โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กงล้อเพลง - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 19 ก.ค. 2563 เวลา 17.26 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เมื่อผมทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ในยุคต้น 1980 ตกเย็นมักจะไปเดินตามแผงลอย ซื้อเทปคาสเส็ตต์เพลง มีเพลงมากมายจากต่างประเทศให้เลือก ราคาม้วนละ 2.5 เหรียญสิงคโปร์ เท่ากับ 25 บาท (เวลานั้นอัตราแลกเปลี่ยน หนึ่งเหรียญเท่ากับสิบบาท)

เด็กยุคใหม่บางคนอาจไม่เคยได้ยิน ได้เห็นเทปคาสเส็ตต์ (Cassette tape) มันเป็นประดิษฐกรรมบันทึกเพลงก้าวถัดมาจากแผ่นเสียง 

เทปคาสเส็ตต์เป็นแถบเคลือบอนุภาคแม่เหล็ก เช่น พวก เหล็กออกไซด์ หรือโครเมียม ออกไซด์ สามารถอัดข้อมูลเสียงลงไปได้ เวลาใช้ก็ต้องมีเครื่องเล่น ฟังเรียงไปทีละเพลง สามารถกรอไปข้างหน้าหรือถอยหลังก็ได้ แต่ไม่สามารถเจาะจงเพลงได้

ฟังไปนาน ๆ เทปก็ยืด ผมเคยลืมเทปทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด มันโดนความร้อนอบจนหงิกงอ หมดราศีของเทปคาสเส็ตต์

จุดเปลี่ยนเกมเกิดขึ้นในปี 1978 วิศวกรของโซนีย่อขนาดเครื่องเล่นเทปคาสเส็ตต์ลงเหลือเท่าฝ่ามือ ใช้คู่กับหูฟังน้ำหนักเบา กลายเป็นเครื่องเล่นเทปคาสเส็ตต์แบบพกพาที่ให้เสียงดี

เรียกว่า Walkman 

วอล์คแมนสร้างปรากฏการณ์ให้โลกดนตรี สามเดือนแรกที่วางตลาด ขายได้สามหมื่นเครื่อง และต่อมาก็กินส่วนแบ่งตลาดโลกราว 50 เปอร์เซ็นต์

สมัยนั้นภาพวัยรุ่นสวมหูฟัง พกพาวอล์คแมนไปไหนมาไหน เป็นเรื่องปกติ เช่นที่คนใช้สมาร์ตโฟนในวันนี้

แต่สรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอน เทคโนโลยีผลักเทปคาสเส็ตต์ตกเหว ขณะที่โลกเคลื่อนเข้าสู่ระบบ mp3 ไม่นานเกาหลีใต้ก็เสนอเวอร์ชั่นใหม่ของวอล์คแมน เป็นฉบับดิจิทัล เรียกว่า MPMan

วอล์คแมนเวอร์ชั่นดิจิทัลขายได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ดังมาก จนกระทั่งใครคนหนึ่งชื่อสตีฟ จ็อบส์ นำไอเดียเก่ามาแปลงโฉมใหม่ อย่างที่เขาถนัด ตั้งชื่อว่า iPod

iPod มาทีหลังเกาหลีสามปี แต่ประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะรองรับกับระบบสื่อสารทุกอย่าง และมีคลังเพลง iTunes Music Store เป็นฐาน

วิญญาณเทปคาสเส็ตต์ยังไม่ตาย แต่เปลี่ยนเปลือกไป !


ช่วงที่อยู่สิงคโปร์ นอกจากแวะเวียนแผงเทปคาสเส็ตต์แล้ว ก็ชอบไปสิงแถวร้านแผ่นเสียง

แผ่นเสียงเป็นจานกลมแบนที่มีร่อง มีหัวเข็มอ่านค่าเสียงจากร่องเหล่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงเพลงในยุคนั้นมั่นใจว่า มันเป็นคุณภาพเสียงเพลงที่ดีที่สุดในโลกา !

ก็ลงเอยด้วยการซื้อแผ่นเสียงซึ่งมีราคาสูงกว่า เทปคาสเส็ตต์มาก

เมื่อมีเทปคาสเส็ตต์และแผ่นเสียง ก็ต้องหาเครื่องเสียงไฮไฟสเตอริโอมาประดับตัว ชีวิตตอนนั้นจึงก็มีแต่เครื่องเสียง แผ่นเพลง เทปคาสเส็ตต์ วัน ๆ ศึกษาลำโพง แอมปลิฟลายเอร์ ฯลฯ

เวลาซื้อลำโพง ก็ซื้อขนาดใหญ่ ๆ ไว้ขู่คนเล่น

มาถึงยุคนี้ ลำโพงย่อขนาดลงไปมาก จนคนยุคหลังอาจจะงงว่า ทำไมลำโพงยุค 30-40 ปีก่อนจึงใหญ่ขนาดนั้น

ผมเก็บสะสมเทปคาสเส็ตต์ไว้หลายร้อยม้วน และแผ่นเสียงอีกมาก แต่ต่อมาก็บริจาคไปหมด เพราะหูไม่ถึง หรืออาจเพราะสิ้นกิเลสในเรื่องนี้ไปแล้ว


สัจธรรมของเสียงเพลงเกิดขึ้นอีก ในที่สุดแผ่นซีดีเพลงก็เข้ามาแทนที่แผ่นเสียง และไม่นาน ซีดีก็หายสาบสูญไปเช่นกัน วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เสียงเพลงเข้าสู่หลักธรรมเซนที่ว่า “โพธิ์นั้นไม่มีต้น กระจกเงาก็ไม่มี”

หากเช่าเพลงจากบริษัทสตรีมมิงเสียงเพลง ดนตรีก็เป็นไฟล์ไร้รูป ฟังผ่านสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์บางชนิด

เชื่อว่าวันหนึ่งในอนาคต เทคโนโลยีอาจสามารถฝังเสียงเพลงในสมองเรา ไร้รูปโดยสิ้นเชิง

กงล้อเพลงก็หมุนไปข้างหน้าอย่างนี้แหละ

ทว่าคล้ายรถโฟล์คเต่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยังไม่สิ้นลมหายใจ ยังมีกลุ่มคนที่หลงใหลอุปกรณ์ชนิดนี้ กลายเป็นของเก่าที่ได้ทั้งเสียงเพลงและอารมณ์โหยหาอดีต

พวกเขาอาจรู้สึกว่าเล่นดนตรีแบบไฟล์ดิจิทัลขาดมนต์เสน่ห์ของเครื่องเล่นแบบเก่า

บางครั้งเราก็ไม่ต้องความใหม่จนเกินไป เรายังต้องการสายใยที่ผูกเรากับรากเดิมของเรา


วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0