โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรียงเบอร์ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 18.20 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ผมโตมากับเรียงเบอร์

เรียงเบอร์ก็คือเบอร์ที่มาเรียงกัน ก็คือผลตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาล มันเกือบสูญพันธุ์ไปแล้วในยุคนี้ แต่ในยุครุ่งเรือง เรียงเบอร์คือความหวังของคนทั้งประเทศ คือลมหายใจ

ในอดีตหลายสิบปีก่อนอินเทอร์เน็ตกลืนกินโลก เมื่อทางการประกาศรางวัลหวยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โรงพิมพ์จะตีพิมพ์ผลนี้ออกขาย ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังสิ้นเสียงสุดท้ายทางวิทยุ

ระหว่างที่วิทยุกระจายเสียงประกาศเลขรางวัลไปทีละรางวัล โรงพิมพ์ก็จดตัวเลขจากวิทยุแล้วส่งต่อให้ช่างเรียงพิมพ์ นั่นเป็นสมัยนานก่อนยุค Desktop publishing งานพิมพ์หนังสือและใบประกาศทำโดยวางบล็อกอักษรตะกั่ว ขึ้นแท่นพิมพ์

การจดเลขต้องแม่นยำ การเรียงบล็อกต้องรวดเร็วแข่งเวลา และพิมพ์ออกมาให้เสร็จเร็วที่สุด เนื่องจากมีโรงพิมพ์หลายแห่งทำงานนี้ ใครพิมพ์เสร็จก่อน ก็ขายได้ก่อน ช่วงเวลานี้มีเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

เมื่อแผ่นเรียงเบอร์หลุดออกจากแท่น เด็กจำนวนหนึ่งที่รอหน้าโรงพิมพ์ก็คว้าแผ่นเรียงเบอร์วิ่งออกไปเร่ขายทันที เสียงประกาศนำหน้าไปก่อน ดังไปทุกถนน “เรียงเบอร์มั้ยครับ ? เรียงเบอร์…” “เรียงเบอร์ออกแล้วคร้าบ”

ปัญหาของการผลิตเรียงเบอร์คือทางการจับเลขรางวัลแบบสุ่ม ตัวเลขจึงไม่เรียงกัน หน้าที่ของคนจดและช่างเรียงคือจัดลำดับเลขใหม่ให้ตัวเลขเรียงกัน เพื่อให้ตรวจผลได้ง่าย

ในสมัยก่อน เลขสลากมีเจ็ดหลัก ก็เรียงไปทีละตัวให้ถูกลำดับ เช่น

1122334

1255667

2125455

ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ชาวบ้านที่ตรวจรางวัลจะตาลาย เนื่องจากตัวเลขเต็มหน้า

ปัญหาคือเนื่องจากทำด้วยแรงงานคน และทำอย่างรวดเร็ว โอกาสพลาดก็ย่อมมี

ถ้าพิมพ์ผิดก็อาจมีเรื่องได้ เพราะคนบางคนคิดว่าถูกรางวัล แต่กลับไม่ถูก คนถูกรางวัลก็อาจเข้าใจผิดว่าตัวเองไม่ถูก

ดังนั้นเกมการขายเรียงเบอร์คือ ต้องแม่นยำ ต้องเร็ว 

ต้องใช้ฝีมือ ! 

เจ้าไหนทำได้ ก็จะมีลูกค้าประจำ

ตรงข้ามบ้านผมที่หาดใหญ่ มีโรงพิมพ์ชื่อไทยนำ พิมพ์เรียงเบอร์ขาย เป็นภาพคุ้นตาแต่เด็ก

สำหรับชาวบ้าน เมื่อตรวจจากเรียงเบอร์แล้ว ถ้าไม่ถูก ก็ยังไม่ทิ้ง ต้องรอตรวจอีกรอบจากหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น

เหตุที่ต้องรออีกวันก็เพราะในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดจะออกจำหน่ายช้ากว่ากรุงเทพฯ เนื่องจากเมื่อกรุงเทพฯ พิมพ์แล้ว ต้องขนหนังสือพิมพ์ขึ้นรถไฟ ส่งไปตามจังหวัดต่าง ๆ หนังสือพิมพ์สมัยนั้นจึงมีสองกรอบ ต่างกันเฉพาะหน้า 1 ข้างในเหมือนเดิม

ในวันหวยออก ชาวบ้านนิยมออกกันตามร้านกาแฟ ล้อมวงฟังประกาศผลหวยจากวิทยุ แต่เพื่อความชัวร์ ก็ต้องซื้อเรียงเบอร์มาตรวจสอบ

