โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

สศช.ดีเดย์ประกาศใช้แผนฯ13 ลดเหลื่อมล้ำ-ดันรายได้ 3 แสนต่อหัวใน 5 ปี

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 23 ก.ย 2565 เวลา 15.11 น. • เผยแพร่ 24 ก.ย 2565 เวลา 02.06 น.
เศรษฐกิจ ฟู้ดสตรีท

สภาพัฒน์ ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ วางกรอบพัฒนาประเทศ 5 ปีข้างหน้า ประชากรไทยต้องมีรายได้ต่อหัวไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อคนต่อปี พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ-ช่องว่าง “คนจน-คนรวย” ต้องไม่เกิน 5 เท่า ดันไทยขึ้นแท่นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 ด้าน “WHA” ชี้ประเทศไทยต้องสร้างบุญใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงาน “พลิกโฉมประเทศไทยก้าวไปด้วยกัน ร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สร้างอนาคตไทย” ว่า แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) จะประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยมุ่งสู่เป้าหมาย 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ไทยจะมีรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อคนต่อปี จากขณะนี้อยู่ที่ 270,000 บาท 2.คนไทยจะต้องมีขีดความสามารถมากขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีการศึกษาที่ดี วัดผ่านดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ซึ่งจะต้องอยู่ในระดับสูง

3.ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ พื้นที่ ความมั่งคั่ง และการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยเป้าหมายปี 2570 ต้องลดช่องว่างความแตกต่างของความเป็นอยู่ พิจารณาจากรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่ฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และกลุ่มที่มีฐานะต่ำสุด 40% ต้องต่ำกว่า 5 เท่า จากปัจจุบัน 6 เท่า

4.ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปกติ และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น 0 ภายในปี 2608 และ 5.ทำให้สถาบันและองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐมีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับวิกฤตได้ดีขึ้นกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยพิบัติ วิกฤตโรคระบาด หรือวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภายใต้แผนมี 13 หมุดหมายหลัก ผลักดันประเทศไทย ได้แก่ 1.เป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2.เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3.เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก 4.เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5.เป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6.เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

7.มี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ 8.มีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่และปลอดภัย 8.มีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม 10.มีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11.ลดความเสี่ยงและผลกระทบภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12.มีกำลังคนสมรรถนะสูง 13.มีภาครัฐทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน

“แน่นอนว่า 5 ปีจากนี้ ประเทศไทยคงจะต้องเจอกับความท้าทายสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงข้างหน้า ซึ่งก็จะเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดความเสี่ยงที่จะกระทบกับการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป นั่นคือ 1.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการเพื่อให้รู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้ 2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าได้ 3.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ 4.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ 5.ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และ 6.โรคอุบัติใหม่และภัยโรคระบาด” นายดนุชากล่าว

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2580 หรืออีก 15 ปีจากนี้ ไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้น มีภูมิต้านทานกับวิกฤตต่าง ๆ โดยการพัฒนาจะอยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำในเชิงรายได้และพื้นที่ลดลง และทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข หรือกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้มีการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า บุญเก่าของประเทศไทยคือการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทั้งถนน ระบบราง และอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนมานานมาก เพราะว่ามีทักษะแรงงานและมีการสนับสนุนด้านภาษีที่ดี ซึ่งปัจจุบันยังตอบโจทย์อยู่จากที่เห็นล่าสุด BYD ผู้ผลิตรถอีวีอันดับ 1 ของโลก ตัดสินใจเลือกมาตั้งฐานการผลิตในไทย นอกประเทศจีนแห่งแรก

“แต่สิ่งที่อยากจะเห็นต่อ หรือต้องสร้างบุญใหม่ นั่นคือภาครัฐต้องมีความทันสมัย ขับเคลื่อนกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล โดยขอให้เห็นการปฏิรูปอย่างจริงจัง และการสร้างคนที่มีทักษะสูง และการหยิบงานวิจัยมาใช้งานจริง เพื่อสร้างอินโนเวชั่นให้ประเทศ โดยยืนยันว่าไทยยังเป็นเป้าหรือจุดสนใจการลงทุนอยู่ แต่ตรงนี้ก็จะมีคู่แข่งจากเพื่อนบ้านที่จะดึงเม็ดเงินลงทุน” นางสาวจรีพรกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0