแรก คุณต้องตอบตัวเองก่อนว่า สนีกเกอร์คู่ไหนที่คุณอยากใส่เข้ากับสูท สอง–คุณต้องรู้ว่าคุณมีบัดเจ็ตในมือเท่าไหร่ เพราะนี่จะขึ้นอยู่กับเกรดผ้าที่คุณจะได้ สาม–คุณอยากใส่สูทตัวนี้ในโอกาสไหน ถ้าคุณอยากใส่ทำงานก็จะมีดีไซน์ให้เลือกแบบหนึ่ง ถ้าคุณอยากใส่ออกงานก็จะมีดีไซน์ให้เลือกอีกแบบหนึ่ง โดยรวมแล้วคือการเลือกตามที่คุณชอบ และเลือกลงทุนเพื่อสร้างบุคลิกที่ดีแก่ตัวเอง

“ผมในฐานะที่เป็น Street & Sartorial Designer และคนนำเสนอเทรนด์ Suits & Sneakers มองว่า โอกาสที่เทรนด์แฟชั่นนี้จะโตมากขึ้นกว่าเดิมมีอยู่ไม่น้อย เพราะมีคนที่หยิบสนีกเกอร์มาใส่คู่กับสูทอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่คนที่ตัดสูทเข้ากับสนีกเกอร์โดยเฉพาะอาจจะยังมีไม่มาก นี่เป็นความตื่นเต้นไม่น้อยที่จะทำให้คนเข้าใจและหันมานิยมเทรนด์ Suits & Sneakers มากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต

“อย่างเวลาได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าที่ผ่านๆ มา เขามักจะบอกว่าฝีมือการตัดเย็บร้านคุณโหดมากนะ ดีกว่าแบรนด์ดังบนห้างเสียอีก ผมได้ยินแล้วดีใจนะ เพราะตรงนี้เป็นสิ่งที่ Broadways Exclusive พยายามคงคุณภาพมาตลอดหลายสิบปี”

สิ้นบทสนทนา ฟังก์ชั่นของชุดสูทในมุมมองของผู้เขียนเริ่มเปลี่ยนไป สองเท้าอาจมีสนีกเกอร์คู่เด็ดแล้ว ขาดแค่ชุดสูทดูดีไว้ใส่อวดเท่ ครั้นคงต้องหาเวลากลับมาที่ Broadways Exclusive อีกครั้งหนึ่ง ทว่าไม่ใช่ในฐานะผู้สัมภาษณ์ แต่เป็นลูกค้าหน้าใหม่รายหนึ่งเสียมากกว่า

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Capital

‘คำโตๆ’ มิติใหม่ของเอเจนซีที่ปั่น ทันกระแส ตามสไตล์ของเพจเนื้อแท้ที่หยิบจับอะไรก็ไวรัล

20 ชั่วโมงที่ผ่านมา

คุยกับหัวเรือใหญ่ Upbit Thailand แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยากให้ลูกค้าลงทุนอย่างปลอดภัยและมีความรู้

21 ชั่วโมงที่ผ่านมา

Krins เครื่องประดับเพื่อชาวแซฟฟิก กับกลยุทธ์ที่ทำให้ถูกเอฟจนเกลี้ยงทุกครั้งที่พรีออร์เดอร์

23 ชั่วโมงที่ผ่านมา

หลัก 4P+1 ของ Daddy Finger กระเป๋าแม่ลูกอ่อนที่คุณพ่อทำ คุณพ่อถือ

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

‘สุรศักดิ์‘ เข้าศธ.กราบลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ‘บิ๊กอุ้ม’ ฝากลาขรก.ยาหอม มีความสุขได้ทำงานที่ศธ. เลือกได้ขอกลับมาอีกครั้ง

MATICHON ONLINE

“แกงจืดเยื่อไผ่” จริงๆ แล้วไม่ได้มาจากต้นไผ่ เผยวัตถุดิบที่เข้าใจผิดมาตั้งนาน!

sanook.com

30 ปีแห่งพลังใจ มูลนิธิถันยรักษ์ฯ แคมเปญ 'The Power of Self-Love' เกราะป้องกันมะเร็งเต้านม

ประชาชาติธุรกิจ

ไม้ประดับใบสวยชนิดใด?เหมาะตกแต่งบ้าน คู่มือการเลือกและปลูกพืชตัดใบ 8 ชนิดยอดนิยม

Homeday

“อยากมีแฟน ให้ใส่เสื้อดำแล้วไปวิ่ง” ส่องกระแส Slow Dating ยุคใหม่ อยากสละโสดต้องทำกิจกรรม!

Mission To The Moon

มือใหม่ต้องรู้! ผู้หญิงขับรถหน้าฝนลุยน้ำท่วม

สยามรัฐ

ถ่ายทอดสด วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก ไทย พบ อิตาลี VNL 2025 วันนี้

PostToday

SACIT อวดโฉมงานคราฟต์สุดยูนีค New Young Craft 2025 ในงาน "Crafts Bangkok 2025"

สยามรัฐ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ความคิดเห็นมากที่สุด

คำว่า “กัมพูชา” ชื่อของประเทศกัมพูชา มาจากไหน แปลว่าอะไร?

ศิลปวัฒนธรรม

3 สาวพี่น้องตระกูลซ่ง กับฉายาผู้รักเงิน รักชาติ และรักอำนาจ

ศิลปวัฒนธรรม

ข้าราชการมหาดไทยสมัย ร.5 ในความเห็นกรมดำรง "มท.1" พระองค์แรก ต้องมีคุณสมบัติอะไร?

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น