คงไม่ดีแน่หากถูกรางวัลใหญ่ แต่ฟังผลผิด

คนบางคนซื้อเรียงเบอร์แล้ว ยังต้องซื้อหนังสือพิมพ์ด้วย เพื่อตรวจอีกรอบให้แน่ใจว่าถูกหรือถูกกิน

เรียงเบอร์เป็นสินค้าที่แปลกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นสินค้าที่มี Shelf life ต่ำมาก และยังต้องผลิตด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วคุ้มหรือ

สมัยผมเป็นเด็ก ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลใบละ 10 บาท

เรียงเบอร์ใบละ 1 บาท เวลานั้นก๋วยเตี๋ยวราดหน้าจานละ 3 บาท ถือว่าเป็นสินค้าที่ราคาสูงทีเดียว

ถ้าขายได้หมด ก็มีกำไร


โลกโคจรรอบตัวเองมาจนถึงยุคอินเทอร์เน็ต ผลสลากกินแบ่งรัฐบาลกลายเป็นดิจิทัล ชาวบ้านสามารถตรวจผลได้ออนไลน์ รวดเร็ว และไม่ต้องจ่ายเงินให้กับเรียงเบอร์อีก

โลกดิจิทัลเข้าไปเปลี่ยนแปลงการตรวจผลรางวัลหวย สามารถรู้ผลจากอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว

แต่ก็มีคนไม่น้อยเคยชินกับเรียงเบอร์กระดาษ บางคนก็ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น หรือไม่ถนัดตรวจผลจากหน้าจอสมาร์ตโฟน

ดังนั้นหากคิดว่าเรียงเบอร์จะหายสาบสูญไปง่าย ๆ ก็คิดใหม่ได้ สินค้าตัวนี้มีการต่ออายุโดยการเพิ่ม Added value เข้าไปในเรียงเบอร์อย่างชาญฉลาดและตรงจุด

นั่นคือด้านหลังของเรียงเบอร์ยุคใหม่ตีพิมพ์การใบ้หวยในงวดต่อไปของเกจิอาจารย์จากสำนักต่าง ๆ และหรือสถิติผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดก่อน ๆ เพื่อให้วิเคราะห์

ถ้าทายแม่น เรียงเบอร์เจ้านั้นก็ยังมีลูกค้าตามซื้ออยู่

ราคาเรียงเบอร์ปัจจุบันประมาณ 3-5 บาท

หลายเจ้าไม่ได้ขายเรียงเบอร์เพื่อกำไร แต่เป็นส่วนเสริมการขายลอตเตอรี

หวยเป็นความหวังของคนในชาติมากว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว และควรจะเป็นความหวังต่อไปอีกนานแสนนาน

“เรียงเบอร์มั้ยครับ ? เรียงเบอร์…” 


วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 12

  • Dr. Chaisit, N-Pedia
    ยังเฉียบเหมือนเดิมครับ ไม่ทิ้งลายนักเขียนซีไรต์
    12 ก.ค. 2563 เวลา 23.06 น.
  • ผมคิดว่าบทความที่คุณวินทร์ได้เขียนออกมานี้ คงจะสื่อให้รู้ถึงว่า ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกหลายๆชีวิตต่างก็หวังที่จะพึ่งในเรื่องของโชคลาภ ก็เพื่อที่จะได้มีชีวิตและในความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากว่าเดิมอย่างนั้นหรือปล่าวครับ.
    13 ก.ค. 2563 เวลา 01.45 น.
  • สุธมฺมวตี
    ถ่ายทอดคนอายุ60upได้ชัดเจนเลย...
    13 ก.ค. 2563 เวลา 02.46 น.
  • ใช่ครับ. สมัยก่อนผมใช้เวลาหลังเลิกเรียนในวัยมัธยม ไปต่อคิวเพื่อรับไปขายตามตรอก/ซอยต่างๆในเยาวราชเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งในสมัยนั้นครับ.
    13 ก.ค. 2563 เวลา 02.28 น.
  • Pichai
    ตราบใดที่บ้านเรายังมีคนประเภท โล เทคโนโลยี (low tech) อาชีพบางอาชีพก็คงมีอยู่ แต่หลายๆธุรกิจไปหมดแล้ว เช่น โรงหนังเดียว (ล่าสุดสกาลา) ร้านเช่าวีดีโอ.....
    13 ก.ค. 2563 เวลา 11.20 น.
ดูทั้งหมด